เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ถอดบทเรียน ‘แดจังกึม’ 15 ปีแห่งซีรีส์ส่งครัวเกาหลีสู่สากล

Story by นคร โพธิ์ไพโรจน์

ซีรีส์พีเรียดยอดนิยมตลอดกาลจากเกาหลี ที่ส่งให้วัฒนธรรมอาหารเกาหลีแจ้งเกิดไปทั่วโลก

เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ได้รับการหยิบยกเป็นแม่แบบเสมอมา ในฐานะประเทศที่เล็งเห็นคุณค่าของอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น หนัง เพลง และซีรีส์ เพื่อใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์อันทรงคุณค่า ส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นคือ ‘อาหาร’ ซึ่งทัพหน้าที่ส่งออกครัวเกาหลีสู่ครัวโลกได้รุนแรงสุดขีดก็คือซีรีส์ ‘แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง’ หรือ Jewel in the Palace ที่ออกอากาศในเกาหลีเมื่อปี 2003-2004 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว นับจากแรงระเบิดในครั้งนั้น อาหารเกาหลีก็ไม่แปลกลิ้นคนทั้งโลกอีกต่อไป เรามาลองดูกันว่าเกาหลีรับลูกอย่างไรบ้างจากความสำเร็จของละคร จนกลายเป็นความฟูเฟื่องของอาหารเกาหลีในระดับนานาชาติเช่นนี้

 

‘แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง’ ออกอากาศในไทยทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อ พ.ศ.2548 และจากวันนั้น รัฐไทยรวมถึงหน่วยงานทางวัฒนธรรมต่างๆ ยังคงอ้างถึง ‘แดจังกึม’ เพื่อเป็นแนวทางเชิงนโยบายในการส่งออกครัวไทยสู่ครัวโลกผ่านสื่อภาพยนตร์และซีรีส์มาโดยตลอด

 

ความฮิตของ ‘แดจังกึม’ ไม่ได้จำกัดแค่ในเมืองไทย ที่เกาหลีบ้านเกิดมีจำนวนผู้ชมโดยเฉลี่ย 46.3% และไปสูงสุดได้ถึง 57.8% ติดอันดับ 10 ซีรีส์ที่มีผู้ชมสูงสุดตลอดกาล ขายสิทธิเผยแพร่ 91 ประเทศ ทำรายได้ไปสูงถึง 103.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเรื่องราวหลักๆ ว่าด้วย ซอจังกึม (อียองเอ) หญิงสาวสามัญชนผู้ได้รับโอกาสเข้าไปเรียนรู้การปรุงอาหารในราชสำนัก ก่อนที่ไหวพริบของเธอจะทำให้ได้เป็นซังกุงสูงสุดของห้องเครื่อง จากจุดนั้นเธอพัฒนาสู่การปรุงยาจนได้ถวายเพื่อรักษาอาการประชวรของพระราชา ท่ามกลางเกมการเมืองและการช่วงชิงอำนาจมากมาย โดยซอจังกึมมีตัวตนจริงตามบทบันทึกทางการแพทย์ แต่ไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่านางเป็นแพทย์หญิงคนแรกที่ถวายงานให้กษัตริย์ในรัชสมัยโชซอน

 

 

ไม่แปลกหากอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยมักยกตัวอย่างเกาหลีเป็นกรณีศึกษาอยู่บ่อยครั้ง เพราะเขาเพิ่งเริ่มเกมรุกเมื่อกลางยุค 90s ที่ผ่านมานี้เอง เพียงไม่เกินสามสิบปีก็แซงหน้ากลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงที่ทรงอิทธิพลของโลกไปแล้ว ซึ่งมันเกิดจากการ ‘เดินหน้าไปด้วยกัน’ ของทุกองคาพยพที่พร้อมเข้ามาโอบอุ้มอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่ภาครัฐยันเอกชน อย่าง ‘แดจังกึม’ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อมันได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากสถาบันอาหารชาววังเกาหลี (Institute of Korean Royal Cuisine) ที่เข้ามารับผิดชอบทุกฉากที่มีการทำอาหาร โดยบุคลากรผู้มีความรู้ด้านอาหารชาววังเกาหลี รับหน้าที่เป็นผู้แสดงขั้นตอนการทำอาหารรวมไปถึงการนำเสนอ ทำให้ ‘แดจังกึม’ เป็นหนังที่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณและความยิ่งใหญ่ของอาหารเกาหลีได้เป็นอย่างดี

 

“ความสำเร็จของละครเรื่องนี้กระตุ้นให้คนสนใจวัฒนธรรมอาหารเกาหลีมากขึ้นเยอะ ไม่เฉพาะแค่ในเกาหลีเอง แต่รวมไปถึงชาวต่างชาติที่อยากจะลิ้มลองมันสักครั้ง” ฮันบกเรียว ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารชาววังให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความ Slow Food in Seoul ของนิตยสาร Le Figaro ประเทศฝรั่งเศส

 

ความฮอตของอาหารเกาหลีหลังจากนั้นวัดได้จากการที่ ‘แดจังกึม’ เป็นโปรไฟล์ชั้นดีให้สถาบันอาหารชาววังเกาหลี เปิดคอร์สสำหรับบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้วัฒนธรรมและการทำอาหารชาววังอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนมีผู้เข้าเรียนทั้งคนเกาหลีและชาวต่างชาติ ทุกเพศทุกวัย สมัครอบรมอย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่มูลนิธิอาหารเกาหลีก็ออกหนังสือเผยแพร่ความรู้เรื่องอาหารชาววังพร้อมสูตรอาหารเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า Jewels of the Palace ที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ตีพิมพ์เพื่อต่อยอดความสำเร็จมาจากละคร ‘แดจังกึม’ ในขณะที่รัฐบาลเองก็ซื้อโรงถ่ายละครเรื่องนี้เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีกด้วย

 

 

การต่อยอดโดยอ้างอิงความสำเร็จของ ‘แดจังกึม’ ของรัฐบาลและวงการอาหารเกาหลีเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่ามีการรับช่วงต่อจากความสำเร็จ ในอีกฟากฝั่งอย่างวงการหนังเองก็ไม่ปล่อยให้สิ่งที่ ‘แดจังกึม’ สร้างไว้มลายไปกับสายลม ด้วยการผลิตหนังและซีรีส์เกี่ยวกับอาหาร ตอกย้ำกระแสอาหารเกาหลีจนแทบจะตามดูไม่ครบ และก่อให้เกิดอาชีพใหม่ในวงการหนัง คือ Food Director หรือผู้กำกับอาหาร และแนวหน้าของอาชีพนี้ก็คือ คิมซูจิน ประธานสถาบันอาหารและวัฒนธรรมเกาหลี (Food & Culture Korea) ซึ่งเธอประเดิมบทบาทนี้ในหนังฮิต King and the Clown (2005) และมาถึงจุดสูงสุดคือหนังอาหารร่วมสมัย Le Grand Chef (2007) ที่ว่าด้วยการห้ำหั่นกันของสองเชฟอาหารเกาหลีรุ่นใหม่ เหตุที่มันเป็นจุดสูงสุดด้านอาชีพผู้กำกับอาหารของคิมซูจิน คือมันเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยขายตั๋วไปได้กว่า 3 ล้านใบ จนไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ‘แดจังกึม’ เป็นละครที่สร้างแรงกระเพื่อมให้อาหารชาววังเกาหลี หนัง Le Grand Chef ก็ทำหน้าที่ไม่ต่างกันสำหรับอาหารเกาหลีร่วมสมัย แน่นอนว่ามันเป็นผลงานพิสูจน์ฝีมือการกำกับอาหารของคิมซูจินได้อย่างดี

 

 

