เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

อาหารอุ่นใจ อาหารไทยสูตรใหม่ของคนไกลบ้าน

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

อาหารในวันคิดถึงบ้านของคนไทยในต่างประเทศ ที่หยิบนิดผสมหน่อยจนวัตถุดิบต่างประเทศกลายเป็นเมนูคุ้นเคยและอุ่นใจ

“อาหารเป็นสื่อกลางระหว่างแม่กับเรา” ฉันอ่านเจอประโยคนี้ในหนังสือเล่มหนึ่งและชวนให้สงสัยว่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่เมื่อใครต่อใครต้องเดินทางไกลออกจาก ‘บ้าน’ เราจะโหยหาอาหารที่คุ้นปากเป็นอันดับแรกเสมอ ร้านอาหารนานาชาติจึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยคนไกลบ้าน คำว่า China Town, Thai Town หรือ Little India ล้วนมีอาหารของชนชาติเป็นส่วนประกอบใหญ่ในนั้น

 

เมื่อความจำเป็นหอบเอาชีวิตมาตั้งหลักไกลบ้านเกิด อาจเป็นอีกประเทศหรืออาจเป็นอีกทวีป สิ่งที่เกิดคู่ขนานไปกับการเรียนรู้เรื่องใหม่ ย่อมจะเป็นการโหยหาสิ่งเก่าอย่างไม่ต้องสงสัย อารมณ์โหยหาคนรักอาจเกิดขึ้นวันละครั้งก่อนนอน เราอาจคิดถึงเพื่อนแก๊งค์ปาร์ตี้วันเสาร์แค่อาทิตย์ละครั้ง แต่ความทรงจำที่เต็มไปด้วยกลิ่นรสอย่างอาหารจะถูกย้ำเตือนวันละสามเวลา (เป็นอย่างน้อย) ไม่แปลกใจที่คนไทยหลายคนจะเริ่มหัดทำอาหารจริงจังเอาตอนอยู่เมืองนอกนี่แหละ

 

เมื่อความคิดถึงมีพลังมากกว่าความยุ่งยาก ปัญหาใหญ่อย่างเรื่องวัตถุดิบก็กลายเป็นปัญหาเล็ก สิ่งใดก็ตามที่อยู่ใกล้หูใกล้ตาถูกคนไทยถอดรหัส จับมาแปลงร่างให้เป็นอาหารไทยเสียเกลี้ยง กลายเป็นเมนูอาหารไทยไกลบ้านในวันที่สถานการณ์และงบประมาณไม่เอื้ออำนวยให้ใช้วัตถุดิบส่งตรงจากประเทศไทย อย่างเช่น 3 เมนูอาหารไทยไกลบ้านจากคนไทย 3 คนที่เราชวนมาพูดคุยในครั้งนี้

 

 

แกงเขียวหวานถั่วฝักยาว

 

กิ๊ฟ – พันธิตรา รังสิวัฒนศักดิ์

 

จากเพจเรื่องเล่าล้านกิโลเมตร

 

สาวอารมณ์ดีที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในเบอร์ลิน พร้อมเรื่องน่ารักชวนอมยิ้มจาก ‘เด’ หรือ เดวิดแฟนหนุ่มผู้อารมณ์ดีไม่แพ้กัน ระหว่างที่การศึกษาในระดับปริญญาโทพาเธอเดินทางไกลจากบ้าน กิ๊ฟเริ่มทำอาหารไทยด้วยหลายเหตุผล อย่างเช่นแกงเขียวหวานหม้อใหญ่ที่เธอตั้งใจทำเป็นของขวัญในวันส่งท้ายให้กับอาจารย์คนหนึ่งที่เธอเรียนด้วย กลายเป็นแกงเขียวหวานไกลบ้านที่ใส่ถั่วฝักยาวและเห็ด แม้จะมีเสียงบ่นว่าเผ็ดอยู่บ้าง แต่สุดท้ายแกงหม้อใหญ่กับข้าวอีกพูนหม้อก็หมดเกลี้ยงไม่มีเหลือ

 

“ที่เบอร์ลินมีร้านขายของเอเชีย มีเกือบทุกอย่างให้ซื้อ ราคาอาจไม่แพงมากสำหรับที่นี่ แต่ถ้าเทียบกับบ้านเราก็แพงกว่าประมาณ 2-3 เท่าค่ะ ที่เคยทำมา แกงเขียวหวานนี่น่าจะไทยสุดแล้ว แต่ก็ใช้พริกแกงสำเร็จนะคะ

