เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

cooking post

ไอเดียเมนูผักผลไม้ประจำฤดูกาล หมดปัญหาเหมามาแล้วกินไม่หมด

Story by ชรินรัตน์ จริงจิตร

แปลงร่างผักผลไม้สด เป็นเมนูคาวหวานแสนอร่อย ไม่เหลือทิ้ง

 

ช่วงเดือนกรกฏาคม สิงหาคม กันยายน เป็นเดือนแห่งฤดูกาลผลไม้ทางภาคใต้ที่เข้าคิวมาให้ได้ลิ้มรสกัน เริ่มด้วยมังคุด เงาะ ลองกอง และทุเรียน ออกผลผลิตกันอย่างหนาตา ถือเป็นเรื่องปกติของฤดูกาล แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือโรคระบาดที่แพร่หลายเป็นวงกว้าง ทำให้การขนส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศขัดข้องล่าช้ากันไปหมด บางจังหวัดหยุดการขนส่งทุกกรณี บางภูมิภาคต้องมารวมอยู่ที่จุดๆ เดียว เพื่อกระจายการขนส่ง 

 

 

 

 

เมื่อการขนส่งมีปัญหา การกระจายพืชผลผลิตก็กระทบไปด้วย บางสวนไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ การท่องเที่ยวช่วงนี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึง จะมีนักท่องเที่ยวที่ไหนมาจับจ่ายเลือกซื้อถึงสวน จึงเป็นเหตุให้ผลผลิตล้นตลาดอย่างที่เราได้เห็นข่าวกันอยู่ ในส่วนของผู้บริโภคเชื่อว่าหลายคนอาจถือเป็นโอกาสดี ขนซื้อหาผักผลไม้ราคาเป็นมิตรเข้าบ้าน โดยอาจลืมไปว่าเมื่อได้ผักผลไม้มาเยอะ จะจัดการกับผักผลไม้เหล่านี้อย่างไร ผักอาจจะไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะซื้อยังไงก็คงไม่เหมามาหลายกิโลฯ แต่ผลไม้นี้สิ อย่างน้อยๆ น่าจะซื้อกัน 4 – 5 กิโลฯ ทำให้บางครั้งกินไม่ทันแล้วเกิดเน่าเสีย เราเลยขอเป็นตัวช่วยให้ทุกคนได้รู้ว่าพืชผลที่ออกในช่วงเดือน 2 เดือนนี้มีอะไรบ้าง แล้วจะนำมาทำเมนูอะไรได้หากมีเยอะเกินกว่าที่จะกินสดๆ ทันแล้ว   

 

 

 

 

เริ่มที่ผลไม้กันก่อน ไหนๆ ก็เกริ่นถึงผลไม้แสนอร่อยของภาคใต้มาแล้ว ผลไม้หน้านี้ไม่พ้นมังคุด เงาะ ลองกอง และทุเรียน ที่ออกผลผลิตมากในช่วงสองเดือนนี้ เราจะเห็นว่าราคาขายปีนี้น่าตกใจมาก เพราะลงมาจนถึงกิโลกรัมละ 3 บาท 4 บาทกันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นราคาหน้าสวนที่ชาวสวนเก็บขายเอง สำหรับในกรุงเทพฯ ขายกันในราคา 5 โลฯ 100 บาท 6 โลฯ 100 บ้าง นอกจากผลไม้ยอดฮิตที่กล่าวไป ยังมีผลไม้ประจำถิ่นอย่างจำปาดะที่หน้าตาเหมือนขนุน แต่กลิ่นแรงกว่าเป็น 10 เท่ารสชาติก็เข้มข้นกว่า ส่วนมากนิยมนำไปชุบแป้งทอดกรอบ คล้ายกับกล้วยทอด มันทอด

 

 

 

 

นอกจากผลไม้ภาคใต้ ก็ยังมีผลไม้ทั่วไปอย่างกล้วยหอม มะเฟือง ฝรั่ง สับปะรด ส้มโอ ที่ถือว่าเป็นผลไม้มีมากช่วงเดือนสองเดือนนี้เช่นกัน ซึ่งผลไม้เหล่านี้เรานำมาทำเมนูได้หลากหลายทั้งคาว หวานและเครื่องดื่มให้อร่อยหนำใจ เริ่มจาก 4 ผลไม้ใต้อย่าง มังคุด เงาะ ลองกอง ทุเรียน จะทำเป็น ‘ต้มเห็ดมังคุด’ เมนูที่กินแล้วสดชื่น ได้ความหวาน เปรี้ยว เค็ม ครบรส ความหวานและเปรี้ยวนั้นได้จากมังคุด เหมาะมากกับคนที่ซื้อมังคุดมาจำนวนมากๆ แล้วมีมังคุดเนื้อกรอบๆ อยู่ เพราะพอต้มได้ที่แล้วเนื้อจะยังไม่เละจนเกินไป 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หรือจะเอามายำก็อร่อยสดชื่นไปอีกแบบ อย่างเมนู ‘พล่าหอยเชลล์ย่างมังคุด’ ใช้มังคุดมาทำเช่นกัน ความหอมหวาน สดชื่นจากกลิ่นสมุนไพรและมังคุดเข้ากันอย่างลงตัว หรือจะสายหวานอย่าง ‘เชอร์เบตมังคุด’ เมนูไอติมของหวาน กินเย็นๆ แสนสดชื่น เช่นเดียวกับ ‘สองเกลอลอยแก้ว’ และ ‘พันช์เงาะ’ รับรองว่าแค่สัมผัสปากก็สดชื่นหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มาที่ผลไม้ที่มีกลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์อย่างทุเรียนกันบ้าง จะกินสด กินเป็นของคาวหรือกินเป็นของหวานก็ฮิตติดตลาดตลอด เริ่มที่สายคาวก่อนอย่างเมนู ‘มัสมั่นทุเรียน’ และ ‘ส้มตำทุเรียน’ ความมันของทุเรียนทำให้เมื่อนำมาทำเมนูอาหารคาวจะได้ความอร่อยไปอีกแบบ แล้วล้างปากด้วยของหวานอย่าง ‘โมจิทุเรียน’ ‘บิงซูทุเรียน’ และ ‘ครัวซองต์ทุเรียน’ ที่ไม่ว่าจะทำกี่ครั้งก็หมดทุกครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ลำไย น้อยหน่า เอามาทำของหวานอร่อยๆ ได้เช่นกัน ทั้งข้าวเหนียวดำเปียกลำไย เปลี่ยนจากข้าวเหนียวข้าวเป็นข้าวเหนียวดำอร่อยไปอีกแบบ เพราะข้าวเหนียวดำจะมีความกรุบๆ มากกว่า (ผู้เขียนชอบข้าวเหนียวดำ รู้สึกมีอะไรให้เคี้ยวมากกว่า) หรือจะเป็น ‘เปาะเปี๊ยะกุ้งน้อยหน่า’ ที่เอาน้อยหน่ามาทำเป็นของคาว ผสมเนื้อกุ้งเข้าไป ห่อด้วยแป้งเปาะเปี๊ยะแล้วนำไปทอด 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากผลไม้ พืชผักก็มีดีไม่แพ้กัน ยิ่งผักช่วงหน้าฝนเนี่ย เหมือนออกมาเพื่อให้เรากินเป็นยาพร้อมรับมือสภาพอากาศที่อาจจะทำให้เป็นหวัด ไม่สบายได้ ผักผักช่วงนี้ได้แก่ ใบขี้เหล็ก ใบบัวบก ขิงอ่อน ดอกโสน น้ำเต้า ส้มซ่า ฝักเพกา มะขามอ่อน มะดัน มะรุม สมอไทย สายบัว มีสรรพคุณเป็นยาเกือบทุกตัว นำมาทำ ‘แกงคั่วดอกขี้เหล็กปลาย่าง’ เพราะจะใบหรือดอกก็อร่อยไม่แพ้กัน กลิ่นหอมของปลาย่างยังเข้ากันได้ดีกับขี้เหล็ก ส่วนการทำให้ขี้เหล็กหายขมนั้นก็มีอยู่หลากหลายวิธี ทั้งต้มกับเกลือ ต้มกับน้ำตาล หรือต้มกับน้ำเปล่า แต่แนะนำให้ต้มทิ้งน้ำสัก 2 – 3 รอบนะคะ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ใบบัวบกนำมาทำ ‘ยำใบบัวบก’ และ ‘น้ำใบบัวบกมะนาว’ ดอกโสนมากับเมนู ‘ทอดมันดอกโสนกับขนมจีน’ และ ‘ไข่เจียวดอกโสน’ เมนูจากตระกูลมะอย่างใบมะขามอ่อนและมะดัน มีทั้ง ‘ต้มไก่บ้านใบมะขามอ่อน’ ‘ต้มปลาสลิดใบมะขามอ่อน’ ‘ปลาทูต้มกะทิ’ (อันนี้นำมะดันมาหั่นเป็นแว่นแล้วเอาไปต้มในน้ำกะทิเพื่อให้ได้รสเปรี้ยวจากตัวมะดัน) เมนูทั้ง 3 อย่างนี้ใช้ความเปรี้ยวของผักมาเป็นตัวชูรส ความอร่อย กินแล้วรู้สึกเปรี้ยวกำลังพอดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผักผลไม้ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของฤดูกาลนี้ เพราะหน้าฝนคือหน้าผลิดอกออกผลของพืชผัก จนทำให้เกิดการล้นตลาดกันอย่างที่บอกไป พวกเราที่อยากจะอุดหนุนเกษตรกรแต่กลัวกินไม่ทัน ก็นำไปเป็นไอเดียในการดัดแปลงเมนูใหม่ขึ้นมาได้นะคะ ใครที่อยากอุดหนุนเกษตรกร ถ้าเป็นไปได้ก็ซื้อผลผลิตโดยตรงจากแหล่งเลย อาจซื้อตามวิสาหกิจชุมชนนั้นๆ หรือสั่งผ่านออนไลน์ คุยกับเจ้าของสวนได้โดยตรง (ผู้เขียนก็สั่งเช่นกัน ได้คุยโดยตรง ได้ของดีและอร่อยอีกด้วย) หรือจะซื้อผ่านไปรษณีย์ไทยก็ได้ค่ะ เขามีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ถ้าไม่สะดวกกับการซื้อของออนไลน์ ก็ซื้อตามข้างทางที่เขารับมาขายอาจแพงกว่าหน่อยแต่ถือว่าได้ช่วยเหลือกันในทุกๆ ทางในช่วงเวลาแบบนี้เนอะ 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม 

 

Share this content

Contributor

Tags:

ดอกโสน, ทุเรียน, น้อยหน่า, มังคุด, ลำไย, หอยนางรม, เงาะ, เมนูจากผลไม้, ใบบัวบก, ใบมะขามอ่อน

Recommended Articles

Cookingหอยนางรมตัวอวบเนื้อหวานรับร้อน
หอยนางรมตัวอวบเนื้อหวานรับร้อน

ฤดูแห่งหอยนางรมในเดือนนี้ ขอชวนมาลองทำหอยนางรมทอดที่อร่อยไม่แพ้หอยนางรมสดแน่นอน

 

Recommended Videos