เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

เอ๊ะ! ท่าเต้นข้าวปั้นมาทำอะไรกับฟอร์จูนคุกกี้?

Story by นคร โพธิ์ไพโรจน์

"โคอิสุรุ ฟอร์จูนคุกกี้ ~" ร้องและเต้นเพลงนี้วนไปหลายรอบในช่วงฤดูการแสดงของบริษัทต่างๆ ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เต้นไปเต้นมาก็เริ่มสงสัยอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งท่าเต้นข้าวปั้นโอนิกิริประจำเพลงนี้มันเกี่ยวอะไรกับคุกกี้ แล้วไอ้ฟอร์จูนคุกกี้มันมาจากไหน เป็นของจีนแต่ทำไมไม่เคยเห็นในจีนเลย เอาละ! สงสัยก็ต้องมาหาคำตอบกัน!

ปูพื้นฐานกันก่อน ฟอร์จูนคุกกี้ คือเพลงของสาวๆ ญี่ปุ่นวง AKB48 โดยมีวงรุ่นน้องในอีกหลายประเทศที่ยกเอาทำนองเพลงและท่าเต้นของวงรุ่นพี่มาใช้ โดยมีการแปลงเนื้อเป็นภาษาถิ่นให้คงความน่ารักไว้ วงรุ่นน้องในไทยชื่อวง BNK48 เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในโลกโซเชียลเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา

 

ส่วนโอนิกิริคือข้าวปั้นแบบญี่ปุ่น บ้างยัดไส้ปลาแซลมอน บ้างยัดไส้บ๊วยดอง หรือบ้างก็เน้นความมินิมอลโดยไม่ยัดไส้อะไรเลย ท่าเต้นข้าวปั้นโอนิกิริเกี่ยวอะไรกับเพลงฟอร์จูนคุกกี้ นั่งมโนคิดๆ เชื่อมโยงดูก็ เอ๊ะๆๆๆ โอนิกิริถือเป็นอาหารที่แสดงถึงความเป็นศรีภรรยาตามแบบฉบับของแม่บ้านญี่ปุ่น เพราะแม้เป็นอาหารที่เครื่องเคราไม่ซับซ้อน แค่เอาข้าวหุงสุกมาคลุกเกลือ ยัดไส้ และปั้นเป็นก้อน แต่เทคนิคการปั้นโอนิกิรินี่แหละที่บ่งบอกความเป็นแม่ศรีเรือนได้เป็นอย่างดีสำหรับคนญี่ปุ่นแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นการต้องปั้นข้าวขณะที่ยังร้อนเพราะข้าวจะเกาะตัวเป็นก้อนมากกว่า และน้ำหนักของอุ้งมือที่กดลงไปต้องพอเหมาะจนข้าวออกมาเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมที่สวยงามได้ แต่ก็ต้องไม่บีบแน่นจนทำให้ข้าวเกาะตัวกันเหนียวเกินไปเช่นกัน ช่างตรงเหมาะกับเนื้อเพลงฟอร์จูนคุกกี้ที่พูดถึงการตามหาความรัก เอ๊ะหรือว่าท่าเต้นมันมีความหมายแฝง พูดถึงผู้หญิงที่มองหาความรักและพร้อมเป็นศรีภรรยา โอวงานนี้ล้ำลึกขึ้นมาทันที

 

 

อะเลิกมโนเองดีกว่า ว่าแล้วก็ลองไปวานเพื่อนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นช่วยเสิร์ชให้ทีว่ามโนเราถูกต้องและล้ำลึกเป็นที่สุดใช่มั้ยๆ #อยากให้ใช่

 

ผลคือ…

 

     

  • เพื่อนรีบแปลภาษาและรายงานว่า 26 สิงหาคม 2016 รายการ Music Station ประกาศแนะนำเพลงว่า ท่าเต้นออกแบบโดย Papaya Suzuki โดยเน้นการเคลื่อนไหวช่วงบนของร่างกาย คล้ายการเต้นยุค 70 เพราะตัวเพลง fortune cookie มีจังหวะสโลวเทมโป้ เป็นเพลงโซลผสมป๊อบ เต้นตามง่าย เต้นได้ทุกเพศทุกวัย #เออจริง
  •  

  • เพื่อนอีกคนเล่าคร่าวๆ แบบขี้เกียจจะแปล #ไม่แคร์ความเนิร์ดของเราเลย ว่ามันเป็นท่าเต้นปั้นคุกกี้ แต่พออธิบายว่าเป็นท่าปั้นโอนิกิริแล้วคนเข้าใจง่ายกว่า
  •  

  • เพื่อนคนแรกเพิ่มเติมข่าวสารว่ามันคือ ท่าล้างแอปเปิ้ล! #ตายละแอปเปิ้ลมายังไง โดย คาชิวากิ  ยูกิ เคยพูดไว้เมื่อตอนรับรางวัล Jasrac ปี 2015 ว่าตอนซ้อม… คุณปาปาย่าสอนว่า ให้นึกถึงตอนกำลังขัดล้างแอปเปิ้ล (Jasrac คือ สมาคมที่คอยดูแลผู้ถือลิขสิทธิ์ดนตรี เป็นศูนย์กลางที่ดูแลลิขสิทธิ์เพลงทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น)
  •  