ก่อนหน้านี้เราเคยแนะนำอาชีพ food stylist ในหนังฮอลลีวูด ซึ่งตำแหน่งผู้กำกับอาหารในวงการหนังเกาหลีมีความคล้ายคลึงกัน ตรงที่พวกเขากำกับหน้าตาอาหารที่ปรากฏอยู่บนจอ นอกจากนั้นแล้วยังครอบคลุมไปถึงการกำกับนักแสดงที่ต้องปรุงอาหาร ดูแลรายละเอียดทุกเม็ดว่าต้องหยิบจับอะไรแบบไหน ไปจนกระทั่งกำกับสีหน้าท่าทางการกินอาหารให้เป็นธรรมชาติและน่าอร่อยกันเลยทีเดียว

 

คิมซูจินยกตัวอย่างให้เห็นการทำงานในรายละเอียดของผู้กำกับเอาไว้ว่า “เชฟส่วนใหญ่มือจะหยาบ เพราะงั้นมันจะดูปลอมมากถ้าเห็นมือของนักแสดงดูซีดและนุ่มนิ่มเกินไป ดังนั้นก่อนที่จะเข้าฉากเราจะให้นักแสดงแช่มือในน้ำเย็นจัดก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้มือของพวกเขาแดงและดูแข็งกระด้างขึ้นแล้ว ยังทำให้วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารดูสดขึ้นด้วย”

 

 

จะเห็นได้ว่า หลังจากความสำเร็จของ ‘แดจังกึม’ หน่วยงานด้านอาหารและวัฒนธรรมของเกาหลีต่างรับไม้ต่อโดยพร้อมเพรียงกัน ด้วยการต่อยอดในแนวทางของตนเอง และหลายครั้งพวกเขายังร่วมมือกันทำงานด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการเปิดอบรมเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านอาหารในโอกาสต่างๆ เช่น หลักสูตรเร่งรัดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน โดยคิมซูมิน เมื่อปี 2015 และการร่วมกันชำระสูตรอาหารเกาหลี ระหว่าง Institute of Traditional Korean Food กับ สถาบันอาหารและวัฒนธรรมเกาหลี เกิดเป็นหนังสือสูตรอาหาร The Beauty of Korean Food: With 100 Best-Loved Recipes ที่แปลไปแล้ว 5 ภาษา เพื่อหาสูตรกึ่งกลางระหว่างรสชาติดั้งเดิมกับรสชาติสากล

 

‘แดจังกึม’ และการสานต่อความสำเร็จจนเกิดเป็นระเบิดทางวัฒนธรรมการกินในระดับโลกนั้น เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การรุกโลกด้วยวัฒนธรรมความบันเทิงของเกาหลี เกิดจากการร่วมมือกันของหน่วยงานที่หลากหลาย โดยต่างก็มีจุดหมายร่วมกันคือใช้สื่อบันเทิงสร้างชาติ การกำเนิดขึ้นของ ‘แดจังกึม’ จึงไม่ใช่กุศโลบายฉาบฉวยที่หวังเพียงจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้อาหารเท่านั้น แต่มันต้องมาพร้อมความใส่ใจในทุกรายละเอียดร่วมกันเสียก่อน เพราะคงยากจะปฏิเสธว่า ‘แดจังกึม’ ก็คือละครเกาหลีที่สนุกชวนติดตามเรื่องหนึ่ง

 

ฉะนั้น ‘แดจังกึม’ และอาจรวมไปถึง K-Culture อื่นๆ อย่างหนังที่ประสบความสำเร็จระดับโลกหรือแม้กระทั่งวง BLACKPINK จึงไม่ใช่ผลงานของใครคนใดคนหนึ่ง หากมันเกิดจากมือที่มองไม่เห็นอีกมากมาย จนทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือผลผลิตแห่งชาติ และไม่แปลกหากประชาชนจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างภาคภูมิใจ ในผลงานอันเยี่ยมยอดเหล่านี้

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารกับภาพยนตร์, อาหารเกาหลี

Recommended Articles

Food StoryWilly Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต
Willy Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต

ร่วมเดินทางตามหาต้นกำเนิดและเปิดสูตรลับช็อกโกแลตวองก้า

 

Recommended Videos