เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

“กินอะไรที่โลคอล ดีที่สุด” เรียบง่ายแต่จริงจังกับเชฟต้น-ธิติฏฐ์และร้าน ‘บ้าน’

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

ทำไมคนเราจึงควรหันกลับมากินอะไรที่โลคอลและเป็นธรรมชาติ ไปฟังชัดๆ จากปากเชฟต้น-ธิติฏฐ์ ได้เลย

ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึง ‘บ้าน’ ร้านอาหารเล็กๆ แต่ใส่ใจในรายละเอียด ตั้งแต่การตกแต่งสถานที่ให้มีความชิค เท่ แต่ยังคงบรรยากาศสบายๆ รีแลกซ์ ไปจนถึงการคัดสรรวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมานาน แล้วก็ถึงเวลาได้มาเยือนเสียที

 

คุณตาม-ชัยสิริ ทัศนาขจร GM ของร้านส่งยิ้มต้อนรับเรา (ที่ไปก่อนเวลานัดตั้งครึ่งชั่วโมง) พลางบอกว่าอีกสักพักเชฟต้น-พี่ชายจะตามมา ถึงเราไม่บอก คิดว่าหลายคนก็น่าจะรู้ว่า ‘บ้าน’ คือร้านอาหารของ เชฟต้น-ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร เจ้าของร้านอาหารมิชลินสตาร์ LE DU (ฤดู) และกรรมการรายการ Top Chef Thailand เป็นร้านที่มาพร้อมอาหารแบบที่เชฟต้นและคนในบ้านกิน หน้าตาจึงเรียบง่าย แต่โดดเด่นที่สูตรเฉพาะตัว และเลือกใช้แต่วัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ มีกรรมวิธีการทำที่เป็นธรรมชาติ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ มาจากฟาร์มอินทรีย์ ปลามาจากกลุ่มประมงพื้นบ้าน ผักและผลไม้ก็มาจากเกษตรกรที่ปลูกแบบธรรมชาติ และแน่นอน มันถูกบรรจุเป็นร้านในมิชลินไกด์เช่นกัน

 

 

 

“เราเคารพผืนดินและทะเล เชื่อว่าธรรมชาติดีกว่าสารเคมี การตัดต่อพันธุกรรมหรือฟาร์มมิ่ง มันทำให้เสียอัตลักษณ์ของธรรมชาติ” คุณตามเล่าให้เราฟังระหว่างยกอาหารแต่ละจานๆ ออกมา “แต่คนที่ยืนหยัดทำตามวิถีธรรมชาติ ต้องใช้ใจและอดทนกับความลำบาก มันไม่ได้ทำกันง่ายๆ เราเลยอยากซัพพอร์ต แล้วก็อยากทำอาหารไทยที่ใช้วัตถุดิบของไทย ไม่ต้องใช้วากิว เพราะเราก็มีเนื้อที่ดี ที่อาจจะไม่ดีเท่าวากิว แต่มันก็มีอัตลักษณ์ของมัน รวมถึงหมู ไก่ ผัก ผลไม้ด้วย”

 

กำลังฟังคุณ GM เล่าเพลินพร้อมหัวใจเริ่มฮึกเหิมเพราะสำนึกรักในวัตถุดิบพื้นบ้านและอัตลักษณ์ของอาหารบ้านเรา เชฟต้นก็มาถึง และการพูดคุยของเราก็เริ่มขึ้น

 

 

ทำไมจึงให้ความสำคัญกับวัตถุดิบจากเกษตรกรรายย่อย ฟาร์มอินทรีย์ ผักปลอดสารต่างๆ

 