 

ตอนนี้เราชักไม่แน่ใจแล้วว่าจะปั้นคุกกี้หรือจะล้างแอปเปิ้ลกันแน่ๆ แต่ที่แน่คือการมอบชื่อท่าเต้นข้าวปั้นโอนิกิริ เกิดขึ้นโดย ซาชิฮาระ พูดเปรียบเปรยขึ้นมากลางคอนเสิร์ต แล้วตั้งแต่นั้นมาเพลงฟอร์จูนคุกกี้ก็มีท่าเต้นข้าวปั้นโอนิกิริ

 

 

เคลียร์เรื่องท่าเต้นไปแล้ว มาต่อที่เนื้อร้อง อืมมม แล้วจะ “ให้คุกกี้ทำนายกัน” กันไปทำไมน้าาา แล้วมีคุกกี้อะไรที่ทำนายดวงชะตาได้ ลองกดเพลย์ภาพ gif ข้างบนดูสิ เพ่งกระแสจิตแล้วจึงกดหยุด คุณจะพบกับคำทำนายดวงของตัวเอง

 

“คุกกี้เสี่ยงทาย” ไม่เหมือนคุกกี้ทั่วไป เพราะมีกิมมิกเฉพาะตัวภายใต้รูปทรงประหลาดอันเกิดจากการพับครึ่งของคุกกี้นั้น ซ่อนกระดาษใบเล็กๆ ที่บรรจุคำทำนาย บ้างก็ตัวเลขเสี่ยงโชค หรือคำคม คำขอบคุณ ที่เสิร์ฟมาเป็นอย่างสุดท้ายในร้านอาหารจีนที่อเมริกา เป็นเสมือนการตอบแทนจากร้านที่มอบความปรารถนาดีให้ลูกค้าก่อนจากกัน เป็นวัฒนธรรมที่เราเจอได้โดยทั่วไปในร้านอาหารจีนที่อเมริกา

 

หากนึกภาพไม่ออกให้ลองหาหนังสนุกๆ เรื่อง Freaky Friday มาดู มันเป็นหนังวัยรุ่นปี 2003 ของผู้กำกับ มาร์ค วอเตอร์ส (ที่ต่อมาได้ทำหนังวัยรุ่นหมุดหมายแห่งยุคมิลเลเนียมเรื่อง Mean Girls) ซึ่งได้ เจมี ลี เคอร์ติส กับ ลินด์เซย์ โลแฮน มารับบทแม่ลูกคนละขั้ว และไม่ลงรอยกันรุนแรง ทั้งคู่มาทะเลาะกันในร้านอาหารจีนแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นท่าไม่ดี บริกรจึงนำคุกกี้เสี่ยงทายวิเศษมาเสิร์ฟ แล้วทั้งคู่ก็สลับร่างกัน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันในที่สุด

 

ต้องยอมรับว่าคนนอกอเมริกาส่วนใหญ่จะเริ่มทำความรู้จักกับคุกกี้เสี่ยงทายอย่างจริงจังจาก Freaky Friday นี่แหละ เพราะนี่คือหนังฮิตระดับปรากฏการณ์ของดิสนีย์และคุกกี้เสี่ยงทายยังมีบทบาทที่สำคัญกับหนังอย่างมาก เพราะมันอาศัยลูกเล่นแสนน่ารักของมันมาช่วยกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว จรรโลงโลกย์ตามแนวทางของดิสนีย์นั่นเอง

 

ทั้งเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” และ Freaky Friday คุกกี้เสี่ยงทายหรือ fortune cookie ล้วนทำหน้าที่เป็น “สายลมที่หวังดี” ไม่ใช่เพียงเพราะคุกกี้จะเป็นของว่างที่มีสถานะ “ของขวัญ” อยู่ในทีเท่านั้นแน่นอน เพราะหากถอยตะเข็บไปถึงที่มาของมัน จะพบการฝังรากของการมองมุมบวกท่ามกลางการต่อสู้อันข้นแค้นในอเมริกา

 

ทุกวันนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่เลยว่า คุกกี้เสี่ยงทายนั้นมีต้นกำเนิดมาจากที่ใด แต่ที่แน่ๆ คือไม่ได้มาจากเอเชียอย่างแน่นอน ทั้งสองความเป็นไปได้เกิดจากชาวเอเชียผู้อพยพไปแสวงหาโอกาสที่อเมริกาด้วยกันทั้งสิ้น

 

