เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

เซิง โชว หวัง ซีอิ๊วหมักที่ไม่แมสแต่สุขภาพดี แม้ไม่มีสูตร Low Sodium!

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ทัวร์โรงงานซีอิ๊วแบรนด์ไทยที่อยากเป็นทางเลือกสุขภาพให้กับทุกคน

ถ้าจะซื้อซีอิ๊วสักขวด ทุกคนเลือกจากอะไรคะ

 

 

 

 

หลายคนน่าจะเลือกซีอิ๊วจากขวดที่คุ้นมือที่สุด เลือกตามยี่ห้อที่แม่ใช้มาเสมอ หรือบางคนก็เลือกจากราคาในยามมีโปรโมชั่นเป็นหลัก ฉันก็เคยเลือกสะเปะสะปะแบบนั้นเหมือนกันค่ะ จนถึงวาระที่ต้องมาเขียนรีวิวซีอิ๊วแบบจริงจัง เลยเริ่มหมกมุ่นอยู่กับการอ่านฉลากซีอิ๊วเป็นพิเศษ

 

 

 

 

การเขียนรีวิวซีอิ๊วทำให้ฉันได้ลองชิมซีอิ๊วจากทั่วประเทศมากกว่า 20 ยี่ห้อ แล้วก็ทำให้ฉันได้เจอกับซีอิ๊วยี่ห้อหนึ่งที่ระบุบนฉลากไว้ว่าไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่ผสมสี ไม่มีน้ำตาล ไม่มีผงชูรส ไม่ใช้วัตถุดิบ GMO และไม่มีสารก่อมะเร็งด้วย

 

 

 

 

พอได้ลองชิมก็รู้สึกว่ารสชาติต่างจากซีอิ๊วในความคุ้นเคยจริงๆ ค่ะ คือจะมีรสเค็มชัดเจน ตามด้วยรสเปรี้ยวและมีกลิ่นหมักนิดๆ ไม่ใช่เค็มหวานเน้นความกลมกล่อมอย่างที่กินอยู่ประจำ จนทุกคนที่ได้ร่วมวงชิมซีอิ๊วในวันนั้นยกให้เป็น ซีอิ๊วรสชาติไม่แมส ที่เพิ่งจะเคยชิมเอาตอนกว้านซื้อซีอิ๊วมารีวิวนี่เอง

 

 

 

 

 

 

 

ผ่านมาเกือบปีแล้วก็ยังไม่หายคาใจ เมื่อได้โอกาสเราเลยยกหูไปที่โรงงานผู้ผลิตซีอิ๊วยี่ห้อ เซิง โชว หวัง เพื่อขอทัวร์โรงงานกันซื่อๆ จึงกลายมาเป็นบันทึกการท่องเที่ยวฉบับพาทัวร์โรงงานซีอิ๊วอย่างที่ฉันจะเล่าตั้งแต่บรรทัดต่อไปนี้ค่ะ

 

 

 

 

ซีอิ๊วสูตร 400 ปีจากเมืองจีน

 

 

 

 

“คุณพ่อมีพื้นเพเป็นคนชอบกินมากๆ อยู่แล้วค่ะ ส่วนคุณแม่เป็นคนเซี่ยงไฮ้ แต่ไปโตที่ฮ่องกง จำได้ว่าตอนเด็กๆ เราก็จะไปฮ่องกงกันทุกปี แล้วคุณแม่ก็จะหิ้วซีอิ๊วกลับบ้านทุกรอบ เขาก็จะชอบบ่นว่าซีอิ๊วเมืองไทยไม่ถูกปากเขา อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นแรงบันดาลใจให้คุณพ่อทำธุรกิจซีอิ๊วด้วยหรือเปล่า” คุณวินิดา มังกรกาญจน์ หรือ คุณลินดา เล่าให้เราฟังกลั้วเสียงหัวเราะ

 

 

 

 

วินิดา  มังกรกาญจน์

 

 

 

คนในแวดวงผู้ผลิตกาแฟน่าจะคุ้นชื่อคุณลินดาจากตำแหน่งนายกสมาคมกาแฟไทยมาก่อน แต่ในอีกฐานะหนึ่ง คุณลินดาคือกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารรุ่นที่สองของโรงงานไทย-ซีโนฟูด จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตซีอิ๊วเซิง โชว หวัง ด้วย

