เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

อาหารฝีมือพ่อแม่ สายใยรักสู่ลูกน้อย

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

เรื่องเล่ามื้ออร่อย ของคุณพ่อคุณแม่ที่เลือกเข้าครัวทำอาหารให้ลูก

อาหารจากรสมือพ่อแม่ อาจไม่ใช่รสชาติที่อร่อยที่สุด แต่ในอาหารหนึ่งจานนั้นเราเชื่อเหลือเกินว่ามันเต็มไปด้วยส่วนผสมของความห่วงใยและความปราถานาดีที่อยากให้ลูกแข็งแรง เติบโตสมวัย การเข้าครัวทำอาหารหนึ่งมื้อ จึงเสมือนการบอกรักผ่านมื้ออาหารอย่างเป็นธรรมดาสามัญที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกคน เช่นเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ที่ต้องแบกรับหลายบทบาทในชีวิต KRUA.CO จึงชวน 3 บุคคลเหล่านี้มาเล่าเรื่องราวผ่านบทบาทหนึ่งของพ่อแม่ที่เข้าครัวทำอาหารให้ลูกกิน

 

อุ้ม นพรรต นพปศักดิ์

 

ทำอาหารให้ลูก คือการเรียนรู้ที่จะกินดีไปพร้อมๆ กัน

 

ใครติดตามเพจ My name is napat หรือไอจี aum_napat ของคุณแม่ยังสาวอย่าง อุ้ม นพรรต นพปศักดิ์ คงเห็นว่าหน้าเพจและไอจีของเธอนั้นเต็มไปด้วยภาพอาหาร และคลิปทำอาหารเมนูของน้องชาร์ม ลูกสาวตัวน้อยที่กินเก่ง กินอาหารที่แม่ทำอย่างอร่อยถึงกับทุบโต๊ะขอกินอีก เกิดเป็นแฮทแทค #เมนูอุนยายทุบโต๊ะ จนหลายคนอดยิ้มให้กับความกินเก่งของเธอไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่กินได้เยอะ แต่ยังกินอาหารดีได้หลากหลายตั้งแต่ผัก ผลไม้ ไปจนถึงซูเปอร์ฟู้ด

 

“ครั้งแรกที่ทำอาหารให้ลูก ตื่นเต้นมาก อยากทำแล้ว อยากทำแล้ววว ตอนนั้นคุณหมอบอกให้ลูกดื่มนมให้ครบ 6 เดือน ช่วง 4 เดือนก็เริ่มเตรียมล้างอุปกรณ์ต่างๆ แล้วก็ลิสต์เมนูไว้เพียบไปหมด พอตอนได้ทำจริงๆ โอ๊ยยย มีความสุขมากกกก พอเห็นเขากินเราก็ฟินกว่าได้ทำอีก”

 

“อุ้มทำอาหารให้น้องชาร์มเองทุกวัน เกือบทุกมื้อเลย เราไปตลาดวันนี้มีอะไรสดเราก็เอามาทำ แต่เราจะมี ingredient ที่ใส่อยู่เป็นประจำ เช่น งาขาว งาขี้ม่อน ที่มีติดครัวอยู่แล้ว อย่างงาขี้ม่อนมันมีแคลเซียมสูงมากก็เลยให้น้องกินตั้งเริ่มกินอาหารได้ พวกเมล็ดเจีย ควินัว ซูเปอร์ฟู้ดต่างๆ ซึ่งอุ้มบอกลูกเพจเสมอว่าควรให้น้องหัดกินตั้งแต่แรกๆ ให้เขาคุ้นชินกับกลิ่น ถึงจะเป็นผักก็ตาม

 

 

“แต่ว่าอย่างผัก ส่วนผสมมันใหญ่ สีชัด น้องโตขึ้นมาน้องอาจจะอี๋ ไม่เอา พอเริ่มรู้แล้วว่านี่คือผักหรือคืออะไร แต่เด็กเอาแน่เอานอนไม่ได้ค่ะ วันนี้เขากิน พรุ่งนี้ไม่กิน หรือวันนี้ไม่กิน แต่พรุ่งนี้เขากิน แต่อย่างพวกงาขาวงาดำ ชิ้นมันเล็กกก เขาก็กินไปโดยไม่ได้รู้สึกอะไร

 

“บางทีแม่ๆ หลายคนชอบถามอุ้ม บอกว่าน้องชาร์มกินเก่งจังเลย อิจฉา ก็ถือว่าน้องโชคดีแหละเป็นเด็กที่กินง่าย กินเก่ง แต่มันก็มีเยอะมากที่เขาไม่กิน เบื่ออาหารแต่เราไม่ได้ถ่ายภาพลงไปไง กินบ้าง กินไม่หมดบ้าง คุณหมอก็บอกว่าให้ปล่อยไปเลยก็ไม่ต้องกิน คือมันสร้างลักษณะนิสัยการกินให้เขาด้วย เหมือนอย่างเราอะ เราไม่อยากกิน เขาก็มีบ้างที่ไม่อยากกินเหมือนกัน”

 

นอกจากได้เลือกอาหารที่ดีให้ลูกด้วยตัวเองเพื่อให้เติบโตสมวัย การถ่ายทอดเมนูอาหารของน้องชาร์มผ่านโพสต์บนเพจและไอจี ยังเป็นการแชร์ไอเดียให้กับแฟนเพจกลุ่มคุณแม่ที่อาจคิดเมนูไม่ออก ไม่รู้จะเริ่มทำอาหารยังไง แต่ในมุมมองของอุ้ม สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่มีเวลาทำอาหารให้ลูกจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

 

“แฟนเพจอุ้มชอบพูดว่า เฮ้ย ดูไอจีแล้วรู้สึกผิดว่ะ ฉันไม่เคยทำอาหารให้ลูก ให้สามีเลย ดูแล้วกดดันจังเลย เราเลยรู้สึกว่าอย่าไปคิดอย่างนั้น เวลาว่างของคนเรามันต่างกันเนอะ ณ ตอนนี้เพจของอุ้มเป็นสิ่งที่ทำด้วยความรัก เราหยุดทำไม่ได้เพราะมันมีหลายคนที่รอเมนูจากเราเพราะคิดเมนูไม่ออก แล้วพี่อุ้มก็มีกำลังใจมากมายในการทำเพจ เป็นงานที่ต้องส่งต่อให้ทุกคน หลายคนพูดว่าฉันเป็นแม่ที่ไม่ดีเลย ไม่ได้ทำอาหารให้ลูก เราฟังแล้วตกใจมาก มันไม่ใช่ว่าคนทำอาหารให้ลูกจะเป็นแม่ที่ดีทั้งหมดนะ มันก็ไม่ใช่ไง แกไม่ทำก็ไม่ใช่ว่าแกไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าจะเลือกทำก็ทำเฉพาะวันพิเศษได้ เช่นวันเกิด วันปีใหม่ เฮ้ยเรามาทำอาหารกินที่บ้านกัน มันก็เกิดความสุขในบ้านแล้ว”

 

 

 

“แต่ถ้าทำได้ ช่วงกำไรที่สุดคือข้าวมื้อแรกของลูกนี่แหละ นับตั้งแต่ 6-10 เดือน ไปจนถึงประมาณขวบนึงก่อนจะเริ่มกินอาหารปรุงรสได้แล้ว ช่วงนั้นป้อนอะไรไปก็กิน ตอนนั้นน้องชาร์มกินอะไรที่โคตรมีประโยชน์เลย คือเป็นอาหารที่กินแล้วแบบอี๋อะ แต่ลูกเรากินแบบเอร็ดอร่อยมาก ทุกอย่างไปนึ่งแล้วปั่นรวมกัน”

 

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ไร้สกิลทำอาหาร อุ้มบอกกับเราว่าไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนัก สัญชาตญาณความเป็นแม่จะผลักให้เกิดการเรียนรู้เพื่อลูกที่รัก เช่นเดียวกับเธอที่เริ่มเรียนรู้การกินดีไปพร้อมๆ กับการเริ่มทำอาหารให้ลูก และการลงมือทำให้เห็นก็เป็นเหมือนการส่งต่อสกิลการทำอาหารให้ลูกของเธอเช่นกัน

 

“จากที่ทำให้คนอื่น ให้แฟนกิน พอมีลูกปุ๊บอะไรๆ มันก็เปลี่ยนไป หมดเลย เมื่อก่อนเราไม่เคยเสิร์ชหาข้อมูลเลยว่าแครอทมีประโยชน์ยังไง มะเขือเทศมีประโยชน์ยังไง ต้องกินสุกหรือกินดิบ ก็ทำไปตามใจที่อยากจะกิน ไม่ได้รู้ว่าถ้าทำเมนูทอดต้องใช้น้ำมันอะไรถึงจะเหมาะ พอมีลูกเราเรียนรู้ทุกอย่างที่จะเข้าปากเขา แล้วก็หาสิ่งที่มันดีที่สุดให้เขา เราเองก็เรียนรู้การทำอาหารได้ดีขึ้น สกิลดีขึ้น เลือกกินดีขึ้น แล้วสุขภาพเราก็ดีขึ้นด้วย พอเรารู้ว่าอะไรกินดีไม่ดีก็มาปรับใช้กับตัวเอง

 

“อุ้มเชื่อว่าหลายคนที่ทำอาหารไม่เป็น พอถึงเวลาที่มีลูกแล้ว แล้วจะต้องเข้าครัวจริงๆ อะ ก็เป็นทุกคนนะ มันจะมีแรงผลักดันจากความเป็นแม่ขึ้นมาเอง อย่างพี่อุ้มก็หัดทำอาหารเอง เราโตมากับคุณย่า ช่วยคุณย่าทำตั้งแต่เด็ก ก็เหมือนน้องชาร์มตอนนี้ ให้ช่วยตำ ช่วยแกะกระเทียม ที่พี่อุ้มทำกับน้องชาร์มตอนนี้ก็เหมือนกับที่คุณย่าทำกับพี่อุ้มตอนเด็กๆ แต่ว่าตอนนั้นคุณย่าก็ไม่กล้าปล่อยให้พี่อุ้มทำเยอะเท่าน้องชาร์ม

 

 

 

“แล้วที่น้องชาร์มเข้าครัวก็เป็นเพราะเขาเห็นเราทำด้วย พี่อุ้มเลี้ยงลูกคนเดียวเนอะ ตอนนั้นไม่ได้มีพี่เลี้ยง ไปไหนก็กระเตงไป เข้าครัวก็หนีบเขาเข้าเอวข้างหนึ่ง อีกมือนึงทำอาหารบดให้เขา คือเขาก็อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด วันหนึ่งที่กล้ามเนื้อเขาแข็งแรงก็เริ่มจับตะหลิวบ้าง ย้อนกลับไปแล้วมันเหมือนเราตอนนั้นเลย แต่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องทำไปตลอดนะ โตขึ้นอยากจะไปซื้อกินก็ได้ เรื่องของเธอ ฮ่าๆ ไม่ซีเรียสเลย”

 

ความสบายใจที่ได้รู้ต้นทางที่มาของอาหาร ได้คัดสรรของดีมีประโยชน์ให้ลูกและคนในครอบครัว เป็นสิ่งที่ทำให้อุ้มยังมุ่งมั่นทำอาหารให้ลูกต่อไปในทุกๆ วัน และการทำอาหารกินเองนั้นทำให้ได้กินดีในราคาที่ประหยัดกว่า

 

“สมมติว่าเราทำไข่เจียวหมูสับง่ายๆ เลย การสับหมูในเขียงอะ เราไม่รู้เลยว่าที่ร้านเขาล้างเขียงหรือเปล่า ขี้เขียงอะ แล้วก็สับๆ หมูสดไหม ถ้าทำกินเองเรารู้ว่าสิ่งที่กินมันสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์​ อย่างที่สอง ทำอาหารประหยัดมาก แล้วก็ได้สิ่งที่ดีมาก อย่างเราไปร้านอาหารแบบชาวบ้านเลยนะ ต่อให้ไม่ใช่โรงแรมหรู ทุกที่เหมือนกันหมด โรงแรมหรูปลาแซลมอนชิ้นนี้อาจจะพันกว่าบาท แต่ถ้าเราซื้อมาทำเองอาจจะแค่ชิ้นละ 300 แต่เราก็ว่าเขาไม่ได้ เขามีต้นทุน การทำเองมันเลยประหยัดกว่าอยู่แล้ว อย่างลูกชอบกินผัก ข้าวผัดผัก เวลาเราซื้อกินก็ได้แต่เศษผัก แต่ถ้าเราทำเองเราก็ได้ผักเน้นๆ เลย ซึ่งผักกำนึงสิบบาท ยี่สิบบาท แล้วเราก็ไม่ได้กินแค่มื้อเดียว เรากินได้หลายมื้อหลายคนด้วย”

 

นิดนก – พนิตชนก ดำเนินธรรม

 

การเข้าใจธรรมชาติและไม่ยึดติด คือสิ่งที่ซ่อนอยู่จากการเข้าครัวทำอาหารด้วยกัน

 

ทั้งบทบาทพนักงานออฟฟิศ นักเขียน เจ้าของหนังสือสองเล่มเรื่อง POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย กับ TWO BE CONTINUED โปรดติดตามตอนแต่งไป ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตรักก่อนแต่งและหลังแต่งของเธอ ครีเอทีฟของเพจเกี่ยวกับแม่และเด็ก ไปจนถึงพ็อดแคสต์ The Rookie Mom ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ของความเป็นแม่ ทำให้ นิดนก – พนิตชนก ดำเนินธรรม เป็นหญิงสาวที่มีหลายบทบาท และในหลายๆ บทของเธอนั้นถูกเชื่อมโยงไว้ด้วยความเป็นแม่

 

ความรักในบทบาทนี้ชัดเจนจนเธอตัดสินใจเลือกเป็นคุณแม่ full time พร้อมๆ กับทำงานทุกอย่างที่บ้าน เพื่อทุ่มเทเวลาให้ลูก และด้วยความหลงรักบทบาทของแม่ ทำให้เราอยากรู้โมเม้นต์อาหารมื้อแรกที่นิดนกทำให้ลูกมากว่า เธอรู้สึกอย่างไร เมื่อเห็นลูกกินอาหารที่เธอทำ

 

 

“วิธีการที่เราให้อาหารลูกมันคือ Baby-Led Weaning คือมื้อแรกที่ลูกเริ่มกินอาหารเขาจะกินเอง ไม่มีการป้อนเลยตั้งแต่ 6 เดือน กินได้ทุกอย่างที่ผู้ใหญ่กิน หมู ผัก มีข้อยกเว้นนิดหน่อยเช่นถั่วแข็งๆ และมีข้อแม้ว่าไม่ปรุง ลดเกลือให้ได้น้อยที่สุด แล้วก็อยู่ในรูปแบบแท่งขนาดเท่านิ้วชี้ผู้ใหญ่ เพราะว่าเด็กในวัยนี้เขาจะใช้การจับกำ

 

“ช้อยส์ของอาหารมันก็เลยมีไม่เยอะมาก ก็จะเป็นมันหวานหั่นเป็นแท่ง ฟักทองหั่นแท่ง ไก่ต้ม ไก่นึ่ง ไก่ย่างที่หั่นเป็นแท่ง เป็นอาหารแนวๆ นี้ค่ะ วิธีการนี้มันค่อนข้างใหม่ในเมืองไทยสมัยนั้น เราก็จะไม่ค่อยรู้เมนูที่เป็นเมนูไทยมากเท่าไหร่ ก็อ่านตำราฝรั่ง แล้วแบบอะไรวะ ไอ้แอสพารากัสเราก็ไม่ค่อยได้ใช้ทำอาหารเท่าไหร่ เพราะเราทำแต่อาหารไทย พอมาเจอสิ่งนี้ที่ต้องทำให้ลูก รสชาติมันจะต้องเป็นยังไงวะ ต้องต้มกี่นาที คือนึกวิธีการทำสิ่งเหล่านี้ไม่ออกมันก็จะลนๆ ไม่เคยนำมันหวานมาทำอาหารมาก่อน มันต้องทำยังไงวะ คือใหม่มากกับวัตถุดิบเหล่านี้

 

“พอทำไปได้ 2-3 วันก็ลองทำให้มันเป็นไทยมากขึ้น เช่นไก่ย่าง ทำหมูสับทอดแต่เปลี่ยนจากปั้นกลมเป็นปั้นแท่งๆ เพราะว่าเราถนัดอาหารไทย เลยพยายามปรับบริบททุกอย่างให้อยู่ในอาหารไทยแทน หรือไม่ก็อาหารเอเชีย

 

“ด้วยความที่เรามือใหม่ก็ลนตั้งแต่ตอนทำแล้ว พอตอนลูกกินก็ลุ้นนมากก ตอนลูกกินโอ๊ยเป็นเรื่องใหญ่โต ตั้งกล้องไว้เลยเว้ยว่าเขาจะเป็นยังไง ลุ้นว่าเขาจะกินไหมกับเขาจะติดคอไหม ซึ่งก็ติดคอ มีจังหวะที่อึกแล้วเขาก็อ้วกออกมา แต่เขาดูตื่นเต้นมากกับอาหาร พอเห็นแล้วก็คว้าทุกอย่าง ด้วยสัญชาตญาณมนุษย์มั้ง แล้วก็อาจเห็นว่ามันเป็นของเล่นด้วย คว้ามาจับเข้าปากเลย ตั้งกล้องถ่ายไว้เลยเราทำอย่างนี้อยู่เป็นเดือนเพราะตื่นเต้นที่เห็นลูกกินในช่วงแรกๆ”

 

 

เหตุผลที่พี่นิดนกเลือกใช้วิธีการกินนี้กับลูก แม้จะเป็นวิธีที่ใหม่มากก็เพื่อฝึกให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่เด็ก มีพัฒนาการเรื่องกล้ามเนื้อ สามารถจับช้อนและใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการกินได้ รวมถึงเปิดต่อมรับรสให้หลากหลาย ‘ณนญ’ ลูกสาววัย 3 ขวบครึ่งในปัจจุบันจึงเป็นเด็กกินเก่ง กินข้าวร่วมสำรับกับพ่อแม่ได้

 

“กินเก่งไม่ใช่กินเยอะนะ แต่กินได้ด้วยตัวเอง แล้วก็รู้จักเนื้อสัมผัสของอาหารจริงๆ รู้ว่านี่คือบรอกโคลี หน้าตา รสชาติเป็นแบบนี้จริงๆ ถ้าเราบดทุกอย่างมันจะเหมือนกันไปหมดไง เละเหลวๆ แต่นี่พอเราไปตลาดกับลูกเขาก็รู้ว่านี่คือบรอกโคลีแบบเดียวกับที่เขากิน เพราะเขาเห็นทุกอย่างเป็นชิ้นเป็นอันหมด อย่างตามทฤษฎีบอกว่าจะทำให้เป็นคนกินง่าย แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่ากินผักเก่งนะ

 

“เราก็จะเลือกเมนูสองแบบ ถ้าเป็นเด็กมันจะมีเมนูประมาณนี้ที่ยังไงเขาก็กิน เพียงแต่ว่ามันจะไม่ค่อยถูกหลักโภชนาการ เช่นถ้าเราทำเต้าหู้ทรงเครื่องมันก็จะมีแต่หมูสับ ไม่มีผักเท่าไหร่ เพราะว่าเขาจะไม่กิน เราไม่คะยั้นคะยอนะ จะกินไม่กิน เราเองก็ไม่ใช่คนกินผักเก่ง เลยไม่ซีเรียสเพราะรู้สึกว่าเราก็โตมาได้ แต่อาจจะไม่ได้โตมาด้วยความท้องไม่ผูกเลย มันก็ไม่ได้สมูทแบบนั้น แค่รู้สึกว่ามันไม่ได้ส่งผลกับชีวิตมากมายขนาดนั้น ความโชคดีคือเขากินผลไม้เก่ง เราเลยรู้สึกว่ามันทดแทนกันพอได้

 

“อีกแบบคือทำให้เขากินแบบที่เรากิน อย่างล่าสุดทำแกงกะหรี่ก็กินหม้อเดียวกันได้เลย เพราะแกงกะหรี่ญี่ปุ่นมันไม่เผ็ดอยู่แล้ว อาจเผ็ดร้อนนิดหนึ่งแต่ก็ค้นพบว่าเขากินเผ็ดได้ในระดับเดียวกับเรา เราเองก็ไม่ต้องแยกสำรับเป็นสองเมนู เขากินมื้อแรกก็กินอาหารเดียวกับผู้ใหญ่เลย เพียงแต่ของเขาไม่ปรุง เช่นเรากินไก่ทอด ไก่ทอดของเขาก็จะเป็นไก่ที่ไม่ปรุง หมูอบที่ไม่ได้ปรุง เป็นรสชาติของหมูจริงๆ แล้วก็จะแยกทำของลูกให้เสร็จ ค่อยปรุงรสชาติเพิ่มเป็นของเรา แต่ตอนนี้โตแล้วก็กินหม้อเดียวกัน กินสำรับเดียวกันกับเราได้เยอะ ยกเว้นอันไหนที่เป็นอาหารเผ็ด เช่น ต้มยำ เราก็จะตักขึ้นมาก่อนให้เขา แล้วเราค่อยเติมพริก เติมรสชาติที่เป็นของเรา การกินสำรับเดียวกันกับพ่อแม่เลยดี เพราะถ้ามันเหลือผัก ลูกไม่กินเราก็กินเอง มันจะได้ไม่เหลือทิ้ง”

 

 

ในฐานะคุณแม่ full time ที่ทำงานและเลี้ยงลูกอยู่บ้าน อาจมีเวลาเข้าครัวทำอาหารให้ลูกบ้าง แต่กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าครัว ถึงอย่างนั้นการทำอาหารง่ายๆ สักจาน หรือเพียงวาระพิเศษสักมื้อ ก็เป็นสิ่งที่นิดนกแนะนำให้ลองทำ

 

“ถ้าไม่ทำอาหารเลย เขาอาจจะไม่ได้เห็นที่มาของอาหาร ถ้าซื้อทุกวัน ลูกก็เห็นแต่ภาพเปิดปากถุงแล้วเทออก แต่ถ้าเราทำ แม้มันจะง่ายมากๆ เช่นไข่ต้ม แต่เขาก็เห็นภาพว่ามันเป็นไข่ เอาออกมาจากตู้เย็น เอาออกมานะ ต้มน้ำ ใส่ มันได้เห็นต้นตอของอาหารอะ มันจะนำไปสู่ความเข้าใจธรรมชาติ เราเลยเชียร์ให้ทำนะ แล้วก็เข้าใจในข้อจำกัด เพราะงั้นทำเมนูง่ายๆ ก็ได้ ให้ได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูก หรือในวาระพิเศษ อย่างเราตั้งใจเลยว่าทุกวันเกิดลูกจะไม่ซื้อเค้ก ซื้อแค่ปีแรกปีเดียว หลังจากนั้นทำเค้กเอง ถามว่าเราทำเป็นไหม ก็ไม่ แต่ก็ดี เหมือนเราได้ทดลองทำหนึ่งปีหนึ่งครั้ง ระหว่างทางก็มีซ้อมๆ บ้าง

 

 

“วันเกิดลูกมันไม้ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นเค้กสวยงามแบบยอดมนุษย์นะ แต่เป็นเค้กที่ทำเองกับพ่อแม่ที่ตั้งใจช่วยกันทำ ซึ่งทำมาสองปีแล้ว เราก็ให้เขาเลือกว่าอยากทำเค้กอะไร ก็ทำเป็นคัพเค้ก มันง่ายด้วย เขาก็ช่วยตวง ช่วยผสม ตอนนี้คือผสมเป็นแล้ว อย่างวันเกิดที่ผ่านมาทำให้เขารู้จักสเปตูล่า (อุปกรณ์สำหรับปาดเค้ก) ซึ่งจริงๆ มันเป็นศัพท์ที่เราโตมาถึงพึ่งรู้จัก พอเขาได้ทำอาหารภาษามันก็มาเอง ก็จะรู้จักตระกร้อมือ สเปตูล่า น้ำหนัก 1 กรัม 2 กรัม มันเป็นความรู้ทั้งหมดเลย เป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา โดยที่เรียนอย่างเป็นธรรมชาติไม่ต้องเข้าห้องเรียนเลยด้วยซ้ำ อย่างเช่นคณิตศาสตร์เวลาเขาหั่นเต้าหู้ เราสังเกตเลยว่าเขาจะพยายามกะให้เท่ากัน คือแบ่งครึ่ง แบ่งครึ่ง แล้วก็แบ่งครึ่งอีก”

 

ช่วงโควิดที่ทำการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์​ คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็ทำงานที่บ้าน จึงเป็นโอกาสดีที่จะลองทำอาหารให้ลูก หรือแม้แต่การชวนลูกเข้าครัวทำอาหารร่วมกัน นอกจากได้เรียนรู้ทักษะผ่านการทำอาหาร สำหรับนิดนกมันคือการเรียนรู้ที่จะผิดพลาดไปพร้อมๆ กัน

 

“เด็กเขาสนุกเว้ย เขาแค่อยากอยู่กับแม่ ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ ยิ่งเวลาที่เราต้องอยู่กับลูกตลอดทั้งวัน การทำอาหารเป็นกิจกรรมที่ง่าย วันนี้อยากกินหมูกระทะก็ชวนลูกมาทำหมูกระทะ ทำเสร็จผลที่ได้ก็คือกิน เก็บล้างจบ เราไม่ต้องคิดอะไรใหม่เลย มันเป็นสิ่งที่ง่ายมากแต่ได้ทุกอย่าง ได้พัฒนาร่างกายลูก กล้ามเนื้อมัดเล็ก ใช้มือหั่น ผสม แค่ทำอาหารก็พอแล้ว

