เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

‘ป้าเบส’ สวนผักเกษตรอินทรีย์ในเมืองจันท์ ที่ใครๆ ก็ปลูกทุเรียน

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

ในวันที่ใครๆ ก็โค่นต้นไม้ไปปลูกทุเรียน 'ป้าเบส' เกษตรกรหญิงเมืองจันท์ กลับลดพื้นที่ผลไม้ทำเงิน หันมาปลูกผักอินทรีย์ มุ่งสู่แนวทางเกษตรอย่างยั่งยืนและทวงคืนผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์

เราไม่มีพื้นฐานเรื่องเกษตรเลย เกิดและโตที่กรุงเทพฯ ชีวิตค่อนข้างสบาย แต่ช่วงหนึ่งเรามีความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับอาหาร คือคุณแม่ทำกับข้าวเก่ง คุณป้าเราเองก็เคยปลูกผักเก็บผักมาทำอาหาร เป็นความประทับใจนะตอนนั้น เลยคิดอยากมีพื้นที่ทำเกษตรบ้าง แต่พอมาทำมันยาก เพราะเราไม่เคยทำ” ป้าเบส-ศิวพร เอี่ยมจิตกุศล ผู้ที่จับธุรกิจวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านมาค่อนชีวิต เล่าให้เราฟังถึงฝันเล็กๆ ที่ทำให้เธอตัดสินใจเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-จันทบุรี ปลูกฝันของเธอให้เป็นจริงบนพื้นที่ 30 ไร่ ในอำเภอเขาคิชกูฏ เริ่มลงสนามในฐานะเกษตรกรด้วยการปลูกทุเรียน 5 ไร่

 

5 ปีทุเรียนที่ปลูกไว้เริ่มให้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ มีทุนลงผลไม้ทั้งเงาะ มังคุด ลองกองเต็มพื้นที่ 30 ไร่ แล้วเคมีที่เคยทำหน้าที่เร่งปุ๋ย เร่งดอก ก็เริ่มแผลงฤทธิ์ ต้นทุเรียนแหล่งรายได้ใหญ่ของสวนเริ่มอ่อนแอ กำลังจะตาย ร่างกายป้าเบสเริ่มส่งสัญญาณประท้วงด้วยอาการเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ

 

“หมอบอกว่าถ้ายังไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม เราก็จะยังป่วยแบบเดิมซ้ำซาก ผลไม้ก็เริ่มเป็นโรค ตอนนั้นเราเริ่มหาทางออก ยืนอยู่บนทางที่เลือกว่าจะเป็นเกษตรกรแบบไหน ไปปรึกษานักวิชาการเขาก็แนะให้ฉีดยาโน้นนี้ เราก็ศึกษาอ่านหนังสือหลายเล่มสุดท้ายได้คำตอบเป็นแนวทางธรรมชาติ คือการทำเกษตรผสมผสานให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ เรียนรู้เรื่อยๆ และคิดว่ามันน่าจะเป็นแนวทางในการทำการเกษตรของเรา ก็ไม่ได้กลัวอะไร เพราะไม่ต้องใช้เคมี ก็ลองทำเลย”

 

 

ปลูกแบบผสมผสานและเริ่มสร้างระบบนิเวศยังไง

 

จำลองระบบนิเวศในป่ามาใช้ ในป่าเนี่ย เราจะเห็นต้นไม้เล็กใหญ่หลายพันธุ์ มีต้นสูงเป็นพี่เลี้ยงใหญ่อยู่กันอย่างเกื้อกูล ระบบนิเวศตรงนั้นมันสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่า เราก็จำลองภาพในป่ามาเป็นวิธีบำรุงดิน เอาอินทรียวัตถุที่มีอยู่รอบๆ ตัวมาทำปุ๋ยหมักผสมกับมูลสัตว์ให้เกิดกระบวนการย่อยสลายแบบเดียวกับในป่า พอได้หน้าดินเราก็เอากลับคืนเข้าไปในแปลง ดินที่ไม่มีความสมบูรณ์ก็จะค่อยๆ ฟื้น ดินแห้งก็เติมอินทรียวัตถุ เติมเปลือกเงาะลงไป ทุ่มเทกับการบำรุงดิน

