เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ต้นทุน 5 อย่างที่แม่ค้ามือใหม่ลืมคำนวณ

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ยิ่งขายยิ่งได้กำไรน้อย นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับแผนธุรกิจของเราหรือเปล่านะ?

หลายคนที่ลุกขึ้นมาอบขนม ทำอาหาร หรือชงน้ำหวานขายเป็นอาชีพเสริมมักจะประสบปัญหาเดียวกันคือ ยิ่งขายดีก็ยิ่งเหนื่อย แถมกำไรยังไม่มีให้เห็นเป็นกอบเป็นกำสักที เงินที่โอนเข้าบัญชีมาไม่รู้มันหล่นหายไปไหนหมด – นั่นอาจเป็นเพราะว่าเราคำนวนราคาขายโดยมองข้ามต้นทุนบางอย่างไปค่ะ

 

 

 

 

กำคำนวนราคาสินค้ามีสมการง่ายๆ ว่า ราคาขาย-ต้นทุน=กำไร ใช่ไหมคะ แต่คำว่า ‘ต้นทุน’ นี่แหละค่ะที่มันละเอียดอ่อนมาก พ่อค้าแม่ขายมือใหม่ที่เตรียมสูตรอาหารมาอย่างดี ทำบรรจุภัณฑ์เสียน่ารักน่าซื้อ ก็มักจะมาตกม้าตายเอาเสียดื้อๆ ก็ตรงการคำนวนตุ้นทุนนี่แหละ

 

 

 

 

และนี่คือต้นทุน 5 อย่างที่ผู้ประกอบการมือสมัครควรจะคำนวนเข้าไปในสมการราคาขายด้วยเสมอ ไม่ว่าจะขายเป็นงานอดิเรก ขายเป็นอาชีพเสริม หรือขายเล่นๆ แค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่อยากเข้าสู่ภาวะ ‘ยิ่งทำยิ่งเหนื่อย ยิ่งขายยิ่งกำไรน้อย’ ค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

  1. ค่าแรงตัวเอง

 

 

 

 

ต้นทุนหมายเลขหนึ่งที่มักสาบสูญไปจากสมการราคาขาย ก็คือค่าแรงของตัวเราเองในฐานะคนทำงานคนหนึ่งค่ะ โดยเฉพาะกับคนที่ทำธุรกิจแบบ one man show อบเอง แพ็กเอง ส่งเอง เพราะเมื่อไม่มีหุ้นส่วนมาคำนวนต้นทุนด้วย หลายคนก็มักจะคิดว่าเงินกิจการคือเงินส่วนตัวของตัวเองทั้งหมดเสียอย่างนั้น

 

 

 

 

การคิดว่าเงินกิจการคือเงินส่วนตัว เงินส่วนตัวคือเงินกิจการนี่แหละค่ะ คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการทำอาชีพค้าขาย เพราะสุดท้ายมันจะทำให้เราไม่สามารถบริหารเงินได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำธุรกิจเล็กจิ๋วขนาดไหน ก็อย่าลืมบวกค่าแรงของตัวเองเข้าไปเป็นต้นทุนอีกอย่างหนึ่งด้วย วิธีคิดค่าแรงตัวเองที่ง่ายที่สุดก็คือการคำนวนจากการทำงานเป็นชั่วโมงโดยอ้างอิงจากค่าแรงขั้นต่ำตามกฏหมาย และอย่าลืมคำนวนค่าอาหารเพิ่มลงไปตามวันทำงานด้วยนะคะ

 

 

 

 

  1. ค่าขนส่ง

 

 

 

 

ในการทำธุรกิจหนึ่งๆ มีต้นทุนเรื่องค่าขนส่งสูงกว่าที่คิด โดยเฉพาะธุรกิจอาหารที่ต้องรวบรวมซัพพลายจากหลายที่ ทั้งวัตถุดิบ เครื่องปรุง หีบห่อ การสั่งของแบบเดลิเวอรีมีค่าใช้จ่ายเรื่องการจัดส่งเพิ่มขึ้นมาฉันใด การขับรถไปซื้อของเอง ก็ควรต้องถูกคำนวนเป็นค่าใช้จ่ายด้วยฉันนั้นค่ะ จะคำนวนตามระยะทาง หรือคำนวนเทียบกับแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรีก็ตามแต่จะเห็นสมควรค่ะ

 

 

 

 

นอกจากค่าเดินทางแล้ว ค่าขนส่งก็ยังรวมถึงค่าแพ็กเกจจิงพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาเมื่อต้องส่งสินค้าไปขายที่อื่น ทั้งค่ากล่อง ค่าอุปกรณ์กันกระแทก ไปจนถึงค่าแรงในการยกของ แพ็กของ และส่งของซึ่งอยู่นอกเหนือส่วนที่เรียกเก็บกับลูกค้าด้วย

 

 

 

 

  1. ค่าสื่อสาร

 

 

 

 

แม้ว่าจะถ่ายรูปเอง โพสต์เอง จากโทรศัพท์ของตัวเอง แต่เราก็ควรคำนวนค่าสื่อสาร ซึ่งได้แก่ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต รวมถึงค่าแรงในตอบข้อความ รับออเดอร์ ไปจนถึงถ่ายภาพ ทำกราฟิก และโพสต์ลงโซเชียลมีเดียด้วย งานส่วนนี้หากไม่คำนวนไว้เป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง มันก็จะกลายเป็นงานที่เราต้องทำเองตลอดไป แบบไม่สามารถจ้างวานใครให้มาทำหน้าที่แทนได้ในอนาคตค่ะ

 

 

 

 

  1. ค่าพลังงานและค่าสถานที่

 

 

 

 

ข้อนี้ติดหล่มกันมาก โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ขายมือสมัครเล่นที่ใช้บ้านตัวเองเป็นสถานที่ผลิต ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ที่ใช้ไปกับการอบขนม ทำอาหาร หรือแม้กระทั่งเปิดเครื่องปรับอาการให้คนทำงาน ก็ควรถูกคำนวนเป็นต้นทุนของสินค้าด้วยเช่นกัน วิธีการคำนวนที่ง่ายที่สุดคือการเฉลี่ยค่าไฟ 3-6 เดือนหลังจากเริ่มทำกิจการ ว่าเพิ่มขึ้นจากค่าไฟปกติไปมากน้อยเท่าไร แล้วใช้ตัวเลขนั้นเป็นต้นทุนต่อเดือน แล้วก็อย่าลืมช่วยที่บ้านจ่ายส่วนที่เกินมาด้วยนะ

 

 

 

 

นอกจากค่าน้ำค่าไฟแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนมักมองข้ามก็คือต้นทุนด้านสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ประกอบการ (เช่น ห้องครัว) หรือที่จัดเก็บสินค้าและอุปกรณ์ก็ควรถูกนับให้เป็นต้นทุนรายเดือนด้วย โดยส่วนนี้อาจกันไว้ต่างหากเพื่อใช้เป็นค่าซ่อมแซมปรับปรุงสถานที่ หรือรวบรวมไว้สำหรับจ่ายค่าเช่า หรือลงทุนทำสถานที่ใหม่เมื่อต้องการขยับขยายกิจการในภายภาคหน้า

 

 

 

 

  1. ค่าอัปเกรดอุปกรณ์

 

 

 

 

อุปกรณ์ที่ใช้ นานวันไปก็ย่อมจะสึกหรอ ยิ่งเมื่อต้องทำขนมหรือทำอาหารทีละเยอะๆ อายุการใช้งานอุปกรณ์ก็อาจยิ่งสั้นลง เพราะฉะนั้นค่าอุปกรณ์ก็เป็นต้นทุนอีกข้อหนึ่งที่ควรคิดรวมเข้าไปด้วย โดยเฉพาะอุปกรณ์เบเกอรีที่ราคาแต่ละชิ้นเรียกได้ว่าหนักหนาเอาการ ดังนั้นเราควรกันต้นทุนอุปกรณ์สำรองไว้ เพื่อใช้ซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ และเพื่อรวบรวมเป็นก้อนไว้ซื้อไอเท็มใหม่เข้าครัว จะได้เพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้นและเหนื่อยน้อยลงค่ะ

Share this content

Contributor

Tags:

เมนูสร้างรายได้

Recommended Articles

Food Story7 ร้านที่ควรไปเดินให้ทั่ว ก่อนเริ่มธุรกิจเบเกอรี
7 ร้านที่ควรไปเดินให้ทั่ว ก่อนเริ่มธุรกิจเบเกอรี

ได้แหล่ง Supply ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง