เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ลิขิตรัก มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย

Story by นคร โพธิ์ไพโรจน์

เมื่อเรียลลิตี้โชว์แข่งขันทำอาหารมีความรักแบ่งบาน จนเลยเถิดไปไกลกว่าการทำอาหารและการเป็น 'เรียลลิตี้'

สัจธรรมอย่างหนึ่งของการทำรายการเรียลลิตี้คือมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการ ‘เขียนบท’ ไม่ว่าจะด้วยการสร้างกติกาเพื่อนำไปสู่ความขัดแย้งน่าติดตาม การเสี้ยมจากทีมงานและกรรมการเพื่อยั่วให้ผู้เข้าแข่งขันปล่อยวรรคทองออกมา ไปจนถึงการเขียนบทในกระบวนการตัดต่อ เพื่อนำฟุตเตจทั้งหมดมาเล่าเรื่องใหม่ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และรายการแข่งขันทำอาหารอย่าง ‘มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย’ ที่เดินทางมาถึงซีซันที่ 3 ซึ่งถ้ารวมกับ ‘มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ประเทศไทย’ เข้าไปด้วย ก็นับว่าทีมงานเดียวกันนี้ผลิตมาแล้วทั้งสิ้น 4 ซีซั่น ความหนักข้อในการเขียนบทก็ทวีความรุนแรงขึ้นด้วย นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็นเพื่อให้มีความแตกต่างจากฤดูกาลที่ผ่านมา ทว่าภายใต้บทจัดจ้านนั้นชวนขบคิดไม่น้อยถึงมายาคติที่รายการกำลังสร้างขึ้น

 

 

การเขียนบทของมาสเตอร์เชฟฯ ส่งผลให้ฤดูกาลใหม่ๆ ได้รับการพูดถึงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจอย่างการสร้างกติกาบีบหัวใจมากกว่าเดิม และโดยไม่ตั้งใจอย่างการสรรหาวัตถุดิบที่ประหลาดยิ่งขึ้น เช่น ปลากระเบน จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง แต่สิ่งที่ทีมงานพยายามเหลือเกินคือการจุดกระแสด้วย ‘เลิฟสตอรี่’

 

แต่ไหนแต่ไรมา รายการเรียลลิตี้มักมี ‘คู่จิ้น’ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ตั้งแต่ Academy Fantasia, The Star มาจน Big Brothers ทว่าไม่มีครั้งไหนที่รายการ ‘ชง’ เสียเอง และชี้นำในระดับที่เข้มข้นเท่ามาสเตอร์เชฟฯ ซีซัน 3 นี้ จุดเริ่มต้นเชิงชู้สาวคงมาจากซีซัน 2 กับคู่ เมี่ยง-กะปอม หลังจากรายการวางบทบาทให้ทั้งคู่เป็นคู่กัดที่แสดงความห่วงใยต่อกันอยู่ห่างๆ ในที่สุดรายการจัดแจงชงอย่างตรงประเด็นในตอนท้ายๆ ที่ทั้งคู่อยู่ในรายการ อย่างไรก็ตาม ระดับการชงของคู่นี้ยังไม่เกินเลยมาตรฐานของคู่จิ้นในรายการต่างๆ ที่ผ่านมานัก จนกระทั่งมาถึง ‘มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ประเทศไทย

 

 

มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ฯ เปรียบเสมือนการจำลองค่ายเยาวชนฤดูร้อนมาไว้ในรายการ นั่นคือการรวมตัวของเด็กอายุไล่เลี่ยกันกลุ่มหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในช่วงเวลาที่มากพอจะทำให้เกิดความสนิทสนม ซึ่งตามธรรมชาติของสังคมเยาวชนเช่นนี้ มักเกิดการ bully ไม่ว่าจะโดยทางตรงและทางอ้อม อาทิ การล้อชื่อพ่อแม่ การเอาปมด้อยของเพื่อนมาล้อเล่น และการสร้างคู่รักขึ้นมากิ๊วก๊าวกันเอง เพื่อหลีกหนีแรงกดดันจากระบบที่ผู้ใหญ่วางไว้ ดังเช่นที่เราเห็นได้จากสังคมในโรงเรียน และเชื่อเหลือเกินว่าระบบกติกาของรายการมาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ฯ เอง ก็ได้สร้างให้เกิดกลไกการ bully ขึ้นเช่นกัน เพียงแต่รายการอาจหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอการล้อเล่นในเชิงลบของเด็กๆ เพื่อป้องกันแรงเสียดทานจากสังคมแล้วขั้นหนึ่ง คงเหลือไว้เพียงการจับคู่จิ้นของผู้เข้าแข่งขัน ที่อาจมองเป็นความน่ารักของเด็กๆ และเหมือนจะน่าเอ็นดูมากขึ้นหากกรรมการกระโจนเข้าไปเล่นด้วย

 

มาร์คกับกอหญ้าเป็นผู้เข้าแข่งขันที่อายุต่างกันเพียง 3 ปี ทว่าในวัยเจริญเติบโตมันก็มากพอที่จะทำให้เห็นความแตกต่างทางกายภาพ จนเป็นภาพแทนของพี่ชายกับน้องสาว ที่มอบความรู้สึกพิเศษให้แก่กัน มันอาจเป็นมิตรภาพดีๆ แบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในรายการธรรมดา หากว่าเพื่อนๆ ไม่ชี้เป้าว่าทั้งคู่นั้น ‘รักกัน’ ซึ่งในความรู้สึกของทั้งคู่อาจไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่มันก็สนุกสำหรับทุกคนมิใช่หรือที่เวลาแซวแล้วทั้งคู่ออกอาการอย่างชัดเจน เลยเป็นการเปิดทางให้รายการและกรรมการ ‘ขยี้’ กระทั่งคนดูก็สนุกไปด้วย

 

 

เมื่อความสนุกกันเองในรายการส่งผ่านสื่อสาธารณะ จนเข้าถึงการรับรู้ของคนดูนับล้าน ทำให้รายการพลิกไปเป็นหนังรักเรื่องใหม่ที่มีพระเอก นางเอก และเพื่อนๆ คอยสนับสนุนอย่างใกล้ชิด เส้นเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้นจากการ ‘เขียนบท’ ของรายการ เพราะท่ามกลางเส้นเรื่องนับสิบจากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ย่อมมีการคัดสรรแล้วว่ารายการจะเลือกเดินทางไหน โดยหารู้ไม่ว่ามันเสี่ยงไม่น้อย เพราะด้วยปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้จากผู้ชม มันอาจสร้างความปั่นป่วนทางความรู้สึกกับเด็กที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต และแน่นอนว่ามันจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ทางสังคมของเด็กอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

 

 

รูปแบบรายการมาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ฯ คือความท้าทายอย่างยิ่ง ด้วยการเอาความสนใจด้านอาหารของเด็กมาเดิมพัน เพื่อจะสื่อสารไปถึงเด็กที่ดูอยู่ทางบ้านให้เดินทางตามความฝันของตัวเองต่อไป มันอาจเป็นวาทกรรมที่งดงามทว่ามันก็อันตรายไม่น้อย เมื่อวางเด็กมาอยู่ในเกมที่เดิมทีออกแบบมาให้ผู้ใหญ่เล่น และอยู่ภายใต้ ‘บท’ ซึ่งถูกเขียนขึ้นเพื่อสนองความบันเทิงของ ‘ผู้ใหญ่’

 

จากความสำเร็จของรายการในการสร้างพระนางหนังรักคู่ใหม่ขึ้น ดูเหมือนทีมงานเริ่มเห็นแนวทางความนิยม จึงพัฒนาต่อกลายเป็นหนังรักอีกเรื่องในรายการเวอร์ชั่นผู้ใหญ่ซีซั่น 3 ซึ่งหากพิจารณาจากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดในซีซั่นนี้แล้วจะเห็นว่ามีความหลากหลายทางเพศสูงกว่าที่ผ่านมา ทว่ารายการกลับทำให้ความหลากหลายนั้นอยู่ภายใต้มิติชายเป็นใหญ่เพียงอย่างเดียว ผ่านการสร้างเลิฟสตอรี่เรื่องใหม่ขึ้นมานั่นเอง

 

หากมาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ฯ จะเปรียบได้กับหนังรักที่ซื่อตรงไร้เดียงสา ในมาสเตอร์เชฟฯ 3 นี้กลายเป็นหนังรักที่มีตัวละครมาพัวพันมากมาย โดยมีศูนย์กลางเป็นสาวสวยอย่างเป่าเป้ ที่ก็อยู่เฉยๆ ของเธอ แต่จู่ๆ ก็มีผู้ชายมาโอบอุ้มอย่างต่อเนื่องหลายอีพีติดต่อกัน

 

ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดกับเป่าเป้จะมาจากความตั้งใจของผู้เข้าแข่งขันหรือไม่ แต่รายการช่วงชิงจังหวะนี้ในการสร้างสถานการณ์รักซับซ้อน อันเป็นเหตุจากความสวยของเธอเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ชายในรายการต้องทำคะแนนกันเอง สร้างพล็อตรองอย่างการเขม่นกันระหว่างเป่าเป้และ เตย ซึ่งเป็นคนสวยอีกคนแต่ไม่ได้รับการประคองจากผู้ชายได้เทียบเท่า ผ่านการชงของกรรมการที่อาจเกิดจากการบรีฟของโปรดิวเซอร์หรือไม่ก็ได้ แต่เห็นได้ชัดว่า ‘จงใจ’ เสี้ยมให้เป็นประเด็น เช่นการถามเตยว่ารู้สึกยังไงที่ไม่ได้รับโอกาสอย่างที่เป่าเป้ได้รับ นั่นช่วยไม่ได้เพราะกรรมการได้รับการว่าจ้างมาเป็นตัวแทนของทีมงาน เพื่อพาสคริปท์รายการไปตามทิศทางที่วางไว้ นอกเหนือไปจากการตัดสินและให้ความรู้ตามครรลองของรายการแข่งขันทำอาหาร

 

 

จะเห็นว่ารายการใช้ประโยชน์จากความสวยของเป่าเป้ เพื่อปูทางไปสู่สงครามในหลายอีพี และนั่นทำให้ผู้เข้าแข่งขันที่ไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในสตอรี่เชิดชูความเป็นชาย ถูกปัดให้กลายเป็นตัวตลกและตัวประกอบแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงคนอื่นๆ นอกเหนือจากเป่าเป้กับเตย และเกย์กะเทยที่อยู่ในรายการ

 

เชื่อว่าทีมงานคงไม่ตั้งใจที่จะให้มาสเตอร์เชฟฯ 3 มีท่าทีอย่างที่เป็น แต่มันคือผลพวงจากความพยายามสร้างหนังรักเรื่องใหม่อย่างเอาเป็นเอาตาย เลยเผลอผลิตซ้ำความเป็นชายที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่ทันระวัง

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารกับภาพยนตร์

Recommended Articles

Food StoryWilly Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต
Willy Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต

ร่วมเดินทางตามหาต้นกำเนิดและเปิดสูตรลับช็อกโกแลตวองก้า