หอยแหล่งแดนใต้ที่หรอยแรงแบบห้ามพลาด
เดือนนี้ขอหยิบเอาวัตถุดิบทะเลพื้นบ้านของภาคใต้ที่มักพบมากในจังหวัดกระบี่ ตรัง ภูเก็ต พังงา และสตูล โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่ที่เรียกได้ว่าเป็นของขึ้นชื่อเลยก็ว่าได้ แขกไปใครมาก็ต้องหาลิ้มลองดูสักครั้งคือ หอยชักตีน วัตถุดิบตามฤดูกาลที่ผู้เขียนอยากนำเสนอมากๆ แบบ ก.ไก่ล้านตัว เพราะรสชาติที่หวานอร่อย เนื้อกรุบกรอบ แค่ลวกกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซ่บก็อร่อยแล้ว
แต่ก่อนที่เราจะนำวัตถุดิบตามฤดูกาลมาปรุงตามใจ อยากขอเวลาสักไม่กี่นาที เพื่อจะพาทุกคนที่ยังงงกับวัตถุดิบชื่อแปลกเสียก่อนว่าอาศัยอยู่ที่ไหน พบเจอได้มากช่วงเวลาไหน กินอะไรเป็นอาหารเนื้อถึงได้หวานอร่อยแบบนี้ มาเริ่มที่แหล่งที่อยู่อาศัยกันก่อน หอยชักตีนจะอาศัยอยู่ตามแหล่งชายฝั่งทะเลที่เป็นพื้นดินทรายปนโคลน พบเจอห่างจากชายฝั่งตั้งแต่ 50 จนถึง 1,000 เมตร เรียกได้ว่าเดินเล่นอยู่ตามชายหาดก็พบเจอได้ง่ายๆ เพราะหอยชักตีนจะกระจายตัวอยู่ตามบริเวณชายหาดเหล่านี้ อาหารการกินก็เป็นจำพวกซากสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปลา กุ้ง หอย ที่ตายแล้ว (ถึงว่าทำไมเนื้อหอยถึงได้หวาน กรอบ อร่อย) โดยหอยชักตีนจะออกหาอาหารในช่วงบ่ายๆ หลังน้ำลง ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะจะโผล่ขึ้นมาจากชายหาด แล้วออกหาอาหาร
โดยส่วนมากชาวบ้านและชาวประมงนิยมเก็บหอยชักตีนกันในช่วงเวลาน้ำลดนี่ละค่ะ เดินเก็บหอยชักตีนกันตามชายหาด บางที่ก็ถือเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์เก็บหอย ถ้าบ้านไหนมีเด็กก็จะสนุกกับกิจกรรมนี้สุดๆ โดยรูปร่างหน้าตาของหอยชักตีนคล้ายคลึงกับหอยสังข์ บางคนเรียกว่าหอยสังข์ขาเดียวเสียด้วยซ้ำ
ช่วงระยะเวลาที่หอยชักตีนมีจำนวนค่อนข้างมาก และนิยมเก็บมารับประทานมากที่สุดอยู่ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม พอถึงช่วงเวลานี้ชาวบ้านและชาวประมงตามชายหาดจะออกมาเก็บและนำไปขายตามร้านอาหาร ไปกินร้านอาหารในช่วงระยะเวลาเดือนนี้ทีไรจะเห็นเมนูหอยชักตีนเสียส่วนใหญ่ เวลาผู้เขียนกลับบ้านช่วงเดือนเมษายนทีไร จะต้องพุ่งตัวไปร้านอาหารริมทะเลเจ้าประจำ เพื่อสั่งเมนูนี้กินทุกครั้ง เพราะเป็นช่วงที่หอยโตเต็มวัยและมีน้ำหนักพอดีกับการบริโภค
หากพ้นช่วงระยะเวลานี้ไปจะหาหอยชักตีนกินได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่หอยชักตีนกำลังวางไข่หรือขนาดตัวยังโตไม่เต็มที่ จับมาบริโภคยังไม่ได้ ด้วยเป็นความตั้งใจของกลุ่มชาวบ้านริมทะเลและชาวประมงที่จะช่วยกันอนุรักษ์หอยชักตีนไว้ไม่ให้สูญหายไปจากธรรมชาติ จึงกำหนดช่วงเวลาในการจับให้ชัดเจนและจะปิดหาดบริเวณที่หอยชักตีนอาศัยอยู่ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนการขยายพันธุ์ของหอยชักตีนในช่วงนั้น เพราะเป็นหอยที่ยังไม่ได้ถูกเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง แม้ปัจจุบันจะมีศูนย์วิจัยนำหอยชักตีนไปเพาะพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์แล้วนำคืนสู่ธรรมชาติบ้างแล้วแต่ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอ ฉะนั้นหากไม่มีการกำหนดช่วงระยะเวลาในการเก็บ หอยชักตีนอาจสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลอันดามันก็เป็นได้
ไหนๆ ช่วงเวลานี้ก็เหมาะจะบริโภคหอยชักตีน เราเลยไม่รอช้า รีบสั่งหอยชักตีนส่งตรงจากจังหวัดกระบี่มาปรุงตามใจ โดยจะนำมาทำเป็นเมนูบ้านๆ อย่าง แกงคั่วพริกขี้หนูใบยี่หร่า เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ ช่วยเสริมรสชาติของเมนูได้อย่างลงตัว อันดับแรกมาเริ่มที่การทำความสะอาดหอยชักตีนก่อน อย่างที่บอกว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยชนิดนี้เป็นดินทรายปนโคลน ในตัวเปลือกหอยจึงมีโคลนอยู่เป็นจำนวนมากที่เราต้องล้างออกให้สะอาด โดยแช่หอยลงในน้ำที่ใส่พริกบุบและเกลือ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้หอยคลายเศษทรายและโคลนออกมา
จากนั้นนำไปลวกในน้ำบนไฟกลาง ค่อยๆ ให้ความร้อนเป็นตัวช่วยทำให้หอยยื่นส่วนที่เรียกว่าขา (ตีน) ออกมาข้างนอก (เราจะไม่ลวกในน้ำร้อนจัดเสียทีเดียว เพราะจะทำให้หอยหดตัวแล้วจะไม่ยื่นขาออกมา) พอหอยสุกได้ที่เวลาจะกินก็ใช้มือจับส่วนขาแล้วดึงตัวออกมา จะนำไปแกงหรือเมนูยำต่างๆ ก็ได้ตามใจชอบ หรือจะกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ดเปล่าๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน
ปล. ใครมีโอกาสไปเที่ยวภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่ ตรัง ภูเก็ต พังงา และสตูล ในช่วงเวลานี้ ลองไปหาซื้อมากินกันนะคะ รับประกันว่าอร่อยถูกใจแน่นอน แต่ถ้าใครยังไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวแต่อยากลองหาซื้อมากินดูสักครั้ง ผู้เขียนก็มีร้านอาหารทะเลที่รับเอาวัตถุดิบจากทางใต้มาขายให้คนกรุงอย่างเราได้ลิ้มลองกัน ไม่ว่าจะเป็นร้าน JNA seafood และร้านอาริกาโตะซีฟู้ด ทั้ง 2 ร้านนี้มีหอยชักตีนขายในช่วงนี้ แต่ไม่ได้มีทุกวันนะคะ ใครสนใจลองสอบถามได้เลย
คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรแกงหอยชักตีนใบยี่หร่า
อ่านบทความเพิ่มเติม
- ชี้เป้า! ร้านอาหารทะเลออนไลน์ อุดหนุนประมงพื้นบ้าน
- เรื่องของ “หอย” ที่คนชอบกินหอยต้องรู้
- หอยหลอดเนื้อหวานนุ่มหนึบมาแล้ว
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos