เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

Ugly Food ถึงอัปลักษณ์ก็ยังอร่อย

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

มองข้ามความบูดๆ เบี้ยวๆ ให้ถึงเนื้อใน เหล่า ugly food ก็อร่อย โภชนาการครบไม่ต่างกับผักผลไม้รูปงาม

ในปี 2050 องค์การสหประชาชาติคาดว่าจะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 7,600 ล้านคน เป็น 9,800 ล้านคน โลกต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้น 56 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้เพียงพอสำหรับประชากรทั้งโลก

 

‘ต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้น’ อาจดูย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า ในแต่ละปีมีขยะจากอาหารเหลือทิ้งกว่า 13 ล้านตันทั่วโลก และประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคนต้องเผชิญกับภาวะอดอยาก โดยในจำนวนอาหารเหลือทิ้งเหล่านี้บางส่วนเป็นพืชผลถูกทิ้งเปล่า เพียงเพราะรูปทรงบูดเบี้ยว ไม่สวย หน้าตาไม่ชวนหยิบจับ จึงไม่เป็นที่หมายตา ถูกคัดทิ้งไว้ที่ฟาร์มเพราะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ว่าลูกค้าต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เพอร์เฟกต์ที่สุด ทั้งที่ความจริงแล้วรูปทรงไม่ได้มีผลกับรสชาติหรือโภชนาการใดๆ ปลายทางของ Ugly Food พืชผลขี้เหร่จึงลงเอยในถังขยะ 

 

 

ค่านิยมที่ว่าลูกค้าต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ฝังหัวผู้บริโภคโดยเฉพาะกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ทำให้ผู้บริโภคเองปฏิเสธพืชผลหน้าตาอัปลักษณ์ เพราะถือเป็นสิทธิ์ของตนที่เสียเงินแล้วก็ต้องได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่ดีที่สุดนี้อาจถูกตีกรอบที่รูปลักษณ์ภายนอกเป็นสำคัญ ทว่าความจริงเหล่าพืชผลอัปลักษณ์ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติสรรสร้าง เช่นเดียวกับพืชผลรูปทรงได้สัดส่วน ที่ทั้งโภชนาการและรสชาติก็ไม่ต่างกัน หลายประเทศจึงเริ่มตระหนักและหาหนทางลดปริมาณขยะจาก Ugly food อย่างสหรัฐอเมริกา ที่หนึ่งในสามของผลผลิตทางการเกษตรถูกทิ้งเปล่า เนื่องมาจากระบบขนส่งที่สร้างความบอบช้ำให้กับผลผลิต และจากรูปทรงไม่สวยแปลกประหลาดเกินกว่าจะนำไปขาย ไม่ว่าจะเป็นแครอทมีสองขาสามขา มันฝรั่งรูปร่างพิลึก และอื่นๆ ที่ถูกมาตรฐานตีตราว่านี่แหละ Ugly รวมมูลค่ากว่า 161.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไหนจะทรัพยากรน้ำที่สูญเสียไปกับการเพาะปลูกอีกจำนวนมหาศาล และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเกิดขึ้นหลังการกำจัดขยะอาหาร

 

 

บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่ง เช่น Full Harvest, Misfits Market และ Imperfect Produce จึงสร้างช่องทางจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรที่มีรูปทรงไม่สมบูรณ์จากฟาร์มเกษตรกรส่งตรงถึงผู้บริโภค ในราคาถูกกว่าสินค้าคัดแล้วที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ด้วยต้นทุนต่ำกว่าเพราะแต่เดิมปลายทางของพืชผลรูปร่างไม่สวยเหล่านี้คือถังขยะ มันจึงแทบจะไม่มีค่า มีราคาใดๆ เลยสำหรับเกษตรกร สู้ขายในราคาถูก นอกจากไม่สูญเปล่า ผู้บริโภคเองก็ได้ของสดใหม่ส่งตรงจากฟาร์มในราคาย่อมเยา และลดปริมาณขยะอาหารลงได้