 

 

 

 

“คุณพ่อไปค้นเจอโรงงานที่จีนได้อย่างไรไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่เป็นโรงงานที่เก่าแก่มาก เป็นโรงโบราณเลย แล้วก็มีการติดต่อให้คนจากทางโน้นมาช่วยสอน”

 

 

 

 

โรงงานซีอิ๊วที่คุณลินดาเล่าถึง คือโรงงานผลิตเครื่องปรุง “จื่อเหม่ยจาย” (Jammy Chai) ที่มีอายุมากกว่า 400 ปี และถือว่าเป็นโรงงานผู้ผลิตซีอิ๊วที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 4 ของจีน แต่แน่นอนว่าการผลิตซีอิ๊วซึ่งเป็นของหมักดองไม่สามารถเรียนรู้กันได้แค่ชั่วข้ามคืน และไม่ได้มีคู่มือสำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาผลิตในอีกประเทศหนึ่ง เจ้าหน้าที่จากโรงงานจื่อเหม่ยจายต้องมากินนอนคลุกคลีอยู่ที่โรงงานแห่งนี้นานนับปี

 

 

 

 

จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2529 ซีอิ๊วขาวในแบบฉบับของเซิง โชว หวัง ก็ออกสู่ท้องตลาดอย่างเป็นทางการ

 

 

 

 

กว่าจะเป็นซีอิ๊ว

 

 

 

 

เกือบ 4 ทศวรรษตั้งแต่เริ่มผลิตซีอิ๊วมา เซิง โชว หวัง ยังเลือกใช้กระบวนการหมักแบบดั้งเดิมแทบจะทั้งหมด ทันทีที่เดินเข้าไปในโรงงานเราจึงยังคงได้กลิ่นต้ม กลิ่นหมัก ไม่ต่างจากโรงซีอิ๊วเล็กๆ ตามชุนชนชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วไป เพียงเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างถูกปรับมาให้รองรับมาตรฐานโรงงาน เพราะผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ออกจากสายพานการผลิตแห่งนี้จะถูกขายเป็นสินค้า OEM ให้กับอุตสาหกรรมอาหารอีกทอดหนึ่ง

 

 

 

 

สายพานการผลิตซีอิ๊วขาวเริ่มต้นที่การต้มถั่วเหลือง ถั่วที่ผ่านการรับรองมาแล้วว่าไม่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม ไม่เป็นเชื้อรา และมีคุณภาพสูง จะถูกนำมาทำความสะอาดแล้วต้มให้สุกพอดี ก่อนจะนำไปคลุกด้วยแป้งสาลีและเชื้อราชนิดดีเพื่อให้เชื้อราย่อยโปรตีนในถั่วเหลืองออกมา

 

 

 

 

ถั่วเหลืองที่ต้มเสร็จแล้ว

 

 

 

สายพันธุ์และคุณภาพของเชื้อราคือตัวแปรสำคัญในการผลิตซีอิ๊ว เรียกได้ว่าซีอิ๊วจะมีรสชาติอย่างไรก็อยู่ที่ว่าใครจะได้เชื้อมาจากไหน มันจึงเป็นเหมือนสูตรลับของใครของมันไม่ต่างกับสูตรไก่ทอดเจ้าดัง หรือสูตรน้ำซ่าอัดกระป๋อง เพียงแต่ว่าสูตรลับของซีอิ๊วไม่ใช่สูตรที่จดลงกระดาษ แต่เป็นสูตรที่ขยายพันธุ์ได้ เติบโตได้ และตายได้ เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง จึงต้องอาศัยการดูแลอย่างดีแบบที่ว่าต้องมีห้องแล็บสำหรับเก็บรักษาและพัฒนาสายพันธุ์ไว้โดยเฉพาะ

 

 

 

 

ส่วนเชื้อราที่ผลิตซีอิ๊วเซิง โชว หวัง คือเชื้อที่เพาะต่อมาจากเชื้อเดิมซึ่งได้รับมาเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน มันจึงเปรียบเหมือนเชื้อรุ่นลูกหลานเหลนลื่อลืบลืดของเชื้อจากจีนนั้นเอง

 

 

 

 

ถั่วเหลืองต้มที่คลุกแป้งและเชื้อราแล้ว

 

 

 

ถั่วที่ต้มสุกและคลุกเชื้อแล้วจะถูกพักไว้ราว 48 ชั่วโมงเพื่อให้เชื้อทำงาน ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เปราะบางที่สุดในกระบวนการการผลิตทั้งหมด เพราะต้องควบคุมทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และปัจจัยอื่นๆ ให้แม่นยำ ซึ่งแม่นยำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำเหมือนเดิมทุกวัน ทุกครั้ง แต่หมายถึงการคุมปัจจัยแวดล้อมทุกอย่างให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อที่สุด 48 ชั่วโมงหลังคลุกเชื้อจึงเป็น 48 ชั่วโมงที่พนักงานจะต้องดูแลน้องถั่วอย่างใกล้ชิด และต้องอ่านใจเชื้อผ่านการดูและดม ไม่ว่าจะฝนตก แดดออก อากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป แห้งเกินไป หรือชื้นเกินไป ล้วนมีผลต่อรสชาติของซีอิ๊วทั้งนั้น

 

 

 

 

เมื่อเชื้อเริ่ม ‘เดิน’ เราจะเริ่มเห็นเชื้อราสีขาวๆ เกาะอยู่บนผิวเม็ดถั่วเหลืองจนฟูฟ่อง และพอครบ 48 ชั่วโมง เชื้อจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเขียวหม่น เรียกว่าโคจิ (Koji) ค่ะ

 

 

 

 

โคจิ

 

 

 

โคจิจะถูกนำไปผสมกับน้ำเกลือ แล้วหมักไว้ 3 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับรสชาติและคุณสมบัติที่ต้องการ หลังจากนั้นจะมีการตักเฉพาะส่วนที่เป็นของเหลวออก นำไปปรับรส กรอง พาสเจอร์ไรซ์ และบรรจุขวดเป็นซีอิ๊วขาวพร้อมบริโภค

 

 

 

 

โคจิที่หมักกับน้ำเกลือแล้ว

 

 

 

โคจิที่หมักกับน้ำเกลือแล้ว

 

 

 

ซีอิ๊วขาวแบบนี้ถือว่าเป็น Mother of Sauce หรือเป็นพื้นฐานของซอสทั้งหลายทั้งปวงในครัวจีนเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นซอสหอยนางรม ซอสพริกไทยดำ ซอสเห็ดหอม ฯลฯ ก็ล้วนมีเบสมาจากซีอิ๊วขาวทั้งสิ้น ถ้ามองภาพรวมทั่วโลกฉันคิดว่าซีอิ๊วขาวน่าจะมีผู้บริโภคมากกว่าน้ำปลาเสียอีก

 

 

 

 

แม้จะป๊อปปูล่าร์ขนาดไหน แต่ซีอิ๊วขาวก็ยังมีแง่มุมลึกๆ ลับๆ ที่ชวนสับสนอยู่ดี

 

 

 

 

มาค่ะ ในฐานะของคนที่บุกโรงงานซีอิ๊วมาแล้ว ฉันจะอาสามาเล่าให้ฟังเอง

 

 

 

 

ซีอิ๊วขาวก็สีเข้มได้

 

 

 

 

โดยทั่วไปแล้วเรามักแบ่งซีอิ๊วออกเป็น 3 ประเภท คือ ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำหวาน และ ซีอิ๊วดำเค็ม

 

 

 

 

ซีอิ๊วขาว (Light Soy Sauce) ก็คือซีอิ๊วที่ผลิตด้วยกรรมวิธีอย่างที่เราเล่าไว้ข้างต้น ยิ่งหมักนาน สีและรสชาติก็จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นไปเองตามธรรมชาติ แต่จะยังมีลักษณะเป็นของเหลวที่ไม่ข้นอยู่ ซีอิ๊วขาวไม่ว่าจะสีเข้มขนาดไหนก็ยังสามารถใช้ปรุงรสอาหารได้โดยไม่ทำให้สีอาหารเข้มขึ้น จึงเหมาะจะให้ปรุงน้ำซุป

 

 

 

 

แต่ความซับซ้อนชวนสับสนมันอยู่ที่ซีอิ๊วดำ (Dark Soy Sauce) ค่ะ

 

 

 

 

ซีอิ๊วดำมีอยู่ 2 แบบหลักๆ คือ ซีอิ๊วดำเค็ม และซีอิ๊วดำหวาน โดยที่ซีอิ๊วดำเค็ม หมายถึงซีอิ๊วทีหมักนานกว่า 1 ปี มีรสชาติเข้มข้น สีเข้ม เหมาะกับการใช้แต่งสีอาหาร ส่วนซีอิ๊วดำหวาน เกิดจากการนำซีอิ๊วขาวไปใส่ส่วนผสมอื่นๆ อย่างกากน้ำตาลและแป้ง เพื่อให้มีสีเข้ม มีรสหวาน มีเนื้อที่ข้นหนืดเหมาะกับการใช้เหยาะหรือจิ้มมากกว่า

 

 

 

 

โดยสรุปแล้ว วิธีการแบ่งซีอิ๊วที่เราคุ้นกันเป็นวิธีแบ่งตามการใช้งานค่ะ ไม่ได้แบ่งตามความเข้มของสี (แม้เราจะใ้ชชื่อสีมาเป็นคำขยายก็ตาม) เพราะฉะนั้นซีอิ๊วขาวที่สีเข้มกว่าปกติ ก็ยังเป็นซีอิ๊วขาวนั่นแหละค่ะ เพียงแต่ว่ามันผ่านการหมักมานานกว่าซีอิ๊วขาวทั่วไปเท่านั้น เท่านี้ก็ไขข้อสงสัยกับปัญหาโลกแตกที่ว่า “ซีอิ๊วขาวทำไมเป็นสีดำ” ได้แล้ว 1 ข้อ – เย้!

 

 

 

 

ซีอิ๊วกับซอสปรุงรส

 

 

 

 

ถ้าคิดว่าจักรวาลซีอิ๊วจะหยุดความซ้อนซ้อนไว้เท่านี้ คุณคิดผิดค่ะ

 

 

 

 

นอกจากการแบ่งประเภทซีอิ๊วตามการใช้งาน (ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำเค็ม และซีอิ๊วดำหวาน) แล้ว เรายังสามารถแบ่งประเภทซีอิ๊วตามกรรมวิธีการผลิตได้อีกด้วย ซึ่งมันถูกแบ่งเป็น 3 ประเภทดังนี้ค่ะ

 

 

 

 

ซีอิ๊วหมัก (Fermented Soy Sauce) คือซีอิ๊วที่ได้จากกระบวนการโคจิกับน้ำเกลือ ใช้เวลาผลิต 3 เดือนขึ้นไป มีข้อดีคือได้รสชาติจากการหมักตามธรรมชาติ และไม่จำเป็นต้องใส่สารเพื่อแต่งสี กลิ่น รส

 

 

 

 

ซีอิ๊วเคมี (Chemical Soy Sauce หรือ Hydrolyzed Soy Sauce) คือเครื่องปรุงที่ได้จากการนำกากถั่วเหลืองที่สกัดน้ำมันออกแล้วมาย่อยด้วยกรดแล้วแต่งสี กลิ่น รส ตามต้องการ มีข้อดีคือสามารถผลิตได้จากผลพลอยได้ (By Product) ของอุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลือง และใช้เวลาการผลิตเพียง 2-3 วันเท่านั้น ซีอิ๊วประเภทนี้บนฉลากมักใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่าเป็น “ซอสปรุงรส” ค่ะ

 

 

 

 

ซีอิ๊วกึ่งเคมี (Semi-chemical Soy Sauce) คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผสมซีอิ๊วหมักกับซีอิ๊วเคมีเข้าด้วยกัน มีข้อดีคือได้กลิ่นรสอย่างซีอิ๊วหมัก แต่ใช้เวลาในการผลิตน้อยกว่า ซีอิ๊วแบบนี้สามารถใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่าซีอิ๊วได้เช่นกัน

 

 

 

 

สีธรรมชาติของซีอิ๊ว

 

 

 

แค่ Low Sodium อาจยังไม่พอ

 

 

 

 

ในปัจจุบันที่คนคำนึงถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้น เรามีเครื่องปรุงสูตรลดโซเดียมวางเรียงรายอยู่บนชั้นวางนับไม่ถ้วน แต่ เซิง โชว หวัง กลับยืนยันว่าจะไม่ทำซีอิ๊วสูตรลดโซเดียม เพราะนั่นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค

 

 

 

 

เครื่องปรุงสูตรลดโซเดียมส่วนใหญ่ แม้จะระบุว่าโซเดียมต่ำ แต่ยังมีความเค็มอยู่ในระดับที่ไม่ต่างจากเครื่องปรุงสูตรปกติ เพราะมักจะมีการใช่โพแทสเซียมคลอไรด์ซึ่งเป็นเกลือชนิดหนึ่ง ดังนั้นมันจึงไม่ได้เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคไต เพราะท้ายที่สุดไตก็ยังต้องทำงานหนักเพื่อกำจัดทั้งโซเดียมและโพแทสเซียมออกจากร่างกายอยู่ดี

 

 

 

 

เซิง โชว หวัง จึงเลือกที่จะพัฒนาสูตร Low Salt ซึ่งเป็นสูตรที่ลดเกลือที่ใช้ในกระบวนการหมักให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่เพิ่มโพแทสเซียมให้เป็นภาระกับไต จึงได้เป็นซีอิ๊วสูตรที่เค็มน้อยลง แต่ยังคงความหอมอร่อยไว้ได้เหมือนเดิม

 

 

 

 

ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ปรากฎอยู่บนฉลากแค่บรรทัดเดียว แต่เมื่อยืนยันว่าต้องการผลิตซีอิ๊วเพื่อสุขภาพ เรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ก็เป็นเครื่องที่ทุกคนในโรงงานให้ความสำคัญอยู่เสมอ

 

 

 

 

โรงงานซีอิ๊ว เซิง โชว หวัง

 

 

 

งานสำคัญ แต่คนสำคัญกว่า – เคล็ดลับการบริหารและรักษาคุณภาพให้ได้อย่าง เซิง โชว หวัง

 

 

 

 

จากเดิมที่เคยมีภาพจำกับธุรกิจแค่ว่า เซิง โชว หวัง ทำให้คุณแม่ไม่ต้องบินไปหิ้วซีอิ๊วมาจากฮ่องกงแล้ว ตอนนี้คุณลินดาเข้ามาบริหารงานเต็มตัวนานนับ 10 ปี นับตั้งแต่ผู้บริหารรุ่นแรกและผู้ก่อตั้งอย่าง คุณประเสริฐ มังกรกาญจน์ วางมือและวางใจให้เข้ามาบริหารงานต่อ

 

 

 

 

อะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการเป็นผู้บริหารรุ่นที่สองของธุรกิจนี้ – เราถาม

 

 

 

 

“การทำให้คุณพ่อยอมรับความเปลี่ยนแปลงค่ะ ยากที่สุด (หัวเราะ) คนอื่นในองค์กรไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนใหญ่เขาก็เห็นด้วยกับเรานี่แหละ แต่คุณพ่อเขาก็จะหวงของที่เขาเคยทำไว้ ช่วงแรกๆ ที่มา พ่อไม่ให้โอกาสในการตัดสินใจเลย เขาจะให้เดินตามเขาก่อน เรียนรู้ก่อน ว่าบริษัททำอย่างไร การผลิต การดูแล การขาย เป็นอย่างไรบ้าง เหมือนเป็นนักศึกษาฝึกงาน แล้วเป็นอยู่หลายปีมาก (ลากเสียง)

 

 

 

 

“ทำไปซักพักหนึ่งเลยพ่อถึงจะเริ่มมาถามเราก่อนว่าคิดยังไง อันนี้ควรทำยังไง แล้วสิ่งไหนที่เราคิดแล้วอาจจะไปไม่ถูกทาง พ่อก็จะบอกทันทีเลยว่าอันนี้ไม่ใช่ ควรจะเป็นอย่างนี้ ลองทำแบบนี้ดูสิ หลังจากนั้นพักใหญ่พ่อก็จะเริ่มถอยให้เราแล้ว คือแทนที่จะมาดูรายละเอียดงานเยอะๆ บางเรื่องเขาก็เริ่มไม่ดู เริ่มให้เราตัดสินใจเอง ก็เป็นแบบนี้มาจนประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว เขาก็เริ่มวางมือไปค่อนข้างเยอะแล้ว”

 

 

 

 

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นรุ่นที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนฉลาก ยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ และสื่อสารไปยังผู้บริโภคประเภทขายปลีกให้มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังต้องคงมาตรฐานเดิมให้ได้ ก็คือคุณภาพและความปลอดภัยของซีอิ๊ว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ เซิง โชว หวัง ตลอดมา

 

 

 

 

ซีอิ๊ว เซิง โชว หวัง

 

 

 

“สินค้าทุกอย่างเรายึดหลักเดิมนะคะ ไม่ใส่สี ไม่แต่งกลิ่น ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่ใช่สารเคมี ซึ่งอันนี้มีมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อแล้ว เพราะคุณพ่อเขาสนใจเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่แรก แล้วเขาก็เป็นคนบอกตลอดว่า เราต้องทำระบบ ต้องรักษาคุณภาพ ต้องมีมาตรฐานที่ดี ต้องปลอดภัยกับคนที่เราจะขายของ ที่สำคัญที่สุดคือห้ามโกหกลูกค้า สิ่งที่อยู่บนฉลากกับผลิตภัณฑ์ต้องเป็นสิ่งเดียวกันจริงๆ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เราต้องยึดไว้เสมอ

 

 

 

 

“ที่เปลี่ยนมากที่สุดน่าจะเป็นการรีแบรนดิ้งค่ะ ตรงฉลากนี้เป็นผู้เฒ่าคนใหม่นะ คนเก่าหน้าเด็กกว่านี้ (หัวเราะ) คุณพ่อก็จะมีพูดบ้างว่า อันเก่าก็สวยนี่ ทำไมต้องไปเปลี่ยนมันด้วย เขาก็จะหวงของที่เขาเคยทำไว้ใช่ไหมคะ แต่เราก็เปลี่ยนเลย เพราะถ้าเราทำเหมือนที่เคยทำมา 20 ปีที่แล้ว เราก็จะอยู่กับที่มากเลย

 

 

 

 

“ตอนหลังคุณพ่อก็โอเคนะคะ อาจจะต้องใช้เวลานิดหนึ่ง อันนี้คิดว่าน่าจะเป็นปัญหาที่คนมารับช่วงต่อเจอมากที่สุด จรงิๆ ก็กดดันเหมือนกันค่ะ เพราะคุณพ่อเขาทำธุรกิจมาจนเป็นที่รู้จักพอสมควร พอมาเป็นรุ่นลูก คนก็คาดหวังว่าเราต้องเป็นเหมือนคุณพ่อแน่เลย ต้องทำดีเหมือนเขานะ ห้ามแย่กว่า ต้องดีกว่าเท่านั้น”

 

 

 

 

 

 

 

แม้จะเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ แต่คุณลินดาบอกว่า ต้นทุนเก่าอย่างมาตรฐานการผลิต การวางระบบ และการดูแลพนักงาน ทำให้ธุรกิจโรงงานซีอิ๊วเป็นงานที่ไม่ได้หนักและเหนื่อยอย่างที่คิด

 

 

 

 

“โชคดีมากว่าเรามีผู้จัดการที่อยู่มาตั้งแต่ตอนที่ตั้งโรงงาน รวมถึงผู้จัดการส่วนขายที่อยู่มาตั้งแต่เปิดบริษัทเลยด้วย ที่ผ่านมาคุณพ่อค่อนข้างให้ความสำคัญกับพนักงานเรา เราเลยมีพนักงานเราอยู่กับเรานานๆ เยอะมาก แล้วก็โชคดีตรงที่ว่า นอกจากที่เขาจะอยู่นานแล้ว เขาก็ทุ่มเทกับบริษัทด้วย เขาจะแนะนำเราตลอด ถ้าเราบอกว่าเราจะปรับตรงโน้นตรงนี้ดีไหม เขาคิดว่าดีไม่ดีอย่างไรเขาก็จะแจ้งเราทันที เลยทำให้เรามาบริหารต่อได้ไม่ยาก

 

 

 

 

“เราคิดว่าพนักงานคือครอบครัวเรานะ เพราะเราอยู่กับเขาทุกวัน อยู่ทุกวันจริงๆ มากกว่าอยู่กับลูกกับสามีอีก (หัวเราะ) ถึงเราจะเป็นผู้บริหาร แต่เขาอายุงานมากกว่าเราเยอะ ดังนั้นต้องให้เกียรติเขา ต้องเคารพความคิดและประสบการณ์ของเขาด้วย อย่ามีทิฐิเยอะเกินไป ไม่ใช่ว่าเราใหญ่สุดแล้วต้องฟังเราคนเดียว เราเชื่อว่าถ้าเราอยู่กับพนักงานได้จริงๆ คือเราต้องรู้จักทุกคน ตั้งแต่แม่บ้านไปยันผู้บริหาร

 

 

 

 

“สำคัญที่สุดไม่ใช่งาน แต่เป็นคนค่ะ เพราะถ้าเราไม่มีทีมงานที่ดี ถ้าทีมงานไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเดียวกับเรา เราจะไม่สามารถทำอะไรสำเร็จได้เลย เพราะฉะนั้นพนักงานและคนในองค์กรสำคัญที่สุด ต้องให้เวลาและต้องรับฟังเขาเยอะๆ แล้วก็ ต้องมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาให้ทุกคนได้เรียนรู้อยู่เรื่อยๆ ทั้งกับคนทำงานและกับตัวเราเองด้วย ถ้าเราหยุดเรียนรู้ปุ๊บ เราจะอยู่นิ่งๆ และนั้นหมายถึงว่าเราจะถอยหลังไปเรื่อยๆ ทันที เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็วมาก”

 

 

 

 

 

 

 

“ตอนนี้มีลูกค้าหิ้วไปขายที่ฮ่องกงแล้วนะ ดีใจมากเลย ดีใจที่ต่อยอดธุรกิจที่พ่อสร้างมาได้ แล้วเราก็อยากทำให้มันยั่งยืนขึ้น เป็นสากลมากขึ้น ตอนนี้เราตั้งเป้าว่าอยากจะทำให้คนต่างชาติรู้จักเรามากขึ้นด้วย

 

 

 

 

“เราก็เป็นแค่โรงงานเล็กๆ ในตลาดซีอิ๊วก็มีผู้ผลิตอยู่ไม่กี่ชื่อ แต่เราก็ยังสามารถแทรกตัวเองไปเป็นส่วนเล็กๆ อยู่ในตลาดนั้นได้ แค่นี้เราก็ดีใจมากแล้ว แต่ตลาดขายปลีกเราไม่ได้ใหญ่ แต่เรามีลูกค้าที่เหนียวแน่นมาก เป็นความภูมิใจเล็กๆ ของเรา”

 

 

 

 

หลังจากบ่ายวันนั้นที่เราได้เดินทะลุทุกซอกทุกมุมในโรงงานซีอิ๊วแห่งนี้แล้ว กลิ่นหมักและรสเปรี้ยวนิดๆ ของ เซิง โชว หวัง หรือ ซีอิ๊วไม่แมส ที่เคยซื้อมารีวิวก็สมเหตุสมผลขึ้นกว่าเดิม และหลังจากนี้เราคงจะสนุกกับการอ่านฉลากซีอิ๊วและสารพัดเครื่องปรุงขึ้นอีกเยอะ

 

 

 

 

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของซีอิ๊วที่ไม่แมสแต่ดีที่เราอยากแนะนำให้คุณไปลองค่ะ

 

 

 

 

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ เซิง โชว หวัง ได้ที่
Shopee [Aff Link] : https://shope.ee/1LDEJYTXyh
Website : http://healthysoysauce.com/th/

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณวินิดา มังกรกาญจน์, คุณสุรัตน์ วีระวัฒนาเดช (กรรมการผู้จัดการ บจก. ไทย-ซีโน ฟูด จำกัด) และ คุณสุนีย์ ศรีวิชชุพงษ์ (ผู้จัดการฝ่ายผลิต บจก. ไทย-ซีโน ฟูด จำกัด)

Share this content

Contributor

Tags:

คุยกับผู้ผลิต, เครื่องปรุง

Recommended Articles

Food StoryKintaam ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่ทั้งคนทำและคนกินสนุกได้ ‘ตามอัธยาศัย’
Kintaam ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่ทั้งคนทำและคนกินสนุกได้ ‘ตามอัธยาศัย’

สองสาวจากเชียงใหม่กับไอเดียดีๆ ต่อยอดสิ่งที่รักสู่ร้านไอศกรีมแซนด์วิชสุดฮอต

 

Recommended Videos