เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

กินคีโตเจนิก ดีจริงหรือ? สองมุมมองจากคนกินและนักกำหนดอาหาร

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

คำบอกเล่าผ่านประสบการณ์และความรู้เชิงวิชาการ เพื่อตอบคำถามว่า สุดท้ายแล้ว ‘กินคีโตเจนิกเพื่อลดน้ำหนักนั้นดีจริงหรือไม่’

‘กินไขมัน เพื่อลดไขมัน’ คือคำจำกัดความสั้นๆ ของแนวกิน Ketogenic diet ที่สร้างกระแส ส่งแรงกระเพื่อมโดยตรงไปยังผู้คนที่พยายามหาหนทางลดน้ำหนัก และแม้แต่ผู้ไม่เคยประสบปัญหากับน้ำหนักตัวยังขมวดคิ้วสงสัย เพราะมันฉีกกฎแนวกินเพื่อลดน้ำหนักแนวต่างๆ เรียกว่าเปลี่ยนชุดความคิดของเราไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เมื่อขาหมู เบคอน หมูกรอบ อาหารไขมันสูงที่เคยเป็นของต้องห้ามในการลดน้ำหนัก กลายเป็นแหล่งพลังงานหลักของแนวกินคีโตเจนิก (อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Ketogenic diet )

 

แม้จะมีชุดข้อมูลที่อธิบายหลักการทำงานของแนวกินคีโตเจนิกหลั่งไหลผ่านหน้า feed facebook ให้ทำความเข้าใจอยู่ไม่น้อย ทว่าอีกมุมหนึ่ง เราอยากทราบข้อมูลจากบุคคล 3 กลุ่ม 3 มุมมอง ทั้งคนที่กำลังกินคีโตอยู่ คนที่กินคีโตแล้วเลิก และนักวิชาการด้านโภชนาการเพื่อถ่ายทอดมุมมองจากประสบการณ์ตรง ซึ่งน่าเสียดายที่คนที่กินคีโตแล้วเลิกไม่สะดวกให้ข้อมูลเชิงรายละเอียด เพราะเกรงจะกระทบความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ รอบตัวที่ต่างก็กินคีโตเจนิกอยู่ จึงบอกกับเราเพียงสั้นๆ ว่า “เลิกกินเพราะร่างกายเกิดการอักเสบหลายจุด” KRUA.CO หวังว่าคำบอกเล่าผ่านประสบการณ์และความรู้เชิงวิชาการเหล่านี้จะช่วยตอบคำถามคลางแคลงใจได้บ้างว่า สุดท้ายแล้ว‘กินคีโตเจนิกเพื่อลดน้ำหนักนั้นดีจริงหรือไม่’

 

 

เอกรัตน์ พนักงานธนาคารหนุ่ม เป็นอีกคนหนึ่งที่ศึกษาหาหนทางและพยายามลดน้ำหนักหลากหลายวิธี ทั้งนับแคลอรี กินคลีน ไปจนถึงออกกำลังกายก่อนตัดสินใจกินคีโตเจนิก ด้วยหวังว่าน้ำหนักที่ลดลงจะช่วยรักษาโรคที่เป็นอยู่มากกว่าผลลัพธ์ทางรูปร่าง

 

จุดประสงค์ในการลดน้ำหนักคืออะไร ก่อนจะมาลดด้วยการกินคีโตได้ลองวิธีอื่นมาบ้างไหม

 

เริ่มจากเราเป็นตับอักเสบ พยายามหาสาเหตุมา 2-3 ปี ก็ยังไม่เจอสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไร หมอที่รักษาอยู่เลยแนะให้ลดน้ำหนัก ก็เริ่มหาดูว่าวิธีการไหนที่จะทำให้เราลดน้ำหนักได้ดีบ้าง ก็มาเจอคีโตนี่แหละ ที่มีคนลองแล้วมันได้ผล เราเลยศึกษาดูว่าต้องทำยังไง กินยังไง แล้วก็เริ่มลองเมื่อวันที่ 1 กุมภาฯ ปีที่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ก็ลองลดน้ำหนักเหมือนที่คนอื่นๆ เขาใช้กันนะ ทั้งคุมแคลอรี ออกกำลังกาย คุมอาหาร กินคลีน มันก็ไม่สำเร็จ เพราะไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์เรา รู้สึกว่ามันทรมานร่างกายมากเกินไป ออกกำลังกายมากๆ ก็เจ็บปวด เพราะน้ำหนักเรามาก ก็เลยลองกินคีโตดูว่าจะดีไหม แล้วมันมีแนวโน้มที่ดีก็เลยกินมาเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันเหมาะกับเรามากกว่า เพราะกินคลีนก็ยังมีแป้งมีน้ำตาลเนอะ ตอนไปปรึกษาหมอเขาก็บอกว่าแป้งกับน้ำตาลมันเป็นตัวที่จะทำให้โรคตับมีปัญหาเพราะมันไปเปลี่ยนเป็นไขมันที่ตับเป็นส่วนใหญ่

 

ปรับตัวมากินคีโตในช่วงแรกๆ มีปัญหาอะไรไหม

 

เราต้องทำอาหารกินเอง ซึ่งช่วงแรกที่กินคีโตมันเป็นช่วงสำคัญที่เราต้องพยายามคุมตัวเองให้อยู่ในคีโตเป๊ะๆ เพราะร่างกายเรากำลังเรียนรู้ที่จะใช้ไขมัน คือปรับจากที่ใช้น้ำตาลมาใช้ไขมัน ปัญหามันเลยไม่ได้อยู่ที่ต้องกินไขมัน แต่จะหาอาหารคีโตกินยังไง ก็เลยต้องทำเอง เพราะช่วงที่เราเริ่มกินคีโตมันยังไม่ได้เป็นกระแสอย่างทุกวันนี้ ที่จะหาอาหารจากร้านคีโตมากินได้ง่ายๆ ก็ต้องหาวัตถุดิบมาทำกินเอง แล้วก็ต้องนับแคลอรี ปริมาณสารอาหารที่เรากินต่อวันว่าเรากินอะไรไปเท่าไร โควต้าการกินของเราอีกมื้อหนึ่งในวันนี้เหลือเท่าไร อาหารข้างนอกที่พอกินได้ก็ไข่ต้ม เวลาไปข้างนอกก็ต้องวางแพลนชีวิตเลยว่าจะเอาอะไรไปกินหรือจะกลับมากินข้าวที่บ้าน

 

รอยต่อระหว่างช่วงที่ปรับมากินคีโต เกิดเอฟเฟ็กต์กับร่างกายไหม

 

ช่วงแรกๆ ก็มีอาการคีโตฟลูนะ มันจะเป็นไข้ เขาเรียกไข้คีโต คือช่วงแรกร่างกายเรายังต้องการน้ำตาล แต่พอคาร์โบไฮเดรตที่เรากินเข้าไปมันไม่มีแล้ว หรือมีน้อยมากเหลือประมาณแค่ 5% ของมื้ออาหารที่เรากินทั้งหมด ทำให้ร่างกายเกิดอาการน้ำตาลตก ก็เป็นกันเกือบทุกคน แต่พอร่างกายเราปรับตัวมาใช้พลังงานจากไขมันเป็นหลักแล้ว อาการเหล่านี้ก็จะหายไป บางคนก็จะมีอาการเป็นผื่นคีโตด้วย คือจะแสดงอาการแพ้ในช่วงแรกๆ ที่ร่างกายยังมีสารพิษอยู่ ประมาณ 2 เดือนร่างกายจะเริ่มเข้าที่ เพราะร่างกายใช้คีโตนเป็นพลังงานหลักแล้ว

 

มีอาการโหยของหวานบ้างไหม

 

ช่วงแรกๆ เป็น เพราะอาการอยากกินของหวานมันเกิดจากสมองเราสั่งให้อยาก แต่พอไม่มีน้ำตาลแล้วก็จะไม่มีอาการนี้ มันเหมือนคนเลิกยามั้ง ถอนยา มันก็จะอยากโน่นอยากนี่ แต่พอร่างกายใช้ไขมันเป็นพลังงานหลักแล้วจะไม่มีอาการตรงนั้น พอเรากินอาหารที่มีไขมันให้ได้สัดส่วนตามที่ต้องการ จะรู้สึกอิ่มได้มากกว่ากินแป้ง

 

 

กินคีโตมาประมาณ 1 ปีแล้ว ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

 

ช่วงแรกน้ำหนักลดลงเยอะมาก เดือนแรกลด 4-5 กิโลกรัม น้ำหนักเราตอนเริ่มกินคือ 78 เดือนแรกลดลงมาเหลือ 74 -73 แล้วน้ำหนักก็ค่อยๆ ลงมาเดือนละโลสองโล จนถึงช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาน้ำหนักลงไปทั้งหมด 15 กิโลฯ แล้วเราก็ไปเช็กร่างกาย เช็กว่าตับอักเสบที่เป็นอยู่มันดีขึ้นไหม ตอนแรกค่าตับเรามัน 200 กว่า ช่วงแรกที่กินก็ลดมาเหลือ 40 กว่า ซึ่งค่าตับของคนปกติก็จะไม่เกิน 40 เมื่อเดือนกันยาฯ ไปตรวจ เหลือ 20 กว่า ซึ่งถือว่าหายเป็นปกติแล้ว

 

พอใจในผลลัพธ์ที่ได้

 

พอใจมาก เพราะถือว่าเป็นวิธีไดเอทที่ได้ผลสำหรับตัวเองเนอะ แล้วก็สะดวกสำหรับตัวเราเพราะเราชอบกินอาหารประเภทนี้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ากินคีโตมันจะเป็นปัญหากับชีวิตสักเท่าไร เราทำอาหารกินเองได้ อย่างน้อยเราควบคุมได้ว่าจะกินอะไรต่อมื้อ ควรกินเท่าไร กินอาหารที่เราชอบได้ จริงๆ อาหารคีโตมันปรุงได้ไง แค่ไม่ใส่น้ำตาล แป้ง หลีกเลี่ยงเครื่องปรุงที่มีผงชูรส แต่ถามว่าเลี่ยงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ไหม ในชีวิตจริงก็ยาก มันไม่ร้อยหรอก

 

ตั้งเป้าไว้ไหมว่าจะกินคีโตถึงเมื่อไร แล้วกังวลเรื่องเอฟเฟ็กต์ที่จะเกิดกับร่างกายไหม ถ้าวันหนึ่งจะต้องหยุดกิน

 

ตอนนี้ก็เหมือนได้ทดลองหยุดกินนะ ผ่าไส้ติ่งเลยต้องหยุดกิน เพราะการกินคีโตจะมีปัญหาเรื่องอาการท้องผูก แต่ท้องผูกนี่คนกินคีโตก็เป็นกันเป็นเรื่องปกติ เขาก็จะกินแมกนีเซียมเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ กินผักให้ได้ 400 กรัมต่อวัน กินพรีไบโอติกส์ โพรไบโอติกส์ที่ดีต่อลำไส้ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ส่วนตอนนี้เราเพิ่งผ่าไส้ติ่งมาเลย ถ้ากินคีโตก็จะกระทบอาการเจ็บป่วยของเรา เลยออกจากการกินคีโตชั่วคราว แต่เดี๋ยวก็จะเข้าคีโตเหมือนเดิม แล้วตามงานวิจัยก็ยังไม่พบข้อเสียจากการกินคีโตในระยะยาวนะ เพราะมันเป็นวิธีไดเอตรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีใครศึกษาแบบระยะยาวด้วยมั้งว่าเป็นยังไง แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาอะไรกับชีวิต เราเองก็ตรวจสุขภาพตลอดเวลา ตามดูตลอด ถ้าวันหนึ่งมันมีปัญหากับร่างกายก็เลิกกิน

 

 

ฐนิต วินิจจะกูล นักกำหนดอาหาร จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยสอนและให้บริการคำแนะนำ คำปรึกษาด้านอาหารการกินแก่บุคคลทั่วไป

 

ทางการแพทย์ยอมรับแนวกินคีโตเจนิกเพื่อการลดน้ำหนักแค่ไหน

 

ถ้าดูตามคำแนะนำจากหลายๆ หน่วยงานทางการแพทย์ระดับนานาชาติ เราจะไม่เห็นใครสนับสนุนเรื่องนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมโรคเบาหวาน สมาคมโรคหัวใจและหลอดเลือด สมาคมโรคอ้วน ฯลฯ จะพบว่าคำแนะนำที่เกี่ยวกับการคุมน้ำหนักจะเป็นภาพกว้าง ไม่ได้เจาะจงสารอาหารขนาดนั้น เพราะหลักฐานทางวิชาการเพื่อสนับสนุนยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าดูบริบทของคนไข้หรือการลดน้ำหนัก ทุกครั้งเราต้องคำนึงถึงผลดีผลเสียก่อน การกินคีโต บางทีคนทั่วไปมองแค่ลดน้ำหนักแล้วได้ผลดี รวดเร็ว แต่ลืมมองผลข้างเคียงที่กระทบต่อสุขภาพซึ่งมันมีไม่น้อยเลย ฉะนั้นส่วนตัวในฐานะที่เป็นนักกำหนดอาหาร รวมถึงอีกหลายๆ ท่านก็ค่อนข้างเห็นตรงกันว่า เราไม่แนะนำให้กินคีโตเพื่อหวังผลในการลดน้ำหนัก มันคนละกรณีกับการลดอาการของคนไข้ที่เป็นโรคลมชัก

 

หลักการแพทย์อธิบายถึงน้ำหนักที่ลดลงไปจากการกินคีโตอย่างไร

 

มันลดอยู่แล้วครับ เพราะช่วงแรกพอความตั้งใจสูงเนอะ ตั้งใจคุมอาหารตามที่กำหนด การกินคีโตมันเป็นการตัดคาร์โบไฮเดรตลงเยอะน้ำก็จะหายไปจากร่างกายเยอะ เพราะในตัวแป้งที่เขาเรียกว่าไกลโคเจนที่เป็นแป้งสะสมในร่างกาย พอเราไม่ได้กินคาร์โบไฮเดรต ไกลโคเจนสะสมนี้ก็จะลดลง พอไม่มีปุ๊บ แป้งตัวนี้ปกติมันจะจับกับน้ำอยู่มันเลยทำให้น้ำในร่างกายเราหายไปด้วย 2-3 กิโลฯ แรกที่มันหายไปเพราะว่าน้ำออกไป ทีนี้ น้ำหนักตัวที่เหลือเนี่ยมันจะออกไปด้วยส่วนกล้ามเนื้อหายหรือไขมันหายก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย

 

ถ้ากินแต่คีโตจริงๆ เราพบว่าบางทีน้ำหนักไม่ได้ลดลงเพราะกลไกของคีโตหรอก แม้จะมีกลไกทางสรีรวิทยามาอธิบายว่ามันเผาไขมันโน่นนี่ แต่สุดท้ายมันอยู่ที่ว่าเขาตัดอาหารประเภทอื่นไปเยอะมาก จนกินน้อยกว่าเดิมมาก พอแคลอรีมันน้อย น้ำหนักเลยลด แค่นั้นเอง มีงานวิจัยที่บอกว่าไม่ว่าจะตัดอาหารหมวดไหนออก ในระยะยาว ถ้าแคลอรีหายไปเท่าๆ กัน น้ำหนักที่ลดก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะแตกต่างกัน และที่สำคัญบางครั้งอาจไม่ใช่การลดที่ดีด้วยนะ เพราะถ้ากินคีโตโดยที่ไม่ออกกำลังกาย ร่างกายก็จะสลายกล้ามเนื้อไปมากกว่าไขมันอีก

 

สำหรับคนที่จำเป็นต้องลดน้ำหนักเพราะมีปัญหาสุขภาพ จะเลือกกินคีโตแล้วหยุดหลังจากน้ำหนักลดลงได้ไหม

 

อย่างกรณีที่อ้วนมากๆ มีไขมันพอกตับแล้วตับอักเสบเนี่ย การที่น้ำหนักลดมันทำให้ไขมันที่พอกตับลดลง ในบริบทนี้ก็อาจจะช่วยให้สุขภาพตับดีขึ้นได้ แต่น้ำหนักลดไม่ได้หมายความว่าสุขภาพดีเสมอไปนะครับ เพราะมันอาจกลายเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งเพื่อไปสร้างอีกปัญหาหนึ่งก็ได้ ก็ต้องดูดีๆ ไขมันพอกตับลดลง แต่ไขมันในเลือดอาจจะขึ้นก็ได้ถ้ากินไม่เหมาะสม และอันที่จริง อาจมีหนึ่งในไม่กี่คนที่โชคดีสามารถ maintain การลดน้ำหนักได้ในระยาว (มากกว่า 6 เดือน) มีรายงานเยอะมากว่าการควบคุมอาหารแบบเน้นการจำกัดอาหารมาก 70-90 เปอร์เซ็นต์ คนที่กินแบบนี้มีแนวโน้มน้ำหนักจะเด้งกลับมาหรือที่เรียกว่าโยโย่ และหลายๆ คนจะล้มเลิกภายใน 3-6 เดือน เพียงแต่เราไม่ค่อยเห็นคนที่ออกมาบอกว่าล้มเหลวไง

 

ฉะนั้นการที่หนึ่งคนทำได้ มันไม่ได้หมายความว่าเหมาะกับทุกคน เพราะอาจจะมีอีก 8-9 คนที่ทำไม่ได้ แล้วเขาจะมาโพสต์รูปไหมว่าทำไม่ได้ ก็คงไม่ แล้วอาจโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ลดน้ำหนักไม่ได้ เก็บปมนี้ไว้ในใจแล้วรอวันที่จะหาสูตรไดเอทใหม่ เดี๋ยวนี้มีอย่างอื่นเริ่มมาแทนคีโตแล้ว มีกินเนื้ออย่างเดียวด้วยนะ ไม่กินผัก (carnivorous diet) อันนี้เห็นแล้วสงสารสุขภาพหัวใจแทนเลยครับ แล้วจริงๆ รูป before – after ที่หลายๆ คนโพสต์ มันไม่ใช่ after รูปสุดท้ายในชีวิตด้วย เราเจอหลายคนเลยแหละที่ทำ before – after แล้วหายไป เพราะ after- after มันคือโยโย่ แต่เขาไม่เคยโพสต์รูปนั้นนะ เพราะคนเราไม่โพสต์รูปไม่ดีลงเฟซบุ๊กหรอก

 

 

