เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

cooking post

จาก Ginger Bug สู่ Ginger Ale เครื่องดื่มโพรไบโอติกส์ อร่อย ซาบซ่าน

Story by ณวรา เปลี่ยนบุญเลิศ

น้ำซ่าธรรมชาติจากขิงไหม อร่อยแถมมีประโยชน์จากโพรไบโอติกส์ด้วย

Ginger Bug เป็นการทำโซดาง่ายๆ จากธรรมชาติโดยใช้กระบวนการหมักขิงในน้ำและน้ำตาล จนเกิดจุลินทรีย์ชนิดดี เรียกว่าแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และสร้างสมดุลลำไส้

 

แนวคิดคือเราจะใช้ ginger bug เป็น starter culture (lacto-fermented culture ) ในการทำเครื่องดื่มโพรไบโอติก ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราทำโยเกิร์ตเองที่บ้านก็ต้องไปซื้อโยเกิร์ตที่ยังมีเชื้อเเบคทีเรียอยู่ (จะระบุไว้ข้างถ้วย) เเล้วนำมาผสมกับนมสด นำไปบ่มต่อในอุณหภูมิที่เหมาะสมจนส่วนผสมทั้งหมดกลายเป็นโยเกิร์ตล็อตใหม่ขึ้นมา (ดูสูตรโฮมเมดโยเกิร์ตได้ที่นี่) เครื่องดื่มโพรไบโอติกจาก ginger bug ก็เช่นกัน เมื่อใส่ ginger bug ลงไปในน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน แบคทีเรียจะย่อยน้ำตาลในนั้นและผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไดซ์ออกมา ทำให้เกิดรสซ่า เป็นฟอง ginger bug จึงนำมาผสมเป็นเครื่องดื่มได้อีกหลายชนิด เช่น โซดาผลไม้ จินเจอร์เอล แม้กระทั่งรูทเบียร์

 

Why Ginger?

 

 

นอกจากขิงจะเป็นยารักษาโรคโดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารแล้ว เปลือกขิงยังมีแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสมากพอที่จะเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นก๊าซและกรดแลคติก ซึ่งกรดแลคติกจะไปช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย เช่น เชื้ออีโคไลที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง นอกจากนี้กระบวนการ Lacto-fermentation แบบนี้ยังช่วยเพิ่มระดับวิตามินและเอนไซม์ในร่างกาย และช่วยระบบลำไส้อีกด้วย

 

How to Make Ginger Bug? 

 

     

  • ขิงหั่นแว่น 150 กรัม
  •  

  • น้ำตาลทรายแดง 2 ช้อนโต๊ะ
  •  

  • น้ำกรองพอท่วมขิง
  •  

  • อุปกรณ์จำเป็น ขวดแก้วฝาเกลียวขนาด 16 ออนซ์
  •  

 

To start

 

ล้างขิงให้สะอาด ซับให้แห้ง ปอกเปลือก ถ้าเป็นขิงออร์แกนิก ไม่ต้องปอกเปลือก หั่นเป็นแว่น ใส่ลงในขวด ใส่น้ำตาลทรายแดงประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ เทน้ำผ่านน้ำตาลทรายแดงลงในขวดจนท่วมขิง ปิดฝาขวด เขย่าขึ้นลงพอให้น้ำตาลละลายเข้ากันทั่ว เปิดฝาทิ้งที่อุณหภูมิห้องประมาณ 24 ชั่วโมง (หรือปิดด้วยพลาสติกแร็ปแต่เจาะรูให้อากาศผ่านได้) เพื่อให้แบคทีเรียภายนอกเข้าไปในขวด

 

 

 

 

เมื่อครบ 24 ชั่วโมงจึงปิดฝา ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องหรือที่อุ่นๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยระหว่างสัปดาห์ 2-3 วันครั้งให้ทำเช่นนี้ คือเทน้ำในขวดออกประมาณ ¼ ถ้วย ใส่น้ำตาลทรายแดงเข้าไปใหม่ประมาณ 2 ช้อนชา และเติมน้ำให้ท่วมขิงเหมือนเดิม ปิดฝา เขย่าขวดให้เข้ากัน เมื่อครบ 1 สัปดาห์สังเกตจะเริ่มมีฟองขึ้นที่ผิวน้ำ แปลว่านำ ginger bug ไปใช้งานได้แล้ว (การเปิดฝาขวด หมั่นคนระหว่างสัปดาห์จะช่วยเร่งกระบวนการหมักได้)