 

 

สำหรับประเทศญี่ปุ่นที่จริงจังกับมาตรฐานการคัดเลือกสินค้า บรรดาพืชผลที่ไม่ได้สัดส่วน ทั้งรูปทรงและขนาดก็จะถูกคัดทิ้งเช่นเดียวกัน เกษตกรเมืองซัปโปโรที่มองข้ามความขี้เหร่ของบรรดาพืชผลบิดเบี้ยว แต่เห็นถึงคุณค่าโภชนาการและรสชาติที่มีมากเกินกว่าจะกลายเป็ยขยะ จึงผุดไอเดียออกแบบบรรจุภัณฑ์ถุงใส่หัวไช้เท้า เติมหน้าตา แต้มลายเส้นปาก จมูก ให้บรรดาหัวไช้เท้าสองขา สามขา ดูมีชีวิตชีวา หน้าตาน่ารักชวนหยิบจับ ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด

 

ส่วนประเทศไทยที่ไม่ได้คร่ำเคร่งกับมาตรฐานรูปทรงมากนัก อาจนับเป็นโชคดี เพราะบรรดาพืชผลหน้าตาประหลาดที่หลุดรอดการคัดสรรมาถึงปลายทางยังตลาดสด แม้จะมีรูปทรงบูดเบี้ยว หรือหัวไช้เท้าสองขา สามขา ตราบใดที่มันยังดูสดไม่มีร่องรอยแมลงกัดกินจนแหว่งวิ่น ถ้ารูปทรงแคระแกร็นเกินก็ถูกแม่ค้าพ่อค้าจับโยนลงในกระบะลดราคา หรือหยิบจับแจกแถมให้ลูกค้าไปนั่นแหละ สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตในไทย ถ้ามีโซนขายผักผลไม้รูปร่างประหลาดในราคาย่อมเยาผุดขึ้นมาให้คนเมืองได้จับจ่าย ฉันว่าคงถูกใจแม่บ้านที่อยากเซฟมันนี่อยู่ไม่น้อยเลยนะคะ

 

 

Ugly Food ในไทยอาจไม่ใช่สาเหตุหลักที่สร้างขยะอาหารเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ในบ้านเราเองก็ตื่นตัวกับปัญหาขยะอาหารเหลือทิ้ง อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งก็มอบของสด เช่น ผักผลไม้ที่กินระยะเวลาอยู่บนเชลฟ์มานานครบกำหนด Shelf life ตามมาตรฐานของห้างสรรพสินค้า ที่มีระยะเวลาในการวางจำหน่ายชัดเจน แม้ยังไม่เสียแต่ไม่สามารถวางจำหน่ายต่อไปได้ให้แก่องค์กรการกุศล นำไปประกอบอาหารแจกจ่ายในมูลนิธิ และการรู้จักใช้วัตถุดิบในการประกอบอาหารให้คุ้มค่าที่สุด ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่คนทำครัวสามารถช่วยลดปริมาณขยะอาหารลงได้ เช่น ซื้อไก่ กุ้ง ปลามาหนึ่งตัว ทำอย่างไรจะใช้ทุกส่วนประกอบอาหารแบบเหลือทิ้งให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่ง KRUA.CO มีไอเดียมาฝาก (จัดการวัตถุดิบให้หมด ลดขยะเป็นศูนย์) ไว้ลองทำกันดูค่ะ   

 

 

อ้างอิงและภาพ

 

– https://www.vox.com/the-goods/2019/2/26/18240399/food-waste-ugly-produce-myths-farms

 

– offbeathome.com

 

– wastewise.be

 

– https://lovefoodhatewaste.co.nz/introducing-the-odd-bunch/

 

– pitchbook.com 

Share this content

Contributor

Tags:

sustainable food, ขยะอาหาร

Recommended Articles

Food Storyจะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?
จะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?