เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

พ่อจ๋า แม่จ๋า โปรดอย่าจำกัดหนูด้วยคำว่าอาหารเด็ก

Story by ทีมบรรณาธิการ

เมื่ออาหารเด็กหมายถึงรสนิยมการกินของสังคม เด็ก ๆ ของเราควรเติบโตไปกับอาหารแบบไหน?

อาหารเจ อาหารอีสาน อาหารฝรั่ง เมื่อมีคำวิเศษณ์ใด ๆ ไปวางไว้ท้ายคำว่าอาหาร ก็นับได้ว่ามันขยายย่อยชนิดอาหารให้ละเอียดลึกลงไปอีก เป็นต้นว่าอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ อาหารท้องถิ่นที่นิยมกินกันในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรืออาหารที่อยู่ในความนิยมของชาติอื่น ๆ นอกเหนือจากประเทศไทย เป็นต้น

 

แต่เมื่อมาถึงคำว่าอาหาร “เด็ก” นิยามกลับกว้างหรือแคบเกินกว่าจะทำความเข้าใจ

 

เด็กคือใคร? เด็กอยู่ในพื้นที่ใดเป็นพิเศษ? เด็กมีรสนิยมการกินแบบไหนเป็นพิเศษ? แบบแผนการกินของเด็กเป็นอย่างไร? 

 

เมื่อต้องมาเขียนเรื่องอาหารเด็ก ฉันจึงต้องรื้อค้นความทรงจำของตัวเองในวัยละอ่อนมาพิจารณาให้ถ้วนถี่

 

 

-1- 

 

กิ๋นตับขี้ไหล กิ๋นไต๋ขี้ลืม

 

“กิ๋นตับขี้ไหล กิ๋นไต๋ขี้ลืม” – ตั้งแต่จำความได้ motto เรื่องอาหารในวัยเด็กของฉันมีอยู่เท่านั้น

 

ในฐานะของเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ฉันไม่เคยรู้จัก “เมนูเด็ก” เลยแม้แต่เมนูเดียว ที่นึกออกก็มีเพียงแค่ประโยคข้างต้นที่พวกผู้ใหญ่ชอบใช้หลอกเด็ก บอกว่าถ้ากินตับแล้วจะท้องเสีย ส่วนถ้ากินไตแล้วจะเป็นคนสมองไม่ดี ไม่เฉียบแหลม ฉันในวัยเด็กจึงไม่ค่อยญาติดีกับเครื่องในสัตว์เท่าใดนัก เพราะกลัวจะเป็นคนไม่ฉลาด กว่าจะมาถึงบ้างอ้อเอาก็ตอนโต ว่าจริง ๆ แล้วเครื่องในสัตว์มันมีปริมาณน้อย เพราะฉะนั้น ‘กินตับขี้ไหล กินไตขี้ลืม’ จึงเป็นวลีสำหรับหลอกเด็กให้เด็กกลัวเครื่องในไว้ก่อน แล้วผู้ใหญ่ก็จะได้มีเครื่องในเหลือไว้เป็นกับแกล้มเยอะ ๆ (อื้ม ฉันก็ไม่ค่อยฉลาดจริง ๆ ด้วย ขนาดไม่ค่อยได้กินเครื่องในนะเนี่ย)

 

ฉันมีชีวิตเติบโตมาอย่างนั้น คือเติบโตมาร่วมมื้ออาหารกับผู้ใหญ่ในบ้าน ไม่ว่าจะในวงขันโตกแบบเหนือทีบ้านฝ่ายแม่ วงข้าวแบบเปิบมือที่บ้านฝ่ายพ่อ หรือล้มวงโต๊ะกลมอาหารจีนกับญาติผู้ใหญ่ ฉันก็เติบโตมาแบบที่ไม่มีอาหารเด็ก ไม่มีเมนูเด็ก ไม่มีแครอทแกะเป็นรูปหัวใจหรือรูปดาว ไม่มีข้าวผัดใส่ซอสมะเขือเทศกับผักหั่นเต่าแช่แข็ง

 

ผู้ใหญ่กินอะไร ฉันและเด็ก ๆ คนอื่นในบ้านก็กินอย่างนั้น

 

ชีวิตวัยเด็กของฉันอยู่ที่ภาคเหนือเป็นหลัก และในวันคืนเหล่านั้นการกินอาหารแบบขันโตกยังเป็นเรื่องสามัญธรรมดาอยู่ แต่ทั้งนี้ขอให้ลบภาพขันโตกเฉพาะกิจอันประกอบไปด้วยแกงโฮะ แกงฮังเล ไส้อั่ว แคปหมู และน้ำพริกหนุ่มออกไปก่อน เพราะขันโตกในความหมายของฉันก็คือการกินอาหารแบบสำรับครบรสแบบเดียวกับที่คนไทยกลางหรือคนภาคอื่น ๆ คุ้นเคยกันนั่นแหละ ดังนั้นในมื้อหนึ่งก็จะมีแกง มีอาหารทอด มีน้ำพริก สุดแล้วแต่ว่าแม่บ้านหรือพ่อบ้านจะหยิบฉวยเอาอะไรที่อยู่ใกล้มือมาทำเป็นอาหาร ฉันจึงรู้จัก-เข้าใจ-คุ้นเคย กับอาหารเหล่านั้นไปโดยปริยาย ฉันจึงไม่รู้จักอาหารเด็กด้วยประการฉะนี้

 

หลาย ๆ คนที่มีวัยเด็กใกล้เคียงกับฉันจึงควรได้เคยผ่านยุคเชิดชูคนกินเผ็ดมาก่อน ไม่รู้ว่าในสังคมเด็กอนุบาล เด็กประถมเดี๋ยวนี้ต้องทำยังไงถึงจะดูเท่ แต่สำหรับวัยเด็กของฉัน ใครกินเผ็ดได้ก่อนคนนั้นเท่

 

แม้จะเติบโตมาร่วมสำรับกับผู้ใหญ่ทุกคนในบ้าน แต่ตัวฉันเองกลับไม่เอาไหนเรื่องการกินเผ็ด ๆ สมัยนั้นก็คงจะเรียกได้ว่าตัวใหญ่แต่ใจปลาซิวปลาเข็ม ไข่ต้มไข่เจียวจึงเป็นเมนูผูกขาด พอเริ่มเรียนรู้รสชาติมากมายซับซ้อนในขันโตกได้เพิ่มขึ้น ฉันก็เริ่มคิดว่าไข่ต้มใส่น้ำปลานี่มันไม่เท่เอาเสียเลย มันต้องกินแกงไก่ แกงแค (แกงผักรวมใส่ใบชะพลู) หรือกินน้ำพริกสารพัดอย่างนั่นต่างหากมันถึงจะเท่ แบบฝึกหัดการเริ่มกินเผ็ดด้วยตัวเองจึงเริ่มขึ้นนับแต่นั้น

 

ขั้นตอนแรกเลยก็ต้องลองตักผักหรือเนื้อชิ้นเล็ก ๆ จากแกงมาชิมดูก่อน แกงไหนเผ็ดมาก แกงไหนเผ็ดน้อย เด็กทุกคนจะเริ่มเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ซดน้ำแกงโฮกฮากได้สมใจอยาก หรือจะเริ่มจากปั้นข้าวเหนียวจิ้มน้ำพริกแบบแฉลบ ๆ เฉียด ๆ ก็แล้วแต่ความสนใจใคร่รู้ของแต่ละคน แต่สุดท้ายแล้วเราจะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า รสเผ็ดที่เคยกลัวนักกลัวหนานั้นเป็นสุนทรียะอย่างหนึ่งในการกินอาหาร เพราะเมนูรสเผ็ดนั้นจะประกอบไปด้วยกลิ่นหอม ๆ ของเครื่องเทศหรือเครื่องแกงเสมอ ฉันและเด็ก ๆ ในบ้านเรียนรู้รสชาติอาหารกันอย่างนั้น 

 

นานวันเข้าแม้แต่ไข่ต้มเราก็ยังพึงใจที่จะซอยพริกขี้หนูถี่ยิบแล้วโยนลงไป พร้อมหอมแดงซอยบางเฉียบ บีบมะนาว และเหยาะน้ำปลา เป็นเมนูธรรมดาที่อัปเกรดด้วยความหลากหลายของกลิ่นรส และที่สำคัญคือเป็นการประกาศศักดาอยู่กลาย ๆ ว่าฉันน่ะไม่ใช่เด็ก ๆ ที่กินเผ็ดไม่ได้แล้วนะ!

 

(ถึงอย่างนั้นก็เถอะ หากเทียบกับเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันแล้วฉันก็ยังกินเผ็ดได้ช้ามากอยู่ดี)

 

 

-2-

 

เล็กน้ำใส ของเด็ก

 

ความทรงจำหนึ่งที่กลับมารื้อฟื้นเจออีกครั้งเมื่อต้องเขียนเรื่องอาหารเด็ก คือความอิหลักอิเหลื่อในบ่ายวันหนึ่งที่ฉันได้กินก๋วยเตี๋ยว ‘ของเด็ก’

 

ฉันจำได้ว่ามันเป็นบ่ายหิวโซ ที่กำลังเดินทางไปต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด ด้วยเหตุผลอะไรสักอย่างก็เลือนลางเต็มที คลับคล้ายคลับคลาว่าเราเร่งทำเวลากันมาก พ่อขับรถเร็วจี๋ กว่าจะแวะหาร้านกินข้าวกันก็เล่นเอาตะวันคล้อย เราพักรถกันที่ร้านก๋วยเตี๋ยวริมทางหลวง แม้หมูชิ้นหมูสับจะหมดเกลี้ยงแต่ที่บ้านก็ยังตกลงกันว่าคงต้องฝากท้องไว้ที่ร้านนี้

 

สั่งกันง่าย ๆ คนละชาม เราต่างทยอยได้ชามของตัวเอง ทีละคน ทีละคน

 

“เฮียมีของเด็กด้วย หนึ่ง” – อะไรประมาณนั้น สิ้นคำพูดไม่นานฉันก็ได้ก๋วยเตี๋ยว “ของเด็ก” มาวางตรงหน้า

 

น้ำซุปใสแจ๋ว เส้นหมี่ขาว และลูกชิ้นสี่ห้าลูก คือสิ่งที่ยากจะทำใจเรียกว่าก๋วยเตี๋ยว ยิ่งในเวลาที่หิวโซ ยิ่งขัดใจ

 

ไม่มีถั่วงอก ไม่มีสีเขียวของผักอื่นใด ไม่มีแม้กระทั่งกลิ่นหอม ๆ ของกระเทียมเจียว

 

ฉันมองก๋วยเตี๋ยวของเด็กด้วยความผิดหวัง ในใจภาวนาว่าอยากรีบโตเป็นผู้ใหญ่เสียที แล้วฉันจะใส่ต้นหอมผักชีและกระเทียมเจียวลงในก๋วยเตี๋ยวของฉันให้พูนช้อน

 

ด้วยขวบวัยเท่านั้นฉันนึกออกได้เพียงเท่านี้ ลืมตั้งคำถามไปเสียสนิทว่าเด็กคือสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นใดไหนกัน ถึงได้เลือกกินอาหารหน้าตาแบบนี้?

 

หลายต่อหลายปีผ่านไป ตั้งแต่เป็นเด็กจนกลายร่างมาเป็นคนเลี้ยงเด็ก ลูกหลานคนนั้นคนโน้นบ้าง ฉันก็ยังไม่วายได้พบเจอก๋วยเตี๋ยวเด็กอีกหลายต่อหลายครั้ง จนพาลขี้เกียจตั้งคำถามว่าเด็กคือใครและมีข้อจำกัดในการกินการดื่มประการใดบ้าง เราจึงเข้าใจตรงกันว่าก๋วยเตี๋ยวเด็กหรืออาหารเด็กต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และนึกไปว่าเราก็ควรเคารพรสนิยมการกินแบบเด็ก ๆ ด้วยเหมือนกัน

 

โดยลืมไปว่า ‘รสนิยม’ เป็นสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นจากประสบการณ์

 

 

-3-

 

เผด็จการรสชาติ

 

จนไม่นานมานี้เอง ฉันได้เปิดฟังรายการ “สัตตะ” รายการที่ว่าด้วยเรื่องปกิณกะในมุมของ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา นักวิชาการที่พูดเรื่องอาหารได้อย่างถึงรสอีกคนหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเหลือเกินว่ามันเป็นเรื่องของ “เผด็จการรสชาติ” ซึ่งได้เสนอไว้ว่า เด็ก ๆ นั้นสามารถรับรสชาติและพัฒนา ‘รสนิยม’ การกินของตัวเองมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเลยทีเดียว

 

เป็นต้นว่า หากให้คุณแม่ใกล้คลอดดื่มน้ำแครอทมาก ๆ ทารกในครรภ์ เมื่อโตมาก็จะเอ็นจอยกับรสชาติของซีเรียลที่ผสมแครอทได้มาก เพราะเป็นรสชาติที่คุ้นเคยมาตั้งแต่อยู่ในท้อง ดังนั้นที่เราเชื่อกันว่าเด็ก ๆ ไม่สามารถรับรู้รสชาติอาหารที่ละเอียดซับซ้อนได้จึงไม่ใช่ความจริงเท่าไรนัก

 

อาจารย์ธเนศยังได้เสนอไว้อีกว่า หากโรงเรียนไหน ครอบครัวไหน สังคมไหน ที่ส่งเสริมให้เด็กได้กินอาหารที่หลากหลายมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ (ซึ่งเป็นวัยที่ตุ่มรับรสหรือ taste bud ยังมีอยู่มาก) ก็จะสร้างรสนิยมการกินที่หลากหลายให้กับเด็กได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งรสนิยมการกินที่หลากหลายของเด็ก หมายถึงรสนิยมในการกินอาหารของคนทั้งชาติในอนาคต และหมายถึงความยั่งยืนทางอาหาร หมายถึงสุขภาพ และหมายถึงปัจจัยต่าง ๆ อีกมากมายที่กระทบกันไปเป็นทอด ๆ เหมือนเด็ดดอกไม้สักดอกแล้วจะกระเทือนไปทั้งดวงดาวอย่างไรอย่างนั้น

 

(อันที่จริงรายการตอนนี้สนุกจนฉันอยากจะยกข้อมูลทั้งตอนมาเล่าเสียเลย แต่เกรงว่าคงไม่เหมาะ เอาเป็นว่าใครที่ข้อมูล อ่านจบแล้วคลิกไปฟังรายการสัตตะได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://youtu.be/hu2B243uKbs)

 

เมื่อต้องกลับมาเขียนถึงอาหารเด็ก ฉันเองที่มีประสบการณ์อาหารแบบเด็ก ๆ ไม่มากนัก (ยกเว้นอาหารถาดหลุมโรงเรียนซึ่งเป็นเสมือน trauma สมัยประถม) จึงมืดแปดด้านว่าควรเขียนอะไรดี ทั้งนี้ใช่จะอวดอ้างว่ากินเผ็ดเก่งมาแต่ไหนแต่ไร (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรอวดอ้างอยู่ดี) แต่กำลังพยายามจะบอกว่าเด็กควรมีโอกาสได้กินอาหารเหมือน ๆ กันกับผู้ใหญ่นั่นต่างหาก

 

อันที่จริงแล้ว Kid’s menu ไม่ใช่สิ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติของการกินอาหาร ถ้าลองสืบค้นดูก็จะเห็นว่าจริง ๆ แล้ว Kid meal หรือ Kid’s menu น่าจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 เสียด้วยซ้ำไป โดยน่าจะเป็นเมนู Fun Meal จากร้านฟาสต์ฟู้ดแบบอเมริกันที่ชื่อว่า Burger Chef หลังจากนั้นจึงเกิดกระแสเมนูสำหรับเด็กขึ้นอย่างต่อเนื่องในชื่อต่าง ๆ อีกมากมาย

 

ตามหลักทางกายภาพแล้ว เด็ก ๆ มีช่วงวัยที่ต้องใส่ใจเรื่องการบดเคี้ยวเป็นพิเศษ ต้องกินอาหารเหลว กินอาหารอ่อนอยู่เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น แต่ร้าน Fast Food ต่างมองเห็นว่าเด็กเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญ เพราะหากทำร้านอาหารที่เหมาะกับการให้เด็ก ๆ มานั่งกินในร้านได้ ก็จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ปกครองได้อีก 2-3 คน ที่สำคัญคือ หากเด็กชื่นชอบรสชาติของร้านตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะสามารถดึงให้ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นลูกค้าประจำไปได้อีกหลายสิบปี จึงไม่น่าแปลกใจที่ร้าน Fast Food ทั้งหลายจะมีสีสันสวยงาม มีมาสคอตน่ารัก ๆ และมีของเล็กหลากหลายคอลเลกชั่นไว้สมนาคุณมากมาย

 

และจึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่เมนูอาหารเด็กตามร้านรวงต่าง ๆ มักจะประกอบไปด้วยนักเก็ตไก่ ชิกเกนฟิงเกอร์ มันฝรั่งทอดแท่ง ๆ ผักหั่นเต๋าที่ได้มาจากถุงผักแช่แข็งอีกเล็กน้อย หากเป็นร้านอาหารในไทยก็จะต้องมีข้าวผัดใส่ซอสมะเขือเทศ พร้อมไส้กรอกแดงทอด

 

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะคะ อาหารเหล่านี้ก็ไม่ได้น่ารังเกียจรังงอนประการใด เพียงแต่ว่าสงสัยขึ้นมาเสียเฉย ๆ ว่าเด็กจะไม่นึกอยากกินปูผัดผงกะหรี่ แกงผักหวานบ้าน หรือหลนไข่ปูอะไรอย่างนี้บ้างหรือ? หรืออันที่จริงแล้ว ‘อาหารเด็ก’ คืออาหารที่ผู้ใหญ่เลือก เพราะเป็นเมนูประหยัดเวลาที่ไม่ต้องมาอธิบายให้มากคำมากความว่าอะไรเป็นอะไร

 

การเลือกอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากโรงงานเดียวกันให้เด็กกินเหมือนกันทั้งประเทศหมายถึงมาตรฐานหรือหมายถึงการผูกขาด คือรสนิยมของเด็กหรือคือความเผด็จการจากผู้ใหญ่ในอีกรูปแบบหนึ่ง – อันนี้ก็สุดแท้แต่ใครจะพิจารณา

 

 

-4-

 

พ่อจ๋า แม่จ๋า โปรดอย่าจำกัดหนูด้วยคำว่าอาหารเด็ก

 

“อย่าแยกเด็กออกจากอาหาร” แรกเริ่มเดิมทีฉันตั้งใจจะใช้ชื่อนี้ตั้งต้นบทความ แต่เมื่อได้ลงมือเขียนแล้วจึงถึงบางอ้อว่า เด็กไม่ได้ถูกแยกออกจากอาหารหรอก เด็กทุกคนยังคงได้กินอาหารครบสามมื้ออิ่มสมบูรณ์ดี แต่เด็กถูกจำกัดไว้เพียงอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งต่างหาก

 

พูดกันอย่างมีอคติ ในบรรดาอาหารทั้งหลายทั้งแหล่ ฉันคิด (เอาตามใจตัวเอง) ว่าอาหารที่ถูกจำกัดไว้เฉพาะกับเด็กนี่แหละที่น่ากินน้อยที่สุด ไม่เพียงแต่มันไม่สวยงามหลากหลายเท่านั้น เมนูเด็กดาษดื่นทั่วไปยังถูกออกแบบมาโดยดูถูกความสามารถและรสนิยมคนกินอย่างถึงที่สุด ฉันไม่ได้ชี้นิ้วบอกว่าอาหารจำพวก freeze and fry นั้นเลวร้ายจนไม่น่าคบ แต่การบอกว่าเด็ก ๆ กินเป็นแต่อาหารพวกนี้ต่างหากที่เลวร้าย 

 

ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้วฉันเห็นผู้ใหญ่กินอาหารพวกนี้เยอะกว่าเด็ก ๆ เสียอีก

 

เมื่อพ่อจ๋าแม่จ๋า หรือลุงป้าน้าอาตายายจ๋า จำกัดเด็ก ๆ ไว้กับนักเก็ตไก่ ผักแช่แข็งหั่นเต๋า เนื้อสับปั้นเป็นก้อน ๆ พร้อมซอสมะเขือเทศจำนวนมากและแอปเปิ้ลแช่เย็นสองสามชิ้น แล้วเด็ก ๆ จะเริ่มเรียนรู้ความรุ่มรวยหลากหลายของรสชาติได้จากที่ไหน รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมปร่าของเครื่องเทศจะเดินทางไปสัมผัสกับ taste bud ของเด็กได้อย่างไร เด็กจะเริ่มรู้จักผักที่มากไปว่าบร็อกโคลี่ กะหล่ำดอก และแครอทตอนอายุเท่าไรกันหรือ?

 

ฉันจำได้ว่า บรรดาเพื่อน ๆ วัยประถมของฉันมีหน้าที่ในครัวกันตั้งแต่เด็ก นับตั้งแต่นึ่งข้าว ตำน้ำพริก ไปจนถึงเพื่อนบางคนที่รับหน้าที่ทำอาหารให้คนทั้งบ้านกินตั้งแต่ประถมต้น เมื่อถึงเวลาเข้าค่ายพักแรม ภารกิจทำอาหารเองจึงไม่ใช่การกินข้าวดิบกับไข่เจียวไหม้ แต่เป็นยำวุ้นเส้นและต้มยำปลาแห้งที่อร่อยมาก ๆ ไปแทน ทำเอาครูฝึกชมกันยกใหญ่ (จำได้ว่าเพื่อนคนนี้เป็นเด็กผู้ชายที่ซนที่สุดในห้อง ถ้าศราวุฒิมีโอกาสได้อ่านบทความนี้ ได้โปรดมารับคำชมย้อนหลังราวยี่สิบปี) 

 

น่าเสียดายที่ฉันเติบโตมากับการกินอาหารมากกว่างานครัว ด้วยเป็นหลานสาวคนเล็กที่ช่างฉอเลาะและอ่านหนังสือเก่ง ฉันจึงไม่มีหน้าที่อื่นใดนอกจากรอกินฝีมือยายเท่านั้น องค์ความรู้ประเภทที่ว่าซดน้ำแกงแล้วพอบอกได้ว่ามีเครื่องแกงอะไรบ้างจึงไม่สืบต่อมาเลยแม้แต่น้อย แต่นับว่าโชคดีที่สำรับของที่บ้านไม่เคยมีเมนูอาหารเด็กแยกต่างหากไว้ taste bud และผัสสะอื่น ๆ จึงยังโอบรับกับอาหารได้กว้างขวางพอตัว

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องขอสารภาพบาปไว้ ณ บรรทัดนี้ว่าฉันเขียนบทความนี้ขึ้นด้วยอคติล้วน ๆ แถมยังไม่รู้เลยว่าเมนูอาหารเด็กเดี๋ยวนี้เขาพัฒนาไปถึงไหนกันแล้วบ้าง ไม่รู้เลยว่าเด็กที่เติบโตมากับก๋วยเตี๋ยวเด็ก กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีรสนิยมการกินรุ่มรวยขนาดไหน

 

แต่ก็ขอยืนยันด้วยเกียรติของลูกเสือสำรองในวันนั้นว่

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารเด็ก

Recommended Articles

Food Storyอาหารฝีมือพ่อแม่ สายใยรักสู่ลูกน้อย
อาหารฝีมือพ่อแม่ สายใยรักสู่ลูกน้อย

เรื่องเล่ามื้ออร่อย ของคุณพ่อคุณแม่ที่เลือกเข้าครัวทำอาหารให้ลูก

 

Recommended Videos