 

กิ๊ฟชอบกินแกงเขียวหวานใส่หน่อไม้เส้นค่ะ หน่อไม้เส้นที่นี่มีแบบกระป๋อง บางทีก็ไม่ค่อยอยากกินแบบนั้นเท่าไร เลยใส่ผักสด ถั่วฝักยาวยังโอเค เคยทำแบบใส่แครอทด้วย แต่พอพ้นคืนไปแล้วรสชาติแกงเปลี่ยนเลย”

 

 

ข้าวมันไก่น้ำจิ้มมิโสะ

 

โบ – ปรียาพร ไซฮาระ จากเพจขี้เล่า

 

สำนวนสำเนียงเหนือจัดจากเพจ ‘ขี้เล่า’ เพจชวนเม้าท์ของคุณโบ แม่บ้านฟูลไทม์ที่โยกย้ายไปเริ่มต้นชีวิตครอบครัวกับสามีชาวญี่ปุ่น อาจทำให้คนภาคอื่นต้องปวดหัวกับการแปลไทยเป็นไทยเล็กน้อย แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อยู่ในเรื่องเล่าชวนหัวเราะนั้น คือการเปิดโลกของแม่บ้านญี่ปุ่นที่น่าสนใจไม่น้อย แม้โบจะซื้อวัตถุดิบไทยไม่บ่อย แต่ทำอาหารไทยบ่อย และทำกินทั้งครอบครัว

 

“ทุกวันนี้ที่ดำรงชีพได้เพราะร้าน Kaldi ร้านนี้จะขายของนำเข้าจากทั่วโลกเลย ถามว่าแพงไหม ก็แพง ผักสดก็มีนะ คนไทยขาย แต่นานทีปีหนจะสั่งทีหนึ่ง เพราะแพงมาก ค่าส่งก็แพง ส่วนใหญ่จะซื้อพวกสมุนไพรแล้วแช่ฟรีซไว้มากกว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ค่อยได้ซื้ออะไรเป็นพิเศษ แต่ล่าสุดเพิ่งซื้อทุเรียนไป ลูกหนึ่งอยู่ราวๆ 1,500 บาท อยู่มาสี่ปีเพิ่งซื้อกินลูกเดียว

 

ที่ทำบ่อยที่สุดคือข้าวมันไก่ ทำเดือนละหลายครั้งเลย ทำทีก็ทำกินกันทั้งบ้าน เพราะสามีชอบ ที่บ้านสามีก็ชอบมาก จริงๆ ก็ขนเต้าเจี้ยวจากไทยมาหลายขวด พอหมดก็ไม่รู้จะทำยังไง เลยเอามิโสะมาทำ คิดว่ามันทำมาจากถั่วเหลืองเหมือนกันก็น่าจะพอแทนได้ สรุปว่าออกมาดีเลย”

 

 

ส้มตำหัวเทอร์นิป

 

ปอนด์ – วิลาวัลย์ ศรีเจริญ

 

จากออแพร์ (ผู้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและไปใช้ชีวิตในอเมริกา 12-24 เดือน) สู่การเรียนต่อ ปอนด์ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาเป็นปีที่สาม ตลอดสองปีในการเป็นออแพร์ เราเห็นปอนด์โพสต์รูปอาหารไทยฝีมือตัวเองนับครั้งไม่ถ้วน นับตั้งแต่เมนูง่ายๆ ไปจนถึงน้ำพริกผักลวก ปลานึ่งมะนาว สาคู ข้าวขาหมู ข้าวคลุกกะปิ และขนมจีน ที่น่ารักกว่านั้นคือเธอไม่ได้ทำกินเองหนึ่งอิ่ม แต่ปอนด์ทำอาหารไทยให้โฮสต์แฟมิลี่ได้อิ่มอร่อยกันทั้งบ้านเลยด้วย

 

“จากคนไม่เคยทำอาหาร อยู่อเมริกาแล้ว ทำอาหารเป็นไปเลย คงเพราะทนแรงคิดถึงอาหารที่บ้านไม่ไหว เลยได้รู้ว่าที่นี่มีขายทุกอย่าง (หัวเราะ) ในเอเชียซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารแปลกๆ เยอะมากเลย บางอย่างคิดว่าหาไม่เจอแน่ แต่มีจริงๆ ตลกมาก แต่จะมาในแพ็กเกจแปลกๆ หน่อย เห็ดเผาะ หน่อไม้ดอง จะมีเป็นกระป๋องแบบดองขาย รสชาติอาจไม่เหมือนที่บ้าน แต่ก็พอกินได้ สะตอก็มีขายแต่ต้องรอจังหวะหน่อย ครก สาก หวด ที่นี่มีขายหมด

