เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

Aircraft Cola ‘โคล่าสด’ ที่อยากให้น้ำอัดลมเป็นมิตรกับคนมากขึ้น

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ล้อมวงจิบโคล่า พร้อมคุยกับ ‘Aircraft’ แบรนด์โคล่าที่ทำมือทุกขั้นตอน

เสียง ‘ป๊อก’ เปิดฝาจีบของขวดน้ำอัดลม ตามมาด้วยเสียงซ่าเมื่อเทโคล่าในแก้วน้ำแข็ง คือสัญลักษณ์แห่งความผ่อนคลายสบายใจในประเทศที่มีฤดูร้อนติดต่อกันสามครั้งตลอดทั้งปีอย่างบ้านเรา เรียกได้ว่าจะในมื้ออาหารหรือระหว่างวันหากได้ยินเสียงซ่าของน้ำอัดลมเมื่อไร ความรู้สึกสดชื่นก็จะปรากฎตัวขึ้นรอบกายอย่างทันที

 

เมื่อหัวใจมันเรียกร้อง ‘กิฟ – ณัฐธิดา วงศ์มหาศิริ’ จึงไม่ยอมหยุดอยู่แค่การเป็นคนกินโคล่า แต่กลับพยายามทำโคล่าขึ้นด้วยตนเอง จนได้พบกับโลกของความหอมหวานอีกใบที่สดใสซาบซ่าจนถอนตัวไม่ได้แล้ว ‘Aircraft Cola’ ก็ค่อยก่อรูปขึ้นรอยมาตั้งแต่ตอนนั้น

 

ในการแนะนำตัวครั้งแรก เราทุกคนต่างมีอิสระในการเลือกประโยคที่สองซึ่งต่อจากการแนะนำชื่อ การนิยามตัวเองในประโยคที่สองนี้เอง อาจบอกได้เป็นนัยว่ากับทั้งชีวิตของเราในช่วงเวลานั้น เราลงแรง ลงเวลา และลงใจให้กับสิ่งใดมาเป็นอันดับหนึ่ง

 

“ชื่อกิฟนะคะ เป็นคนชอบกินโคล่ามากๆ” นั่นคือการแนะนำตัวครั้งแรกระหว่างเธอและเรา

 

โอ้ – ประโยคแรกก็เซอร์แล้ว

 

 

“วันหนึ่งเราก็เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ โคล่านี่มันทำขึ้นมาเองได้ไหม เพราะถ้าเราทำโคล่าได้เองเราก็จะสบายใจขึ้น เหมือนเรากินข้าวในบ้าน เราเลือกส่วนผสมเองว่ามันมีอะไรบ้าง เรารู้ว่าเราใส่อะไรลงไป ก็คงเป็นโคล่าที่เราสบายใจจะกินทุกวัน 

 

คือกิฟเคยดูนักทำไส้กรอกที่ญี่ปุ่น ไส้กรอกมันก็จะถูกกล่าวหาคล้ายๆ โคล่า ก็คือว่าเธอเป็นอาหารที่ไม่ดีนะ แต่ความตั้งใจของนักทำไส้กรอกคนนั้นก็คือเขาอยากจะให้เด็กๆ กินไส้กรอกของเขาได้อย่างปลอดภัย กินได้ทุกวัน เราก็ตั้งใจว่า Aircraft จะเป็นโคล่าแบบนั้น ดังนั้นจุดเริ่มต้นก็คือเราชอบกิน เราเลยทำเองเพื่อจะได้กินได้ทุกวัน ที่สำคัญคือมันเท่ดีถ้าเกิดว่ามีโคล่าเป็นรสชาติของเราเอง วันหนึ่งถ้าเราแก่แล้ว หลานๆ จะได้บอกได้ว่า นี่เป็นโคล่าสูตรคุณยายฉัน มันน่ารักดี”

 

โคล่าเอย… เจ้าลอยลมมาหรือไร?

 

ขึ้นชื่อว่าเป็นโซดาความซาบซ่าย่อมจะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้โคล่าแหวกความซ่าของเพื่อนฝูงมาครองใจคนทั้งโลกได้กลับเป็นกลิ่นแสนซับซ้อนของมันต่างหาก

 

“จริงๆ แล้วก็คือประเทศไทยมันร้อน แล้วเวลาอากาศร้อนมากๆ เนี่ย พอไปกินข้าวในร้านอาหารแล้วได้กินโคล่า เรารู้สึกว่ามันเปลี่ยนอารมณ์ มันทำให้เราอารมณ์ดี มันทำให้เรารู้สึกสบายตัวเพราะว่าคาร์บอนไดออกไซด์มันดูดความร้อนออกจากร่างกาย เวลาเรากินพวกน้ำโซดาเราก็จะรู้สึกว่ามันสดชื่น มันเปลี่ยนอารมณ์เราได้ สมมติว่าเวลาเครียดๆ แล้วเราได้กินโคล่าสักแก้วหนึ่ง มันรู้สึกว่าอะไรที่ตันๆ อยู่เมื่อกี้นี้จะหายไป เป็นความรู้สึกสบายตัวที่เราชอบตอนที่เราได้กินโคล่า”

 

 

อ้อ เราเองก็เพิ่งรู้ว่าวิทยาศาสตร์เบื้องหลังความสดชื่นของโคล่าเป็นอย่างนี้ คือนอกจากความซ่าที่ชวนให้เรารู้สึกสบายตัวแล้ว กิฟยังบอกว่า กลิ่นและรสอันซับซ้อนของโคล่าเองก็มีส่วนช่วยให้เรารู้สึกดีได้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่นกลิ่นของผลไม้ตระกูลซีตรัสที่ทำให้สดชื่น กลิ่นของเครื่องเทศให้ความรู้สึกอบอุ่น และกลิ่นหอมหวานของวานิลลาก็ช่วยให้เราผ่อนคลาย จึงไม่น่าแปลกใจเลยสักนิดที่ใครต่อใครจะเสพติดความชื่นใจของโคล่าไปตามกัน

 

“สมัยก่อนถ้าเราอยากได้น้ำคาร์บอเน็ตหรือน้ำซ่า ส่วนใหญ่จะได้มาจากแหล่งน้ำพุตามธรรมชาติ แต่ทีนี้ในยุคที่โคล่าเกิดขึ้น คือช่วงหลังจากที่มนุษย์สามารถสร้างน้ำโซดาขึ้นมาเองได้โดยไม่ต้องไปเอาจากแหล่งธรรมชาติแล้ว โซดาจึงเป็นสิ่งแปลกใหม่ในยุคนั้น ก็เลยฮิตมาก บรรดาร้านค้าต่างๆ ก็จะมีโซดาขาย มี Soda fountain กระจายอยู่ทั่วไป เป็นสถานที่พบปะนัดเจอสังสรรค์ของคนในยุคนั้น เหมือนคาเฟ่สมัยนี้

 

“เพราะฉะนั้นน้ำซ่ารสต่างๆ อย่างจิงเจอร์เอล รูทเบียร์ ก็เป็นน้ำซ่าที่เป็นรุ่นพี่ของโคล่าอีกที แต่ด้วยรสชาติที่โดดเด่น โคล่าเลยกลายเป็นเครื่องดื่มคลาสสิก ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ประวัติหลักๆ ที่พูดกันก็จะบอกว่า โคล่าขายครั้งแรกในร้านขายยา มันก็ไม่น่าจะแปลกเพราะว่าเครื่องที่ใช้ปรุงโคล่ามันเป็นสมุนไพรหมดเลย ซึ่งน่าจะใช้สำหรับเป็นตัวยาอยู่แล้ว เขาก็อาจจะประยุกต์ใช้มาแต่งเป็นรสชาติของโคล่าขึ้น”

 

 

วิชาประวัติศาสตร์โคล่า 010 จบลงเพียงเท่านั้น แต่เรายังไม่หายสงสัย เพราะการจะลุกขึ้นมาสร้างรสชาติของโคล่าในแบบของตัวเองขึ้นมา คงไม่ได้เริ่มต้นขึ้นง่ายดายขนาดนั้น

 

“ตอนที่ทำสูตรโคล่าครั้งแรก ก็เอามาจากสูตรของคนอื่นนะ จากหนังสือบ้าง หลายๆ เล่ม แล้วพอทำตามสูตรคนอื่น เรากินแล้วก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่รสที่ชอบ เราก็เติมโน่นเติมนี่ ทดลอง เอาอันนี้ใส่เอาอันนี้ออก คล้ายๆ คนทำสูตรอาหารแหละ แล้วก็ค่อยๆ ปรับว่ารสชาติไหนที่เราชอบ เปลี่ยนส่วนผสมที่หาได้ง่ายในประเทศไทย ใช้สีธรรมชาติจากกาแฟไทย ซึ่งมันเป็นของที่อยู่กับเราอยู่แล้ว และเรามองว่ามันเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้โคล่าของเราพิเศษขึ้นด้วย

 

“ขั้นตอนในการทำโคล่า เราจะเริ่มจากการเอาพวกเครื่องเทศไปคั่วในไฟอ่อนๆ ก่อน ซึ่งมันก็มีหลายตัวมาก อย่างอบเชย ลูกผักชี นัตเม็ก พอคั่วแล้วน้ำมันหอมระเหยของเขาออกมาเยอะขึ้น เวลาเราเอาไปต้มในคาราเมลกาแฟมันก็จะมีกลิ่นรสที่ดี ขั้นตอนต่อมาคือการทำของสด เปลือกมะนาว ก็ต้องฝานเป็นชิ้นๆ รอไว้ คั้นน้ำ เตรียมของ ในขณะที่เราเตรียมของเราก็จะต้มคาราเมลสำหรับทำไซรัป เคี่ยวช้าๆ ให้เป็นสีคาราเมลขึ้นเรื่อยๆ พอได้ที่แล้วเราก็จะเอาส่วนผสมพวกเครื่องเทศแล้วก็ผิวมะนาวใส่ลงไปต้มในคาราเมลเพื่อที่จะเอากลิ่นหอมของเขาออกมา ต้มเสร็จแล้วเราต้องบ่มไว้ข้ามคืน ก่อนจะเสิร์ฟลูกค้า เราก็จะเอาไซรัปที่เราทำมามิกซ์กับน้ำ แล้วก็อัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็น food grade ลงไป ทิ้งไว้ให้มีการ infuse สักพัก ถึงจะเทเสิร์ฟได้”

 

 

 

 

เราชายตาไปมองแก้วโคล่าที่เพิ่งดื่มหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อครู่ อืม นี่เธอมีเบื้องหลังที่ยาวนานเหมือนกันนะ ใช่ว่าสูดกลิ่นตามลมแล้วจะทำโคล่าเองได้เลย นี่เป็นการงานที่อาศัยความเนิร์ดอยู่พอสมควร แก้วต่อไปสัญญาว่าจะจิบให้ช้าลงก็แล้วกัน

 

“โคล่ามันเป็นเครื่องดื่มที่เวลาทำต้องใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะตอนปอกเปลือกมะนาวค่ะ (หัวเราะ) เพราะว่าเราใช้ผิวมะนาวลงไปต้มเพื่อเอาน้ำมันหอมระเหยด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ยังคงใช้วิธีใช้มือฝานทีละชิ้นอยู่เหมือนเดิม แค่ฝานเปลือกมะนาวก็เป็นชั่วโมงแล้ว หลังจากนั้นเราต้องรอต้มคาราเมล พอเสร็จแล้วก็ต้องเอาไปบ่มให้เข้าที่อีก ต้องมิกซ์ ต้องอัดแก๊ส จะเรียกว่า slow drink ก็ได้นะ มันต้องค่อยๆ ทำ มีส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญก็คือเวลา มันมีกระบวนการที่อาศัยเวลา แล้วที่เราดีใจก็คือมันมีลูกค้าที่ยินดีรอกระบวนการนี้

 

“การที่เราผสม อัดแก๊ส ลูกค้าก็ต้องยืนรออยู่ตรงนั้น แล้วเขาก็ต้องหาเรื่องคุยกับเรา เรารู้สึกว่าโมเมนต์ตอนนั้นมันน่ารักดี มันมีความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกค้าอยู่ตรงนั้นด้วย มากกว่าการที่เราทำ บรรจุ แล้วก็เอาไปตั้งไว้ที่ไหนสักที่หนึ่ง เพราะเราจะไม่สามารถคุยกับลูกค้าแบบนี้ได้”

 

 

อย่าลืม (โค) ล่าสู่กันฟัง

 

มีคนไม่เข้าใจคราฟต์โคล่าบ้างไหม – เราถามทั้งที่มีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้ว

 

“มี! (หัวเราะ) มีคนไม่เข้าใจเยอะมาก แต่ว่ามันสนุก เพราะว่าเราจะได้เล่า เอาเข้าจริง เวลาบอกคนอื่นว่าเราเป็นคนทำโคล่า เขาก็จะไม่ค่อยเข้าใจ ทำโคล่าคืออะไร เพราะคนส่วนใหญ่จะรับรู้ว่าโคล่าคือสิ่งที่ทำเองไม่ได้ ต้องซื้อ แต่จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของโคล่าก็มาจากการทำมือนี่แหละ แล้วถึงจะเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม

 

“เพราะฉะนั้นนี่เป็นคำถามที่เราตอบมาตลอด ตอบแม้กระทั่งเพื่อนตัวเอง ว่าแกทำอะไรวะ อ๋อ เราทำโคล่าขาย เพื่อนก็จะ… ห๊ะ แล้วโคล่ามันทำยังไง เป็นคำถามที่ทุกคนถาม แต่ว่าเป็นคำถามที่เราอยากตอบแบบไม่เบื่อเลย ถามอีกได้นะ เดี๋ยวเล่าให้ฟังอีก (หัวเราะ) จริงๆ แล้วเป็นคนชอบเล่าเรื่องอยู่แล้ว ถ้าลูกค้ามาหน้าร้านก็จะเล่าให้ฟังอีกรอบหนึ่งนะคะ สำหรับเรา ความไม่เข้าใจของคนก็จะเป็นจุดที่ดีที่เราจะได้เล่าให้เขาฟัง ถ้าเขาเข้าใจหมดแล้วเราก็จะไม่ได้คุยกัน”

 

ท่าทีของนักทำโคล่าจะกระตือรือล้นขึ้นจากบทสนทนาปกติอีกราว 50% เมื่อเธอได้อรรถาธิบายเรื่องราวที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำสีดำๆ นั้น เรารับรู้ได้ว่าเธอสนุกกับการเล่าเรื่องโคล่ามากพอกับการทำโคล่าเชียวละ แต่ด้วยความสัตย์จริงก็คงต้องบอกว่าในความสนุกก็ย่อมจะมีความไม่สนุกอยู่ด้วยเหมือนกัน

 

“คือเราทำโคล่าเราก็ทำรสที่เราชอบ แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบรสเดียวกับเรา ซึ่งด้วยความที่เราตั้งใจทำมากๆ อ่ะเนอะ พอมีคนไม่ชอบ บางทีมันก็จะรู้สึกนิดนึง ไม่ชอบเหรอ… เสียใจจัง… แต่ว่าก็คงไปจัดการอะไรไม่ได้ เราก็ได้แต่ทำรสที่เราแน่ใจว่าจะไม่เสียใจที่ได้ส่งต่อรสนี้ไปให้ลูกค้ากิน เราแน่ใจว่ารสนี้ดีพอ แต่ว่าบางคนที่เขาไม่ได้กินรสเดียวกับเราเขาก็อาจจะไม่ชอบ เราก็ต้องดูว่าเราปรับได้แค่ไหน ซึ่งมันจะต้องอยู่ในขอบเขตที่เรารู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่เราพอใจ

 

“เคยมีคอมเมนต์ว่า ทำไมกินแล้วรสชาติไม่เหมือนโคล่าที่เคยกินเลย ตอนแรกเราก็ เอ๊ะ… ไม่เหมือนคือไม่ดีหรือเปล่านะ? แต่ลูกค้าเราก็น่ารักมาก มาช่วยพิมพ์ตอบคอมเมนต์ให้ไปว่าทำไมถึงอยากจ่ายราคานี้แล้วได้กินรสเดิม ๆ ล่ะถ้าได้กินรสชาติใหม่ที่มาจากวัตถุดิบแท้ ๆ จะไม่ดีกว่าเหรอ ซึ่งจากความคิดเห็นของลูกค้าที่มีต่อเรา เราก็เลยแน่ใจว่าเรามาถูกทางแล้ว เราได้เข้าใจไปด้วยว่าเราไม่อาจเป็นคนอื่นได้ นอกจากเป็นตัวเราเอง ไม่อาจเป็นรสชาติอื่นได้นอกจากรสชาติแบบ Aircraft