ง่ายๆ เลยคือเราอยากกลับสู่จุดเริ่มต้น ทั้งร้านฤดูและบ้าน อยากใช้ของที่เรากินตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ซึ่งเมื่อก่อนมันเป็นวัตถุดิบที่ปกติมาก หาได้ทั่วไป แต่ด้วยพฤติกรรมการกินของคนปัจจุบัน รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดทำให้ของที่เคยหาง่ายรอบตัวกลายเป็นของหายาก ไปซื้อผักตามห้าง หาไม่เจอนะผักกูด เจอแต่บรอกโคลี แครอท บรอกโคลีมีทุกที่ มียันเซเว่น ซึ่งคนไทยจริงๆ เรากินกันเหรอ ไม่ใช่ สารอาหารเยอะกว่าผักไทยเหรอ ก็ไม่ขนาดนั้น ในขณะที่ผักพื้นบ้านไทยมีมากมาย และมีผักที่ดีกับสุขภาพเราตั้งเยอะแยะ ผมเลยคิดว่าควรเอามันกลับมา

 

อีกอย่างก็คือเรื่องของเกษตรกรรายย่อย อยากให้เขามีช่องทางการขาย ได้ราคาที่เป็นธรรม และตัวเราเองก็ได้สินค้าที่ต้องการ ไปบอกเขาว่าอยากได้ผักกูด บวบงู เขาถามกลับมาว่ามีคนกินเหรอ ถ้ามีคนกินเขาก็ปลูกให้ได้ เพราะมันเป็นอะไรที่ปกติปลูกได้ดีปลูกได้ง่ายๆ อยู่แล้วในไทย แค่ตลาดไม่มี เราเลยอยากสนับสนุนเขาด้วย

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้สึกว่า ‘เราต้องกลับสู่วัตถุดิบพื้นบ้านกันแล้ว’

 

ส่วนหนึ่งคืออาหารเป็นเรื่องของเทรนด์ ตอนนี้เทรนด์เรื่องสุขภาพ ออร์แกนิก กินอย่างยั่งยืน กลับมากินอะไรที่เป็นของในพื้นที่มากขึ้น ดีกับตัวเองมากขึ้น กำลังมาแรง ก็เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนได้เหมือนกัน แต่ที่สำคัญคือร้านอาหารหรือคนขายอาหาร ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด อะไรก็ตาม เราต้องมีอะไรออฟเฟอร์ให้ผู้บริโภค ไม่งั้นคนจะไปหากินจากไหนถ้าร้านไม่มีให้ เขาจะซื้อยังไงถ้าตลาดไม่มีขาย ต้องเริ่มจากบนห่วงโซ่ ไม่ใช่แค่เอนด์ยูสเซอร์อย่างเดียว เอนด์ยูสเซอร์ตอนนี้มีความรู้เรื่องผักตามฤดูกาล เรื่องผักพื้นบ้านมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วมันต้องมีความสะดวกให้เขาด้วย ผมว่ามันต้องควบคู่กันไป เชฟหรือเจ้าของร้านก็มีส่วนสำคัญที่ต้องผลักดัน ใส่ของพวกนี้ลงในเมนูเพื่อให้คนมาทำความรู้จัก

 

พูดเป็นเล่นไป บางคนไม่เคยกินผักกูด ยิ่งคนรุ่นใหม่ๆ อะไรคือผักกูด ไม่รู้จักเลย แต่พอกินแล้วเขาก็ชอบ เขาแค่ไม่เคยกินเพราะมันไม่มีที่ไหนขาย ไม่ใช่ไม่ชอบกิน แต่ผมว่าพอคนได้ชิมเขาจะชอบมากขึ้น มันช่วยให้เปลี่ยนความคิดได้

 

 

ความท้าทายของการใช้เฉพาะวัตถุดิบจากวิถีธรรมชาติ

 