 

พวกกะเพราอะไรแบบนี้ปลูกเอา เมล็ดมีขายที่ร้านคนจีน แต่แพงมาก บางอย่างหาไม่ได้ก็จับโน่นนี่มาแทน อย่างส้มตำถ้าหามะละกอไม่ได้ก็จะใช้เทอร์นิป เพื่อนที่เป็นออแพร์เอามาทำกันเยอะเลย แล้วบอกต่อๆ กัน ทำตำไทยตำลาวก็ได้ รสชาติมันเหมือนมะละกอเลย แต่ต้องเลือกดีๆ เพราะบางอันจะขม”

 

ความทรงจำในกลิ่นและรสดูจะเป็นความทรงจำที่เราโหยหาไม่แพ้ความทรงจำในรูปแบบอื่น ในวันที่ตัดสินใจพาตัวเองเดินทางออกจากบ้าน การได้กินอาหารรสชาติคุ้นเคยอาจเป็นการได้เดินทางกลับบ้านในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อเติมพลังให้ออกไปใช้ชีวิตไกลบ้านต่อได้อย่างไม่คิดถึงกันจนทนไม่ไหว ‘รสชาติของที่บ้าน’ จึงไม่ต่างอะไรกับอาหารอุ่นใจของคนไทยในต่างแดน

 

สูตรอาหารทั้ง 3 สูตรนี้คือตัวแทนคำขอบคุณให้กับ กิ๊ฟ – พันธิตรา รังสิวัฒนศักดิ์, โบ – ปรียาพร ไซฮาระ และ ปอนด์ – วิลาวัลย์ ศรีเจริญ ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของครัวไทยไกลบ้านให้เราได้นำมาเล่าต่อ รวมถึงเป็นการส่งกำลังใจให้คนไทยทั่วโลกจาก KRUA.CO ด้วยนะคะ

 

เมื่อฝ่ายอาหารของเราได้อ่านเรื่องราวความคิดถึงบ้านของเหล่าคนไกลบ้านทั้ง 3 จึงอยากนำเสนอเมนูที่เหล่าคนไกลบ้านได้บอกเล่าเรื่องราว ทำออกมาเป็นสูตรอาหาร ให้ได้ลองทำกันดูว่าต่อให้ไกลบ้านแค่ไหน เราก็ทำอาหารอร่อยๆ กลิ่นอายความเป็นไทยได้เหมือนกัน และเมื่อเรามีสูตรตั้งต้นแล้วนั้นเราก็นำสูตรทั้ง 3 มาดัดแปลง พลิกแพลงสักหน่อย อาจจะปรับเปลี่ยนวัตถุดิบไปบ้างตามแต่ที่เราจะหาได้ แต่รับประกันรสชาติที่ได้นั้นยังเหมือนเดิม พูดมาถึงขนาดนี้แล้วก็อย่ารอช้า

 

 

 

เริ่มกันด้วยเมนูแรก แกงเขียวหวานกุ้ง สูตรนี้เราใช้พริกแกงเขียวหวานสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ในซูเปอร์มาเก็ตหลายๆ ประเทศ เนื้อสัตว์ที่ใส่จะเป็นอะไรก็ได้ แต่เราเลือกใช้เนื้อกุ้ง จะได้ความหวานจากเนื้อสัตว์ด้วย และในเมื่อเราหาซื้อกะทิสดไม่ได้เหมือนเมืองไทย เราก็ใช้กะทิกล่องแทนก็ได้ กลิ่นและรสชาติยังพอทดแทนกันได้ ส่วนผักนั้นเราเลือกใช้มะเขือม่วงและถั่วลันเตาใส่แทนถั่วฝักยาว เพื่อเป็นทางเลือกให้กับใครหลายๆ คนที่อาจจะไม่ชอบกินถั่วฝักยาว เพิ่มความเผ็ดเล็กน้อยด้วยพริกชี้ฟ้าจะเขียวจะแดง หั่นเป็นแว่นใส่ลงไปให้พอมีรสชาติที่เผ็ดนิดๆ ขึ้นมาได้ การปรุงรสถ้าหาซื้อน้ำปลาได้ก็ใช้น้ำปลาแทนเกลือ แต่จะให้ดีใช้เกลือจะดีกว่า เพราะรสชาติแกงจะได้กลมกล่อม และถ้าหากใครชอบติดรสหวานนิดๆ ก็ใส่น้ำตาลทรายลงไปได้ อันนี้ไม่ว่ากัน จบด้วยใบโหระพา ทำให้ได้กลิ่นความเป็นแกงเขียวหวานขึ้นมาทันที

