เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

4 วิธีช่วยโลกลดขยะช่วงกักตัวอยู่บ้าน

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

รักษ์โลก ช่วยโลกลดขยะจากพฤติกรรมที่ทำให้เกิดขยะยามกักตัวอยู่บ้าน

ภาพชายหาดสะอาดตา ฝูงพะยูนพากันว่ายน้ำกินหญ้าทะเลหลายแห่งทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย อย่างจังหวัดตรัง กระบี่ แม้แต่บ้านเพ จังหวัดระยอง ที่ไม่เคยพบเห็นพะยูนมานานหลายสิบปี ทำให้หลายคนรู้สึกประหลาดและพากันดีใจ ระยะเวลาเพียงเดือนกว่าที่พวกเราร่วมใจกักตัวอยู่บ้านเพื่อลดโรคระบาดโควิด19 เป็นเวลาเดียวกับที่ทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองอย่างหญ้าทะเลแหล่งอาหารของเหล่าพะยูนที่เคยถูกรบกวนด้วยการสัญจรไปมาทางเรือก็กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

 

ดูจะเป็นเรื่องดีในร้าย แต่อีกมุมหนึ่งกลับเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ เพราะจำนวนขยะพลาสติกในครัวเรือนช่วงกักตัว โดยเฉพาะขยะพลาสติกจากการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีนั้นเพิ่มขึ้นถึง 15% จากปกติ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน รวมทั้ง food waste กลายเป็นว่าเราไม่สร้างขยะนอกบ้าน แต่เพิ่มขยะในบ้านกันซะเอง สุดท้ายมลพิษจากขยะก็รอวันกลับมาทำลายธรรมชาติที่ทำท่าว่ากำลังจะดี ไหนๆ อยู่บ้านลดโรคแล้วก็ช่วยลดขยะด้วยวิธีที่เรานำมาฝากกันนี้นะคะ

 

 

ทำอาหารกินเอง

 

ลดความถี่ในการสั่งอาหารเดลิเวอรี แล้วเจียดเวลาเข้าครัวทำอาหารกินเอง ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกบรรจุภัณฑ์อย่างกล่องข้าว ช้อนส้อม ฯลฯ ไปได้เยอะ และจะดีขึ้นไปอีกหากการทำอาหารแต่ละจานเราคำนวณปริมาณให้พอกินแบบไม่เหลือทิ้งเป็น food waste นอกจากช่วยลดขยะยังได้รับสิทธิ์เลือกสิ่งดีๆ ให้ตัวเอง ทั้งวัตถุดิบปลอดภัย รู้แหล่งที่มาที่ไป หรืออย่างน้อยๆ ก็รู้ว่าเราหยิบเหยาะปรุงอะไรลงไปในอาหารที่เรากิน อีกทั้งการทำอาหารยังเป็น Cooking Therapy ช่วยบำบัดจิตใจ ผ่อนคลายอารมณ์ลดความตรึงเครียด เรียกว่าอิ่มท้องอิ่มใจแบบไม่ทำร้ายโลก

 

 

อ่านฉลากสินค้า

 

หลายคนกักตัวอยู่บ้าน พร้อมๆ กับกักตุนอาหารทั้งของสดของแห้ง แต่การกักตุนปริมาณมากเกิน หากกินไม่ทันวันหมดอายุมันก็กลายเป็น food waste เหมือนเราจ่ายเงินเพื่อซื้อขยะมาดีๆ นี่เอง ทุกครั้งที่ซื้อของในซูเปอร์มาเก็ตที่มีฉลากระบุวันหมดอายุชัดเจน ควรอ่านฉลากสินค้าทุกชิ้น ดูวันหมดอายุให้ชัวร์ว่ากินทันแน่ๆ ถึงหยิบใส่ตะกร้า และซื้อในปริมาณที่พอดี หรือหากมีทริกในการเก็บของสดอย่างผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ก็ช่วยยืดอายุอาหารแบบไม่ต้องแคร์ expiry date กันมากนัก  

 

 

สั่งเดลิเวอรี งดรับช้อนส้อม หลอดดูด

 

ด้วยโปรโมชั่นห้ำหั่นลดแลกแจกแถมของฟู้ดเดลิเวอรีแต่ละเจ้า ไหนจะต้องอยู่แต่บ้านทั้งวัน ออกไปหาอะไรอร่อยๆ กินก็ยาก เลยอดที่จะคลิกๆ สั่งอาหารผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรีกันไม่ได้ สั่งก็ง่ายส่งก็ไวเลยกลายเป็นเพิ่มจำนวนขยะพลาสติก แค่มื้อเดียวมาไม่รู้กี่สิบชิ้น กล่องข้าวเอย ช้อนส้อมพลาสติกหุ้มด้วยถุงพลาสติกมาอีกที แก้วน้ำ หลอดดูด ซองน้ำจิ้มอีกสารพัด ในบางมื้อที่ต้องพึ่งบริการเดลิเวอรีจริงๆ เราสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกให้น้อยชิ้นลงได้ ด้วยการปฏิเสธช้อนส้อม หลอดดูด ซึ่งระบุได้ในแอปพลิเคชั่น หรือแจ้งพนักงานส่งอาหารไว้ได้    

 

 

แยกประเภทขยะ

 

ถือเอาช่วงกักตัวอยู่บ้านสร้าง new normal ระดับครัวเรือนกันซะเลย เพราะการแยกขยะสำหรับบ้านเราที่รณรงค์กันมาหลายปีก็ยังเป็นสิ่งใหม่ในทางปฏิบัติ แม้แต่กับฉันเองก็ยอมรับว่าทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่ถ้าเราทำจนกลายเป็นเรื่องปกติก็เป็นประโยชน์มหาศาลกับกระบวนการกำจัดขยะ เพราะสามารถแยกขยะรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พูดให้เห็นภาพง่ายๆ สมมติถ้าเราทิ้งทุกอย่างรวมกัน ทั้งพลาสติกรีไซเคิลเปรอะเปื้อนเศษอาหาร ขยะติดเชื้ออย่างแมสก์ มูลฝอยต่างๆ เมื่อไม่ได้รับการคัดแยกขยะเหล่านี้ก็จะถูกโยนไปรวมกันที่หลุมฝังกลบรอวันย่อยสลาย สร้างมลพิษในดิน อากาศ และขยะรีไซเคิลที่ควรจะนำกลับมาใช้ใหม่ก็ถูกทิ้งไป พร้อมผลิตขยะชิ้นใหม่มาใช้แทน

 

แยกขยะจึงเป็นการช่วยลดและจัดการขยะอย่างง่ายที่เราทำได้ในระดับครัวเรือน โดยแบ่งประเภทง่ายๆ เป็น ขยะบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องข้าวพลาสติก ช้อน ส้อม แก้วน้ำพลาสติก ให้นำมาล้างแล้วผึ่งให้แห้งก่อนทิ้งใส่ถุงขยะแยกไว้ เศษอาหาร แยกถุงเททิ้งต่างหากหรือใครจะลองนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ดูก็ได้ ขยะทั่วไปหรือวัสดุปนเปื้อน เช่น กระดาษทิชชู ถุงพลาสติกเปรอะเปื้อน ซองบะหมี่ ซองลูกอม ฟอยล์ห่ออาหาร ขยะติดเชื้อ ที่ปริมาณเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงนี้ทั้งหน้ากากอนามัย กระดาษทิชชูปนเปื้อนสารคัดหลั่งทั้งน้ำมูก น้ำลาย จำเป็นที่ต้องแยกออกจากขยะประเภทอื่นๆ หากนำไปรวมกัน นอกจากขยะรีไซเคิลจะไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่แล้ว ยังอันตรายสำหรับพี่ๆ พนักงานเก็บขยะด้วย   

Share this content

Contributor

Tags:

Covid-19, sustainable food

Recommended Articles

Food Storyจะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?
จะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?

 

 

Recommended Videos