 

 

“แล้วกับเด็กเล็ก มันทำให้เขามั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและทำอะไรได้ เวลาเราให้ลูกช่วยทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ ในครัว เช่น ปอกกระเทียม หั่นผัก พอเขาทำเสร็จเขาก็จะบอกอันนี้หนูทำเองเลยนะ หรือเวลาที่เอาไปให้พ่อกินเขาก็จะบอกอันเนี้ย ผักเนี้ยหนูหั่นเองทั้งหมดเลยนะ เป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเก่งอะ ในโลกใบนี้เขาทำอะไรก็ได้ผ่านการเข้าครัว

 

“โดยเฉพาะช่วงโควิดคือโอกาสทองเลย อยากทดสอบหม้อทอดก็ทำเลย อย่างเราไม่เคยทำเค้ก เราก็มาเริ่มทำเค้กจากการมีลูก มันก็ดีนี่นา ได้เรียนรู้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ไม่ต้องคิดว่าเอ้ยแม่ทำไม่เป็นอะ ต้องรอให้แม่ทำเป็นก่อนแล้วค่อยให้ลูกมาเห็น เพราะลูกไม่ได้อยากเห็นแม่ที่เพอร์เฟก การที่ลูกได้เห็นแม่มั่วๆ ซั่วๆ ทดลองไปกับเขามันเป็นธรรมชาติ แล้วเขาก็รู้ว่าทุกอย่างมันไม่ต้องเพอเฟกต์ก็ได้นี่นา เค้กออกมาไหม้ๆ นิดหน่อย เอ้าก็กินได้นี่ เราว่ามันจะลดเรื่องความคาดหวังต่อโลก ความเพอร์เฟกชั่นนิสของคนลงไปได้ผ่านการทำอาหาร ถ้ายังไม่อร่อยก็ปรุงรสเพิ่มสิ ทุกอย่างมันมีทางไปได้หมด ไม่ต้องยึดติดมันคือสิ่งที่ซ่อนอยู่จากการทำอาหารด้วยกัน

 

น่าน หงษ์วิวัฒน์

 

รสมือพ่อแม่และครอบครัว คือรสชาติจากสายใยที่สร้างความทรงจำติดตัว

 

ใช่เพียงแต่แม่ที่รับบทบาทปรุงอาหารให้ลูก คุณพ่อลูกสองอย่างเชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ ผู้ดำเนินรายการ CIY cook it yourself เจ้าของวลี “ผมทำได้ คุณก็ทำได้” จาก KRUA.CO ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าการทำอาหารไม่ใช่เรื่องยากเกินจะเริ่ม เช่นเดียวกับการทำอาหารให้ลูก ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ และเป็นเรื่องธรรมดาของคนเป็นพ่อและแม่ที่จะหาทางหนีที่ไล่ ไปพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจธรรมชาติของลูก

 

“ด้วยความที่ที่บ้านมีป้าตุ๊ก (แม่บ้าน) ทำอาหารให้ เราก็จะฝากท้องกับป้าตุ๊กแทบทุกมื้อเลย ป้าตุ๊กก็มีข้อจำกัดที่ต้องทำอาหารสุขภาพเป็นหลัก ความถนัดก็ตามประสบการณ์ บางทีเด็กๆ ไม่ถูกปากบ้าง กินไม่ได้บ้าง อาหารมันจะมีความท้องถิ่นมากๆ เราเลยทำเวลาลูกเบื่ออาหาร ก็จะเลือกสิ่งที่เขาชอบ หรือที่เราอยากให้เขากิน อยากให้ลูกกินผักก็พยายามหาผักในฟอร์มที่เขากินได้ เช่นอาจต้องเปลี่ยนรูปแบบให้ผักมันนุ่ม ลดความขมลง หรือผัดรวมๆ กันไปไม่ให้เขี่ยแยก อย่างเราทำยำแล้วใส่หอมซอย กระเทียมสับเขาก็ไม่เขี่ยนะ ยกเว้นบางอย่างที่ไม่กินจริงๆ อย่างอานนท์ (ลูกชาย) จะไม่กินปลา กินยากกว่าอันนา (ลูกสาว) ก็ต้องปรับเปลี่ยน อะไรที่ยากเกินก็หลีกเลี่ยง บางอย่างก็ใส่ตามช่วงอายุ

 

 

 

“แต่ถึงจะชอบไม่เหมือนกันก็พยายามไม่แยกทำนะ ปวดหัว มีลูก 2 คน ถ้าให้ทำอาหารแล้วต้องมาแยก คนทำก็อาจจะท้อใจซะก่อน ต้องพยายามหาตรงกลางที่กินได้ทั้งคู่ สมมติในหนึ่งจานมี 5 หมู่ เราก็อาจจะต้องเลือกตักผักให้อันนาเยอะหน่อย ส่วนอานนท์ก็เนื้อสัตว์เยอะหน่อย”

 

ประสบการณ์การทำอาหารที่มากกว่าคนทั่วไป การแก้ความจำเจ เบื่ออาหารของลูกๆ ด้วยการเข้าครัวปรุงเมนูตามความชอบให้ลูกกินคงไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงนัก แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามีบ้างไหมที่ถึงจะเป็นเมนูที่ชอบ แต่ทำมาแล้วน้องไม่ยอมกิน แล้วคนเป็นพ่อรับมือกับสิ่งนี้ยังไง

 

“บางคนอาจจะคิดว่า เฮ้ย เชฟน่านน่าจะเสกได้ทุกเมนู ความจริงมันไม่จริงเลย มันขึ้นอยู่กับว่ามีอะไรในตู้เย็นบ้าง เราเองก็เป็นคนเสียดายของด้วย เราก็จะไม่ปล่อยให้ของทิ้ง บางอย่างถ้าถึงอายุที่ต้องจัดการแล้วก็เป็นสิ่งที่ที่บ้านได้กิน บางครั้งทำมาแล้วลูกไม่กิน เราก็ต้องทำใจ ฮ่าๆ แต่ก็ไม่บ่อยนะ ด้วยความที่บ้านเราเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ก็ไม่ได้อยากแยกเมนูขนาดนั้น อาจทำเมนูเดียวเป็นสองเวอร์ชั่น เบสใกล้ๆ กัน เราเคยทำคิมชี ชีเก (ซุปกิมจิ) ของน้องๆ แทนที่จะใส่พวกโกชูจัง พริกป่นเกาหลี กิมจิ เราก็เปลี่ยนเป็นเต้าเจี้ยวแทนที่จะเป็นซอสเผ็ด เบสก็เป็นเต้าหู้เหมือนกัน ถ้าทำยำก็แค่ไม่ใส่พริก”

 

หลายคนอาจจินตนาการอาหารของลูกที่มีพ่อเป็นเชฟว่าต้องเป็นเมนูหวือหวาชวนกิน แต่สำหรับเชฟน่านแล้ว หากเทียบกับการทำอาหารให้คนอื่นกินนั้นผิดกันลิบลับ อาหารหนึ่งมื้อของลูกกลับเป็นความธรรมดาสามัญ ด้วยเมนูธรรมดาๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีในทุกรายละเอียด

 

“ส่วนใหญ่ที่ทำอาหารให้ครอบครัว ให้เพื่อนจะเป็นโอกาสพิเศษ นานทีปีหน เวลาทำก็จะเป็นเมนูพิเศษ ในขณะที่ลูกไม่ได้มีความพิเศษ แต่จะเป็นความอยากให้เขากินดี มีประโยชน์​ เมนูปกติทั่วไป ความรู้สึกมันแตกต่างกัน ของคนอื่นจะมีความประดิดประดอยตกแต่งเพราะมันมีความเป็นสำรับ ปาร์ตี้ ความตื่นเต้นที่ได้กินของที่ไม่เคยกินบ่อยๆ ของลูกมันมีความอยากให้เขากินอร่อยเป็นหลัก ให้กินได้ในมื้อที่ต้องใช้พลังงานต่อไป เช่น มื้อเช้าอยากให้เขากินได้อิ่มท้องและถูกปากเขา

 

 

“อยู่กรุงเทพฯ ต้องตื่นเช้า อาบน้ำแปรงฟัน อยู่บนถนนอีกเกือบ 40 นาที มันแทบไม่เหลือเวลากินข้าวแล้ว ถ้าพ่อแม่จะต้องมาทำอาหารอลังการให้ลูก ต้องตื่นตี 4 มันก็ลำบากเนอะ เราก็ทำได้โดยเตรียมทุกอย่างไว้ แล้วตื่นมาทำสักครึ่งชั่วโมง ที่เน้นมากๆ คืออาหารสดใหม่ กินอาหารร้อน บ้านเราเลยไม่มีไมโครเวฟ ทุกอย่างทำใหม่หมด เน้นครบ 5 หมู่และถูกปาก มันก็จะมีความละเอียดในความตั้งใจของเรา ของลูกเลยไม่หวือหวาแฟนตาซีบางทีแค่ไข่ข้นเขาก็แฮปปี้แล้ว

 

“เวลาเห็นลูกกินอร่อย เราก็โคตรรู้สึกดีใจ มื้อนี้สำเร็จ ด้วยความที่ทำให้ลูกกินไม่ได้ทำให้กินอร่อยอย่างเดียว แต่เราจะแอบใส่อะไรที่มีประโยชน์เข้าไปด้วยเสมอ มิชชั่นของเราเลยคือต้องกินอร่อยและมีประโยชน์​”

 

“อย่างช่วง work from home ทำอาหารกลางวันให้ลูกกิน พี่โน้ต (ภรรยา) เขาก็จะซื้อของมาไว้โดยที่ไม่รู้หรอกว่าเราจะทำอะไร เราก็ไปดูของในตู้เย็นแล้วคิดเดี๋ยวนั้นเลย ลูกเราเคยไปไร่ มันมีสเต๊กห้องแถวเขากินแล้วชอบ เราก็มาทำบ้าง เอาสันในหมูมาทำเป็นสเต๊ก มีแครอทค้างอยู่ทำเป็น side dish เรารู้ว่าแครอทเนี่ยมันสุกยาก ก็เอาไปลวก มีมะเขือเทศค้างอยู่ในตู้เย็น เอาเนื้อมะเขือเทศมาหั่นเต๋าผัด แครอทลวกเสร็จ ปรุงเกลือพริกไทยนิดหน่อยกินได้แล้ว เนื้อหมูสันในก็ปรุงปกติ ทำซอสราด แล้วคาร์โบไฮเดรค มีขนมปังอยู่ มีชีสพาเมซานก็เอามาทำขนมปังแบบซิสเลอร์ง่ายๆ นาบบนกระทะ มีผักสลัด ก็เป็นมื้อนึงที่พิเศษมากสำหรับเขา แต่จริงๆ พ่อใช้ของเหลือในตู้เย็นหมดเลย สำหรับเราที่เห็นลูกกินอร่อย หมดเกลี้ยง เราก็รู้สึกว่าเออมื้อนี้มันสำเร็จว่ะ”

 

 

นอกจากความอร่อยดีมีประโยชน์​ อาหารที่ทำด้วยสองมือของพ่อแม่ยังเป็นรสชาติจากสายใยที่สานสัมพันธ์คนในครอบครัวเอาไว้ ทั้งยังช่วยสร้างความทรงจำที่ดี ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ การลุกขึ้นมาเข้าครัวทำอาหารให้ลูก หรือแม้แต่ทำอาหารกับลูกจึงเป็นโอกาสดีที่เชฟน่านอยากสนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่ลองทำ

 

“เรามีประสบการณ์ทำอาหารมาเนอะ พอเห็นวัตถุดิบก็พอนึกออก คิดมั่วๆ ได้ว่าจะเอามาทำอะไร แต่พ่อแม่ที่ไม่เคยทำเลยอย่าใช้วิธีผม บางทีต้องตั้งใจจะทำเมนูนี้ให้ลูกกิน คุณก็หาข้อมูล KRUA.CO มีสูตรอาหารเยอะแยะ แนะนำเพราะเห็นจากภรรยาตัวเอง เขาทำอาหารไม่เป็นเลย วันนึงอยากทำอาหารให้ลูก ก็ต้องหาข้อมูลเยอะๆ แล้วทำตามสูตร ซึ่งต้องบอกทุกคนเลยว่า ถ้าไม่เคยทำมาก่อนมีโอกาสนรกสูง กินไม่ได้ ลูกไม่ชอบมีมาก ถ้ามันถึงขั้นกินไม่ได้จริงๆ ก็อย่าไปดันให้ลูกกินเลย กลัวจะเสียกำลังใจครับ

 

“แต่อยากให้ทำ การทำอาหารมันเป็นสายใยที่จำเป็นมากๆ อาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน เราก็ทำงานประจำไม่ได้อยู่บ้านตลอดเพื่อที่จะมาทำอาหาร แต่การที่พ่อแม่ลูกทำกับข้าวร่วมกัน มันจะมีความทรงจำลึกๆ ที่โตขึ้นไปแล้วจะติดไปด้วย เป็นรสมือของครอบครัวเรา สกิลการทำอาหารมันจะอยู่ในความทรงจำของเขา ต่อไปเขามีครอบครัวก็จะได้ดูแลครอบครัวเขาต่อ

 

 

“ถ้าไม่ทำอาหารให้ครอบครัวกินซะเลย พึ่งอาหารถุงนอกบ้านอย่างเดียว ปัจจุบันนี้มันมีความเสี่ยง ถ้าคุณไม่ทำอาหารเลยจะอยู่ได้ยังไงในยุคที่มันมีโควิด แล้วเราก็ไม่คิดว่ามันจะมีแค่โควิดหรอก มันอาจมีอะไรต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นเบสิกสกิลการทำอาหารกันเองในครอบครัวถือว่ามีความจำเป็นมากๆ ที่ควรจะลองทำ

 

“หลายคน work from home ช่วงโควิด เป็นโอกาสที่ดีมาก เอาเวลาที่ต้องเดินทางมาออฟฟิศไปทำอาหารให้ลูกกิน เดือนนี้เป็นเดือนที่ต้องตั้งหลักของพ่อแม่เลยเพราะลูกก็หยุดเรียน เราจะบริหารจัดการเวลายังไงให้ทำอาหารได้ ไม่จำเป็นต้องทำ 3 มื้อด้วยนะ มันเว่อร์เกิน บริบทชีวิตในปัจจุบันมันอาจไม่ได้เอื้ออำนวยให้ทำทุกวัน เราทำบ่อยๆ ให้เขารู้สึกว่า เราเป็นครอบครัวที่มีสายใยต่อกัน ยังรักยังห่วงเหมือนเดิม เทียบง่ายๆ คุณซื้ออาหารใส่บาตรกับทำใส่บาตร เราไม่นับว่าพระถูกปากอันไหนนะ แต่เราเชื่อเหลือเกินว่า การที่เราทำอาหารแล้วใส่บาตรพระเนี่ยใจเราอิ่มเอมมากกว่า เพราะเราตั้งใจทำอย่างจริงใจ ก็เหมือนทำอาหารให้ลูกนั่นแหละ”

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารเด็ก

Recommended Articles

Food Storyพ่อจ๋า แม่จ๋า โปรดอย่าจำกัดหนูด้วยคำว่าอาหารเด็ก
พ่อจ๋า แม่จ๋า โปรดอย่าจำกัดหนูด้วยคำว่าอาหารเด็ก

เมื่ออาหารเด็กหมายถึงรสนิยมการกินของสังคม เด็ก ๆ ของเราควรเติบโตไปกับอาหารแบบไหน?

 

Recommended Videos