 

“กับเราที่เป็นคนทำเอง ก็ยังมีเรื่องยาก คือตอนบาลานซ์รส เป็นตอนที่เราทำให้รสทุกรสสมดุลกัน มันยากเพราะว่าเราใช้ส่วนผสมที่เป็นของจริง เราไม่ได้ใช้น้ำเชื่อมสังเคราะห์ ดังนั้นต่อให้ใช้มะนาวในปริมาณเท่าเดิมรสชาติก็ไม่เคยเหมือนกันเลย อบเชยแต่ละแท่ง ถึงจะน้ำหนักเท่ากันแต่กลิ่นก็ไม่เหมือนกัน ในแต่ละแบตช์ที่เราทำออกมาก็จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งกลายเป็นเสน่ห์ของคราฟต์โคล่า เป็นจุดที่น่ารักของความคราฟต์ คือมันก็อาจจะไม่ได้เท่ากันตลอดเวลา อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องตอนที่คิดชื่อ Aircraft Air ก็คือเกี่ยวกับอากาศ เพราะว่าเราทำคาร์บอเนชั่น ทำสิ่งซึ่งเกี่ยวกับการทำให้ซ่า ให้มันมีแก๊สอยู่ในนั้น แล้วก็เราเป็นแบบคราฟต์ ก็เลยเป็นคำว่า Aircraft คือเป็นน้ำโซดาที่ทำอย่างประณีต” 

 

 

ขอบคุณที่ (โค) ล่ากัน ขอบคุณทุกครั้งที่คอยกอดฉัน

 

“สิ่งที่ได้จากการทำคราฟต์โคล่า คือรู้สึกว่าเราได้หลายคนมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาช่วยชิม กินแล้วกินอีก ในตอนที่รสมันยังไม่เข้าที่ คนที่มาสนับสนุน เพราะว่าเวลาเราขายอะไรที่มันแปลกมากๆ คนที่จะกล้ากิน เขาก็มาเพื่อที่จะสนับสนุนอยู่แล้ว เขายอมจ่ายเพื่ออะไรที่เขายังไม่รู้จัก เราก็รู้สึกว่ามันเป็นการช่วยเหลือที่ดีมาก การทำโคล่ามันเลยสอนให้รู้ว่าเวลาเราทำสิ่งหนึ่งขึ้นมา เราทำสำเร็จได้ จริงๆ มันมาจากความช่วยเหลือของคนอีกหลายคนที่ส่งให้เรามาถึงตรงนี้ ทุกคนพากันมาช่วยเหลือ มาบอกว่าซื้อมะนาวที่นี่ไหม ซื้อวัตถุดิบที่ไหนจะดีกว่า เวลาเพื่อนๆ ไปเที่ยวที่ไหนแล้วเจอโซดาแปลกๆ ก็จะถ่ายรูปส่งมาให้ มันรสชาติเป็นยังไง

 

“ถ้าเกิดว่าไม่มีลูกค้าที่ให้โอกาสเครื่องดื่มประหลาดๆ เราก็คงมาไม่ถึงวันนี้ หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว พ่อเราเคยปลอมตัวมาที่ร้านเลย ใส่หมวกใส่แว่นเพื่อที่จะมากินโคล่า น้องๆ ในร้านไม่มีใครรู้ว่านี่คือพ่อพี่กิฟ มีแม่ที่เป็นแฟนคลับหมายเลขหนึ่งของโคล่าเรา ส่วนสามีเป็นหมายเลขสอง (หัวเราะ)”

 

เสียงหัวเราะของนักทำโคล่าคนนี้ดังขึ้นแต่งแต้มบรรยากาศให้ห้องทั้งห้อง เสียงกดฝาขวดที่เพิ่งถูกถอดจากเครื่องอัดแก๊สดังฟู่ ฟองโคล่าฟูขึ้นอัตโนมัติ แต่เราไม่รู้ว่าฟูขึ้นเท่ากับที่ใจเราฟูจากเรื่องเล่าเรื่องนี้หรือเปล่า

 

 

“อีกเรื่องหนึ่งที่ aircraft สอนเราคือ เวลาเราทำอะไรสักสิ่งหนึ่ง มันไม่ได้ราบรื่นตลอด ตอนที่รสชาติโคล่ายังไม่ได้ที่มันก็เศร้านะ มันเหมือนทำไมไม่ได้สักที เราอยากให้มันสมบูรณ์ ณ ตอนนั้นเลย แต่ว่ามันต้องใช้เวลา มันต้องลองผิดลองถูก เรามีข้อได้เปรียบอยู่อย่างเดียวก็คือมันเป็นของที่เราชอบ เราก็เลยสามารถอยู่กับมันได้นานๆ ลูกค้ากินโคล่าเราแล้วอร่อย เราก็แฮปปี้มากๆ แล้ว ถึงเราจะบอกว่าเราไม่ได้อยากเอาตัวเองไปผูกติดกับโคล่าไว้ว่าต้องมีคนชอบเราถึงจะดีใจ แต่มันก็เหมือนคนทำอาหารแหละ ถ้าคนกินอร่อยเราก็รู้สึกว่าเราได้บางสิ่งกลับมา เรารู้สึกดีไปด้วย

 

“นี่แหละคือสองสิ่งที่เราได้มา เรารู้สึกว่าทุกคนช่างใจดีกับ Aircraft มากๆ เลย แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือมันเป็นส่วนที่ทำให้เราโตขึ้น ทำให้เราตั้งเป้าหมายในการทำ Aircraft ไว้ว่า เราอยากหารสชาติที่คนกินแล้วอยากจะกินอีกครั้งหนึ่ง นั่นเป็นเป้าหมายหลักของการทำเลย อยากทำรสชาติที่คนกินแล้วจะคิดถึงและกลับมาหาเราอีก”

 

 

ยก Signature Cola จากแอร์คราฟต์ขึ้นจิบอีกครั้ง กลิ่นสดใสของซีตรัสแตะจมูกก่อนเป็นกลิ่นแรก ตามด้วยความซ่าในแบบโซดา รสหวานหอมกลมกล่อมของวานิลลาและคาราเมล ก่อนจะปิดท้ายด้วยกลิ่นเครื่องเทศหลายชนิดที่เราคุ้นเคยแต่กลับระบุไม่ได้ เป็นกลิ่นทิ้งท้ายอบอวลอยู่ในลำคอหลังจากกลืนโคล่าลงไปแล้ว

 

ไม่บอกก็รู้ว่านี่คือกลิ่นรสที่จะพาเรากลับมาหา Aircraft Cola อีกครั้งในเร็ววันนี้

 

 

 

Aircraft Cola

 

พิกัด: ในร้าน Aunchalee Boutique x Roastology Coffee Roasters ศาลาแดงซอย 1แขวงสีลม เขตบางรัก กทม.

 

(หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ผ่านแอปพลิเคชัน Lineman โดยค้นหาคำว่า “Roastology”)

 

เวลาเปิด-ปิด: จันทร์-ศุกร์ เวลา 07:30 น. – 16:30 น. / เสาร์ – อาทิตย์ เวลา 08:00 น. – 16:30 น.

 

Instagram: https://www.instagram.com/aircraft.bkk/

 

โทร: 06 2381 8333

 

Share this content

Contributor

Tags:

คุยกับผู้ผลิต, ร้านอร่อยกรุงเทพ, เครื่องดื่ม

Recommended Articles

Food Storyชี้เป้า 6 ร้าน Die Hard ห้ามพลาด! @ท่าวังหลัง
ชี้เป้า 6 ร้าน Die Hard ห้ามพลาด! @ท่าวังหลัง

รวมร้านเก่าแก่ในตำนานย่านวังหลังทั้งคาวหวาน ถ้าพลาดก็เหมือนไปไม่ถึงวังหลัง

 

Recommended Videos