 

หลังๆ นี้เกษตรกรบังคับต้นไม้ไม่อยู่แล้ว มันแปรปรวนไปตามสภาพอากาศ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะประสบปัญหาเรื่องโดนแดดเผา ร้อนแล้ง มันก็จะไม่ค่อยโต เราก็เลยพยายามปลูกไม้ป่าผสมผสานแซมเข้าไปเป็นพืชพี่เลี้ยงให้ร่มเงา อย่างต้นตะเคียนทองเป็นไม้ป่าพื้นถิ่นจันทบุรี ต้นไม้ป่ามันทำให้ชุ่มชื้น เอาวัว เป็ด ห่านเข้ามาเลี้ยงมาอยู่ในระบบนิเวศของเรา จุลินทรีย์ที่มาจากมูลสัตว์มันค่อนข้างจะสมบูรณ์และฝังตัวอยู่ในดิน

 

 

ผลการจำลองป่ามาไว้ในสวนเป็นยังไงบ้าง

 

มังคุดในร่มเงาของต้นตะเคียนทองผิวสวยโดยไม่ต้องพ่นยาเลย เพราะสภาพคล้ายๆ ป่าที่เราสร้างขึ้นมา ให้ผลผลิตยาวนานกว่าทำสวนเคมี คือมันจะเกิดและให้ผลไม่ตรงกัน เราก็ไม่ต้องปวดหัวเรื่องการเก็บเกี่ยว ไม่ต้องหาแรงงานมามาก ค่อยๆ ทยอยเก็บไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าเราหาแนวทางของเราเจอ จะเห็นว่าบนพื้นมีใบพืชแห้งหล่นทับถมกันอยู่ ลูกกระท้อนหล่นลงมาความหวานจากกกระท้อนมันก็ช่วยให้จุลินทรีย์เริ่มทำงาน ต้นไม้ที่เคยป่วยมันกลับแข็งแรง ฟื้นมีชีวิตขึ้นมาใหม่ นี่คือสิ่งที่เราเห็นพลังในธรรมชาติที่เกื้อกูลกัน เราอย่าไปยุ่งไปรบกวนมัน แค่เฝ้าดูไม่ต้องหาเคมีอะไรมาพ่น

 

 

ต้นบุก ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ประปรายตลอดสองข้างทางในสวน

 

 

อีกสิ่งที่เราสังเกตเห็นหลังทำเกษตรอินทรีย์มาเป็นสิบปี คือความอุดมสมบูรณ์ที่มันเกิดขึ้นเอง เดินมาในสวนนี่เราจะเห็นต้นบุก ที่เขาเอาไปทำเส้นบุก ทำแป้งก็มีโรงงานแปรรูปอยู่ที่ชลบุรีแล้วก็ส่งไปขายที่ญี่ปุ่น เห็นชุมเห็ดเทศ เห็นต้นสัตบรรณขึ้นตามที่ต่างๆ ต้นบอนที่เอาไปทำอาหารพวกแกงส้ม ต้มกินกับน้ำพริกก็ได้ ทุกอย่างนี้เป็นไม้ที่เกิดขึ้นมาเอง เราไม่ได้ปลูก แปลกใจมากกับความอุดมสมบูรณ์ที่มันเกิดขึ้นมาเป็นป่า นี่คือพลังของธรรมชาติ หลังจากนั้นก็เริ่มลดพื้นที่ปลูกผลไม้หันมาปลูกพืชผิวดิน ปลูกผัก

 

สวนผลไม้อินทรีย์กำลังเห็นผลดี ทำไมหันมาปลูกผักอินทรีย์

 