เรื่องผักนี่ชัดเจน มันไม่แน่ไม่นอน มาตามฤดูกาล ผักพวกนี้ไม่ใช่บรอกโคลีหรือแครอทที่เราซื้อได้ตลอดเวลา ความไม่แน่นอนนี่แหละเป็นชาเลนจ์ ทริปนี้ผักอาจจะสวย พออากาศร้อนก็ไม่สวยแล้ว ใบเหี่ยวบ้าง สีไม่สดบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของเรา เราเป็นเชฟ เชฟต้องทำงานกับของที่มี ไม่สามารถทำงานกับของสวยตลอดเวลาได้ เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ผมว่านี่คือชาเลนจ์ แต่ก็เป็นความสนุก ไม่ใช่ความยากลำบาก

 

ทำไมคนเราจึงควรกินวัตถุดิบพื้นบ้านและเป็นธรรมชาติ

 

สิ่งที่เป็นธรรมชาติและโลคอลที่เติบโตได้ปกติตามสภาพดิน สภาพอากาศ ไม่ต้องบังคับมัน มันเป็นอะไรที่ดีที่สุด เพราะการไม่ต้องบังคับแปลว่าไม่ต้องใส่สารเคมีมากมาย มันเป็นของของประเทศเรา มันขึ้นของมันเอง มันโตของมันได้เอง ดูแลบ้างไม่ดูแลบ้าง บางทีก็ยังไม่เป็นไรเลย ในขณะที่การกินของที่ไม่ใช่ของบ้านเรา เขาต้องพยายามบังคับมัน ให้มันเกิด ให้มันโต ให้มันออกดอกออกผลมาขาย ซึ่งก็คือการต้องใช้ยา ใช้สารเร่ง ใช้เคมี ที่เป็นอะไรที่เราไม่อยากกินเข้าไปในร่างกายหรอก ฉะนั้น ต้องเลือกกินให้ฉลาด กินอะไรที่มันเป็นโลคอล ผักพื้นบ้านที่ปลูกได้เอง กินอันนี้ดีที่สุด

 

ก็อย่างที่เขาพูดกันมาตั้งนานแล้วครับ เรากินอะไรก็เป็นอย่างนั้น เราต้องเลือกว่าอยากมีชีวิตความเป็นอยู่แบบไหน มีสุขภาพยังไง เลือกกินในสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เลือกกินในสิ่งที่ปลอดภัย เลือกกินในสิ่งที่มันมีตามฤดูกาล เลือกกินในสิ่งที่เป็นของพื้นบ้าน นอกจากสุขภาพจะดีขึ้นก็ยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรของเรา และการกินตามฤดูกาลก็ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย เพราะมันมีเยอะแยะ มันขึ้นของมันอยู่แล้ว การกินอะไรหลากหลายตามฤดูกาลทำให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น คุณกินของอย่างเดิมตลอดเวลา ทางการแพทย์ก็พิสูจน์แล้วว่าทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เพราะเราได้รับสารอาหารอย่างเดียวอย่างเดิมตลอด ถ้ากินบรอกโคลีทั้งปี คุณก็ต้องขาดสารบางตัว บรอกโคลีอาจจะมีธาตุนี้วิตามินนี้เยอะแต่ก็ยังขาดอีกหลายตัว ต้องเปลี่ยนนิสัย กินอะไรให้หลากหลาย กินตามฤดูกาลจะช่วยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความอร่อย สังคมก็แข็งแรงด้วย

 

 

 

ฟังเหมือนเชฟไม่สนับสนุนระบบอาหารอุตสาหกรรม…

 

ใช่ ผมไม่สนับสนุน ไม่ชอบอะไรก็ตามที่อินดัสเทรียล เพราะระบบมันมากับความคิดว่าทำอาหารให้คนกินได้เพียงพอในราคาที่ถูกลง ซึ่งก็ทำได้จริงแหละ แต่ที่ระบบไม่ได้บอกคือผลกระทบที่ตามมา ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อคนกินเอง ใช่ มันถูกตอนนี้แต่ระยะยาวล่ะ คุณต้องเจ็บป่วยเพราะสารเคมีที่ได้รับไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา จากฮอร์โมนที่ไม่ต้องการ จากแอนตี้ไบโอติกที่ใส่ในปศุสัตว์ที่ร่างกายไม่ต้องการ ตอนนี้คนเราเลยแพ้อะไรง่าย เป็นโรคง่าย เป็นหวัดง่ายก็เพราะร่างกายเราได้สารพวกนี้จากสัตว์ จากพืชที่กินเข้าไปแล้วก็ส่งผล เห็นชัดเลยในเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เดี๋ยวนี้ทำไมแพ้ง่าย แพ้ทุกอย่าง ป่วยง่าย เพราะอะไร เพราะตั้งแต่ตอนแม่ตั้งท้องหรือตอนเด็กๆ ก็กินแต่ของแบบนี้ โตมาภูมิคุ้มกันก็ไม่แข็งแรง

 

ต้องเปลี่ยน ต้องหันมากินอะไรที่ธรรมชาติที่สุด มันอาจจะแพงกว่า แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำให้ของพื้นบ้าน ของธรรมชาติมันเป็นเหมือนของที่มีขายตามปกติ ราคามันก็จะลง และก็จะดีกับเราในระยะยาว ไม่ต้องเสียเงินจ่ายค่ายาค่าหมอ

 

 

เริ่มต้นการเสาะหาแหล่งวัตถุดิบพวกนี้ยังไง

 

เริ่มแบบบ้านๆ มาก (หัวเราะ) นั่งหาข้อมูลเอง เสิร์ชเอง แล้วก็ถามเชฟคนนั้นคนนี้ มันไม่ง่ายนะ ใช้เวลาหลายปี เพราะเป็นเรื่องของการสื่อสารและช่วยเหลือกัน ข้อแรก เรารู้ว่าเราต้องการอะไร เรารู้ว่าอะไรขายได้ เกษตรกรไม่รู้ ชาวประมงไม่รู้ ฉะนั้นเราต้องทำให้เขารู้ ต้องบอกเขา แนะนำเขา ทำให้เขารู้ว่าเออเราอยากได้อันนี้ นี่ขายได้ ทำไมไม่ลองปลูกทำไมไม่ลองทำ เขาก็ อ้าว มันขายได้เหรอ

 

นอกจากสนับสนุนแล้วก็ต้องแชร์ ผมไม่บอกว่าคุณต้องปลูกให้ผมเจ้าเดียว หาให้ผมคนเดียว ผมแนะนำให้เชฟอื่นไปหาเขาเยอะๆ เพื่อเขาจะสามารถขยายผลผลิตของเขาได้ คงตัวได้ ทำให้อาชีพเขามั่นคง พอมั่นคงเขาก็สามารถปลูกอะไร เลี้ยงอะไร หาอะไรให้เราอย่างมั่นคงขึ้น ทั้งร้าน ทั้งเกษตรกร ต่างคนต่างพึ่งพากัน โตไปด้วยกัน ไม่มีใครเอาเปรียบกัน เราทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

 

เชฟลงพื้นที่ไปดูแหล่งวัตถุดิบต่างๆ เอง?

 

ผมอาจไม่ได้ไปทุกเดือนทุกอาทิตย์ แต่ฟาร์มไก่ ฟาร์มผัก ฟาร์มดอกไม้ ผมไปหมด ไม่ใช่แค่ไปทำความรู้จักหรือไปเจอ แต่ไปดูว่าผักเขาปลูกยังไง ดอกไม้เขาปลูกยังไง ไก่เลี้ยงยังไง เราเห็นทุกอย่างจนทำให้มั่นใจ ผมต้องเห็นก่อนแล้วถึงมั่นใจ แล้วผมก็ไม่สนใจเลยนะว่าเขามีตราออร์แกนิกจากกรมปศุสัตว์หรือเปล่า ไม่สนเรื่องนั้น สนว่าเรารู้ว่าสิ่งที่เราเอามามันดีขนาดไหน มันมากกว่าตราออร์แกนิก มากกว่าตราผักไร้สาร เพราะเราไปดูไปรู้เอง รู้ว่าไก่กินอะไร ในอาหารไก่มีอะไรบ้าง ปุ๋ยที่ใส่คือปุ๋ยอะไร เมื่อเรารู้เราก็มั่นใจ พูดได้เต็มปากเต็มคำ

 

 

 

ความโดดเด่นของร้าน ‘บ้าน’

 

เรียกว่าคอนเซ็ปต์ดีกว่า อยากทำร้านที่เป็นอาหารที่กินกันในบ้านเรา เราไม่ได้โฆษณาว่าเราคืออาหารไทยโบราณสูตรชาววังโน่นนี่ ไม่ใช่เลย ร้านบ้านทั้งชื่อร้านทั้งอาหารซิมเปิ้ลเหมือนกัน คืออาหารที่ผมกินที่บ้าน ซึ่งอาจไม่เหมือนอาหารบ้านคนอื่น แต่นี่คืออาหารที่ผมกินที่บ้านและเราทุกคนในบ้านชอบกิน เอามาแบ่งปันแชร์ประสบการณ์กินกับลูกค้า อาหารก็เป็นสูตรเฉพาะของบ้านผม อย่างกะเพราก็รสชาติแบบหนึ่ง หรือไข่พะโล้ต้มแซ่บเราก็ทำเอง มีแค่ที่นี่ ไม่มีที่อื่น

 

เป้าหมายและความมุ่งหวัง

 

อยากให้ร้านนี้เป็นที่ที่คนในครอบครัวมานั่งกินข้าว แบ่งปันความสุขกัน เหมือนที่ครอบครัวผมนั่งกินข้าวที่บ้านด้วยกัน อยากให้ครอบครัวรุ่นใหม่ๆ ปัจจุบันมีโอกาสกินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตา และกินอาหารที่ดีที่ปลอดภัยเหมือนที่ผมกล้าเอาให้คนในครอบครัวกิน เป็นอาหารที่เรารู้ที่มาที่ไป รู้คุณภาพ อันนี้เป็นเป้าหมายหนึ่ง กับอีกอย่างคือเราเปิดร้านบ้านที่ไต้หวันด้วย ในส่วนนี้ก็อยากให้เป็นตัวแทนบางส่วนในการทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวทีโลก ร้านฤดูมันขยายยาก ด้วยความยุ่งยากและคอนเซ็ปต์ แต่ร้านบ้านขยายได้ เพราะมันเป็นอาหารง่ายๆ เบสิก เข้าถึงคนง่ายกว่าและหลายกลุ่มกว่า อยากใช้ร้านเป็นแพลตฟอร์มขยายให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

 

การได้อยู่ในมิชลินไกด์มีผลมากน้อยแค่ไหน

 

ลูกค้าต่างชาติเยอะขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดี หนึ่งคือในแง่ธุรกิจ กับอีกแง่คือมีฝรั่งมากินแล้วชอบ เขาก็ชอบในอาหารไทย รักอาหารไทยไปด้วย ไม่ใช่แค่ชอบร้านนี้ เพราะเราทำสูตรที่เรากินจริงๆ ร้านนี้ไม่มีฝรั่งมาทำรสชาตินี้ คนไทยมาทำอีกรสชาติ ใครมาก็สูตรเดียวกัน เราอยากให้เขาชอบอาหารไทย กินอาหารไทยแบบที่มันเป็น เริ่มจากสูตรบ้านผม เพราะเราไม่อยากเป็นเหมือนร้านอาหารไทยเมืองนอกที่ทำรสชาติเอาใจฝรั่ง ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่าความอร่อยเป็นยูนิเวอร์แซล และพวกเราก็ควรอินโทรดิวซ์อาหารไทยในแบบที่มันควรจะเป็น เพื่อเขาจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าอาหารไทยมันควรต้องรสชาติยังไง

 