 

 

 

To maintain

 

เมื่อ ginger bug เริ่มมีฟองหรือพร้อมใช้แล้ว ทุกครั้งที่เทน้ำ ginger bug ออกไปใช้ ให้เติมเศษขิง และน้ำตาลเข้าไปเล็กน้อย พร้อมทั้งเติมน้ำให้ท่วมเหมือนเดิม ทำแบบนี้ 2-3 วันที ถ้าไม่ใช้งานให้เก็บเข้าตู้เย็นช่องธรรมดาไว้ ก่อนใช้นำออกมาตั้งที่อุณหภูมิห้องให้แบคทีเรียตื่นและทำงานอีกครั้ง

 

หมายเหตุ

 

     

  • จำเป็นต้องใช้น้ำกรอง เพราะน้ำจากก๊อกจะมีคลอรีนทำให้จุลินทรีย์ตายได้
  •  

 

อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า ginger bug สามารถนำไปต่อยอดทำเมนูเครื่องดื่มต่างๆ ได้หลายชนิด โดยเมนูที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักคือจินเจอร์เอล (ginger ale) เพราะทั้งทำง่ายและเป็นที่นิยม ซึ่งอันนี้ไม่ใช่จินเจอร์เอลที่เป็นซอฟดริงค์แบบกระป๋องในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เป็นเครื่องดื่มโฮมเมดที่ใช้ ginger bug เป็นหัวเชื้อในการหมักและทำให้เกิดรสซ่า ดื่มแล้วช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ที่สำคัญมีแบคทีเรียแลคโตบาซิลัสที่ช่วยต่อต้านแบคทีเรียชนิดไม่ดีในลำไส้ ช่วยป้องกันอาการอุจจาระร่วง และสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

 

จินเจอร์เอล (Ginger ale)

 

ปริมาณ 1 ลิตร

 

     

  • น้ำกรอง  4  ถ้วย
  •  

  • ขิงขูด  ¼  ถ้วย
  •  

  • Molasses (กากน้ำตาล)  2  ช้อนชา
  •  

  • มะนาว (น้ำและผิว)  1  ลูก
  •  

  • น้ำตาลทราย  ½  ถ้วย
  •  

  • เกลือป่น  ½  ช้อนชา
  •  

  • Ginger bug  1/3 ถ้วย
  •  

 

วิธีทำ

 

1. ใส่น้ำ ขิงขูด โมลาส น้ำมะนาว ผิวมะนาว น้ำตาลทราย เเละเกลือลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งบนไฟกลางเคี่ยวประมาณ 10 นาที ปิดไฟ ยกลงพักไว้จนเย็นสนิท กรองผ่านกระดาษกรองหรือผ้าขาวบาง

 

 

2. นำส่วนผสมข้อ 1 ผสมกับ ginger bug คนให้เข้ากัน กรอกใส่ขวดแก้วที่ฝาปิดสนิท (ประมาณ ¾ ขวด) ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง 2 วัน จะได้จินเจอร์เอลที่มีรสซ่ากำลังดี

 

 

หมายเหตุ

 

     

  • ไม่ควรผสม ginger bug กับส่วนผสมร้อนๆ เพราะจะทำให้จุลินทรีย์ตาย ginger bug จะไม่ซ่า
  •  

  • เมื่อนำ ginger bug ใส่ขวด ให้ตั้งทิ้งไว้ 2 วัน หากทิ้งไว้นานกว่านั้นจะเกิดก๊าซมาก ต้องเปิดฝาขวดเพื่อระบายก๊าซ มิเช่นนั้นขวดอาจระเบิดได้)
  •  

Share this content

Contributor

Tags:

หมักดอง, เครื่องดื่ม, โพรไบโอติกส์

Recommended Articles

Cookingดื่มด่ำท้ายปีกับ Arancello เหล้าส้มหวานหอมสดชื่นสำหรับสายแอลฯ
ดื่มด่ำท้ายปีกับ Arancello เหล้าส้มหวานหอมสดชื่นสำหรับสายแอลฯ

เหล้ากลิ่นเปลือกส้มหอมสดชื่น ทำง่าย ใช้เวลาแค่ 1 สัปดาห์

 

Recommended Videos