เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

กินด่วนก็ดีได้กับอาหารรีบด่วนรูปแบบใหม่ Fast Casual

Story by อรุณวตรี รัตนธารี

ร้านขายอาหารรีบด่วน ที่คัดสรรวัตถุดิบอย่างละเมียดละไม

ใครก็อยากกินอาหารดีๆ แต่สิ่งที่หลายคนไม่มีคือ ‘เวลา’

 

เป็นเรื่องที่เรายอมรับกันมานานแล้วว่าอาหารที่ดี สดสะอาด ปรุงใหม่ร้อนๆ นั้นต้องมีส่วนผสมสำคัญคือเวลา ถ้าใครไม่มีเวลาก็ต้องบ่ายหน้าพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปตามร้านสะดวกซื้อ หรืออาหารฟาสต์ฟู้ดที่โดนตีตราว่าเป็น ‘อาหารขยะ’ มาแต่ไหนแต่ไรไม่ว่าจะเฟรนช์ฟรายด์ แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด เรื่อยไปถึงของกินเล่นที่ขายกันริมถนน ถ้าเน้นทำเร็วกินสะดวกก็มักถูกเหมารวมว่าเป็นอาหารไม่ดีที่ควรหนีให้ไกลถ้ามีเวลา

 

แต่อย่างที่รู้กันว่านิสัยการกินของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวเจนวายนั้นพิถีพิถันขึ้นทุกวัน แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ต้องแข่งขันกับเวลากันอย่างสุดตัว เขาเหล่านั้นก็ยังต้องการอาหารที่ทั้งเร็ว อิ่ม และกินสะดวกอยู่ดี ซึ่งนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของคำถามสำคัญที่ทำให้วงการอาหารฟาสต์ฟู้ดสั่นสะเทือน

 

คำถามอันท้าทายที่ว่า ถ้าไม่มีเวลา เราจะหาอาหารดีๆ กินได้อย่างไร

 

 

กระทั่งสุดท้าย นักธุรกิจร้านอาหารชาวอเมริกันดาเนียล เมเยอร์ (Daniel Meyer) ก็เกิดจับทางได้ ด้วยการผนวกแนวคิดแบบฟาสต์ฟู้ดและ Casual Dining หรืออาหารแบบฟูลเซตในร้านอาหารที่เราอาจต้องใส่สูทผูกไทเข้าไปนั่งกินกันในร้านไฟสลัวจนกลายเป็นร้านอาหารรูปแบบใหม่ที่มีครบทั้งความสะดวก อร่อย และมั่นใจได้ว่าห่างไกลจากคำว่าอาหารขยะหลายช่วงตัว ร้านแบบดังกล่าวถูกเรียกว่าฟาสต์แคชวล (Fast Casual) หรือคือร้านขายอาหารรีบด่วนที่คัดสรรวัตถุดิบอย่างละเมียดละไมรวมถึงการให้บริการอย่างใส่ใจในทุกขั้นตอน

 

 

ในระยะแรกดาเนียลโยนหินถามทางกระแสนี้ด้วยการเกิดร้านขายฮอตดอกและมิลค์เชคริมสวนสาธารณะ ใน Madison Square Park กลางกรุงนิวยอร์ก โดยชูจุดเด่นด้วยไส้กรอกทำเองที่เลือกใช้เนื้อปลอดสารเคมี ผักเคียงสดกรอบส่งตรงจากสวนออร์แกนิกที่ห่างจากร้านเพียงไม่กี่ช่วงตึก รวมถึงมิลค์เชคซึ่งเลือกใช้นมจากฟาร์มที่วางใจได้และไม่แต่งรสจนหวานแสบคอเหมือนร้านอื่น เป็นไปดังคาดหลังเปิดตัวได้ไม่นานร้านฮอตดอกดังกล่าวขายดีเป็นเทน้ำเทท่าถูกใจคนรักสุขภาพที่พากันมาออกกำลังกายในสวนสาธารณะ กระทั่งบางคนถึงกับออกปากว่าน่าจะมีมาตั้งนานแล้ว!

 

หลังจากนั้นพักใหญ่รถเข็นขายฮอตดอกขนาดกระทัดรัดก็กลับกลายเป็นซุ้มขายแฮมเบอร์เกอร์ที่โด่งดังไปทั่วนิวยอร์กนามว่า ‘เชคแช็ค’ (ShakeShack) และยังคงโดดเด่นด้วยจุดขายเดิมนั่นคือการเลือกใช้วัตถุดิบสดใหม่ปลอดสารเคมี สำคัญคือรวดเร็วและกินสะดวกไม่ต่างจากร้านแฮมเบอร์เกอร์แฟรนไชส์ขวัญใจคนวัยทำงานและมีวงเล็บด้วยว่าในราคาสุดเป็นมิตร

 

 

แต่คำว่า ‘เป็นมิตร’ ไม่ได้แปลว่าราคาถูกเสมอไป ทว่าหมายถึงราคาสมเหตุสมผลในระดับที่คนรุ่นใหม่วัยยี่สิบถึงสามสิบต้นๆ ควักจ่ายได้แบบสะดวกใจ โดยแฮมเบอร์เกอร์เชคแช็คนั้นอาจราคาสูงกว่าแฮมเบอร์เกอร์แมคโดนัลด์เกือบ 2 เท่า แต่คนก็ยังพอใจที่จะจ่ายเพื่อแลกกับเนื้อวัวชิ้นโตที่ย่างกันชิ้นต่อชิ้นและแลกกับความสนุกเมื่อทางร้านเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกวัตถุดิบเองได้ตามใจว่าจะเอาเนื้อแทรกมันหรือเนื้อล้วนไขมันต่ำ จะเพิ่มชีสเยิ้มๆ หรือจะเพิ่มผักสดก็ได้ทั้งนั้นแถมยังสร้างสตอรี่น่าตื่นเต้นด้วยการเชื่อมโยงร้านแต่ละสาขาเข้ากับแหล่งผลิตวัตถุดิบในท้องถิ่นที่ทั้งทำให้ได้วัตถุดิบสดใหม่แบบวันต่อวัน กว่านั้นยังช่วยลดค่าขนส่งและจัดเก็บลงได้มหาศาล

 

ไม่นานเชคแช็คก็ปักธงชัยในตลาดคนรุ่นใหม่ผู้ใส่ใจสุขภาพ พร้อมการเกิดขึ้นของกระแสร้านอาหารแบบฟาสต์แคชวลที่ทำให้บรรดาแบรนด์อาหารฟาสต์ฟู้ดต้องหันมาทบทวนตัวเองกันยกใหญ่ โดยเฉพาะเชคแช็คที่ขยายสาขาถึง 2,000 สาขาทั้งในและนอกสหรัฐอเมริกาก็ยิ่งยืนยันว่าถ้าเลือกได้ใครบ้างจะไม่อยากกินอาหารที่ดี

 

 

นอกจากจุดเเข็งเรื่องคุณภาพของอาหารที่ล้ำหน้าอาหารฟาสต์ฟู้ดไปหลายช่วงตัว เสน่ห์สำคัญอีกอย่างของร้านอาหารฟาสต์แคชวลคือบริการและบรรยากาศภายในร้านที่ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง แต่สะอาดและมอบความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้มาใช้บริการ เป็นจุดตรงกลางระหว่างร้านอาหารหรูกับร้านอาหารบ้านๆ ของคุณลุงคุณป้าที่เราสบายใจทุกครั้งเมื่อได้นั่งกิน แถมในมิติของการตลาดอาหารแบบฟาสต์แคชวลยังหน้าตาชวนกินและสื่อสารถึงการเป็นคนดูแลสุขภาพชวนให้เรายกกล้องขึ้นแชะภาพแชร์ลงในโซเชียลมีเดียมากกว่าภาพอาหารฟาสต์ฟู้ดที่หลายคนตีตราว่าเป็นอาหารขยะ

 

ทุกวันนี้ร้านอาหารฟาสต์แคชวลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอเมริกัน รวมถึงหลายประเทศฝั่งตะวันตกไปแล้วโดยปริยาย ดังที่นักข่าวสายอาหารทิม คาร์แมน (Tim Carman) กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์ Washington Post เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “อเมริกาไม่ใช่ชาติแห่งอาหารขยะอีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้เราเป็นผู้นำด้านอาหารดีที่ชื่อฟาสต์แคชวล!”

 

เมื่อมองกลับมายังบ้านเรา พบว่าอาหารแนวฟาสต์แคชวลก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือร้านแฮมเบอร์เกอร์ในกำกับของ เชฟแวน-เฉลิมพลโรหิตรัตนะอย่าง Escapade: Burger&Shake เปิดบริการความอร่อยอยู่ในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ที่เลือกใช้วัตถุดิบทุกอย่างในร้านจากแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้ ทั้งเนื้อคุณภาพดีจากฟาร์มในภาคอีสาน ขนมปังเนื้อนุ่มจากรัานขนมปังงานคราฟต์ที่ทำให้เบอร์เกอร์ของเขารสชาติไม่เหมือนใคร กว่านั้นเชฟแวนยังเติมความสนุกใส่ในอาหารด้วยไอเดียแปลกใหม่ ทั้งการนำช็อกโกแลตมาปรุงเป็นซอสสูตรพิเศษราดลงบนเนื้อวัวย่างชุ่มฉ่ำ เพื่อเปลี่ยนแฮมเบอร์เกอร์ธรรมดาๆ ให้มีคุณค่าสมราคา

 

และทั้งหมดนี้ก็คงพอการันตีได้ว่าการกินอาหารดีนั้นไม่มีข้อแม้ แม้แต่เรื่องเวลา!

 

 

ภาพจาก

 

https://patch.com/illinois/oak-brook/oak-brook-shake-shack-open-its-doors-friday-november-30th

 

https://www.rovertoday.com/green-hills/whats-open/coming-soon/shake-shack-s-first-tennessee-location-will-open-in-green/article_1bdf2d3e-5d1b-11e8-8209-affbb8212f9b.html

 

https://www.theinfatuation.com/new-york/reviews/shake-shack-times-square

 

https://www.shakeshack.com/

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารสุขภาพ

Recommended Articles

Food StoryJinta Homemade Icecream ร้านไอศกรีมสุดกรีนที่ชวนให้ ‘คิดดี’ และมี ‘ความสุข’
Jinta Homemade Icecream ร้านไอศกรีมสุดกรีนที่ชวนให้ ‘คิดดี’ และมี ‘ความสุข’

พาไปท้าทายลิ้นด้วยไอศกรีมโฮมเมดรสแปลกจากธรรมชาติ

 

Recommended Videos