“ในฐานะนักกำหนดอาหารจะให้คีโตกับคนไข้ที่เป็นโรคลมชักเท่านั้นเพราะประเมินแล้วว่าสำหรับเขาประโยชน์มันมากกว่าโทษ แต่คนทั่วไปถ้ากินแค่เพื่อลดน้ำหนัก ประโยชน์มันไม่มากพอเมื่อเทียบกับผลเสียที่จะตามมา…”

 

 

 

ฟันธงได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีใครยอมรับการกินคีโตเพื่อลดน้ำหนัก

 

ก็คงมีบุคลากรทางการแพทย์บางคนที่อินกับเรื่องนี้ เราพูดแทนทุกคนไม่ได้หรอกครับ แต่ในระดับวงวิชาการทั่วไปไม่มีใครออกมาฟันธงยอมรับหรอก โดยเฉพาะหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานใหญ่ๆ ระดับประเทศ ระดับนานาชาติก็ไม่มีใครฟันธง เพราะการประกาศสนับสนุนในระดับหน่วยงาน มันต้องใช้หลักฐานทางวิชาการแน่น ใช้ความรู้ ไม่ใช่ความเชื่อ แต่ในระดับบุคคลก็มีเหมือนกันที่นักกำหนดอาหารหรือแม้แต่แพทย์บางคนก็เชื่อในทางคีโตหน่อยๆ เพียงแต่ว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้ออกมาบอกในสื่อกระแสหลัก

 

ส่วนตัวเลย อย่างถ้ามีคนมาบอกผมว่าอยากกินคีโต ผมเองก็คงไม่ได้บอกว่าห้ามกินเลยนะ เราต้องประเมินการกินของแต่ละคนก่อน แล้วค่อยๆ ปรับ แต่ที่สำคัญคงต้องถามถึงแรงจูงใจที่ทำให้อยากกินแต่แรกเลย เพราะคีโตมันไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่ถ้าพูดถึงการให้คำแนะนำทางโภชนาการกับคนทั่วไป เบื้องต้นเราไม่แนะนำครับ เพราะมันมีผลเสียและงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นผลข้างเคียงมากพอสมควร คือถ้าจะกินเพื่อลดน้ำหนักเนี่ย มันมีวิธีอื่นอีกเยอะมากที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลและปลอดภัยกว่า มันเลยไม่ใช่ทางเลือกแรกที่เราจะแนะนำ

 

สรุปว่าในมุมของนักกำหนดอาหาร คีโตจีนิกไม่ใช่ทางเลือกเพื่อการลดน้ำหนัก

 

ไม่ใช่แน่นอนครับ เพราะปกติเราในฐานะนักกำหนดอาหารจะให้คีโตกับคนไข้ที่เป็นโรคลมชักเท่านั้น และเป็นคีโตจริงจัง คือ ไขมัน 85 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ไม่คีโตแบบยวบยาบอย่างที่หลายคนทำกันอยู่ จะคีโตก็คีโตไม่เต็ม อย่างคนเป็นโรคลมชักต้องกินคีโตตลอดชีวิตนะครับ เพราะเราประเมินแล้วว่าสำหรับเขาประโยชน์มันมากกว่าโทษ ในแง่ของการกดลมชัก แต่คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคลมชักถ้าจะกินแค่เพื่อลดน้ำหนักเนี่ย ประโยชน์มันไม่มากพอเมื่อเทียบกับผลเสียที่จะตามมา

 

ผลเสียที่จะตามมาจากการกินคีโตมีอะไรบ้าง

 

ก็อย่างเช่น บางคนกินคีโต ไขมันเยอะแต่กล้ามเนื้อโปรตีนไม่พอ กล้ามเนื้อน้อย กินแล้วไม่ออกกำลังกายกล้ามเนื้อก็ยิ่งลดลง บางคน suffer กับหวัดที่เราเรียกว่า Keto Flu มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว รู้สึกเหมือนเป็นไข้ตลอดเวลา อ่อนเพลียไม่มีแรง แล้วกลายเป็นว่าเขาบอกนั่นคือการทดสอบจิตใจ ต้องผ่านช่วงนี้ไปให้ได้แล้วมันจะดีขึ้น ส่วนตัวคิดว่าทำไมเราต้องมาบำเพ็ญทุกรกิริยา ต้องสังเวยความสุขกับการทำแบบนี้ เพราะมันมีแนวทางอื่นให้ทำเยอะแยะที่ให้สุขภาพแถมไม่ลำบากจิตใจ อย่างคนกินคีโตแล้วท้องผูกก็มี ไขมันในเลือดพุ่งไปถึง 300-400 ก็มี บางคนมีปัญหาเรื่องมวลกระดูกแล้ว หลายคนเป็นผู้หญิงที่อายุยังไม่มาก อยู่ในวัยที่กำลังเก็บสะสมแคลเซียมเพื่อให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้น พอตัดแหล่งแคลเซียมออกไปมันก็ส่งผลกระทบกับมวลกระดูกแน่นอน แล้วบางคนกินร่วมกับ IF (Intermittent fasting) ที่ให้กินอาหาร 8 ชั่วโมง แล้วหยุดกิน 16 ชั่วโมง ยิ่งแล้วใหญ่ มีเคสที่มาปรึกษามีอาการผมร่วงบ้าง ฮอร์โมนแปรปรวนบ้าง ประจำเดือนไม่มา มันกลายเป็นพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ มันเป็นโรคหนึ่งที่ทางจิตเวชเขาเรียก eating disorder

 

 

ถ้าถามผมวิธีการลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือ เลิกคิดที่จะลดน้ำหนัก…

 

 

คือการเสพติดการกินแบบแปลกๆ

 

มันเป็นพฤติกรรมการกินที่แตกต่างจากคนทั่วไป แล้วมีผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เคยมีคนกินคีโตแล้วสุดท้ายไปรักษาโรคจิตเวชเพราะเป็นโรคซึมเศร้า ต้นเหตุมาจากกินคีโตแล้วคาดหวังว่าจะลดน้ำหนักเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น หรือรู้สึกได้รับการยอมรับ กินเพื่อผลประโยชน์ทางด้านจิตใจ พอกินๆ ไปลดได้จริง แต่ตบะแตกกลับมากินเหมือนเดิม น้ำหนักเพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าเครียดจนกลายเป็นซึมเศร้า ต้องบำบัดโรคซึมเศร้า มันก็มีกรณีอย่างนี้แล้ว

 

 

แล้วถ้ามีคนอยากลดน้ำหนักจริงๆ จะแนะนำอย่างไร

 

ถ้าเป็นระดับบุคคล ปกติเราไม่ได้กำหนดว่าอะไรห้ามกิน อะไรต้องกินเลยนะ ในมุมของนักกำหนดอาหารเราต้องคุยกับแต่ละคนก่อนว่าพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิตเป็นอย่างไรแล้วค่อยปรับพฤติกรรมตามวิถีชีวิตที่แต่ละคนเป็น เราไม่หักดิบ ไม่ปรับแบบสุดสวิงริงโก้เพราะมันไม่เคยยั่งยืน อะไรที่ปรับแล้วรู้สึกว่าความสุขหายไป มันเป็นการลงทุน เป็นความอดทนที่ฉาบหน้าไว้ด้วยคำว่าวินัย เราก็จะแนะนำให้เขาปรับในสิ่งที่ปรับได้แล้วยังมีความสุขที่จะทำได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้แหละเป็นการปรับพฤติกรรมที่ยั่งยืน แล้วถ้าปรับได้เรื่อยๆ น้ำหนักมันก็จะลดลงโดยธรรมชาติ ไม่ต้องไปตั้งใจลดมากมายก่ายกอง เพราะยิ่งตั้งใจมากแล้วลดยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จสักที สุดท้ายความมั่นใจในตัวเองจะหายไปเลย

 

คือต้องเริ่มปรับทัศนคติตัวเองก่อนเลย

 

ใช่ครับ ถ้าถามผมวิธีการลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือ เลิกคิดที่จะลดน้ำหนัก เพราะถ้าตั้งเป้าหมายที่ตัวเลขน้ำหนัก แล้วพอเราไปถึงตรงนั้นเราจะทำยังไงต่อ สมมติน้ำหนัก 60 อยากลดเหลือ 50 พอทำได้แล้วก็จะเกิดความโหวงเหวงว่าเราควรทำต่อไหมหรือพอแค่นี้เพราะได้น้ำหนักตามที่ต้องการแล้ว ลองย้อนมองว่าก่อนหน้านี้เราแลกอะไรไปหลายอย่างกับการปรับพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อให้น้ำหนักลงถึง 50 พอถึงเป้าปุ๊บ ถ้าเลือกที่จะหยุด แล้วเราปลดปล่อยทันทีมันก็จะกลับมาทำพฤติกรรมเดิม น้ำหนักก็เด้งกลับไปอีก รอวันที่อยู่ดีๆ มีอะไรมาบันดาลใจให้อยากลด ก็ลดๆ อีกรอบ วนไปวนไปเป็นวงเวียนชีวิต

 

