เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

เช็กลิสต์! กินอยู่อย่างยั่งยืนง่ายๆ สไตล์คนเมือง

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

กินอยู่อย่างยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด แค่ปรับพฤติกรรมนิดเดียวก็ช่วยทั้งโลกทั้งตัวเราได้แล้ว

‘Sustainable Living’ ‘Sustainable Eating’ ‘อยู่อย่างยั่งยืน’ ‘กินอย่างยั่งยืน’ อะไรก็ไม่รู้ ฟังดูวิชาการยากแก่การทำความเข้าใจจังเลย ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังคิดแบบนี้ มาค่ะ มาที่บทความนี้เลย เพราะจะได้เปลี่ยนมุมมองความคิดว่าที่จริงแล้ววิถีชิวิตแบบยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากหรือปฏิบัติยากอะไรเลย และก็ไม่ใช่เรื่องสำหรับเกษตรกรหรือคนที่ปลีกวิเวกหนีเมืองไปใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายใดๆ หากเป็นวิถีที่เราทุกคนทำได้ และเป็นสิ่งที่ควรต้องทำกันด้วยเพราะกว่าจะมาถึงบทความนี้ ทุกคนคงได้รับรู้ความสำคัญของการที่ทำไมเราจึงต้องอยู่และกินอย่างยั่งยืนกันแล้ว (อ่านบทความ รู้จักการกินอย่างยั่งยืนก่อนอาหารจะหมดโลก)

 

ตอนนี้ถึงเวลามาลงภาคปฏิบัติกันค่ะว่าคนหนึ่งคนที่ใช้ชีวิตตามประสาคนเมือง ทำงานประจำ เช้าไปทำงาน เย็นกลับบ้าน วันหยุดออกไปเที่ยว จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยโลก ช่วยสิ่งแวดล้อม ช่วยสัตว์ และสุดท้ายคือช่วยตัวเราเองให้มีชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีทรัพยากรโลกให้ใช้ ให้อยู่ ให้กินไปอีกนานๆ  ได้อย่างไรกันบ้าง คว้าปากกามาเช็กลิสต์ตามนี้เลย

 

 

พกปิ่นโต/ แก้วน้ำ/ หลอดโลหะ/ ถุงผ้า

 

พลาสติกใช้เวลาย่อยสลายในธรรมชาตินานถึง 450 ปี แล้วยังเป็นภัยร้ายแรงต่อโลก ตั้งแต่การปนเปื้อนของสารตกค้างในดินและน้ำ ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน อันตรายต่อสัตว์อย่างที่เราเห็นในข่าวบ่อยๆ ทั้งหลอดพลาสติกที่เสียบอยู่ในรูจมูกเต่า หรือปลากินพลาสติกเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร ฉะนั้น เราทุกคนจึงควรเซย์โน ไม่รับถุงพลาสติก ไม่ใช้หลอดพลาสติก ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์พลาสติก ทำได้ง่ายๆ ด้วยการพกปิ่นโต แก้วน้ำ หลอดโลหะ และถุงผ้าติดตัวให้เป็นนิสัย

 

 

เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ/ ปั่นจักรยาน/ เดิน

 

การเผาไหม้เชื้อเพลิงสำหรับพลังงานไฟฟ้าและการขนส่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลให้โลกร้อน แทนที่จะขับรถยนต์คนละคัน ลองใช้วิธีคันเดียวทางเดียวกันไปด้วยกัน หรือพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ ถ้าไปไหนไม่ไกลนักจะใช้วิธีปั่นจักรยานหรือเดินแทนซ้อนพี่วินได้ก็ยิ่งดี เพราะนอกจากอัตราการปล่อยก๊าซจะเท่ากับศูนย์แล้ว สุขภาพร่างกายของเราก็จะแข็งแรงขึ้นด้วย

 

 

ปลูกผักสวนครัวในบ้าน

 

พื้นที่สีเขียวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อน การปลูกผักบนดาดฟ้าหรือหลังคายังช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคารได้ ซึ่งแปลว่าเราจะลดการใช้พลังงานด้วยการเปิดเครื่องปรับอากาศน้อยลงหรืออย่างน้อยๆ ถ้าไปไม่ถึงขั้นนั้น การปลูกผักบางชนิดไว้กินเองก็ทำให้เราไม่ต้องซื้อผัก ทำให้ลดระยะทางในการขนส่งผักและลดพลังงานในการเก็บรักษา ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน

 

 

ศึกษาที่มาที่ไปของอาหาร

 

อาหารในระบบอุตสาหกรรมไม่ว่าจะฟาร์มปศุสัตว์หรือกสิกรรมล้วนส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศ ก่อให้เกิดมลพิษมหาศาล รวมถึงสารเคมีตกค้าง ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยที่เป็นอันตราย การเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ไร้สารอันตราย เป็นผลิตผลจากเกษตรกรกลุ่มย่อย ประมงพื้นบ้าน ฟาร์มอินทรีย์ ที่ไม่ทำร้ายทำลายสภาพแวดล้อมจึงช่วยทั้งโลกและสุขภาพของตัวเราเอง

 

 

ชอปปิ้งที่ตลาดโลคอล/ ตลาดอินทรีย์

 

การอุดหนุนผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่อยู่ไม่ห่างไกลจากที่พักอาศัยของเรา ช่วยลดพลังงานในการขนส่ง จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเลือกซื้อวัตถุดิบที่มาจากกระบวนการตามธรรมชาติก็ช่วยลดมลพิษและการตกค้างของสารอันตรายต่างๆ ที่จะปนเปื้อนในผืนดินและน้ำ แทนที่จะกินผักผลไม้อิมพอร์ตที่ต้องขนส่งกันมาไกลข้ามประเทศหรือข้ามซีกโลก ลองเปิดใจให้ผักพื้นบ้านและผลไม้ไทยๆ รอบตัว นอกจากช่วยโลกแล้ว ยังช่วยรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์ผักผลไม้พื้นเมืองอีกด้วย 

 

 

กินผักผลไม้ตามฤดูกาล

 

ข้อดีของการกินผักผลไม้ตามฤดูกาล นอกจากราคาไม่แพง เนื่องจากออกดอกออกผลเต็มพรืดไปหมด เดินไปทางไหนก็เจอ แล้วยังมีโอกาสปลอดจากสารเคมีสูงเพราะไม่ต้องใช้สารเร่ง บังคับให้ออกดอกผลนอกฤดู รวมถึงไม่ต้องใช้สารอันตรายในการคงความสดใหม่กว่าจะมาถึงผู้บริโภค ซึ่งหมายความว่าเราได้ช่วยให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยลง แถมรสชาติยังอร่อยเพราะเป็นช่วงที่ผักผลไม้มีคุณภาพดีที่สุดตามวงจรของธรรมชาติ

 

 

ลดเนื้อสัตว์ กินผักผลไม้มากขึ้น

 

ฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม มูลสัตว์ปริมาณมากทำให้เกิดมลพิษ อาหารสัตว์ก็มาจากการเพาะปลูกที่ใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อให้มลพิษทั้งในน้ำ ดิน อากาศ รวมทั้งเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำทุ่งเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์คือการช่วยตัดวงจรเหล่านี้

 

 

ซื้ออาหารป้ายเหลือง

 

กระบวนการผลิตอาหารทั้งสิ้นเปลืองพลังงานและทำร้ายโลกไม่พอ การกำจัดอาหารที่ถูกทิ้งยังซ้ำเติมโลกหนักเข้าไปอีก เพราะส่วนใหญ่จะถูกนำไปฝังกลบซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันลดการทิ้งอาหาร ด้วยการหันมามองอาหารป้ายเหลือง หรืออาหารลดราคาที่ถูกนำมาขายถูกๆ เพียงเพราะมันใกล้หมดอายุ ซึ่งมันแค่ ‘ใกล้’ ไง มันยังไม่หมด เรายังกินได้ นอกจากราคาจะถูกมากแล้ว ยังช่วยให้อาหารเหล่านี้ไม่ต้องไปจบที่ถังขยะและการกลบฝัง

 

 

บริหารจัดการขยะและเรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์

 

ความยั่งยืนในอุดมคติแบบ Zero Waste คือขยะเป็นศูนย์ หมายถึงเราใช้ประโยชน์จากทุกส่วนได้ทั้งหมดแบบไม่มีส่วนไหนต้องกลายเป็นขยะ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ อาหาร หรือบรรจุภัณฑ์ ทำได้ง่ายๆ เพียงกินอาหารให้หมดอย่าเหลือทิ้ง แยกขยะอย่างถูกต้อง ส่วนไหนรีไซเคิลได้ก็ทิ้งให้ถูกถัง ส่วนไหนทำอะไรไม่ได้จริงๆ ต้องทิ้งเป็นขยะสด จะลองศึกษาเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ก็มีสอนมากมาย แค่มีถังหมักไว้ที่บ้าน คัดแยกขยะให้ถูกต้อง เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาขยะล้นโลกได้แล้ว

Share this content

Contributor

Tags:

sustainable food

Recommended Articles

Food Storyจะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?
จะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?