เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

การเมืองเรื่องตะเกียบ ความแตกต่างที่คนนอกไม่ทันใส่ใจ

Story by นคร โพธิ์ไพโรจน์

จริง ๆ แล้วการกินอาหารด้วยตะเกียบอาจสำคัญกว่าที่ใครคิด เพราะมันกลายเป็นภาพแทนวัฒนธรรมประจำชาติของชาวเอเชียหลายประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเป็นวัฒนธรรมการกิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราชาวเอเชียให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องอื่น ๆ เลย

การกระจายตัวของคนจีนไปทั่วโลก เป็นการพาวัฒนธรรมเฉพาะตัวเผยแผ่ตามกันอย่างเทศกาลตรุษจีน และอาหารจีน ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในบริบทสังคมที่หลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือการกินอาหารด้วยตะเกียบ อันเป็นเครื่องมือประจำโต๊ะอาหารของชาวเอเชียตะวันออก จนกลายเป็นภาพแทนทางวัฒนธรรมเอเชียในสายตาชาวตะวันตกไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ตะเกียบของแต่ละประเทศแตกต่างกันฉันใด การเหมารวมทางวัฒนธรรมด้วยตะเกียบก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนฉันนั้น และเมื่อใดที่สื่อตะวันตกพยายามหาแง่มุมเพื่อการสื่อสารกับชาวเอเชียด้วยตะเกียบ มันก็มักจะนำมาซึ่งข้อโต้แย้งมากมาย

 

 

เมื่อเดือน พ.ย. 2018 ได้เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวขึ้นในวงการแฟชั่นโลก เมื่อแบรนด์ดังจากอิตาลี Dolce & Gabbana ออกแคมเปญเพื่อบุกตลาดจีนโดยใช้ชื่อว่า DG Loves China มาพร้อมคลิปโปรโมทที่ให้นางแบบสาวชาวเอเชียหน้าหมวย—ที่เราเองก็ไม่กล้ายืนยันว่าเธอเป็นคนจีนที่แท้จริงหรือไม่–แต่งองค์ทรงเครื่องในคอลเลคชั่นของ D&G แล้วพยายามใช้ตะเกียบคีบอาหารอิตาเลียนชนิดต่างๆ ที่มีทั้งสิ้น 3 ชนิด คือ สปาเกตตี พิซซา และขนมแคนโนลี ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่เชิดหน้าชูตาของอิตาลีทั้งสิ้น แต่ออนไลน์ได้เพียงไม่นาน D&G ก็ถอดโฆษณาชุดนี้ออก หลังจากโดนชาวจีนทั้งโลกโขกสับด้วยข้อหาร้ายแรงคือ ‘เหยียดเชื้อชาติ’

 

ชาวจีนเขาดราม่าอะไรกันกับโฆษณาชุดนี้ เราลองไปดูคลิปทั้งสามกันก่อน

 

 

โฆษณาทั้งสามชิ้นมีวิธีเล่าเรื่องคล้ายกัน คือใช้เสียงบรรยายเป็นภาษาจีน ประกอบการท้าทายนางแบบให้หาวิธีใช้ตะเกียบเพื่อกินอาหารอิตาเลียนตรงหน้า เลยกลายเป็นภาพความทุลักทุเล จนเธอต้องดัดแปลงวิธีใช้ตะเกียบจนกว่าจะได้กินอาหารอย่างมีความสุข ซึ่งลำพังแค่ภาพที่นำเสนอก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้แบรนด์ D&G โดนโจมตีขั้นรุนแรง เพราะมันไม่ใช่แค่การโฆษณาสินค้าธรรมดา แต่มันเป็นการฟาดฟันกันด้วยแนวคิดชาตินิยม และยิ่งเมื่อประกอบกับเสียงบรรยายที่ใจความคือการชี้นำนางแบบให้ใช้ตะเกียบอย่างถูกวิธี จึงจะสามารถลิ้มรสอาหารอิตาเลียนชั้นเลิศได้ ดันมีประโยคแทงใจดำชาวจีนมากมาย อาทิ “ดื่มด่ำเหมือนอยู่อิตาลี แต่ที่นี่คือจีน” อ้าว! แล้วจีนมันไม่ดียังไง?

 

อันที่จริงการโปรโมทให้คนรู้สึกราวกับอยู่ประเทศที่เจริญแล้ว อาจเห็นได้บ่อยครั้งในโฆษณาสินค้าจากยุโรปในเมืองไทย แต่มันไม่ค่อยได้สร้างแรงสะเทือนเรื่องความเหลื่อมล้ำได้เท่ากับการนำวาทกรรมนี้ไปใช้กับประเทศจีน ซึ่งมีประชากรกระจายอยู่ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ มันจึงเป็นเวลาอันดีที่จะทำให้เกิดการมองบทบาทและสถานะความเป็นชาติ ที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องแฟชั่น ซึ่งความผิดพลาดมันเกิดขึ้นจากท่าทีของโฆษณาในการให้คนจีน ‘ดิ้นรน’ ที่จะไขว่คว้ารสชาติอาหารอิตาเลียนซึ่งวางสถานะของตน ‘เหนือกว่า’ วัฒนธรรมการกินของจีน และอาจเหมารวมไปถึงทั้งเอเชียเลยก็ว่าได้ ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ฉลาดนักในการใช้ชุดความคิดเช่นนี้เพื่อการตลาด

 

อย่างที่รู้กันว่า ‘อาหาร’ เป็นภาพแทนที่นำเสนอความเป็นชาติได้อย่างมีมิติที่สุดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการนำอาหารมาช่วงชิงอำนาจชาตินิยมบนสื่อโฆษณาจึงโดนกระแสตีกลับอย่างรุนแรง ซึ่งแผนเดิมนั้น D&G ตั้งใจจะปล่อยโฆษณาชุดนี้ก่อนแล้วตามด้วยแฟชั่นโชว์งานใหญ่ แต่หลังจากเผยแพร่ออกไปมันสร้างความไม่พอใจให้กับชาวจีนจนถึงขั้นที่นายแบบและนางแบบชาวจีนพร้อมใจกันเทงานนี้โดยพร้อมเพรียงกัน รวมไปถึงผู้มีอิทธิพลอย่าง บก.นิตยสาร VOGUE ของจีน และบรรดาคนดังที่เคยตอบรับเข้าร่วมงานนี้ไปแล้วอย่างนางเอกที่มีแฟนคลับทั่วโลก หลี่ปิงปิง และ จางจื่ออี๋ นางเอก Crouching Tiger, Hidden Dragon นอกจากยกเลิกงานยังประกาศไม่สนับสนุนสินค้า D&G อีกต่อไป ทั้งส่วนตัวเธอเองและทีมงานทุกคน

 

เพราะจีนไม่ใช่ประเทศเดียวในโลก ยังมีญี่ปุ่นอีกชาติที่ใช้ตะเกียบเป็นอุปกรณ์หลักบนโต๊ะอาหาร และตะเกียบของญี่ปุ่นก็มีลักษณะที่แตกต่างจากจีน คือมักจะทำจากไม้ไผ่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง นี่จึงเป็นที่มาที่เว็บไซต์ kotaku.com ตั้งข้อสังเกตถึงหนัง Blade Runner 2049 ฉบับ เดอนีส์ วิลเลเนิฟ ในฉากที่ตัวละคร ริก เด็คการ์ด ของ แฮร์ริสัน ฟอร์ด เดินเข้าซูชิบาร์แล้วแหกตะเกียบออกจากกัน จากนั้นก็เอาตะเกียบทั้งสองข้างขัดกันไปมาเพื่อเหลาเสี้ยนไม้ไผ่ ซึ่งเราเชื่อว่าใครหลายคนก็ทำเช่นนี้เวลาเข้าร้านอาหารญี่ปุ่น แต่มันเป็นวิธีที่ผิด

 

 

คุณอาจข้องใจว่า แล้วไอ้วิธีใช้ตะเกียบเช่นนี้มันผิดจนอภัยไม่ได้เชียวหรือ? ก็ไม่ขนาดนั้น ยิ่งมองว่าตัวละครเป็นชาวตะวันตกที่อาจเด๋อด๋ากับเรื่องเล็กน้อยแบบนี้ได้เป็นปกติ แต่สิ่งที่คอลัมนิสต์ ไบรอัน แอชคราฟต์ ให้ความเห็นไว้ในเว็บไซต์ kotaku.com คือ พฤติกรรมของเด็คการ์ดต่อซูชิบาร์นั้นไม่ได้มีความแปลกแยกแต่อย่างใด ราวกับว่ามันอยู่ในวิถีชีวิตที่โชกโชนประสบการณ์ของเขามาแล้ว ดังนั้นการใช้ตะเกียบที่ถูกต้องตามวัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่นจึงไม่น่าใช่เรื่องยากนัก

