เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

9 รสยา สรรพคุณล้ำค่าในตำรายาไทย

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ชวนรู้จักกับรสยา 9+1 รส จากก้นครัวสู่ยารักษาโรค

คำว่า ‘กินอาหารให้เป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร’ กลายเป็นคำพูดที่ใครๆ ต่างก็หยิบยกขึ้นมาเมื่อต้องพูดถึงเรื่องพฤติกรรมการบริโภคและแวดวงอาหารสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงราว 10 ปีให้หลังที่การดูแลสุขภาพแบบทางเลือกกลายเป็นอีกหนึ่งคำตอบเรื่องการแพทย์และการรักษา สังคมจึงกลับมาสนใจเรื่องยาสมุนไพรไทยมากขึ้นกว่าที่เคย

 

ยาสมุนไพรไทยแม้ไม่ได้มีวิทยาศาสตร์รองรับเรื่องการรักษาโรคร้ายแรง แต่สำหรับอาการทางกายเล็กๆ น้อยๆ แล้วละก็รับรองว่าศาสตร์แพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกที่พึ่งพาได้เสมอ ไม่เพียงแต่ว่าปลอดภัยและสบายใจมากกว่ายาเคมี ยาปฏิชีวนะเท่านั้น แต่ยังสบายกระเป๋ากว่าเป็นไหนๆ เพราะว่ายาสมุนไพรในตำราล้วนตั้งต้นมาจากกลิ่นรสของตัวยาสมุนไพร พูดง่ายๆ ก็คือ ยาตามตำราโบราณนั้นเป็นอาหารที่กินได้เกือบจะทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

 

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ก็เป็นอันว่าจะต้องพูดถึงเรื่องของ ‘รสยา’ หรือรสของเภสัชวัตถุที่เป็นการจำแนกสรรพคุณของยาต่างๆ ในชั้นต้น ในตำรายาไทย รสยาสามารถแบ่งได้หลายแบบ แต่แบบที่ครอบคลุมและเป็นที่นิยมมากที่สุดคือรสยา 9 รส (ซึ่งอันที่จริงคือรสยา 9+1 รส) ดังที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับการท่องจำว่า

 

“ฝาด-สมาน

 

หวาน-ซาบเนื้อ

 

เมาเบื่อ-แก้พิษ

 

โลหิต, ดี – ขม

 

ลม-เผ็ดร้อน

 

มัน-เส้นเอ็น

 

หอมเย็น-บำรุงหัวใจ

 

เค็ม-ซาบหนัง

 

เปรี้ยว-กัดเสมหะ”

 

 

ซึ่งคำท่องจำเหล่านี้หมายถึงสรรพคุณของยา (หรืออาหาร) แต่ละรสชาติ สำหรับเป็นแนวทางเบื้องต้นในการเลือกใช้สมุนไพรในการบำรุงร่างกายหรือการบรรเทาความเจ็บไข้ต่างๆ นั่นเอง

 

รสฝาด – สมานแผลทั้งภายนอกภายใน

 

 

สมุนไพรที่มีรสฝาด โบราณว่ามีฤทธิ์ในการสมานแผล ทั้งแผลสดและแผลเปื่อย อย่างเช่นใบฝรั่งที่มีรสฝาด สามารถนำมาเคี้ยวเพื่อบรรเทาอาการเหงือกอักเสบ เป็นหนอง จึงช่วยลดกลิ่นปากและลดอาการปวดฟันได้ เปลือกมังคุดที่มีรสฝาดก็ช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โบราณมักใช้วิธีนำเปลือกมังคุดไปต้มกับน้ำสะอาด ใช้เป็นน้ำในการเช็ดและล้างแผล ลดอาการคันและรักษาโรคผิวหนัง ส่วนปัจจุบันมีการใช้สารสกัดจากเปลือกมังคุดในผลิตภัณฑ์เสริมความงามมากมาย เปลือกทับทิบที่มีรสฝาดก็นำมาต้มน้ำดื่มเพื่อลดอาการท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด ใบชารสฝาดอ่อนๆ เมื่อนำมาแช่น้ำร้อนทิ้งไว้นานๆ ให้สารแทนนินออกมามากก็ช่วยลดอาการท้องร่วง ถ่ายท้องได้ดี นอกจากนี้แล้วกล้วยดิบและขมิ้นชันที่มีรสฝาดก็เป็นยาคู่ใจของคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือโรคทางเดินอาหารต่างๆ เพราะช่วยสมานแผลในทางเดินอาหารได้ที่เยี่ยมทีเดียว

 

รสหวาน – ซึมซาบไปตามเนื้อ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ

 

 

หลายคนอาจเคยเจอประสบการณ์ที่ว่า เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรสชาติหวานอย่างเช่นค็อกเทลหรือเหล้าผสมน้ำหวานแล้วจึงเมาง่ายกว่าปกติ ในทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อดื่มแอลกอฮอล์พร้อมกับน้ำตาล ร่างกายจะดูดซึมเอากลูโคสไปใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะต้องดูดซึมเอาแอลกอฮอล์เข้าไปด้วย แอลกอฮอล์จึงทำงานกับร่างกายได้มากกว่าและเร็วกว่าการดื่มปกติ ส่วนในทางแพทย์แผนไทยอธิบายได้ว่า เพราะรสหวานมีฤทธิ์ช่วยพาตัวยาให้ซึมซาบไปตามเนื้อ เมื่อกินเหล้ากับน้ำตาลหรืออาหารที่มีรสหวานก็จะเมาง่ายกว่าปกตินั่นเอง

 

รสหวานในตำรายาไทย นอกจากจะใช้ผสมกับตัวอย่างที่มีกลิ่นรสอื่นเพื่อช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีแล้ว ก็ยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย หากได้น้ำอ้อยคั้นสดใหม่เย็นๆ น้ำผึ้งมะนาว หรือน้ำตาลมะพร้าวสักแก้วก็จะทำให้รู้สึกมีกำลังมากขึ้น

 

รสเมาเบื่อ – แก้พิษ แก้โรคทางอาโปธาตุ ทำให้นอนหลับ

 

 

ขึ้นชื่อว่ารสเมาเบื่อ สรรพคุณที่คุ้นเคยมากเป็นอันดับแรกคือทำให้ผ่อนคลายและหลับสบาย อย่างเช่นกัญชา สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะพอดีก็จะทำให้รู้สึกสบายตัวและหลับง่ายขึ้น นอกจากนี้แล้วรสเมาเบื่อยังสามารถแก้โรคทางอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เช่น ยาฉุนหรือใบยาสูบช่วยทำให้อาเจียน ขับปัสสาวะ ขับพยาธิในลำไส้ ยาถ่ายพยาธิในตำราไทยหลายขนานจึงมักมีการผสมสุราลงไปด้วย หรือชุมเห็ดเทศทีมีรสเมาเบื่ออ่อนๆ ก็มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ขับปัสสาวะ และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม รสเมาเบื่อเป็นรสยาที่ควรศึกษาให้ถี่ถ้วนและควรใช้ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะเป็นรสที่มีผลข้างเคียงมาก อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ แม้จะเป็นยาสมุนไพรก็ตาม

 

รสขม – บำรุงโลหิต บำรุงดี เจริญอาหาร แก้ร้อนในกระหายน้ำ

 

 

อาหารและยาสมุนไพรรสขม มีฤทธิ์ในการบำรุงโลหิตและบำรุงน้ำดี ความขมของบอระเพ็ดจึงสามารถช่วยเสริมระบบการไหลเวียนของเลือด หากกินแต่พอดีก็จะทำให้เลือดสูบฉีดได้ดี ผิวพรรณเปล่งปลั่งรสขมของฟ้าทะลายโจรช่วยกระตุ้นให้ตับสร้างน้ำดี ส่วนผลมะระขี้นกหรือมะแว้งเครือรสขมๆ นั้นมีส่วนกระตุ้นให้น้ำย่อยออกมามากขึ้น ทำให้กินอาหารได้มาก ดังนั้นแล้วหากมีอาการเบื่ออาหารก็ลองมองหาน้ำพริกรสจัดๆ พร้อมกับผักรสขมมาเป็นผักแนมสักหน่อย รับรองว่าจะเจริญอาหารขึ้นอย่างแน่นอน

 

รสเผ็ดร้อน – แก้ลม ขับลม ขับเหงื่อ

 

 

รสเผ็ดร้อนเป็นรสของอาหารและยาสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี สรรพคุณที่โดดเด่นประการแรกก็คือการแก้ลม ขับลม ขับเหงื่อ อย่างเช่นบรรดาสมุนไพรกลิ่นหอมที่มักใช้ปรุงอาหาร ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง กระเทียม พริก และพริกไทยนอกจากจะอยู่ในหม้อต้มยำให้ซดได้โล่งคอแล้ว ยังนำมาใช้ในการอบสมุนไพร ช่วยขับเหงื่อ ทำให้สบายตัว ช่วยแก้ลมหายใจคล่อง จมูกโล่ง น้ำขิงแก่รสเผ็ดร้อนต้มจนหอม ช่วยให้เรอ ขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ยาดมสมุนไพรที่มีกลิ่นของกานพลู กระวาน จันทน์เทศ ก็ช่วยบำรุงธาตุไฟ ช่วยขับลม และทำให้ชื่นใจได้อีกด้วย

 

รสมัน – แก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงร่างกาย บำรุงเยื่อกระดูก ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย

 

 

อาหารและสมุนไพรรสมันในตำรายาไทยไม่ได้หมายถึงน้ำมันประเภทต่างๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงธัญพืชอย่างถั่วนานาชนิด งา รวมถึงหัวแห้ว หัวถั่วพู และน้ำนมแพะอีกด้วย สรรพคุณของอาหารและยารสมันมีหลากหลาย เช่นน้ำมันต่างๆ รวมกับสมุนไพรฤทธิ์เผ็ดร้อน สามารถนำมาทำยาทายานวด บรรเทาอาการปวดเมื่อย เส้นเอ็นตึง เอ็นพิการได้อย่างชะงัด ส่วนอาหารประเภทถั่วและธัญพืชอย่างงา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หรือหัวแห้ว ก็ช่วยบำรุงร่างกายให้ได้พลังงานมาก มีกำลังวังชา และรักษาความอบอุ่นให้ร่างกายได้ดี

 

รสหอมเย็น – ชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย แก้กระหายน้ำ

 

 

สมุนไพรฤทธิ์เย็นกับสมุนไพรรสหอมเย็นเป็นการแบ่งประเภทของสมุนไพรโดยใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน หากจะพูดถึงรสยา 9 รสจึงต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นรสหอมเย็นเท่านั้น สมุนไพรรสหอมเย็นที่คุ้นเคยก็อย่างเตยหอม พิมเสน ดอกกุหลาบ หญ้าฝรั่น ไม้กฤษณา แฝกหอม น้ำดอกไม้เทศ เป็นต้น รสหอมเย็นมีฤทธิ์ในการบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เราจึงชื่นใจเมื่อได้กินน้ำใบเตยเย็นๆ หอมๆ หรือในอดีตที่ไม่มีน้ำเย็นจากตู้เย็นหรือน้ำแข็ง คนโบราณก็ใช้วิธีนำน้ำฝนสะอาดมาเจือพิมเสนเล็กน้อย ก็จะให้รสเย็นชื่นใจได้เหมือนกัน น้ำ น้ำหวาน หรืออาหารที่เจือด้วยกลิ่นของดอกไม้อย่างเช่นดอกกุหลาบ ดอกมะลิก็ช่วยแก้อ่อนเพลีย แก้กระหายน้ำ อย่างเช่นในข้าวแช่โบราณก็มักใช้น้ำลอยดอกมะลิเย็นๆ ช่วยให้อาการอ่อนเพลียจากความร้อนหายไปได้เหมือนปลิดทิ้ง

 

รสเค็ม – ซึมซาบไปตามหนัง แก้เสมหะเหนียว ขับเมือกมันในลำไส้ ชำระน้ำเหลือง

 

 

รสเค็มตำรายาสมุนไพรประกอบด้วยเกลือเป็นหลัก ซึ่งได้แก่เกลือทั้ง 5 คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทรี และ เกลือวิก เกลือทั้ง 5 นี้แตกต่างกันไปตามที่มาและวิธีการสะตุ ทำให้ฤทธิ์ของเกลือแต่ละแบบแตกต่าง เกลือประเภทต่างๆ จึงใช้เข้ายาที่มีฤทธิ์ต่างกันไปด้วย สรรพคุณของเกลือเมื่อใช้ภายนอกจะเน้นไปที่การรักษาผิวหนังไม่ให้เน่าเปื่อย บรรเทาอาการผื่นคันเล็กน้อย เช่นที่ว่าหากมีผื่นคันหรือกลากเกลื้อน คนโบราณมักให้ไปอาบน้ำทะเลจะช่วยให้ผิวหนังดีขึ้น ส่วนสรรพคุณที่ใช้กันทั่วไปคือการขับเมือกเหนียว เช่น การขับเสมหะ แก้บิดมูกเลือด ขับปัสสาวะอุจจาระ แก้โรคในปากและในลำคอนั่นเอง