ไม่ได้บอกนะว่ารสชาติต้องแบบนี้เป๊ะ แต่มันต้องอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น อย่างที่ผมบอก แต่ละบ้านทำอาหารไม่เหมือนกัน รสชาติต่างกัน แต่อยู่ในกรอบที่เรารับรู้ได้ว่ามันคือกรอบเดียวกัน ไม่ใช่เหมือนเวลาเราไปกินร้านอาหารไทยในต่างประเทศบางร้าน ไม่ใช่แค่รสชาติใกล้เคียง แต่มันเละเทะ ออกนอกกรอบไปเยอะแล้ว ฉะนั้น มันไม่ได้ จะยังไงก็ตาม ต้องแนะนำให้เขารู้จักอาหารไทยในแบบที่มันเป็น นี่คือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ

 

อาหารไทยในความหมายของเชฟคืออะไร

 

อาหารไทยสำหรับผมไม่ได้แปลว่าต้องเป็นอาหารไทยสูตรโบราณมาจากวังโน้นวังนี้หม่อมโน้นหม่อมนี้ ไม่ใช่ อาหารไทยเกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัยเพราะคนไทย อาหารไทยคือสิ่งที่คนไทยคิดขึ้นมา ปรุงขึ้นมา โดยใช้วัตถุดิบรอบตัวในประเทศเรา สร้างสรรค์เป็นอะไรก็ได้ ผมไม่แคร์ถ้ามีคนมาบอกว่าพรุ่งนี้จะมีอาหารไทยเมนูใหม่ชื่อแกงนี่นั่นๆๆๆ ถ้าชิมแล้วมันคือรสชาติที่เรารู้จัก เพราะอาหารไทยเวลาชิมเราจะรู้ว่ามันคืออาหารไทย มันมีความครบรส มีเอกลักษณ์ในตัวเอง สาเหตุที่อาหารไทยโด่งดังไปทั่วโลก เพราะอาหารไทยมีเอกลักษณ์ในตัวเองมาก คนชิมแล้วรู้เลยว่าคืออาหารไทย ถ้าให้แยกชิมอาหารยุโรป เบลเยี่ยม เยอรมัน ออสเตรีย สวิส เอามาตั้งโต๊ะชิม คนแยกออกน้อยมาก เพราะอาหารมันรสชาติไปทางเดียวกัน แต่เอาอาหารไทยมาวางกับอาหารมาเลย์ สิงคโปร์ พม่า จีน ชิมแล้วมันชัดเจนว่าอะไรคืออาหารไทย

 

ผมถึงบอกว่าอาหารไทยเกิดจากวัฒนธรรมการกินการอยู่ของคนไทย ฉะนั้น มันเปลี่ยนได้ทุกยุคทุกสมัย อาหารไทยคืออาหารที่คนไทยคิดขึ้นมาโดยมีความรู้ในเรื่องอาหารไทย มีความรู้ความเข้าใจในวัตถุดิบรอบตัวเรา นี่คืออาหารไทยในความหมายของผม

 

จานเด็ดสูตรเฉพาะของ ‘บ้าน’

 

 

พล่าคอหมูย่าง (350 บาท)

 

คอหมูจากฟาร์มออร์แกนิกย่างบนชาร์โคล สไลซ์มาแบบไม่หนาไม่บาง เน้นสมุนไพรหลายขนาน ทั้งตะไคร้ ใบมะกรูด คลุกเคล้ากับน้ำพริกเผาโฮมเมดสูตรเฉพาะของบ้านเชฟต้น รสเปรี้ยวโดดเด่นเป็นพระเอก หอมกลิ่นสมุนไพรขึ้นจมูก และคอหมูนุ่มมาก

 

 

ผัดกะเพราเนื้อพิเศษ (390 บาท)

 

กะเพราเนื้อ Dry-Aged 30 วัน เนื้อนุ่ม รสชาติเข้มข้นสมความดรายเอจด์ แต่รสชาติโดยรวมนุ่มนวลไม่จัดจ้าน หอมชนิดที่ยกจานมาวางตรงหน้าก็ได้กลิ่นชวนน้ำลายสอเลยทีเดียว เป็นกะเพราที่เก๋ไก๋ตรงการใส่เครื่องเทศอย่างยี่หร่าและเม็ดผักชีลงไปด้วย หน้าตาอาจจะดูเบสิก แต่คุณภาพแน่นทุกคำ

 

 

ไข่พะโล้ต้มแซ่บ (280 บาท)

 

ใครไม่สั่งถือว่ามาไม่ถึงร้านบ้าน ไข่พะโล้ที่คุณตาชอบทำติดบ้านไว้ ถูกคุณหลานอะแดปต์โยนโน่นนี่ลงไปในวันท้ายๆ เพราะเบื่อที่กินมาหลายวัน กลายเป็นไข่พะโล้ผสมเครื่องต้มแซ่บ รสชาติจัดจ้าน ครบรสแบบไทย และเป็นเมนูรสจัดที่สุดที่ได้ชิมวันนี้ แต่ก็ยังคงมีความละมุนนัวนุ่มอยู่ดี ไม่ต้องกลัวเรื่องความเผ็ด

 

 

ผักกูดผัดน้ำมันหอย (250 บาท)

 

ผักกูดสีเขียวสดใสแค่มองก็รับรู้ได้ถึงความสด ยิ่งตักเข้าปากแล้วกัดกร้วม ยิ่งสัมผัสได้ถึงความสด กรอบ ฉ่ำ จนเหมือนเพิ่งไปเด็ดมาเมื่อกี้จากหลังร้าน เจอกับรสชาติเค็มนิดๆ มันหน่อยๆ หอมอีกน้อยๆ เลยกินกันเพลินจนหมดเป็นจานแรก

 

 

ม็อกเทลองุ่นซีราส (290 บาท)

 

ชิมมาจนถึงตอนนี้ก็พอจะเข้าใจว่า รสชาติแบบที่บ้านเชฟต้นกินกันนั้นมีความนัวนุ่มละมุน (ขอให้ลืมความแซ่บของอาหารไทยสตรีตฟู้ดอย่างส้มตำรถเข็น หรือผัดกะเพราร้านป้าหน้าออฟฟิศที่ทำพริกตกทั้งสวนไปก่อน) แต่จิบม็อกเทลแก้วนี้อึกแรก ทำเอาตาแตกในความเปรี้ยวปรี๊ดขึ้นสมองบรรยากาศละมุนก่อนนี้มลายหายวับ ไม่ชอบเหรอ เปล่า ชอบมาก ชอบความเปรี้ยวที่มาพร้อมกลิ่นองุ่นหอมๆ กลิ่นสดชื่นของมะนาว และความหอมของตะไคร้ สายเปรี้ยวต้องโดน บอกเลย!

 

พิกัด: ถนนวิทยุ ลุมพินี (ใกล้สถานทูตญี่ปุ่น)

 

เปิด-ปิด: 11:30 น. – 14:30 น. (Lunch), 18:00 น. – 22:30 น. (Dinner) ปิดวันอังคาร

 

โทร: 02 655 8995 / 081 432 4050

 

FB: https://www.facebook.com/baanrestaurant

Share this content

Contributor

Tags:

คุยกับผู้ผลิต, ร้านอร่อยกรุงเทพ

Recommended Articles

Food Storyแจกพิกัดนั่งเรือกินเที่ยว 5 Route รอบกรุงเทพฯ เด็ดทุกร้าน KRUA.CO การันตี!
แจกพิกัดนั่งเรือกินเที่ยว 5 Route รอบกรุงเทพฯ เด็ดทุกร้าน KRUA.CO การันตี!

ท่าดินแดง ท่าวังหลัง ท่าเตียน ท่าราชวงศ์​ จะท่าไหนๆ ก็มีแต่ของอร่อยเต็มไปหมด