 

การใช้ตะเกียบแบบญี่ปุ่นที่ถูกต้องไม่ใช่การแหกสองขาคู่ออกจากกัน แต่คือการเด็ดขั้วด้านบนออก เพียงเท่านี้ก็จะได้ตะเกียบสองข้างขนาดเท่ากันอย่างไร้เสี้ยนหนามแล้ว ที่สำคัญคือวิธีใช้ตะเกียบของญี่ปุ่น (ซึ่งโดยมากเอาไว้คีบชิ้นเนื้อซูชิและซาชิมิ) นั้น ควรคีบอาหารเข้าปากโดยไม่มีส่วนไหนของตะเกียบสัมผัสริมฝีปากและลิ้น ดังนั้นโอกาสที่เสี้ยนไม้ไผ่จะเป็นอันตรายต่อผู้กินจึงมีน้อยมาก

 

 

ไหนๆ แล้ว เรามาเรียนรู้กันสักนิดว่าตะเกียบของแต่ละชนชาติแตกต่างกันอย่างไร และมีฟังก์ชั่นอย่างไรบนโต๊ะอาหาร โดยเน้นไปที่สามชาติหลักอย่าง ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ซึ่งของญี่ปุ่นเราได้กล่าวเอาไว้แล้วข้างต้น แต่ลักษณะพิเศษอีกอย่างคือปลายตะเกียบจะเรียวแหลมเป็นพิเศษ เพราะชาวญี่ปุ่นกินปลาเป็นหลัก มันจึงเป็นประโยชน์อย่างมากเวลาคีบก้างออกจากเนื้อปลา ส่วนของจีนจะมีความยาวมากกว่าของญี่ปุ่น เนื่องจากการกินอาหารของจีนคือการแชร์กับข้าวกันบนโต๊ะแล้วพุ้ยข้าวเข้าปาก ความยาวของตะเกียบจึงสะดวกเมื่อต้องเอื้อมไปคีบกับข้าวที่อยู่ไกลออกไป ส่วนของเกาหลีมักทำจากโลหะและแบน ลักษณะของมันอาจทำให้รู้สึกเหมือนใช้ยากนิดหน่อยเพราะทั้งแบนและหนัก แต่จะสะดวกมือพอดีเมื่อเอาไปคีบกิมจิและผักเคียง โดยมากชาวเกาหลีจะใช้ช้อนยาวควบคู่กันไปด้วย

 

ในเว็บไซต์ฝากคำถาม quora.com มีชาวตะวันตกทิ้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า ทำไมใน Crazy Rich Asians ชาวสิงคโปร์จึงไม่ใช้ตะเกียบกินอาหารกันเลย จึงมีคนเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าการกินด้วยตะเกียบไม่ใช่วัฒนธรรมหลักของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากจะหาภาพแทนวัฒนธรรมการกินของภูมิภาคนี้สักอย่าง การใช้มือเปิบอาจชัดเจนกว่า

 

จะเห็นได้ว่าแค่วัฒนธรรมการกินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ส่งผลให้วิธีกินอาหารมีรายละเอียดที่รุ่มรวยหลบซ่อนอยู่ เพียงหันมามองตะเกียบในมือบางทีเราอาจเห็นความแตกต่างหลากหลายและความเหลื่อมล้ำปรากฏขึ้นก็เป็นได้

 

ข้อมูลประกอบ

 

https://www.fastcompany.com/90273073/why-does-luxury-fashion-hate-chinese-consumers

 

https://kotaku.com/how-blade-runner-teaches-bad-japanese-table-manners-5924357

 

https://www.quora.com/In-Crazy-Rich-Asians-I-noticed-that-that-they-eat-with-forks-instead-of-chopsticks-Is-this-common-in-Singapore

Share this content

Contributor

Tags:

วัฒนธรรมอาหารรอบโลก

Recommended Articles

Food Storyเครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?
เครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?

ชวนทำความรู้จักกับเครื่องยาและสรรพคุณ จากบะกุดเต๋หม้อโปรด