เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

5 หนังที่จะทำให้คุณโหยหาอาหารญี่ปุ่น

Story by นคร โพธิ์ไพโรจน์

มีหนังหลายเรื่องที่พยายามหาทางแทรกวัฒนธรรมการกินลงไป จนบางทีดูจบต้องวิ่งหาอาหารมาเติมเต็มความต้องการในทันที หลายครั้งที่พูดถึงแบบอย่างของการส่งออกวัฒนธรรมไปกับหนัง “อาหาร” ก็มักได้รับการอ้างอิงอย่างเป็นรูปธรรมอยู่เสมอ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชนชาติที่เก่งกาจเรื่องการนำเสนออาหารในหนังก็คือญี่ปุ่น ดังจะเห็นได้จากการมีหนังญี่ปุ่นที่ว่าด้วยอาหารวนเวียนเข้าฉายในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง จนเผลอๆ อาจแยกหนังอาหารให้เป็นสับเซตของหนังญี่ปุ่นได้เลย

 

ทำไมหนังญี่ปุ่นถึงเอาจริงเอาจังกับการนำเสนอวัฒนธรรมการกินนัก เราคงเริ่มจากต้นตอ ซึ่งต้องถอยไปถึงยุค 80 ที่ว่ากันว่าเป็นยุค The Gourmet Boom มันคือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มคึกคักจนผู้คนหันมาพิถีพิถันด้านการกินกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีการนำเข้าวัตถุดิบที่ดีที่สุดจากต่างประเทศ ละเมียดกันตั้งแต่ภัตตาคารหรูจนถึงร้านข้างทาง บรรยากาศการกินแบบยกระดับนี้เฟื่องฟูถึงขั้นเจาะลงไปถึงสื่อต่างๆ ทั้งโฆษณา ซีรีส์ การ์ตูน และหนัง ซึ่งยังไม่มีจุดสิ้นสุดแม้จนปัจจุบัน

 

ทุกวันนี้อาหารญี่ปุ่นนับเป็นของขึ้นชื่อที่หากินได้แทบจะทั่วโลก โดยหากย้อนสำรวจเส้นทางการส่งออกวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นนี้จะพบว่าแรงส่งชั้นดีนั้นมาจากหนังนั่นเอง และนี่คือหนัง 5 เรื่องที่ช่วยขับเคลื่อนอาหารญี่ปุ่นขึ้นสู่เมนสตรีมระดับโลกเช่นทุกวันนี้ โดยจุดเด่นของทุกเรื่องคือสามารถหาที่ทางให้อาหารเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนได้อย่างแนบเนียนจนกระตุ้นให้คนดูเกิดความผูกพันกับอาหารเหล่านั้น…

 

 

Tampopo (1985, จูโซะ อิตามิ)

 

หนังตลกว่าด้วยเหล่าคนจรที่นำทางให้หญิงหม้ายเจ้าของร้านราเมงรังสรรค์เมนูแสนพิเศษขึ้นมากอบกู้สถานการณ์ร้านอาหารของตน นี่คือต้นตำรับหนังอาหารญี่ปุ่นที่ต้องบันทึกไว้ เพราะนอกจากจะเป็นหนังเรื่องแรกของพระเอก เคน วาตานาเบ้ ผู้เคยเข้าชิงออสการ์แล้ว มันยังถือกำเนิดขึ้นในยุค The Gourmet Boom ด้วย มันจึงถ่ายทอดบริบทของสังคมญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว และบรรยากาศความตื่นตัวด้านอาหารของญี่ปุ่นไว้อย่างชัดเจนด้วย ที่สำคัญคือยังเป็นหนังที่ทำให้ผู้คนนอกญี่ปุ่นได้รู้จักกับ “ราเมง” โดยเชื่อกันว่าหนังเรื่องนี้เองที่ทำให้ชาวตะวันตกสามารถจำแนกราเมงออกมาจาก “บะหมี่ญี่ปุ่น” ได้เสียที แต่นอกเหนือไปกว่านั้นมันคือหนังที่เพียบด้วยอารมณ์ขันและสไตล์การเล่าเรื่องแบบหนังคาวบอย อันเป็นความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกภาพยนตร์ช่วงเวลานั้นด้วย

 

Jiro Dream of Sushi

 

Jiro Dreams of Sushi (2011, เดวิด เกลบ์)

 

หาก Tampopo เป็นหนังที่ทำให้โลกรู้จักราเมงเพิ่มขึ้น หนังสารคดี Jiro Dreams of Sushi ก็ทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมซูชิให้โลกได้ทำความเข้าใจกับมันมากขึ้นเช่นกัน โดยหนังทำหน้าที่ให้เห็นว่าซูชิไม่ใช่แค่ข้าวปั้นหน้าปลาดิบธรรมดา แต่ยังมีศาสตร์และศิลป์ที่ให้คุณค่ากับวัตถุดิบทุกชนิดในหนึ่งคำเล็กๆ นั้นอย่างละเอียด ผ่านตัวละครหลักเป็นคุณตา จิโร่ โอโนะ เชฟซูชิวัย 85 ปี เจ้าของร้าน Sukibayashi Jiro เจ้าของดาวมิชลิน 3 ดวงในตำนาน ผู้ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะเดินทางมาถึงจุดที่ทั้งโลกยอมรับ จุดเด่นของหนังไม่ใช่แค่การให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับซูชิ ผ่านสายตาคนทำหนังชาวตะวันตกเพียงเท่านั้น แต่จุดเริ่มต้นของผู้สร้างอย่าง เดวิด เกลบ์ คือตั้งใจที่จะทำสารคดีถ่ายทอดความมหัศจรรย์ให้เป็น Planet Earth (สารคดีชีวิตสัตว์ป่าที่แสนอัศจรรย์) เวอร์ชันการทำอาหาร มันจึงเต็มไปด้วยการประกอบสร้างทางภาพและเสียงให้สวยงามหยดย้อย ควบคู่ไปกับการเล่าเรื่องแสนเข้มข้น จนหลายคนพุ่งเข้าร้านซูชิทันทีที่ออกจากโรง

 

Little Forest

 

Little Forest: Summer/Autumn (2014, จุนอิจิ โมริ)

 

Little Forest: Winter/Spring (2015, จุนอิจิ โมริ)

 

ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของวงการหนังในเมืองไทย เพราะนำเข้าโดยผู้จัดจำหน่ายรายเล็กที่ไร้ต้นทุนการประชาสัมพันธ์ ทว่าเนื้อหนังกลับทำงานจนสร้างกระแสหล่อเลี้ยงหนังให้แต่ละภาคสามารถยืนระยะการฉายนานนับเดือน Little Forest ดัดแปลงมาจากมังงะของ ไดสึเกะ อิการาชิ เล่าเรื่องของ อิจิโกะ หญิงสาวผู้หลบหนีความวุ่นวายของเมืองใหญ่กลับไปใช้ชีวิตแสนสงบที่บ้านเกิด ที่นั่นเธอปลูกไร่ทำสวนเอง และสร้างสรรค์อาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติตามฤดูกาล แม้แต่นูเทลล่าก็ยังทำเอง… จุดเด่นของหนังคือมันเล่าเรื่องแต่น้อย เน้นถ่ายทอดบรรยากาศอันสวยงามของชีวิตชนบทญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดความนิยมในอาหารญี่ปุ่นที่ไม่เล่นใหญ่แต่ใส่ใจธรรมชาติ นอกจากนี้ยังตอบสนองภาพฝันของคนเมืองที่มีต่อไลฟ์สไตล์อันเรียบง่าย กระแสของหนังไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในญี่ปุ่นกับไทยเท่านั้น เพราะล่าสุดมันได้รับการตีความใหม่เป็นหนังเกาหลีไปแล้วเรียบร้อย

 

Sweet Bean

 

Sweet Bean (2015, นาโอมิ คาวาเสะ)

 

หลายคนร่ำไห้หมดรูปให้กับความสัมพันธ์อันสวยงามระหว่าง เซนทาโร่ ชายหนุ่มวัยกลางคน กับ โทคึเอะ คุณย่าวัย 70 ฝ่ายชายเป็นเจ้าของร้านโดรายากิที่ทำเองขายเองมายาวนาน วันหนึ่งเขาต้องการคนมาช่วย จึงได้พบกับโทคึเอะ ผู้พกสูตรถั่วแดงกวนรสเลิศมาด้วย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เซนทาโร่หันหลังให้กับถั่วแดงกวนสำเร็จรูปที่ใช้มานาน แล้วสร้างตลาดใหม่ด้วยถั่วแดงกวนโฮมเมดของคุณย่าเอง นอกจากโดรายากิไส้ถั่วแดงจะเป็นสัญลักษณ์แห่งการผนึกกำลังข้ามรุ่นของคนสองเจเนอเรชั่นแล้ว ยังถ่ายทอดความงดงามและลึกซึ้งของโดรายากิให้ชวนชิม มากกว่าการเป็นขนมชิ้นโปรดของโดราเอมอนที่ชาวโลกรู้จักก่อนหน้านี้

 

Our Little Sister

 

Our Little Sister (2015, ฮิโรคาซึ โคเระเอดะ)

 

ยังมีหนังญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดอาหารและวัฒนธรรมกลมกลืนไปกับชีวิตผู้คนอย่างแนบเนียนอีกมากมาย แต่เราขอเลือก Our Little Sister เป็นตัวแทนเรื่องสุดท้ายที่จะแนะนำ แม้จะไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องอาหารโดยตรง แต่การนำเสนอ “เหล้าบ๊วย” ในเรื่องนี้คือความเหนือชั้นในการสอดแทรกวัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่นเข้าไปในเรื่องราวแสนอบอุ่น ว่าด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสี่ดรุณีพี่น้อง โดยหนังเลือกเหล้าบ๊วยที่ผ่านกรรมวิธีการหมักยาวนานนับปี ให้เป็นตัวแทนสายสัมพันธ์ของหญิงสาวจากรุ่นสู่รุ่น และกระตุ้นให้พวกเธอมีกิจกรรมร่วมกัน อันเป็นกุศโลบายให้คนดู (ที่หนังเดินทางไปทั่วโลก) เกิดความผูกพันกับเรื่องราวของเหล้าบ๊วยในแต่ละโหล และอดไม่ได้ที่จะอยากลิ้มลองมันสักเป๊กเมื่อหนังจบลง

 

ข้อมูลประกอบ:

 

https://www.eater.com/2016/11/4/13513292/tampopo-movie-ramen-review

 

https://books.google.co.th/books?id=Ley_r5VldNUC&pg=PA26&lpg=PA26&dq=gourmet+boom&source=bl&ots=Ofw0ychFeQ&sig=h3UK6ewFtIaEVe434zIhwK1D8E8&hl=en&sa=X&ved=0ahUKEwiise3N75zZAhWELY8KHXxsAJUQ6AEILjAC#v=onepage&q=gourmet%20boom&f=false

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารกับภาพยนตร์, อาหารญี่ปุ่น

Recommended Articles

Food StoryWilly Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต
Willy Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต

ร่วมเดินทางตามหาต้นกำเนิดและเปิดสูตรลับช็อกโกแลตวองก้า

 

Recommended Videos