เรามองถึงวิกฤตโลกด้วย ถ้าเราปลูกแต่ผลไม้เศรษฐกิจอย่างเงาะ ทุเรียน มันใช้ทรัพยากรน้ำเยอะมาก ตัวอย่างปี 59 น้ำแห้งประมาณกลางเดือนมีนาฯ-เมษาฯ ทั้งที่จันทบุรีไม่เคยขาดน้ำ ตอนแรกก็เสียใจนะ รู้สึกว่าตัดสินใจผิด มาซื้อที่ริมแม่น้ำ ทำไมไม่ไปซื้อที่ติดทะเลสาบที่มีน้ำเยอะแยะ แต่ปีนั้นแม้แต่ทะเลสาบยังกลายเป็นทะเลทราย แล้วมันจะวิกฤตมากขึ้นทุกปี แต่ถ้าปลูกผัก ใช้น้ำน้อยกว่ามาก ซึ่งเราปลูกผักไว้ 7 ชนิดที่เจอสารพิษปนเปื้อนเยอะๆ มีแตงกวา ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักชี พริกขี้หนู กะเพรา แล้วก็มีเสริมๆ เข้ามาเป็นผักสลัด ถั่วพู แล้วแต่ความต้องการของตลาด

 

 

เดินหน้าปลูกผัก ในขณะที่คนอื่นเขาโค่นต้นไม้แห่ไปปลูกทุเรียนกัน

 

มันค่อนข้างวิกฤต พอทุเรียนราคาดี ทุกคนก็โค่นสวนยาง สวนเงาะ หันมาปลูกทุเรียน เดินหน้าปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันหมด ทีนี้ทุเรียนเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะมาก ตัวอย่างง่ายๆ ในสวนสามสิบไร่เนี่ยมีประตูน้ำหลัก 10 ประตู ป้าต้องให้น้ำประตูละ 2 ชั่วโมง 10 ประตูก็ 20 ชั่วโมง ใช้เวลา 2 วัน เราถึงจะให้น้ำได้ทั่วสวน สิ่งที่เราขายไปกับผลไม้ส่งออกก็คือน้ำ แต่ปลูกผักใช้น้ำแค่ 15 นาที เช้า – เย็น แล้วถ้าเราไม่มีน้ำใช้ละ ก็แย่งน้ำแย่งทรัพยากรกัน เลยคิดว่าเราจะไม่ปลูกอย่างนั้น แต่จะถอยมาปลูกต้นไม้ป่า ซึ่งมันอยู่ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องรดน้ำเพิ่ม แล้วก็ปลูกผักผสมผสานกันไป ถ้าถึงวันที่ไม่มีน้ำใช้จริงๆ เราก็หยุดสัก 2 เดือนแล้วค่อยกลับมาปลูกใหม่ 45 วัน ก็มีรายได้กลับคืนมาแล้ว แต่ถ้าเป็นต้นผลไม้ มันไม่ได้น้ำแล้วตาย เราจะต้องเริ่มปลูกใหม่เลยนะ ใช้เวลาปลูก 6-7 ปี กว่าจะได้ผลผลิต

 

ตอนนี้คนทำเกษตรที่เมืองจันท์เหมือนนักพนัน นักเล่นหุ้น มีพืชหลายตัวที่เคยถูกปั่นให้ราคาขึ้นอย่างยาง กล้วย ลำไย พอทุกคนหันมาปลูกเยอะ ราคาก็ตก ทุเรียนก็เหมือนกัน หลายคนก็รู้นะว่าอีก 3 ปี ข้างหน้ามันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เขาคิด

 

แต่ก็ขอเสี่ยงดูก่อน

 

คนเรามีสัญชาตญานชอบพนัน แต่ไม่ค่อยนึกถึงความยั่งยืน… เขาอาจจะไม่เข้าใจคำว่ายั่งยืนมั้ง มุมมองมันต่างกัน เราก็คาดหวังให้ทุกคนเปลี่ยนนะ ไม่ใช่ว่าให้เลิกปลูกทุเรียน แต่ปลูกผสมผสานกันไป แต่ถ้าเป้าหมายของเขาอยู่ที่การหาเงิน เราไปพูดแบบนั้นเขาก็จะมองเราแปลกประหลาด เราอยากให้เขาเข้าใจว่าถ้าทุกคนแย่งทรัพยากรที่มันมีอยู่น้อยอยู่แล้วเนี่ย ท้ายที่สุดจะไม่มีใครรอดเลย

 

 

รายได้หลังจากลดพื้นที่ปลูกผลไม้ มาปลูกผักต่างกันมากไหม

 

ลดลงแต่ไม่มากมาย เพียงแต่การบริหารจัดการแรงงานทำให้เราปวดหัวน้อยลง เพราะว่าเราสามารถจะจ้างแรงงานอยู่ประจำกับเรา แล้วทำงานทั้งปีได้ เดิมปลูกผลไม้เต็มพื้นที่เราจะเก็บผลไม้ 30 ตัน ก็ต้องมีคนมารับจ้างเหมาเก็บ 15 คน อยู่กับเราเป็นเดือน แรงงานก็หายากขึ้นเลยคิดว่าจะลดพื้นที่ปลูกผลผลิตที่ต้องใช้แรงงานในการเก็บเกี่ยวให้น้อยลง แล้วกระจายให้มีรายได้จากตัวอื่น ซึ่งผักที่เราปลูกเก็บเกี่ยวง่าย ราคาค่อนข้างดี มันก็ชดเชยรายได้ที่ได้จากผลไม้

 

ช่องทางจำหน่ายผักและผลไม้อินทรีย์

 

เราขายเฉพาะในจังหวัดจันท์ ไม่อยากให้ขนส่งไกล ขนส่งทางไกลมันเกิด Carbon Footprint ทำให้โลกร้อน พอเราลดพื้นที่การปลูกผลไม้ลง เราก็ขนส่งน้อยลง ผลไม้ส่งไปกรุงเทพฯ ที่เลมอนฟาร์มและโรงเรียนทางเลือกอีกสองสามที่ เลมอนฟาร์มเป็นองค์กรที่พยายามทำงานเพื่อสังคมนะ เขาเน้นจุดยืนที่ว่าอยากให้เกษตรกรรายย่อยอยู่รอดได้เลยใช้ระบบ PGS แทนตรารับรองออร์แกนิกไทยแลนด์ เขาเป็นพี่เลี้ยงและทำให้เกษตรเข้มแข็งด้วยการรับซื้อผลผลิต ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่เขากำหนด มันก็จะกลายเป็น PGS ที่มีความร่วมมือกัน บนผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนผักป้าขายที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ เขามีพื้นที่สำหรับขายออร์แกนิกอีกที่ที่ตลาดเจริญสุข เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรเห็นว่า การปลูกผักเกษตรอินทรีย์มันได้ราคา มันอยู่ได้นะ แล้วก็ส่งตามร้านอาหารสุขภาพ

 

 

การขอตรารับรองออร์แกนิกที่ค่อนข้างมีข้อจำกัด อาจไม่เอื้อต่อเกษตรรายย่อยเท่าไร สำหรับสวนป้าเบสที่ได้ตรารับรองออร์แกนิก คิดว่าเกษตรกรจะสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคโดยไม่ต้องแปะตรารับรองได้ยังไงบ้าง

 

เริ่มแรกที่ทำเกษตรแบบแนวทางธรรมชาติ พอไปขายในตลาดแล้วเราโดนกดราคา ตอนนั้นก็หาหนทางว่าแล้วเราจะอยู่ให้รอดได้ยังไง ก็ต้องส่งขายคนในเมือง ทีนี้อะไรสักอย่างที่จะทำให้คนในเมืองไว้ใจเราได้ ก็ต้องไปขอตรารับรอง แต่ความมั่นใจจริงๆ มันต้องย้อนไปที่ความซื่อสัตย์นะ ต่อให้มีตรารับรองออร์แกนิกของไทยหรือตรารับรองจากต่างประเทศ มันก็ยังปลอมได้ แต่ถ้าผู้ผลิตซื่อสัตย์ถึงไม่มีตรารับรองมันก็สร้างความมั่นใจขึ้นมาด้วยคุณค่าของมันเอง

 

สังคมเราต้องการการเชื่อมโยงกันนะ ซื้อผ่านการดูเฉพาะตรารับรองไม่ใช่การเลือกอาหารที่ปลอดภัย ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยว่าให้ความสำคัญกับอาหารแค่ไหน มีหลายกลุ่มที่พยายามเชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ผลิตให้ถึงกัน ซึ่งมันต้องใช้เวลา เริ่มต้นที่เห็นเลยก็คือโรงเรียนทางเลือกเขาจะเชื่อมโยงกับเกษตรกรที่เขาไว้ใจได้ สั่งผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร เกิดเป็นสังคมคนปลูกรู้จักคนกิน คนกินรู้จักคนปลูก จะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มันต้องสร้างสังคมตรงนี้ขึ้นมาให้ได้

 

 

ต้นบอน แตกกอแซมอยู่ระหว่างไม้ผล

 

 

พูดถึงการกินอยู่อย่างยั่งยืน ทำเกษตรอินทรีย์ คนรุ่นใหม่สนใจกันเยอะ แต่อีกมุมก็ดูชวนฝัน ถ้าไม่โลกสวยเลยจะเตรียมตัวยังไง

 

อย่าโลกสวย อยากรวยอย่ามาทำเกษตรอินทรีย์ ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้อยากมาทำตรงนี้ ถ้าอยากประสบความสำเร็จด้วยการได้เงินเยอะ เกษตรอินทรีย์จะไม่ตอบโจทย์ แล้วเขาจะผิดหวัง แต่ถ้าชัดเจนว่าต้องการชีวิตสงบ สโลว์ไลฟ์ เรียบง่ายและยั่งยืน เขาจะมีพลังในการอยู่กับชีวิตแบบนี้ได้ยาวนาน การอยู่แบบนี้มันไม่ใช่แบบโลกสวย มันเป็นโลกอยู่ยาก ฉะนั้นต้องมีพลัง และชัดเจน ไม่หลอกตัวเอง ตอนแรกป้าก็ไม่คิดว่าจะอยู่รอดนะ แต่อาศัยที่มีเป้าหมายชัดเจน ไม่ได้ยึดเงินทองเป็นหลัก มันอยู่ได้ แต่ถ้าคาดหวังร่ำรวย เราคงบอกว่าอยู่ไม่รอด ขณะที่ตอนนี้เราไม่ได้ฟู่ฟ่าแต่เรามีความสุข มันก็ตอบโจทย์เราเรื่องความยั่งยืน และแหล่งอาหารที่มั่นคง

 

กินอยู่อย่างชาวชอง ชนพื้นเมืองจันทบูร

 

ป้าเบสพาเราเดินชมแปลงผัก ลัดเลาะสวนผลไม้ที่หนาแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เล็ก ขึ้นสลับพันธุ์กันอย่างอิสระ เว้นจังหวะทึบบ้าง โปร่งบ้างพร้อมกับบทสนทนาทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นก็มากพอที่จะทำให้เราสัมผัสได้ถึงความพยายาม ความตั้งใจจำลองป่ามาไว้ในสวน เพื่อทวงคืนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ—ก็ถ้าไม่บอกว่านี่สวนอาจคิดว่ากำลังเดินหลงป่าอยู่แน่ๆ

 

อีกสิ่งที่ทำให้ป้าเบสมุ่งมั่นปลูกป่าคือคำบอกเล่าของคนที่อยู่มาก่อนอย่าง ‘ชาวชอง’ ชนพื้นเมืองจันทบุรี ที่แต่เดิมอาศัยอยู่ตามป่า มีภาษาพูดเป็นของตนเอง หากินบนป่าเขา ล่าสัตว์ ยึดอาชีพหาของป่าจำพวกเครื่องเทศสมุนไพรท้องถิ่นอย่างกระวาน เร่ว ซึ่งเล่าให้ฟังถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าในอดีต

 

 

 

 

“ถึงต้นน้ำแล้วละ ท้ายสวนตรงนี้เป็นต้นน้ำแม่น้ำจันทบุรี สิ่งที่เราอยากให้ทุกคนเห็นคือ เดิมพื้นที่ตรงนี้มันเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ พอเราเปลี่ยนมาเป็นพืชเศรษฐกิจแล้วเนี่ย ความอุดมสมบูรณ์มันก็หายไป คนชองเขาเล่าให้ฟังเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของป่าเราก็รู้สึกเสียดายนะ เพราะเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกันที่ทำให้ป่าหาย ไปปลูกเงาะ ปลูกทุเรียน ตอนนี้เลยอยากจะปลูกป่าคืนแล้ว

 

เราอยู่ที่นี่มานาน รู้จักคนชองพื้นถิ่นจนเข้าใจวิถีชีวิตของชาวชอง ลิ้มรสชิมอาหารของเขา จนรู้ว่าอาหารของชาวชองคืออาหาร health food วัตถุดิบหาได้จากหัวไร่ปลายนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาหาเอามาปรุงอาหาร เราเลยพยายามนำอาหารชองมารับแขกทุกมื้อเพื่อให้ได้เข้าถึงและสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่รักและหวงแหนป่า หาอยู่หากินกับธรรมชาติ เดี๋ยวเราจะได้กินอาหารชองกันเที่ยงนี้”

 

สำรับอาหารชองที่ปรุงโดยแม่ครัวคุณพี่ คุณป้า คุณยายชาวชองตั้งสำรับร้อนๆ รอเราไว้พร้อมสรรพ ในบ้านสวน 2 ชั้น ของป้าเบส คุณพี่แม่ครัวชวนเราไปดูการทำยำมะละกอห่าม เมนูขายดิบขายดีของชาวชอง ทำไปงานบุญหรือเอาไปขายที่ไหนก็หมดไวก่อนเพื่อน

 

 

มะละกอห่ามสับเส้นขยำกับผลมะอึกเอารสเปรี้ยว ใส่มะพร้าวคั่ว ปลาทูย่าง ปรุงรสด้วยน้ำปลา พริกขี้หนู ผักชีฝรั่ง ใบโหระพา คลุกๆ เคล้าๆ แค่นี้ก็อร่อยพร้อมร่วมสำรับที่วางรอท่า มี ‘พริกกะทิ’ กะทิเคี่ยวแตกมัน ใส่กะปิ พริก หอม กระเทียม รสชาติเค็มมันหอมกะปิ เสิร์ฟคู่กับผักเคียงอย่างยอดหวาย กล้วยไข่ต้ม มะละกอต้ม คูณ และยอดอินทรีย์ ที่ล้วนหาเก็บได้ในสวนป่า

 

 

 

 

‘แกงฟักทองไก่’ แกงกะทิ ใส่ฟักทอง คล้ายๆ กินแกงเขียวหวานน้ำข้นกว่าเพราะมีเนื้อฟักทอง รสหวานจากฟักทองและเครื่องแกงเผ็ดร้อนนิดๆ นั้นเข้ากันดีกับเส้นขนมจีน และขาดไม่ได้คือแกงหมูกระวาน ที่สะท้อนถึงการหาอยู่หากินแต่ดั้งเดิมของชาวชองที่ยึดอาชีพหาของป่า สมุนไพรหลักอย่างกระวาน อาหารชองจึงเป็นการปรุงจากวัตถุดิบหลักที่หาง่ายๆ ในธรรมชาติ ด้วยวิถีถ้อยทีถ้อยอาศัย

 

Share this content

Contributor

Tags:

คุยกับผู้ผลิต, อาหารออร์แกนิก

Recommended Articles

Food StoryLemon Farm ธุรกิจที่เชื่อในมนตราของอาหาร คนทำชีวิตดี คนกินมีความสุข
Lemon Farm ธุรกิจที่เชื่อในมนตราของอาหาร คนทำชีวิตดี คนกินมีความสุข

หัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจคือโอบอุ้มความอยู่รอดของผู้ผลิตอาหาร และสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค