เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

cooking post

Fruit Jelly Cake หวานนี้เพื่อสุขภาพ

Story by ณวรา เปลี่ยนบุญเลิศ

เคล็ดลับทำเจลลีผลไม้สีสันสดใส เปรี้ยวหวานสดชื่นจากผลไม้สด อร่อยได้ไม่ทำลายสุขภาพ

ทำไมเวลามีปาร์ตี้วันเกิด เราจะนึกถึงแต่เค้กปอนด์ครีมเยอะๆ เนยเยอะๆ หรือช็อกโกแลตเยิ้มๆ ทำไมเราไม่กินผลไม้เป็นถาดๆ ทั้งที่กินเป็นของหวานล้างปากได้เหมือนกันนะ หรือคิดว่ากินผลไม้มันดู old fashion ไปหน่อย หรือไม่ก็ไม่อยู่ในรูปลักษณ์ที่เก๋ไก๋สักเท่าไร

 

 

 

 

ในช่วงกุมภาพันธ์ที่มีผลไม้ทั้งในและนอกประเทศขายอยู่ละลานตา วันนี้เราลองเอาผลไม้เหล่านั้นมาทำเป็น Fruit Jelly Cake ให้ดูว่าของดีต่อสุขภาพอย่าง ‘ผลไม้’ เอามาทำเป็นเค้กได้สวยงามได้เหมือนกันนะ ที่สำคัญขึ้นโต๊ะเสิร์ฟในงานปาร์ตี้ได้อย่างไม่น้อยหน้าเค้กนมเนยเลยทีเดียว

 

 

 

 

ส่วนผสมไม่กี่อย่าง อุปกรณ์ไม่เยอะ เตาอบรึก็ไม่ง้อ

 

 

 

 

เอาง่ายๆ เลยทำเค้กสักก้อนต้องมีอย่างน้อย 4 อย่างคือ แป้ง ไข่ เนย น้ำตาล ไหนจะผงฟู ผงโกโก้ กว่าจะกลายเป็นเค้ก ผนวกกับฝีมือและความช่ำชองของแต่ละคนอีกแล้วล่ะก็ เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จอาจจะมีน้อยลงไปอีก ไหนจะอุปกรณ์ยิบๆ ย่อยๆ ในการทำเค้ก รวมไปถึงเตาอบเจ้าปัญหาของมือใหม่หลายๆ คน เป็นอันพับโปรเจกต์เค้กกันไปก่อน

 

 

 

 

มาที่ Fruit Jelly Cake ของเรา ขอแค่วัตถุดิบ 3 อย่างนี้ คือ 1.ผลไม้ที่ชอบ 2.น้ำผลไม้รสโปรด 3.เจลาตินแผ่นหรือผงก็ได้ ส่วนฝีมือน่ะเหรอ ไม่ต้องใช้อะไรมากไปกว่าการหั่นผลไม้ให้ได้ ละลายเจลาตินให้เป็นโดยใช้สัดส่วนน้ำกับเจลาตินให้ถูกต้อง แค่นี้เจลลีก็เซตตัวสวยงามแล้ว (สูตรนี้ผู้เขียนแอบเพิ่มชั้นเจลลีครีมเข้าไปเพื่อตัดรสกับผลไม้นิดหน่อย ถ้าใครอยากกินเจลลีผลไม้ล้วนๆ ก็ไม่ต้องใส่นะคะ)

 

 

 

 

 

 

 

 

ผลไม้และน้ำผลไม้สำหรับทำเจลลี

 

 

 

 

เลือกใช้ผลไม้เนื้อนุ่มใกล้เคียงกันเช่นผลไม้ตระกูลเบอร์รี องุ่น แก้วมังกร ส้ม หากมีเม็ดให้คว้านเอาเม็ดออก หั่นชิ้นให้พอดีคำพร้อมกินได้เลย ไม่ควรใช้ผลไม้เนื้อกรอบอย่างแอปเปิล ฝรั่ง มาปะปน เพราะเวลากินแล้วไม่กลมกลืนนุ่มนวลไปกับผลไม้อย่างอื่น อ้อ! มีข้อชวนให้ระวังในการใช้ผลไม้ นอกจากต้องล้างให้สะอาด ซับน้ำให้แห้งสนิทแล้ว การใช้ผลไม้ที่มีน้ำเยอะ เช่น สับปะรด ส้ม กีวี ถ้าใส่ปริมาณมาก น้ำในผลไม้จะออกมาทำให้เจลลีไม่เซตตัวเท่าที่ควร

 

 

 

 

เคล็ดไม่ลับขนมอร่อยจาก ‘เจลาติน’

 

 

 

 

เจลาติน VS ผงวุ้น

 

 

 

 

ข้อแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่า ‘เจลาติน’ กับ ’ผงวุ้น’ ต่างกันอย่างไร เพราะเป็นวัตถุดิบที่ทำให้น้ำเซตตัวเป็นของแข็งเหมือนกัน อธิบายให้ชัด คือวุ้นสกัดมาจากสาหร่าย จะเซตตัวแบบเนื้อแข็งๆ หน่อย ถ้าใส่มากจะค่อนไปทางกรอบ สัมผัสเหมือนเวลาที่เรากัดวุ้นกะทิหรือวุ้นเป็ดนั่นแหละ ส่วนเจลาติน สกัดมาจากคอลลาเจนในกระดูกสัตว์ ให้การเซตตัวแบบเหนียวๆ หยุ่นๆ เหมือนเวลาเราตักเจลลี ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองอย่างถ้าใส่มากไปก็จะแน่นแข็ง เกินคำว่าอร่อยค่ะ

 

 

 

 

ทีนี้เวลาเราเสิร์ชดู Jelly cake มันก็จะมีทั้งเค้กที่ทำจากวุ้นและจากเจลาตินจริงๆ แล้วเลือกได้ตามความชอบเลยค่ะ แต่ส่วนตัวผู้เขียนชอบการเซตตัวแบบเจลลีหยุ่นๆ มากกว่า จึงเลือกใช้เจลาตินค่ะ เพราะคิดว่าวุ้นน่าจะเหมาะกับพวกเค้กวุ้น 3 มิติที่มีลวดลายละเอียดๆ มากกว่า

 

 

 

 

เจลาตินแผ่นใช้อย่างไร

 

 

 

 

ผู้เขียนเลือกเจลาตินแผ่น เพราะใช้ง่ายกว่าแบบผง คือนำแผ่นเจลาตินแช่ในน้ำเย็นจัดจนนิ่มและขยายตัวเป็นสองเท่า ที่ต้องใช้น้ำเย็นจัด เพราะเจลาตินแผ่นคุณสมบัติคือไม่ละลายในน้ำเย็น (แต่ละลายในน้ำร้อนหรือน้ำอุณหภูมิห้อง) ความเย็นนี่เองจะช่วยให้เจลาตินยังเกาะกันเป็นแผ่นในขณะที่ก็ดูดน้ำเข้าไปในแผ่น ส่วนถ้าเป็นเจลาตินแบบผงจะกลับกันนิดหน่อยคือต้องผสมกับน้ำอุ่นเล็กน้อยเพื่อให้พองตัว

 

 

 

 

 

 

 

 

เจลาตินชนิดแผ่นที่ขายทั่วไปมี 2 ขนาด แผ่นใหญ่กับแผ่นเล็ก โดยมากคนทำเบเกอรีที่ใช้บ่อยๆ จะชอบใช้แผ่นใหญ่มากกว่า แต่ถ้าตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายสำหรับ home use มักขายแต่แผ่นเล็ก ซึ่งมีขนาดครึ่งหนึ่งของแผ่นใหญ่ เท่าที่ผู้เขียนเคยทดลองใช้ พบว่ากำลังการเซตตัวของ 1 แผ่นเล็กจะมากกว่าครึ่งแผ่นใหญ่ ทั้งที่ขนาดเท่ากัน ไม่แน่ใจว่าเป็นจากวิธีการผลิตหรือไม่ ดังนั้นถ้าใครจะใช้เจลาตินแผ่นเล็กให้ x 2 จากในสูตร แล้วลดทอนอีกเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เจลลีแข็งจนเกินไป

 

 

 

 

เมื่อแช่เจลาตินจนอิ่มตัวเต็มที่แล้ว สังเกตขอบแผ่นเจลาตินไม่หงิกๆ งอๆ สงเจลาตินขึ้นจากน้ำแล้วบีบน้ำส่วนเกินออกเบาๆ หย่อนเจลาตินลงในของเหลวที่ตั้งไฟให้ร้อน คนพอให้เจลาตินละลายหายวับไปกับตาก็ปิดไฟได้เลย เราจะไม่เคี่ยวเจลาตินจนเดือดพล่าน เนื่องจากประสิทธิภาพของเจลาตินจะลดลงถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 100 องศาเซลเซียส

 

 

 

 

 

 

 

 

สัดส่วนการใช้เจลาตินต่อของเหลวแต่ละประเภทไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของเหลวนั้น เช่น ถ้าเป็นไขมันอย่างนมหรือวิปปิ้งครีม 1 ถ้วย จะใช้ปริมาณเจลาตินน้อยกว่าของเหลวที่เป็นน้ำหรือน้ำผลไม้ 1 ถ้วย นอกจากนั้นยังขึ้นกับความแข็งของเจลลีที่แต่ละคนชอบอีกด้วย

 

 

 

 

ถอดพิมพ์เจลลีอย่างไรให้ง่าย

 

 

 

 

เมื่อแช่จนเจลลีเซตตัวดีแล้ว ซึ่งระยะเวลาขึ้นกับขนาดของเจลลีค่ะ ลองใช้นิ้วกดแล้วเจลลีไม่ติดมือออกมา ทีนี้ก็ถึงเวลาคว่ำออกจากพิมพ์ นอกจากการทาน้ำมันพืชบางๆ ด้านในพิมพ์ (ต้องเป็นน้ำมันที่ไม่มีกลิ่น) เพื่อให้เจลลีร่อนออกจากพิมพ์ได้ง่ายแล้ว ก่อนที่เราจะคว่ำเจลลีออกมาให้ นำออกจากตู้เย็นมาแช่น้ำอุ่นประมาณ 10 วินาที น้ำต้องท่วมถึงระดับเดียวกับเจลลีเพื่อให้มั่นใจว่าผิวเจลลีทุกส่วนสัมผัสความร้อนจริงๆ เสร็จแล้วยกออกจากน้ำอุ่น หาจานหรือฐานรองเค้กประกบกับพิมพ์ แล้วคว่ำเจลลีออกมา ถ้าใครแช่น้ำอุ่นนานไปขั้นตอนนี้จะมีน้ำเจลลีละลายออกมาด้วยนิดหน่อยก็ไม่เป็นไรค่ะ แค่เช็ดออกให้เรียบร้อย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เราบอกเคล็ดไม่ลับของ Fruit jelly cake คนงามไปจนหมดไส้หมดพุงแล้ว ทีนี้ก็แล้วแต่ทุกคนแล้วค่ะ ว่าจะเลือกปาร์ตี้อย่างเฮลธ์ตี้ด้วยเจลลีผลไม้ก้อนโตแบบนี้ไหม นอกจากเป็นการลดการกิน daily productแบบพร่ำเพรื่อแล้ว ยังทำให้เรากินผลไม้ได้เยอะแบบเพลินๆ ไม่รู้ตัวอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

คลิกดูสูตร Fruit jelly cake

Share this content

Contributor

Tags:

เจลลี่, เจลลีผลไม้