ความเป็นไปได้แรก ว่ากันว่าเกิดขึ้นโดยชายชื่อ มาโกโตะ ฮากิวาระ เขาเป็นพนักงานร้าน Japanese Tea Garden ในซานฟรานซิสโกมาตั้งแต่ปี 1895 และโดนไล่ออกด้วยผลพวงจากปัญหาการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนที่เขาจะได้รับการว่าจ้างให้กลับมาทำงานอีกครั้ง เขาเลยพัฒนาวัฒนธรรมการกินเซ็นเบ (senbei) ข้าวเกรียบแบบญี่ปุ่นที่เสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงพร้อมชา โดยหลอมรวมเข้ากับสูตรของคุกกี้ มาเป็นคุกกี้ชิ้นพอดีคำที่เสิร์ฟพร้อมชาในร้าน โดยบรรจุกระดาษแผ่นเล็กๆ เขียนคำขอบคุณสำหรับการให้โอกาสผู้อพยพอย่างเขาได้ทำงานในร้านนี้อีกครั้ง โดย จอร์จ ฮากิวาระ หลานชายของเขาคาดว่า บรรพบุรุษผู้นี้น่าจะริเริ่มวัฒนธรรมคุกกี้เสี่ยงทายในช่วงปี 1907-1914 โน่น

 

อีกหนึ่งสมมติฐานเกิดขึ้นที่ลอสแอนเจลิส โดยผู้อพยพชาวจีนชื่อ เดวิด จุง (David Jung) ก่อตั้งร้านอาหารจีนเก่าแก่ Hong Kong Noodle Company ในปี 1916 ปัจจุบันเป็นร้านดังของแอลเอไปแล้ว ในวันแรกของร้าน จุงได้สังเกตเห็นคนยากจนอยู่รายล้อมร้านเขาเต็มไปหมด ในฐานะที่เป็นผู้แสวงโชคในอเมริกาคนหนึ่งเหมือนกัน และต้องการสานสัมพันธ์กับชุมชน เขาเลยทำคุกกี้ชิ้นเล็กๆ ที่ซ่อนกระดาษโน้ตเขียนประโยคให้กำลังใจจากไบเบิล แจกผู้คนที่เดินตามท้องถนน เป็นกุศโลบายอันแยบยลของจุงที่นอกจากส่งต่อพลังบวกให้เพื่อนร่วมชะตากรรมแล้ว ยังเผยแผ่ศาสนา และประชาสัมพันธ์ร้านเปิดใหม่ไปด้วยในตัว

 

ธรรมเนียมการเสิร์ฟคุกกี้เสี่ยงทายมาเริ่มแพร่หลายเอาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเหล่าอเมริกันตาน้ำข้าวหันมาเปิดใจกับการเข้าร้านอาหารจีนมากขึ้น แต่โดยอารยะของชาวตะวันตกนั้นเมื่อจบของคาวแล้วมักตบด้วยของหวาน ซึ่งร้านอาหารจีนไม่ได้มีรับรองให้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการนำเสนอคุกกี้เสี่ยงทายปิดท้ายมื้ออาหารให้ชาวอเมริกัน โดยนำคุกกี้ที่ไม่ได้มีอยู่ในเมนูอาหารจีน มาผนวกเข้ากับวัฒนธรรมการเสี่ยงโชคของชาวเอเชีย เกิดเป็นลูกเล่นสนุกๆ ของร้านอาหารจีนที่สร้างรอยยิ้มให้ลูกค้าได้อย่างดี

 

คุกกี้เสี่ยงทาย ไม่ได้มีอยู่จริงในเอเชีย เป็นสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นในโลกตะวันตกโดยชาวตะวันออก เพื่อกระชับสัมพันธ์ของผู้คนจากสองฟากโลกเข้าด้วยกัน “คุกกี้เสี่ยงทาย” ในเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” อาจเป็นตัวแทนความรักที่พึ่งทางใจของเด็กสาวเหมือนกระดาษห่อลูกอมฮาร์ทบีท แต่การเดินทางของมันยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะจะว่าไปมันคือตัวแทนพลังบวกที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของมนุษย์

 

หลังจากรู้เรื่องที่ไม่ต้องรู้ก็ได้แล้วนั้น เราก็ขอสรุปกับตัวเองว่าท่าเต้นนั้นคงไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษนอกจากเต้นตามง่าย เต้นได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนคุกกี้เสี่ยงทายเป็นของจีนที่น่ารักจนญี่ปุ่นขอหยิบยืมมาแต่งเพลง แค่นั้นเลย ไอ้เราก็คิดจริงจังเกินไป๊!

 

แต่ก็คงต้องขอบคุณความน่ารักของสาวๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราออกท่องโลกกว้าง #ว่าไปนั่น ได้ทำความรู้จักทั้งเรื่องราวของฟอร์จูนคุกกี้และข้าวปั้นโอนิกิริซะงั้น

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารกับบทเพลง

Recommended Articles

Food Story6 เพลงหวานฟังแล้วหิว
6 เพลงหวานฟังแล้วหิว

6 อาหารชวนหิวในเพลงสุดป๊อป