ให้ความอิ่ม แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ ลดโคเลสเตอรอล
ได้แต่ดื่มน้ำลูกสำรองซึ่งเป็นวุ้นอยู่ในน้ำหวานแต่พอดี ดื่มแล้วเย็น อร่อย ชื่นใจ ไม่เคยเห็นเม็ดลูกสำรองมาก่อน พอเห็นผลแห้งของลูกสำรอง ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อปี พ.ศ.2544 ช่วงต้นๆ ปี เดินทางไปโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ไปเดินชมตลาดขายเครื่องเทศสมุนไพรที่ใหญ่มากของที่นั่น เวียดนามได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแหล่งเครื่องเทศคุณภาพดีแห่งหนึ่งของโลก และมียอดส่งออกเครื่องเทศมากพอสมควร ก็เห็นลูกสำรองนี่แหละมีขายกันแทบทุกเจ้า อยู่ในถุงขนาดใหญ่ ขายเป็นกิโลกรัมในราคาถูกด้วย ลองซื้อนำกลับมาเมืองไทย 1 กิโลกรัม ตอนซื้อถามผ่านล่ามว่าคือลูกอะไร แต่จับใจความได้อย่างเดียวว่า “เป็นลูกที่ดีมากๆ คนเวียดนามเอาไปแช่น้ำกินเป็นวุ้น แก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน” นำกลับมาเมืองไทย ถามใครๆ ว่าลูกอะไรก็ไม่มีใครรู้จัก วันเวลาผ่านไปเป็นปีก็ยังคงเก็บไว้ หลังจากกินน้ำลูกสำรองวัดโพธิ์แล้วก็ยังเก็บไว้ ตอนย้ายห้องทำงานเห็นถุงลูกสำรองจากเวียดนามขึ้นรา เลยเอาไปโยนทิ้ง พออาจารย์ศรีสมรเอาลูกสำรองมาให้ดู จึงนึกถึงลูกไม่รู้ชื่อที่โยนทิ้งไปแล้วขึ้นมาได้ ว่าที่แท้ก็คือลูกสำรองนั่นเอง
ลูกสำรองมีหลายชื่อด้วยกัน จันทบุรีเรียกลูกสำรอง กรุงเทพฯ และภาคกลางเรียกว่าพุงทะลาย อุบลราชธานีเรียกว่าลูกจอง บางแห่งเรียกว่าท้ายสำเภา คนจีนเรียกว่า ฮวงไต้ไฮ้ หรือผ่วงไต้ไห้ ชื่อภาษาอังกฤษว่า scaphium macropodum ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sterculia lychnophora, hance เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 45 เมตร อยู่ตามป่าเขาเบญจพรรณ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ กว้าง 10-12 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร ดอกสีเขียวอ่อน มีขนสีแดง แยกเพศผู้เพศเมีย ลักษณะเป็นช่อดอกติดอยู่ที่ปลายกิ่ง ผลแห้งมีปีกแผ่นขนาดใหญ่รองรับ
ในเมืองไทยมีแหล่งใหญ่ของต้นสำรองที่เชิงเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี กับอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ที่อุบลราชธานี มีลักษณะเป็นป่าจอง และเป็นที่มาของชื่ออุทยานด้วย
ลักษณะพิเศษของต้นสำรอง คือ ใบ เมื่อต้นมีอายุ 2-3 ปีแรก ใบเป็นรูปไข่ หรือไข่ปลายเรียวแหลม พอต้นอายุได้ 4 ปี ใบเริ่มผลิเป็นแฉกประมาณ 3-4 แฉก คล้ายใบเมเปิล แต่พอต้นโตมีอายุ 6 ปีขึ้นไป ใบกลับมนไม่มีแฉกเหมือนเมื่อเริ่มแรก
จุดเด่นลูกสำรองอยู่ที่ผลมีรูปร่างรี เมื่อแก่แล้วผิวจะเหี่ยวย่น กลายเป็นสีน้ำตาลแก่คล้ำ พอร่วงจากต้นมีปีกบางๆยื่นออกมา ส่วนปีกนี้เรียกว่า “สำเภา” อาศัยลมพัดลอยล่องไป นี่คือที่มาอีกชื่อหนึ่งของลูกสำรอง คือ “ท้ายเภา” และ “ท้ายสำเภา”
การเก็บลูกสำรองเป็นการเก็บแบบตัดต้นโค่นกิ่ง ทำให้ต้นลูกสำรองร่อยหรอลง และไม่สามารถผลิดอกออกผลได้ตามความต้องการของชาวบ้าน ดังนั้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อกับประเทศลาว เขตอำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี จึงมีการอนุรักษ์ต้นสำรองหรือต้นจอง ให้ชาวบ้านเก็บผลตามฤดูเดือนที่เหมาะสมกับต้น และเก็บแบบไม่โค่นต้นทำลายป่าเช่นแต่ก่อน
อานุภาพและสรรพคุณของลูกสำรอง คือ กากผลเป็นใยดูดน้ำพอง เป็นเส้นใยแบบละลายน้ำ จึงมีคุณสมบัติขับสารพิษและไขมันออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังดูดซับอนุมูลอิสระอันเป็นต้นเหตุของการเป็นมะเร็งได้อีกด้วย เส้นใยลูกสำรองทำให้อิ่มท้องได้ เพราะคุณสมบัตินี้ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ลูกพุงทะลาย ดังนั้น การกินน้ำลูกสำรองช่วยให้ไม่หิวอาหารมาก ลดการกินอาหารจำนวนมากลงได้ คล้ายกับน้ำบุกที่ออกมาเป็นเครื่องดื่มให้กับผู้ต้องการลดน้ำหนัก อย่างไรอย่างนั้น
สรรพคุณยาไทยนั้น หมอไทยแต่โบราณนำทุกส่วนของต้นสำรองมาทำเป็นยา คือ
ราก รสเฝื่อน เปรี้ยวเล็กน้อย แก้ไอ แก้ท้องเสีย รักษากามโรค แก้พยาธิผิวหนัง
สรุปสรรพคุณรักษารวมๆ ของวุ้นในลูกสำรอง คือ ลดหน้าท้อง ลดไขมัน โคเลสเตอรอล บำรุงปอด แก้แพ้ รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย ลดน้ำตาลในกระแสเลือด
คนจีนเชื่อว่าน้ำลูกสำรองแก้ร้อนใน แก้เจ็บคอ คนไทยในตำราแพทย์แผนโบราณไทย เชื่อว่าช่วยแก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้โรคตาแดง ตาอักเสบ
วิธีการกินน้ำลูกสำรอง ทำกินง่ายๆ เพียงแค่ล้างลูกแห้งให้สะอาดสัก 3-4 ลูกต่อแก้ว จิกหัวท้ายลูกให้ขาด แช่ในน้ำร้อนจากกระติก น้ำจะซึมเข้าไปได้ง่าย ทำให้ลูกพองบานขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 5 เท่าของลูกเดิม เอาเปลือกเยื่อและเมล็ดลูกสำรองออก ให้เหลือแต่เนื้อวุ้นที่พองน้ำ ถ้าชอบหวานใส่น้ำเชื่อมน้ำตาลกรวดเล็กน้อย ดื่มแบบร้อนก็ได้ หรือแบบเย็นก็นำไปแช่ในตู้เย็น ดื่มอร่อยชื่นใจจริงๆ
คลิกดูสูตรเห็ดเจี๋ยนน้ำแดงลูกสำรอง
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos