หยิบสะตอกลิ่นฉุนหอมมาทำแกงสมรมหรอยแรง
วัตถุดิบประจำเดือนนี้ ได้แก่ ‘สะตอ’ พืชท้องถิ่นที่อยู่คู่ภาคใต้มาช้านาน ด้วยความอร่อยและกลิ่นเฉพาะตัว ทำให้ใครกินก็ต้องติดใจ ปัจจุบันสะตอไม่ได้ปลูกแค่ทางภาคใต้อย่างเดียว แต่ปลูกได้ตามภาคอื่นๆ ทั่วไป และยังถือเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งด้วย
สะตอนิยมนำมาทำอาหารหลากหลาย ทั้งต้ม ผัด แกง แต่เมนูที่มักจะเห็นเจ้าสะตอลงไปอยู่นั้นหนีไม่พ้นเมนูสุดฮิตที่ครองใจคนมานักต่อนักคือ ผัดกะปิสะตอกุ้งสด รวมถึงผัดเผ็ดสะตอที่อร่อยไม่แพ้กัน แต่บางครั้งก็นำสะตอมาแกงเผ็ดหรือแกงคั่ว ใส่ได้ทั้งหมูและอาหารทะเล ส่วนใครไม่ชอบกินเผ็ดแนะนำให้ต้มกับกะทิ ใส่หอมแดงบุบ ใบเหลียง และสะตอ ลงไปเคี่ยวให้นุ่ม ใส่เนื้อสัตว์อย่างกุ้งหรือเนื้อปู อร่อยเด็ดไม่แพ้กัน (เมนูนี้ไม่ค่อยเห็นในกรุงเทพฯ สักเท่าไร แต่ภาคใต้นิยมกินกันมาก) นอกจากเม็ด สะตอยังสามารถกินได้ทั้งฝัก โดยใช้มีดขูดเปลือกออกให้หมด ล้างน้ำเกลือ นำไปหั่นท่อน แล้วแกงคั่วกินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยนักแล
สะตอที่เราเห็นๆ กันมีอยู่ 2 สายพันธุ์คือ ‘สะตอข้าว’ ลักษณะฝักเรียวยาว เม็ดเล็กกลมนูนเรียงตัวสวย กลิ่นไม่ฉุน บางคนบอกว่าเม็ดด้านในเนื้อหวานมันอร่อย และ ‘สะตอดาน’ มีกลิ่นฉุนกว่า เม็ดใหญ่และแบนกว่า แต่อร่อยเหมือนกัน โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบกินสะตอข้าว เพราะกลิ่นไม่แรงและรสชาติมันกว่า แต่ก็อย่างที่บอกค่ะ ไม่ว่าสะตอสายพันธุ์ไหนก็อร่อยเช่นเดียวกัน
ช่วงสะตอออกพึ่บพั่บแบบนี้ เลยขอนำเอาสะตอมาทำเมนูอร่อยอย่าง ‘แกงสมรม’ แกงพื้นถิ่นภาคใต้ ส่วนมากนิยมแกงกับเนื้อกุ้งสด แต่ผู้เขียนนำมาเปลี่ยนหน้าตาเสียใหม่ ให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเนื้อปลากะพงมาย่างให้หนังกรอบ เนื้อด้านในสุกกำลังพอดี แล้วนำมาวางเสิร์ฟคู่กับแกงสมรมที่ปรุงแบบฉบับคนใต้แท้ๆ
ใช้ความหวานจากน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลแว่น ความเค็มจากกะปิหรือไม่ก็เกลือสมุทร และความเปรี้ยวจากมะขามหรือส้มแขก รสชาติที่ได้จะออกหวาน เปรี้ยว เค็ม ตามๆ กันมา ส่วนผักที่ใส่ในแกงนั้นก็มีหลากหลาย อยากกินอะไรก็ใส่ลงไปได้เลย สูตรนี้ผู้เขียนใส่มะเขือเปราะ มะเขือพวง ชะอม หน่อไม้ต้ม (อันนี้ขาดไม่ได้เลย) และสะตอ เคี่ยวให้ผักนุ่ม แค่นี้ก็ได้แกงสมรมอร่อยๆ กินแล้วค่ะ
อ่านบทความเพิ่มเติม
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos