เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

กินอย่างไรให้หายร้อน

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

เชื่อไหมว่าอาหารก็เป็นส่วนหนึ่่งที่ทำให้เรารู้สึกร้อนและไม่สบายตัวขึ้นมาได้ และแน่นอนว่าอาหารก็สามารถช่วยคลายร้อนได้เหมือนกัน เพียงแค่เลือกกินอาหารให้ถูกวิธีก็จะต่อสู้กับอากาศร้อนของเดือนเมษายนอย่างนี้ได้แบบไม่ยากเลย

ตัวก็ร้อน หัวก็ร้อน ใจก็ร้อน! แหม่ จะไม่ร้อนอย่างไรไหว ในเมื่อเปิดโทรทัศน์ทีไรก็มีแต่เรื่องร้อนๆ เปิดดูข่าวแล้วอุณหภูมิการเมืองและเรื่องสังคมก็ระอุ เปิดดูรายงานสภาพอากาศ อุณหภูมินอกห้องก็แสนอบอ้าว ยิ่งต้องกดรีโมทแอร์กันรัวๆ แถมยังจะร้อนยิ่งกว่าร้อนก็ตอนที่เห็นบิลค่าไฟฟ้าแต่ละเดือน เรียกได้ว่าเงินในบัญชีก็แทบละลายหายไปกับเปลวแดดด้วยเหมือนกัน เห็นทีจะต้องหนีปัญหาร้อนๆ จากหน้าจอไปเข้าครัวกันเสียที

 

เนิ่นนานมาแล้วก่อนที่ประเทศไทยจะคุ้นเคยกับเครื่องปรับอากาศ บรรพบุรุษของไทยคนเมืองร้อนอย่างเราๆ ก็หาทางอยู่กับสภาพอากาศแบบเตาอบจำลองมาได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ไปจนถึงเรื่องอาหารการกินที่ดับร้อนได้อย่างไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ ว่าแล้วก็ลองมาย้อนตำรากันดูสักหน่อย ว่าจะกินกันอย่างไรให้หายร้อน กินอย่างไรให้ไม่เกรี้ยวกราดใส่รีโมทแอร์พร่ำเพรื่อ รับรองว่าได้ผลจนค่าไฟฟ้าลดลงให้เย็นใจ (ส่วนแก้หัวร้อนทำอย่างไรยังนึกไม่ตก ใครมีคำตอบดีๆ ช่วยมาแบ่งปันกันที)

 

ยิ่งกินยิ่งร้อน

 

 

อาหารมื้อหนัก

 

ระบบย่อยอาหารเป็นระบบที่ร่างกายต้องใช้พลังงานไม่น้อย ยิ่งกับการกินอาหารมื้อหนักๆ เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ยิ่งทำให้ระบบย่อยอาหารต้องทำงานหนัก อุณหภูมิของร่างกายก็จะสูงขึ้น ทำให้รู้สึกร้อนมากกว่าเดิม หากเลือกได้ลองเลือกอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงของทอดและอาหารมื้อใหญ่ หรือจะแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ แล้วกินบ่อยๆ ก็ช่วยคลายร้อนได้

 

 

น้ำเย็นจัด

 

แน่นอนว่าการได้กินน้ำเย็นๆ ย่อมทำให้รู้สึกชื่นใจหายร้อน แต่เป็นการหายร้อนแค่ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น แถมหลังจากนั้นยังพาลจะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เพราะเมื่อได้รับของเย็นๆ เข้าไป อุณหภูมิภายในจะต่ำลง ทำให้หลอดเลือดหดตัว ระบบภายในร่างกายก็ต้องปรับสมดุลโดยการสร้างความร้อนมากขึ้น ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้หลังจากกินน้ำเย็นแล้วเราจะรู้สึกร้อนขึ้นอีกต่างหาก

 

 

คาเฟอีนและแอลกอฮอล์

 

คาเฟอีนและแอลกอฮอล์เย็นๆ ฟังดูเป็นเครื่องดื่มแก้คอแห้งได้เป็นอย่างดี แต่แท้จริงแล้วกลับจะยิ่งทำให้รู้สึกไม่สบายตัวมากขึ้น เพราะทั้งสองอย่างนี้คือเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ร่างกายสูญเสียน้ำผ่านทางปัสสาวะ (สังเกตง่ายๆ หากเราดื่มกาแฟหรือเบียร์ เราจะรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติ) เมื่อร่างกายมีน้ำน้อยลงก็จะทำให้เรารู้สึกกระหายน้ำมากขึ้นนั่นเอง

 

 

ของทอด ของมัน ของเค็ม

 

อาหารที่มีปริมาณไขมันสูงอย่างของทอดและของมันๆ ล้วนแล้วแต่เป็นภาระของระบบการย่อยอาหาร เพราะเป็นอาหารที่ย่อยยาก ใช้พลังงานในการย่อยสูง แถมยังจะทำให้ท้องอืด อึดอัด ไม่สบายตัวไปด้วย จึงควรลดปริมาณอาหารที่เป็นไขมันลง ส่วนอาหารที่มีรสเค็มจะทำให้ไตทำงานหนักมากเกินไป เพราะแทนที่ไตจะได้ทำงานเต็มที่เพื่อรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย ก็ต้องทำงานหนักเพื่อขับของเสียจากการกินอาหารเค็มเพิ่มไปด้วย

 

 

อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน อาหารสุกๆ ดิบๆ

 

ภัยเงียบที่มากับหน้าร้อนอย่างหนึ่งก็คืออาหารเป็นพิษที่มีข่าวคราวให้เห็นกันทุกปี เพราะในฤดูร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้อาหารเสียเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากกะทิหรือนม อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานแล้ว และอาหารที่ไม่ได้เก็บไว้ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง รวมถึงอาหารที่ปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ เพราะในอากาศร้อนๆ แบบนี้เชื้อโรคต่างๆ แฮปปี้ดี๊ด๊าพากันเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อาการถ่ายท้องยังทำให้ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้น ขาดน้ำ เพลียจนอาจเป็นลมกันได้ง่ายๆ เลยทีเดียว

 

กินแบบนี้สิหายร้อน

 

 

น้ำเปล่า

 

ถูกต้องแล้ว น้ำเปล่าสะอาดๆ อุณหภูมิห้องคือสิ่งที่ควรดื่มให้มากในวันที่อากาศร้อน เพราะเมื่ออากาศร้อนร่างกายจะพยายามระบายความร้อนผ่านทางเหงื่อ ทำให้ร่างกายเสียน้ำมาก หากไม่ดื่มน้ำเข้าไปทดแทนปริมาณน้ำที่เสียไป จะทำให้ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้น ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานได้ไม่สะดวก หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้หลายคนมักปวดหัวตุบๆ ในตอนบ่ายๆ อย่าเพิ่งรีบกินยาแก้ปวด ลองค่อยๆ จิบน้ำไปเรื่อยๆ สัก 1-2 แก้ว แล้วสังเกตอาการอีกที บางทีอาจเป็นเพราะดื่มน้ำน้อยเกินไปเท่านั้นเอง

 

 

ผักผลไม้ฤทธิ์เย็น

 

ผักผลไม้ฤทธิ์เย็นคือตัวช่วยอันชาญฉลาดที่ส่งต่อมาจากภูมิปัญญาของคนเมืองร้อนแต่โบราณ ทั้งตำราไทยและตำราจีนต่างก็แบ่งผักผลไม้และสมุนไพรตามการออกฤทธิ์ต่อร่างกาย ฤดูร้อนแบบนี้ ผักผลไม้ฤทธิ์เย็นอย่างบวบ ฟัก แตงต่าง ๆ ผักกาดขาว หัวไช้เท้า ปวยเล้ง ตังโอ๋ มะเขือเปราะ มะเขือยาว มังคุด แตงโม แตงไทย ส้มโอ ส้มเช้ง พุทรา ชมพู่ มะละกอดิบ สาลี่ ลางสาด ทับทิม จะช่วยปรับสมดุลอุณหภูมิให้ร่างกายสบายขึ้น

 

 

ผักผลไม้ฉ่ำน้ำ

 

ดื่มน้ำเปล่ามากๆ อาจจะไม่ไหว ส่วนน้ำหวาน น้ำอัดลมที่ดูจะชื่นใจ ดื่มเท่าไรก็ยังกระหายอยู่ดี นั่นเป็นเพราะน้ำตาลจากเครื่องดื่มเหล่านั้นไม่ใช่ทางออกสำหรับดับกระหาย ใครนึกอยากกินน้ำหวาน ลองเปลี่ยนเป็นบรรดาผลไม้ฉ่ำน้ำอย่างแตงโม แคนตาลูป มะเฟือง สับปะรด รวมถึงบรรดาส้มทั้งหลาย แช่เย็นพอดีๆ ก็ช่วยให้กายและใจสดชื่นขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย

 

ชาร้อน ซุปร้อน

 

เคยสงสัยไหมว่าทำไมบรรดาเมืองร้อน ถึงได้นิยมดื่มชาร้อนกันแม้กระทั่งในเต็นท์กลางทะเลทราย คำตอบก็คือ ชาร้อนเป็นเครื่องดื่มที่แสนวิเศษในการบรรเทาความร้อนของร่างกาย อธิบายได้อย่างง่ายๆ เมื่อดื่มชาร้อนเข้าไป ร่างกายจะรักษาสมดุลโดยการทำให้เหงื่อออกเพื่อเป็นการระบายอุณหภูมิ หลังจากเหงื่อออก อุณหภูมิลดลงแล้ว ตัวเราก็จะเย็นลงและรู้สึกสดชื่นนั่นเอง การดื่มชาร้อน หรือเลือกกินอาหารที่มีน้ำซุปร้อนๆ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีในการต่อสู้กับอากาศร้อน

 

 

อาหารทำเอง

 

ร้อนๆ แบบนี้ใครจะอยากเข้าครัว? เราก็แอบคิดแบบนี้เหมือนกัน แต่เชื่อเถอะว่าการเข้าครัวในหน้าร้อนมีประโยชน์กว่าที่คิด เพราะนอกจากจะทำให้มั่นใจว่าอาหารในมื้อที่กำลังจะถึง จะเป็นอาหารที่สร้างสมดุลอุณหภูมิให้กับร่างกาย สดสะอาดปลอดภัย ไม่สุ่มเสี่ยงต่ออาการท้องร่วงหรืออาหารเป็นพิษแล้ว กลิ่นหอมๆ ขณะปรุงอาหารยังเป็นกระบวนการเรียกน้ำลายได้ดีเลิศ โดยเฉพาะกับคนที่เบื่ออาหาร กินได้น้อยลงในอากาศร้อนร้ายแบบนี้ ลองหยิบกระทะ ตะหลิว เข้าครัวดูเองสักมื้อก็จะทำให้เย็นกายเย็นใจขึ้นได้ไม่น้อย แถมเมื่อเห็นผลงานของตัวเองสักสำรับก็ชวนให้ภูมิอกภูมิใจ หายหัวร้อนได้อีกต่างหาก

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารฤดูร้อน, เมนูดับร้อน

Recommended Articles

Food Storyอาหารแดดดี
อาหารแดดดี

แดดแรง แดดดีไม่มีตก มาใช้ประโยชน์จากแสงแดดทำอาหารตากแห้งกันดีกว่า