 

 

 

ต่อด้วยเมนูที่ 2 ข้าวมันไก่น้ำจิ้มมิโสะ เมนูนี้นั้น พอเราได้อ่านก็รู้สึกว่าจริง ด้วยบ้านเรามีเต้าเจี้ยวถ้าไปอยู่ญี่ปุ่นก็ใช้มิโสะแทนสิ มันก็เหมือนกันเลย เราก็เลยใช้มิโสะแทนเต้าเจี้ยว แล้วก็ใช้น้ำส้มสายชูหมักจากข้าวแทนน้ำส้มสายชูธรรมดา ส่วนนอกนั้นก็ใช้เครื่องปรุงรสคล้ายๆ กัน แต่ด้วยความที่รสชาติของมิโสะจะมีกลิ่นเฉพาะ เราจึงต้องค่อยๆ ปรุงเพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อม ใกล้เคียงกับของต้นตำรับมากที่สุด แต่รับประกันว่าอร่อยเหมือนกัน

 

 

และเมื่อเราได้น้ำจิ้มมาแล้ว เราก็หุงข้าวมันโดยทำเหมือนกับเราหุงที่เมืองไทยนั่นแหละ นำหนังไก่ไปผัดให้เกิดมันใส่กระเทียมและขิง นำข้าวลงผัดให้มันเคลือบข้าวจนทั่ว (ถ้าไม่มีข้าวสารหอมมะลิขายก็นำข้าวญี่ปุ่นมาหุงได้นะคะ แต่ลดปริมาณน้ำลงหน่อย) แล้วนำไปหุงให้สุก เพียงเท่านี้ก็ได้ข้าวมันหอมๆ กินกับไก่ย่างที่หมักกับมิโสะ มิริน สาเก และซีอิ๊วญี่ปุ่น เสิร์ฟมาพร้อมกับซุปมิโสะ และสลัด จัดเป็นเซตอาหารญี่ปุ่นสวยๆ กินได้เลย

 

 

 

และเมนูสุดท้าย ส้มตำซูคินีแครอท ส้มตำถือเป็นเมนูคิดถึงบ้านมากที่สุด รับรองได้ว่าไม่ว่าจะไปอยู่หรือไปเที่ยว เมนูที่นึกถึงเป็นอย่างแรกก็คือส้มตำ โดยเฉพาะสาวกปูปลาร้าด้วยนั้น ต้องคิดถึงแบบสุดๆ หาสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดนำมาทำเพื่อคลายความคิดถึงก็แล้วกัน โดยการนำเอาแอนโชวี ที่มีความคล้ายคลึงกันอยู่นะ แค่อาจจะหอมไม่เท่า นัวไม่เท่า แต่รับประกันได้ว่าแซ่บ ใช้เส้นอย่างซูคินี แตงกวาญี่ปุ่น และแครอท แทนเส้นมะละกอ แต่จริงๆ ใช้ผักอะไรก็ได้ที่มีความกรอบ และขูดเป็นเส้นได้ เท่านี้ก็ทำส้มตำปลาร้ากินได้แล้วเช่นกัน เพื่อให้ได้บรรยากาศความเป็นส้มตำอีกนิด ให้กินคู่กับไก่ทอดหอมๆ ได้หายคิดถึงบ้านเป็นแน่

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารฟิวชั่น

Recommended Articles

Food Story‘เพอรานากัน’ อาหารแห่งรักจากแม่สู่ลูกกับเชฟอุ้ม ‘ตรัง โคอิ’
‘เพอรานากัน’ อาหารแห่งรักจากแม่สู่ลูกกับเชฟอุ้ม ‘ตรัง โคอิ’

"ทุกครั้งที่ได้ปรุงอาหาร มันเหมือนกับว่าแม่ไม่ได้จากเราไปไหน” คือประโยคตอกย้ำความเป็นมากกว่าแค่อาหารของเพอรานากัน

 

Recommended Videos