 

รสเปรี้ยว – แก้เสมหะพิการ แก้ไอ แก้ท้องผูก แก้กระหายน้ำ

 

ความเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดนั้นไม่ได้มีดีแค่เรื่องอร่อยสดชื่นเท่านั้น แต่ในตำรายาไทย อาหารและยารสเปรี้ยวยังมีสรรพคุณอีกมากมาย อย่างเช่น ช่วยทำให้เลือดลมเดินดี แก้ไอ แก้กระหายน้ำ เป็นยาระบายอย่างอ่อน และช่วยแก้เสมหะพิการ อย่างเช่นน้ำมะนาวและน้ำมะขามป้อมช่วยแก้ไอและแก้กระหายน้ำได้ชะงัด รวมถึงผลไม้รสเปรี้ยวอื่นๆ อย่างมะดัน มะอึก มะเขือขื่น หรือมะยมก็มีคุณสมบัติอย่างเดียวกัน ใบมะขาม ใบชะมวง ใบส้มป่อยและใบส้มเสี้ยวก็มีรสเปรี้ยวอยู่ จึงมีฤทธิ์ช่วยฟอกโลหิต ขับเสมหะในลำไส้ได้อีกด้วย

 

รสจืด – แก้เสมหะพิการ ดับพิษ แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ

 

อีกรสหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงก็คือรสจืด ซึ่งถูกนับอยู่ในรสอย่างด้วยอีกรสหนึ่ง ทำให้กลายเป็นรสยา 9+1 รส เพราะอาหารและสมุนไพรรสจืดก็มีสรรพคุณในตัวเองด้วยเหมือนกัน โดยตำราว่าไว้คือมีสรรพคุณคล้ายกับสมุนไพรรสเปรี้ยว จึงเหมาะกับใช้ในโรคและอาการที่แสลงกับรสยารสเปรี้ยวเป็นหลักนั่นเอง อาหารและสมุนไพรรสจืด อาทิ เถาตำลึง ผักกาดน้ำ หญ้าถอดปล้อง รากตะไคร้ และตองแตก ดังนั้นเมื่อเป็นไข้ตัวร้อนหากได้แกงจืดตำลึงอุ่นๆ สักถ้วยก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้มากเชียวละค่ะ

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสมุนไพร หากแต่เมื่อใช้ในปริมาณที่ออกฤทธิ์เป็นยา ก็ย่อมจะมีทั้งผลดีและผลเสียอยู่เสมอ จึงไม่ควรใช้เพื่อการรักษาโดยปราศจากความรู้เบื้องต้น นอกจากนี้แล้ว เกณฑ์ในการแบ่งแยกและระบุฤทธิ์ของตัวยาก็ไม่ได้มีเพียงเกณฑ์เดียว ตำรายาก็ไม่ได้มีเพียงแขนงเดียว ดังนั้นควรหาข้อมูลของอาการที่แสลงกับรสยานั้นๆ รวมถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่นแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วยก่อนเลือกใช้ตัวอย่างแบบใดแบบหนึ่งในการรักษาโรคทุกครั้ง

 

เช่นเดียวกันกับการเลือกกินอาหารที่มีรสชาติต่างๆ เหล่านี้ ในอาหารไทยจานหนึ่งๆ มีรสชาติซับซ้อนมากมาย แน่นอนว่าย่อมจะแฝงสรรพคุณจากรสชาติและกลิ่นของสมุนไพร ผัก ผลไม้ ที่ใช้ในอาหารนั้นๆ อยู่ด้วย การเลือกกินอาหารให้สมดุลและครบถ้วนจึงเป็นทางสายกลางที่จะรักษาร่างกายให้แข็งแรงได้อยู่เสมอ ใครที่ติดนิสัยเขี่ยขิง ข่า หรือมะเขือพวงออกจากจานอาหาร ลองเปิดใจให้รสชาติทั้ง 9 รสดูอีกที รับรองว่าจะได้กินอาหารเป็นยาอย่างแน่นอนค่ะ

Share this content

Contributor

Tags:

สมุนไพร, อาหารไทย

Recommended Articles

Food Storyเครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?
เครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?

ชวนทำความรู้จักกับเครื่องยาและสรรพคุณ จากบะกุดเต๋หม้อโปรด

 

Recommended Videos