สังคมไทยเราโฟกัสที่น้ำหนักกันมากเกินไปครับ ผมคิดว่าเราน่าจะเลิกคิดที่จะลดตั้งแต่แรก คือการเลิกสนใจเรื่องลดน้ำหนักไม่ได้หมายความว่าเราเลิกสนใจเรื่องสุขภาพนะ แต่หมายความว่า ถ้าเราอยากกินผักก็กินผักมากขึ้น อยากคุมของทอดก็กินให้น้อยลง รู้สึกว่ากินน้ำตาลเยอะไปเราก็ลด เอาที่สบายใจ ไม่จำเป็นต้องตัดทุกอย่างในชีวิต จะกินชานมไข่มุกอาทิตย์ละแก้วก็ไม่ได้มีปัญหาเลยครับ ถ้าเทียบกับไม่กินเลยสุดท้ายอีกเดือนนึงมีโปรโมชั่น 1 แถม 1 ก็ซัดจัดเต็มตบะแตก ทุกอย่างมันต้องทำไปอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ทนทำไปปุบปับแล้วคาดหวังผลระยะสั้นยิ่งแย่กว่าเดิม ควรโฟกัสที่พฤติกรรมกับสุขภาพระยะยาว ไม่ฉาบฉวยครับ

 

 

ถ้าตัดเรื่องความสวยงาม พูดถึงคนที่ต้องตั้งเป้าลดน้ำหนักจริงๆ เพราะปัญหาเรื่องสุขภาพล่ะ

 

ก็ต้องประเมินพฤติกรรมการกินของแต่ละคนก่อน ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งเพื่อไปสร้างอีกปัญหาหนึ่งอย่างที่บอก บางคนถูกจริตกับ low carb high protein ก็ไม่ต้องถึงขั้นกินคีโต เราก็ปรับให้ได้ถ้ามันเข้ากับบริบทเขา ไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่เล่นโตเกินเบอร์อย่างไปกินคีโต เรามีวิธีการกินส่งเสริมสุขภาพแบบหลากหลาย ที่มันได้มากกว่าเสียเยอะเลย เช่น DASH diet ลดความดันโลหิตได้ อันนี้ก็คาร์บเยอะ Mediterranean Diet ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อันนี้ไขมันเยอะ หรือแม้แต่ที่ สสส. โปรโมทอยู่ตอนนี้ ผัก 2 เนื้อ 1 ข้าว 1 มันก็เป็นพื้นฐานการกินที่ถ้าทำให้ได้มันก็ส่งเสริมสุขภาพได้

 

แนวกินมีให้เลือกเยอะ แต่คนตื่นเต้นกับการกินคีโต เพราะคำว่ากินไขมันแล้วลดไขมันได้มันยิ่งเชิญชวนให้น่าลองหรือเปล่า

 

ใช่ ส่วนหนึ่งมันคือการตลาดความหวังนะ เพราะเราอยู่ในสังคมที่หมกมุ่นกับเรื่องน้ำหนักเยอะ พอหมกมุ่นแล้วเจออะไรที่มันดูง่าย แบบเฮ้ย ลดได้แน่นอนเพียงแค่กินแบบนี้ มันดูเร้าใจ ดูน่าลงทุนเพราะคำชี้ชวนเยอะว่าทำแล้วลดได้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่กับคีโตนะ มีอีกหลายแนวที่ใช้วิธีการโฆษณาประมาณนี้ แต่เราพบว่าไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนักด้วยการจำกัดอาหารแบบไหนก็ตาม มันก็ทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แล้วพอถูกโฆษณาแบบนี้ คนที่ทำไม่ได้ก็จะไม่พูด มันมีพื้นที่สื่อสารอยู่แค่เพียงคนที่ทำได้ เลยถูกประโคมในสื่อโซเชียลฯ ว่า โห มีแต่คนกินคีโตแล้วลดได้ แต่โยโย่ก็เยอะเพียงแต่ไม่มีพื้นที่สื่อสาร แต่ถ้าทำวิจัยสำรวจคนเฟลกับมันเยอะนะในต่างประเทศ

 

การรับสื่อก็สำคัญ แล้วคนในแวดวงสาธารณสุขเองตื่นตัวที่จะให้ข้อมูลเรื่อง ketogenic diet กับประชาชนมากแค่ไหน

 

มันแล้วแต่คนเนอะ มีคนให้ข้อมูลตามเฟซบุ๊กบ้าง หากเข้าไปดูเฟซบุ๊กของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือนักวิชาการทางด้านโภชนาการก็จะเห็นว่าไม่มีใครสนับสนุนแนวนี้เท่าไร หรืออย่างคลินิกโรคอ้วนของโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ทำ content ให้ข้อมูลเรื่องคีโตเหมือนกัน แต่ reaction ของแต่ละคนก็ต่างกันไปนะ บางคนก็บอกถ้าจะกินก็กินแต่คุณต้องเรียนรู้เรื่องผลกระทบที่ตามมานะ จะไม่ฟันธง แต่หลายคนมองแล้วว่าถ้าจะกินคีโตเพื่อลดน้ำหนักเทียบกันแล้วโทษมันมากกว่าประโยชน์ก็จะบอกว่าไม่แนะนำ คือมีตั้งแต่พูดกลางๆ ไปจนถึงไม่แนะนำเลย อย่างตัวผมไม่แนะนำ เพราะเราเห็นคนที่มีปัญหามาเยอะ

 

 

สุดท้ายขอคำแนะนำสำหรับคนที่ชั่งใจอยู่ว่าจะกินคีโตเพื่อลดน้ำหนักดีไหม

 

ต้องบอกว่าสังคมไทยเราให้ความสำคัญกับคนลดน้ำหนักมาก เห็นเขาลดได้แล้วเราก็ไปดีใจด้วย ทั้งที่อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิธีการลดน้ำหนักของเขามันดีหรือไม่ดี เป็นอันตรายไหม พฤติกรรมเชียร์หรือส่งเสริมคนที่ลดน้ำหนักมากๆ มันยิ่งทำคนที่มีความเสี่ยงกลายเป็น Eating disorder (พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ) ไปเลย ซึ่งมันสำคัญและไม่ค่อยมีใครพูดถึง

 

ยิ่งวัย 20-30 ไม่เกิน 40 ควรเป็นวัยที่ส่งเสริมภาวะโภชนาการ เพื่อสะสมโภชนาการดีจะได้มีต้นทุนดี มีสุขภาพดีเมื่อถึงวัยสูงอายุ แต่นี่คือสังเวยสุขภาพเพื่อการลดน้ำหนักเพี่อรูปร่างสวยงาม หรือเพื่อความคาดหวังของสังคม เราไม่ค่อยตระหนักถึงผลระยะยาว สนใจแค่ว่าวันนี้จะถ่ายรูปยังไงลง ig มีคนกดไลค์เยอะไหม มีงานวิจัยที่บอกว่ากลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มี self-efficacy ผูกยึดกับคนรอบข้าง จะมั่นใจในตนเองได้ก็ต่อเมื่อคนรอบข้างพูดชมหรือให้กำลังใจ ไม่สามารถสร้างหรือให้กำลังใจตนเองได้เลย แล้วยิ่งเสพสื่อเกี่ยวกับลดน้ำหนักมากๆ ยิ่งเกลียดตัวเอง เพราะกำลังเปรียบตัวเองกับรูปที่ผ่าน photoshop ผ่านแอปฯ มาแล้ว จะสู้ได้ยังไงล่ะ ทำยังไงเราก็ไม่พอใจตนเองหรอกครับ

 

เคยมีเคสที่มาถามผมว่าอยากลดน้ำหนัก ผมก็ถามกลับไปว่าทำไมถึงอยากลด เขาบอกโดนเพื่อนล้อแล้วรู้สึกไม่มีความสุข เลยคิดว่าถ้าลดน้ำหนักได้แล้วจะมีความสุขมากขึ้น คือ เฮ้ย คุณกำลังเอาความสุขของตัวเองไปผูกกับคำดุด่าของสังคมคนรอบข้างที่มันเลวร้ายมากเลย คุณจะไม่มีวันมีความสุขเลยนะ แล้วถ้าคุณไม่ได้ผิวขาวอมชมพูอย่างดารา ต่อให้ลดน้ำหนักได้แล้ว คนก็จะเปลี่ยนจากเรียกคุณว่าอ้วนเป็นเรียกคุณว่าดำแทน คือสังคมไทยเรามันกลายเป็นสังคมที่อิจฉารูปร่างกันเยอะ ดูถูกรูปร่างกันด้วย เราไม่มีวันหนีพ้นตราบใดที่ยังโฟกัสอยู่กับน้ำหนักตัว แล้วลืมว่าเราควรโฟกัสกับการทำให้ตัวเองรู้สึกดีดีกว่า

 

 

อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าอยากจะลองคีโตจริงๆ เพราะลองมาทุกวิธีแล้วไม่ลดสักที แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ ปรึกษานักโภชนาการ-นักกำหนดอาหาร อยากให้ทำโดยถูกหลักการที่สุด และมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายน้อยที่สุด ไม่ใช่ลองเองเจ็บเอง เพราะตอนเราเจ็บ คนที่บอกให้เรากินคีโตก็ไม่ได้อยู่ปฐมพยาบาลเราให้ดีขึ้นใช่ไหมครับ…

 

Share this content

Contributor

Tags:

คีโตเจนิก

Recommended Articles

Food StoryKetogenic Guide  อะไรกินไม่ได้ – กินได้ – กินดี สำหรับคีโตเจนิก
Ketogenic Guide อะไรกินไม่ได้ – กินได้ – กินดี สำหรับคีโตเจนิก

รวมสารพัดอาหารที่เป็นมิตรและไม่เป็นมิตรกับการกินแบบคีโตเจนิก พร้อมไขข้อสงสัยว่าทำไมบางอย่างกินไม่ได้ ทำไมบางอย่างกินได้ และทำไมอีกหลายอย่างถึงกินดี