เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

อุรุดา โควินท์: ทุกคนควรทำอาหาร เพราะอำนาจเกิดจากในครัว

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ชีวิตในครัว ในบ้าน และในหนังสือของนักเขียนหญิงที่สวมวิญญาณแม่ครัวอยู่เป็นนิตย์

บางเวลาเธอเป็นนักเขียน เขียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับอาหาร นอกจาก ‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’ นวนิยายที่ติดโผเข้าชิงซีไรต์ประจำปี 2561 แล้ว เธอยังเขียนเรื่องอาหารให้กับนิตยสารอีกหลายหัวมาต่อเนื่องกว่าสิบปี

 

บางเวลาเธอเป็นแม่ค้า นอกจากน้ำพริก ‘เม้ยคะนอง’ ที่เธอรักแล้ว อุรุดาสามารถขายได้สารพัดสิ่งนับตั้งแต่เดรสลายดอกไปจนถึงหนังสือพร้อมลายเซ็นและรอยจุมพิตที่ปกใน

 

แต่ทุกเวลา – เท่าที่เรารู้จัก ชมพู – อุรุดา โควินท์’ คนนี้ เป็นแม่ครัวตัวจริง และเป็นด้วยความภาคภูมิในทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อมีฤกษ์งามยามดีได้แวะเวียนมาเมืองเชียงรายในช่วงต้นฝน เราจึงปักหมุด ‘สมิงพระราหูบุ๊กคลับ’ บุ๊กคลับในสวนลิ้นจี่แห่งนี้เอาไว้ เพื่อเข้ามาพูดคุยกับเธอตามประสาคนก้นครัวสักหน่อย

 

 

คำถามข้อแรกเลย ทำไมถึงต้องเขียนเรื่องอาหาร

 

จริงๆ ไม่ได้เขียนแต่เรื่องอาหารนะ เขียนหลายเรื่องเลย แต่เรื่องอาหารอาจจะเยอะที่สุดนะคิดว่า เขียนมา 6 เล่มแล้ว ถ้าจะรวมเล่มใหม่ที่กำลังจะออกนี่จะเป็นเล่มที่ 7 ซึ่งหนามาก (เน้นเสียง) เขียนมาสิบกว่าปีแล้วนะ ซึ่งที่เขียนเรื่องอาหารเนี่ย จุดเริ่มต้นมันคือการไม่ได้ทำ ตลกเนอะ

 

เขียนถึงอาหารเพราะไม่ได้ทำอาหาร?

 

ใช่ คือตอนเราอยู่พรหมคีรี (อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช) เราเป็นคนทำอาหารกินเองทุกมื้อ เพราะบ้านเราไกลตลาด พอมีเรื่องมีราวให้ต้องย้ายมาอยู่คอนโดฯ ในกรุงเทพฯ เราไม่ได้ทำอาหาร คือมันทำได้น้อยมากเพราะคอนโดฯ มันมีข้อจำกัด เขาห้ามใช้แก๊ส เงินก็ไม่ค่อยมีด้วยตอนนั้น คิดถึงการทำอาหารมาก เลยเขียนเรื่องอาหาร เขียนให้หายคิดถึงนี่แหละ (หัวเราะ)

 

ช่วงแรกๆ มันก็เลยออกจะเป็นเรื่องรำลึกความหลังหน่อย ก็คือเขียนถึงตอนอยู่พรหมคีรี เพื่อนทำอะไรให้กิน ตัวละครก็จะเป็นคนอื่นมากกว่าเรา แล้วเรื่องจะเยอะ ฉากจะเยอะ เพราะเวลาเราคิดถึงอาหาร เราจะเห็นคนที่เกี่ยวข้องกับจานนั้น แล้วก็เรื่องราวและความทรงจำของเรา มันก็กลับมาหมดเลย กลับมาแบบชัดเจนเลย

 

 

แล้วอย่างตอนนี้ที่อยู่บ้าน ได้ทำอาหารแล้ว เขียนเมนูอะไรบ้าง

 

ก็เขียนถึงอาหารที่ทำเองนี่แหละพอเราได้ทำมากขึ้น เรื่องที่เขียนมันก็จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็คือต้องเป็นอาหารที่เราทำเองเท่านั้นเราถึงจะเขียน แต่เราไม่ได้ใช้เมนูที่มันแปลกหรืออะไร เพราะว่าความต้องการของเราในการเขียนเรื่องอาหาร คือเราอยากให้คนอ่านอยากทำ คนอ่านทำได้ แล้วเราก็อยากให้มันสนุก ก็เลยเอาวิธีเขียนเรื่องแต่งของเรามาใช้ บางเรื่องก็คิดขึ้นเลยเพื่อที่จะเหมาะกับจานนี้ เหมือนแต่งเรื่องสั้น เป็นเรื่องสั้นที่มีสูตรอาหารซ่อนอยู่

 

เขียนถึงอาหารมาเป็นสิบปีแล้ว มีนึกไม่ออกบ้างไหมว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี

 

เขียนมาเป็นสิบปีก็จริงนะ แต่กลายเป็นว่า ยิ่งเขียนเราก็ยิ่งเจอ มันเป็นสิ่งที่แปลกมาก ยิ่งเราทำเรายิ่งเจออะไรใหม่ๆ ตลอด มันไม่มีวันหรอกที่จะไม่มีอะไรเขียน ไม่มีทางเลย ที่ยากคือเรื่อง สำหรับเรานะ ไม่ใช่สูตรอาหาร มันไม่มีเลยที่เรานึกไม่ออกว่าเราอยากทำอาหารอะไร ยิ่งเราทำเราก็ยิ่งชอบ ก็เหมือนลิปสติก เหมือนรองพื้นนั่นแหละ ถ้าหลงอยู่ในนั้นแล้วมันไม่มีคำว่าหยุดนิ่งออกมาไม่ได้เลย (หัวเราะ)

 

 

แล้วส่วนตัว เริ่มทำอาหารตั้งแต่ตอนไหน

 

ตั้งแต่เด็กๆ เพราะตอนเด็กยายจะใช้ให้ทำกับข้าว คือยายก็จะมีครัว แม่ก็จะมีครัว แล้วเขาก็จะใช้เรา คือเราเกิดในครอบครัวที่มองว่าลูกคือแรงงาน โตมาเนี่ย ทำอะไรได้ก็ต้องทำ คือแม่เรามีวิธีคิดแบบนี้ แม่เข้าครัวก็จะต้องไปช่วย เริ่มจากเด็ดผัก หั่นโน่นหั่นนี่ตามประสาเด็ก โตมาในครัวของยายกับแม่นี่แหละ แล้ววันหนึ่งเขาก็บอกเราว่าแกงเองเลยนะ วันนี้แม่ไม่ว่าง

 

ก็แกงเลย

 

ก็แกงเลยสิ เพราะเราเห็นมาทุกวันไง เห็นเขาทำมากี่รอบแล้วละ มันก็คงประมาณนั้นแหละ จะยากที่สุดตอนชิม (หัวเราะ) ชิมอยู่นั่น ก็พอได้นะตอนนั้น แล้วเรื่องทักษะ เรื่องเทคนิคมันจะค่อยๆ ตามมาเอง

 

 

แปลว่าเชื่อว่าทุกคนบนโลกสามารถทำอาหารได้?

 

ทำได้แน่นอน แต่มันต้องเกิดจากความรู้สึกว่าอยากทำก่อนนะ ด้วยเหตุผลอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น มีผัว (หัวเราะ) อยากให้สามีรู้สึกดี มีความสุข อันนี้ก็ดีนะ จริงๆ เราเริ่มทำจริงจังมากๆ ก็คือตอนเริ่มมีแฟนนี่แหละ เพราะว่าอยากทำให้เขากิน แล้วรู้ว่าแม่เขาทำอาหารเก่งมาก เขาต้องแย่แน่ๆ เลยถ้ามาอยู่กับเราแล้วเราไม่ทำกับข้าว เราทำไม่เป็น ทำได้แค่นี้

 

แต่เดี๋ยวนี้ผู้หญิงก็ทำงานแล้ว มีเงินแล้ว เรายังต้องทำอาหารเองอยู่อีกเหรอ

 

ต้องทำนะ ไม่ใช่แค่ผู้หญิง รวมถึงผู้ชายด้วย สมมติวันนี้เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ร้านค้าทุกร้านปิดหมด เปิดดูในตู้เย็น มีอะไรคุณก็ต้องเอาออกมาทำกินให้ได้ แล้วเราจะมีความมั่นใจว่าเราไม่มีทางอด การทำอาหารมันทำให้เรารู้สึกเหมือนไม่อดตายอะ แล้วเป็นทักษะที่เราจะช่วยคนอื่นได้ตลอด มันเป็นใบเบิกทางนะ เดินเข้าไปบ้านเพื่อนเนี่ย แม่เขามองๆ มาแล้ว เขาเห็นเราแต่งตัวเยอะ ดูเป็นคนเยอะ ก็จะมีสายตาที่ตั้งการ์ดกับเราประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเราเข้าครัวกับเขาปุ๊บ จบทุกปัญหา

 

เหมือนตอนที่เราไปอยู่ใต้ จริงๆ ก็คิดว่าตัวเองดูถึกแล้วนะ แต่สำหรับคนใต้อาจจะยังไม่พอ เขาก็จะมองว่า เห้อ อีสาวนี่ มันต้อง ‘ไม่ไร’ แน่ๆ คือทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น แต่พอเขาเห็นเราหยิบจับนั่นนี่ ไม่ต้องอะไรหรอก แค่ล้างจานเกลี้ยงเนี่ยเขาก็ปลื้มแล้ว สำหรับคนที่ภาพลักษณ์ดูบอบบางในสายตาเขา มันเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ เป็นวิธีเข้าหาคน เป็นทุกอย่างเลย

 

 

ฟังดูเหมือนการทำอาหารคือเรื่องการเมืองประมาณหนึ่งเลยนะ

 

แน่นอน ใครกินข้าวเราเนี่ยแสดงว่าเขาวางใจเรานะ เราจะทำอะไรยังไงให้กินก็ไม่รู้ จะถุยน้ำลายใส่หรือเปล่าก็ไม่รู้ เขายอมกินของเราแสดงว่าเขาไว้ใจเรามาก คนที่กินของเราบ่อยๆ ถึงที่สุดแล้ว เรามีอำนาจเหนือเขานะ

 

คนที่อยู่ในครัวน่ะคือคนที่มีอำนาจ เอาง่ายๆ ถ้ามากินข้าวบ้านเราสักสี่ห้าครั้งเนี่ย เกรงใจแล้ว จำเราได้แล้ว มันอยู่ในอาหารที่เราทำนั่นแหละ ยิ่งถ้ามันเป็นของดีของอร่อยเราก็ยิ่งได้ ต่อให้ทำขายก็เหมือนกัน ถ้าเราทำอาหารที่ดีให้คนอื่น เรารู้สึกว่ามันเป็นการทำดี แต่ถ้าคุณเอาอาหารเลวๆ ให้เขากิน คุณก็ทำร้ายเขา สิ่งนี้ก็ต้องอยู่ในความคิดของคนเป็นแม่ครัวด้วย

 

 

ฟังแล้วชักฮึกเหิม อยากทำอาหารขึ้นมาแล้ว!

 

ก็ทำเลย ลองเข้าครัวกับคนอื่นบ่อยๆ สักเดือนหนึ่ง แล้วชีวิตจะเปลี่ยนเลย เราว่าอาหารมันก็เหมือนหนังสือนั่นแหละ เรากินเข้าไปมันก็กลายเป็นเรา เพราะฉะนั้นอันดับแรกที่เปลี่ยนเลยก็คือสุขภาพ สุขภาพมันจะดีขึ้น อันดับสองก็คือวิถีชีวิต สุดท้ายถ้าเราเป็นคนทำอาหารนะ เราจะวางแผนทุกอย่างเลยในชีวิต จะจ่ายตลาดวันไหน จ่ายตลาดไหนบ้าง ทำไปบ่อยๆ เข้าเราจะซื้อหลายตลาดแน่นอน เพราะแต่ละที่มีดีไม่เหมือนกัน เราจะซื้ออันไหนวันไหน เราจะตุนอะไร เราจะเก็บยังไง เก็บอันไหนได้กี่วัน

 

แต่ก็ฟังดูเหนื่อยอยู่ดี

 

ถามว่าเหนื่อยไหม เอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ง่ายนะ งานครัวไม่ใช่งานของคนที่อยากสวยๆ ตลอดเวลา มันเป็นงานของคนใช้แรง ต่อให้เป็นครัวอะไรก็ช่าง เพราะฉะนั้นนอกจากอยากทำแล้วก็คงต้องขยันด้วย ถ้าเริ่มต้นแล้วขี้เกียจ ไม่ค่อยอยากขยับตัว ก็จบแล้วกับการครัว

 

สังเกตว่าคนที่ทำงานครัวเป็นวิถี จะตัวเล็กตัวใหญ่ ตัวอ้วนยังไงก็แล้วแต่ แต่เขาจะพลิ้ว ยิ่งทำให้คนกินหลายๆ คนเนี่ย มันแทบจะต้องใช้ทักษะของปีศาจเลย (หัวเราะ) การอยู่ในครัวทุกวันทำให้เราเป็นคนแอคทีฟมากเลยนะ ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนั่นแหละ แต่รับรองว่าคุ้ม (ยิ้ม)

 

 

 

บรรยากาศของสมิงพระราหูบุ๊กคลับ

 

 

ชม ชิม และอ่านฝีมือของอุรุดา โควินท์ ได้ที่

 

สมิงพระราหูบุ๊กคลับ บุ๊กคลับไซส์กระทัดรัดพร้อมห้องพักใต้ร่มลิ้นจี่ ที่อุรุดาโชว์ฝีมือทำอาหารเช้าเองสำหรับแขกทุกคน

 

เม้ยคะนอง น้ำพริกสูตรเฉพาะที่เปิดรับออเดอร์เป็นรายเดือน ทำใหม่รอบต่อรอบรับรองคุ้มค่ากับการรอคอย

Share this content

Contributor

Tags:

หนังสือ

Recommended Articles

Food StoryThai Fish Book หนังสือปลาไทยจากยอดฝีมือ อ่านแล้วจะสนุกกับการกินปลาไทยขึ้นอีกเยอะ
Thai Fish Book หนังสือปลาไทยจากยอดฝีมือ อ่านแล้วจะสนุกกับการกินปลาไทยขึ้นอีกเยอะ

รีวิวหนังสือปลาที่เป็นมากกว่าตำราอาหาร จาก Kensaku และ Blackitch