เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ฮาวทูปลูกผักจิ๋วกินเองช่วงกักตัว

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

ไมโครกรีน ต้นกล้าพืชผักจิ๋วแต่แจ๋ว ปลูกแล้วเก็บกินได้ภายใน 7-10 วัน

เข้าสู่ช่วงกักตัวกันมาระยะหนึ่งแล้ว เราได้เห็นหลายคนลุกขึ้นมาทำอาหาร ออกกำลังกาย เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพื่ออัปสกิลติดตัว หรือจุดประสงค์เพียงเพื่อให้เวลาผ่านไปแบบกระชุ่มกระชวยหัวใจเพราะมีอะไรให้ชีวิตได้แอคทีฟกันบ้าง ‘ปลูกผักจิ๋วกินเอง’ ก็เป็นอีกสิ่งที่เราอยากแนะนำ และแน่นอนขึ้นชื่อว่าจิ๋วจึงเป็นผักที่ใช้พื้นที่ปลูกน้อย ให้การบำรุงดูแลในสเกลเล็กตามชื่อ อยู่หอ อยู่คอนโด หรือบ้านพื้นที่จำกัดก็ปลูกได้ แถมยังเป็นผักที่ปลูกง่ายแบบคนไร้เบสิกทำสวนครัวก็ยังรอด

 

 

ผักจิ๋วไมโครกรีน (Microgreens)

 

นอกจากผักงอก หรือต้นอ่อนที่เพาะงอกจากเมล็ดพันธุ์อย่างถั่วประเภทต่างๆ โดยใช้เวลาไม่นานในการเก็บเกี่ยวเพียง 4-7 วัน อย่างถั่วงอกถั่วเขียวที่เรารู้จักและเป็นผักที่ตรวจพบสารตกค้างอยู่มากจึงเป็นทางเลือกที่ดีหากเราปลูกกินเองได้ สำหรับคนเบื่อถั่วงอกและต้องการความหลากหลาย ผักจิ๋วไมโครกรีน (Microgreens) นี้น่าจะตอบโจทย์ ต้นอ่อนต้นกล้าของพืชผักชนิดต่างๆ ที่เพาะแล้วเก็บมากินโดยใช้เวลาเพียง 7-10 วัน ก่อนที่เจ้าต้นกล้าจิ๋วหลิวที่แตกใบ 2-3 ใบ และสูงประมาณ 1-2 นิ้ว จะกลายเป็นต้นกล้าเต็มวัยพร้อมเติบโตเป็นต้นใหญ่ เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนคะน้า ต้นอ่อนผักบุ้ง ต้นอ่อนกะหล่ำปลี ผักโขม บรอกโคลี หรือแม้แต่ผักพื้นบ้านไทยๆ อย่างโสน ผักขี้หูดก็ปลูกและเก็บกินเป็นต้นอ่อนได้เช่นกัน และอีกประเภทที่จำง่ายๆ คือไม่ว่าผักผลไม้ชนิดใดที่เรากินเมล็ดของมันก็นำมาปลูกกินต้นอ่อนได้ เช่น ฟักทอง แตงโม กระถิน ฯลฯ

 

 

ด้วยความที่เป็นต้นอ่อนจึงมีเทกเจอร์กรอบ กินได้ทั้งต้น รสชาติหลากหลายตามแต่ละชนิด กินสดเป็นสลัดหรือกินแนมน้ำพริกอย่างไทยๆ ก็อร่อย จะปรุงเมนูผัดน้ำมันหอยหรือเจียวใส่ไข่ก็สุดแท้แต่จะครีเอทกันเลย ส่วนเรื่องประโยชน์นั้นเรียกว่าโตเกินตัว เพราะผักจิ๋วเหล่านี้อุดมไปด้วยกลุ่มวิตามินเค วิตามินซี วิตามินอี สารลูทีนในกลุ่มเบต้า-แคโรทีน และสารแอนตี้ออกซิแด๊นท์ เป็นต้น นอกจากอุดมด้วยสารอาหาร ดูแลง่าย ใช้พื้นที่น้อยและระยะเวลาเก็บกินไม่นาน สีสันที่สวยงามของเหล่าต้นอ่อนที่มีทั้งสีเขียวอ่อน เขียวแก่ แดง หรือแดงระเรื่อยเจือเขียว ยังไม่เพียงตกแต่งจานอาหารให้สวยงามน่ากินอย่างที่บรรดาร้านอาหารมักหยิบมาใช้ หากหาภาชนะน่ารักๆ มาเพาะและวางผักจิ๋วไว้ริมหน้าต่างห้องที่แสงแดดสาดส่องก็ช่วยสร้างบรรยากาศสดชื่น และเป็นบรรยากาศที่เก็บมากินได้ด้วย

 

 

มาเริ่มสร้างบรรยากาศที่เก็บกินได้กันดีกว่าค่ะ

 

วิธีปลูกผักจิ๋วไมโครกรีน (Microgreens)

 

1. เตรียมภาชนะเพาะ ใช้กล่องพลาสติก กล่องกระดาษ ถ้วยกระดาษรีไซเคิลทำเป็นถาด หรือจะใช้ตะกร้าสานน่ารักๆ ก็ได้

 

2. เตรียมดิน ใช้ดินร่วนถุงนำมาร่อนเอาเศษไม้และขุยอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นออก หากใช้ดินธรรมดาให้เตรียมดินโดยผสมขุยมะพร้าวและปุ๋ยหมักลงไป หรือจะใช้ส่วนผสมขุยมะพร้าว 2 ส่วน ผสมกับขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วนแล้วนำไปร่อนขุยส่วนเกินออกก็นำมาเพาะได้ดีเหมือนกัน

 

3. ใช้กาบมะพร้าวหั่นชิ้นเล็กรองก้นภาชนะ ให้สูงขึ้นมาราว 1 นิ้ว ตามด้วยดินที่เตรียมไว้ เกลี่ยให้หน้าดินเรียบเสมอกันแต่ไม่กดแน่นจนเกินไป

 

4. นำเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการปลูกแช่น้ำไว้ตอนกลางคืนราว 6 – 8 ชั่วโมง คัดเมล็ดที่ลอยน้ำทิ้งไป (เว้นแต่เมล็ดทานตะวันที่จะลอยน้ำทุกเมล็ด) นำเมล็ดที่จมมาหว่านให้เต็มภาชนะ แต่อย่าให้เมล็ดทับถมหรือซ้อนกัน นำดินกลบเมล็ดพันธุ์อีกครั้งบางๆ แล้วฉีดด้วยฟอกกี้จนชุ่ม ปิดด้วยพลาสติกใส วางไว้ในที่ที่แสงแดดส่องถึง

 

 

5. สังเกตอย่าให้ดินแห้ง หมั่นรดน้ำอยู่เสมอๆ วันละครั้งหรือสองครั้ง พอเห็นต้นอ่อนเริ่มงอกค่อยนำพลาสติกออก ครบ 7-10 วันเมื่อต้นอ่อนแตกใบสัก 2-3 ใบ ก็เก็บกินได้แล้ว

 

หมายเหตุ

 

     

  • บ้านที่มีพื้นดิน พื้นที่สำหรับเพาะปลูกอยู่แล้วแค่พรวนดิน เกลี่ยหน้าดินให้เรียบ แล้วนำเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำเตรียมไว้แล้วมาหว่านให้ทั่วแต่อย่าให้ทับกัน โรยดินปิดทับบางๆ อีกรอบ รดน้ำให้ชุ่มเป็นอันใช้ได้
  •  

  • สามารถหาซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ทางเว็บไซต์ เพจขายเมล็ดพันธุ์ หรือกลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน
  •  

Share this content

Contributor

Tags:

sustainable food, เมนูผัก

Recommended Articles

Food Storyจะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?
จะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?

 

 

Recommended Videos