เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

cooking post

ชวนทำ ‘ขนมบูชาเทพ’ ที่ไม่ใช่เทพก็กินได้

Story by กฤติน ศรีบุตร

กุหลาบจามุน ลาดู​ และเจลาบี ขนมหวานอินเดียที่ทำกินเองก็ได้ ทำถวายเทพก็ปัง

คราวนี้ผมขอเสิร์ฟเมนูแห่งมูเตลู (ความเชื่อ) ‘ขนมบูชาเทพ’ ของอินเดีย ให้ชาวครัวได้รู้จักและทำความเข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับการบูชาเทพ (ฮินดู) ด้วยขนมที่เทพท่านโปรดปราน คิดว่าสายมูจะต้องถูกใจ เอาละ ไม่พูดพร่ำให้สื่อความยาว เรามารู้จักการบูชาเทพของชาวอินเดียกัน ว่ามีที่มาและเริ่มต้นอย่างไร

 

 

 

 

ความเชื่อการบูชาเทพเริ่มต้นในศาสนาฮินดู หนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จุดกำเนิดการบูชาเทพเกิดขึ้นก็เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์มักมีความกลัวอันตรายที่จะเกิดแก่ตนเอง เพื่อความปลอดภัย จึงเป็นเหตุให้เกิดความเชื่อเรื่องสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ มีการบูชาอ้อนวอนเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งดลบันดาลสิ่งที่ตัวเองต้องการ การบูชาจึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ก่อให้เกิดความเชื่อ ความศรัทธา และศาสนาในที่สุด

 

 

 

 

คนในศาสนาฮินดูเชื่อว่าหากองค์เทพท่านชอบอะไร ให้บูชาในสิ่งที่ท่านชอบ แล้วเราจะสมพรที่ขอไป

 

 

 

 

อันนี้ก็เป็นไปตามหลักจิตวิทยาง่ายๆ อย่างเช่นเมื่อเราต้องการให้ผู้ใหญ่คนหนึ่งเอ็นดู เห็นถึงความจริงใจ เมื่อรู้ว่าเขาชอบอะไร เราจึงซื้อไปให้ เขาได้รับแล้วก็ย่อมจะเกิดความปลาบปลื้ม และเอ็นดูเราเป็นอย่างมาก

 

 

 

 

บางคนเมื่ออ่านประโยคนี้ก็คงเกิดความสงสัยว่า รู้ได้อย่างไรว่าองค์เทพท่านชอบอะไร?

 

 

 

 

 

 

 

มีสมมติฐานจากรูปปั้นของพรพิฆเณศที่มักมีการถือขนม โดยในยุคต้นๆ รูปเคารพของพระองค์มักมีงวงตวัดไปเสวยขนมที่มีรูปทรงกลมในพระหัตถ์ด้วย แม้จะไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัดว่าขนมที่ถืออยู่ในพระหัตถ์เป็นขนมอะไรกันแน่ แต่อาศัยจากรูปทรงก็มีการคาดเดาว่าขนมนั้นควรจะเป็นอะไร บ้างก็ว่าเป็นโมฑกะ บางพื้นที่ก็ว่าเป็นขนมลาดู ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละพื้นที่นั้นๆ ในประเทศอินเดีย

 

 

 

 

แต่ใช่ว่าเทพทุกองค์จะมีรูปปั้นที่ถือขนม หรือระบุว่าท่านชอบกินขนม บางครั้งการคิดว่าท่านโปรดขนมอะไรก็เกิดจากการคาดเดาถึงรูปลักษณ์ขององค์เทพ การถอดบทความจากเรื่องเล่า หรือทำขนมให้ตรงกับลักษณะองค์เทพ อย่างเช่น ขนมบัวกุหลาบที่มักจะถูกนำไปไหว้พระแม่ลักษมี ด้วยเหตุผลว่าพระศรีลักษมีประทับอยู่ภายในดอกบัวในพิธีกวนเกษียรสมุทร และอีกหนึ่งความเชื่อคือการส่งต่อสิ่งที่ชอบจากพ่อสู่ลูก จากลูกสู่หลาน พูดง่ายๆ คือเทพรุ่นพ่อชอบเสวยอะไร เทพรุ่นลูกก็จะชอบเหมือนกัน

 

 

 

 

ขนมไหว้เทพในศาสนาฮินดูโดยส่วนใหญ่ล้วนแล้วมีต้นกำเนิดจากอินเดีย อาจเพราะเป็นถิ่นกำเนิดศาสนา มีการรวบรวมข้อมูลเรื่องที่ควรทำในการบูชาส่งต่อกันมา ระบุไว้ด้วยว่าการทำขนมบูชาเทพควรทำอย่างไร ขนมที่ทำต้องมีส่วนประกอบอะไร การระบุส่วนประกอบเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า ขนมธาตุบริสุทธิ์ส่วนผสมของขนมต้องมี แป้ง เนย นม น้ำตาล และ ธัญญาพืชพรรณต่างๆ โดยไม่มีเนื้อสัตว์และไข่เจือปนเด็ดขาด จึงจะถือว่าเป็นขนมธาตุบริสุทธิ์

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากขนมแล้วยังมี ‘ปัญจอมฤต’ หมายถึง น้ำวิเศษทั้ง 5 อย่างที่เหมาะสำหรับถวายแด่เทพเจ้าเนื่องจากเป็นที่โปรดปรานของทวยเทพทุกพระองค์ น้ำดื่มสะอาด นมวัว เนย โยเกิร์ต น้ำผึ้ง สิ่งที่บูชากับเทพนั้นต้องมีความบริสุทธิ์ นั่นหมายถึงจิตใจที่ใสสะอาด และน่าเชื่อถือด้วย

 

 

 

 

ผมมีเพื่อนที่นับถือศาสนาฮินดู เขาเล่าว่าขนมไหว้เทพนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อไหว้เทพเพียงอย่างเดียว ยังเหมาะกับการนำไปฝากพ่อ แม่ ญาติ ผู้ใหญ่ อีกด้วย เขายังบอกอีกว่าไม่ต่างจากการบูชาเทพเลย แถมยังมั่นใจได้อีกว่าจะได้รับพรทันทีแน่นอน พร้อมพูดเน้นบอกเตือนเสียงแข็งว่า

 

 

 

 

“อย่าให้เยอะนะ เบาหวานจะขึ้นเอา” ฮ่าๆ ทำเอาผมหยุดหัวเราะไม่ได้จริง นึกว่าจะเตือนเรื่องความเชื่อข้อห้ามต่างๆ

 

 

 

 

ทำความรู้จักความเชื่อของการบูชาขนมไหว้เทพ (ฮินดู) มาพอสมควรแล้ว เรามาทำความรู้จักกับขนมที่เหมาะกับการบูชากันบ้างดีกว่า

 

 

 

 

 

 

 

ลาดู (Ladoo) เป็นขนมอินเดียโบราณ เริ่มมีการทำขนมชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อบูชาองค์เทพบนสรวงสวรรค์ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 12 เป็นหนึ่งในขนมที่นิยมนำมาบูชาพระพิฆเนศ เทพแห่งความสำเร็จและการเริ่มต้นสิ่งใหม่ เป็นขนมที่พระพิฆเนศโปรดปรานที่สุด เหนือกว่าของบูชาใดๆ องค์พระพิฆเนศเองยังได้ประกาศพรไว้ด้วยว่า “หากผู้ใดถวายบูชาตัวข้าด้วยขนมลาดู ความปราถนาใดๆ ของผู้นั้น ข้าจะบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้นั้น” ลาดูจึงจัดเป็นขนมที่พูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ ในการบูชาพระพิฆเนศ รสชาติของตัวขนมจะหวานมัน รสสัมผัสออกร่วนๆ กินง่าย ไม่หวานมาก

 

 

 

 

คลิกดูสูตรลาดู

 

 

 

 

 

 

 

เจลาบี (Jelabi) เป็นขนมหวานอินเดียที่เป็นที่นิยมไปทั่วเอเชียใต้และตะวันออกกลาง รูปร่างละม้ายคล้ายกำไล ความเชื่อส่วนใหญ่มักจะพูดกันว่าเป็นขนมที่ทำบูชาพระศรีอุมาเทวี เพราะมีลักษณะคล้ายกำไลที่ท่านสวมใส่อยู่ ในอินเดียสามารถเจอเจลาบีได้ตลอดตามข้างทาง เนื่องจากเป็นหนึ่งใน Street food ที่นิยมมากในอินเดีย การนำมาไหว้เทพนั้นที่จริงแล้วสามารถไหว้ได้เกือบทุกองค์ ด้วยความที่มีลักษณะเป็นดั่งกำไลของทวยเทพ บูชาได้ในทุกโอกาส ส่วนรสชาติออกหวานและเปรี้ยว มีความกรอบเล็กน้อย ตัวแป้งคล้ายกับโรตีกรอบ แต่จะชุ่มไปด้วยน้ำเชื่อมที่ชุบไว้

 

 

 

 

 

 

 

คลิกดูสูตรเจลาบี

 

 

 

 

 

 

 

กุหลาบจามุน หรือ กุหลาบยามุน (Gulab Jamun) คำว่ากุหลาบในที่นี้หมายถึงดอกกุหลาบตรงตัวเลย ประเทศอินเดียเรียกว่ากุหลาบและประเทศไทยก็รู้จักดอกกุหลาบมาจากประเทศอินเดีย จึงเรียกด้วยชื่อเดียวกัน กุหลาบจามุนเหมาะสำหรับถวายพระแม่อุมาเทวี พระแม่ทุรคา พระแม่กาลี องค์มหาเทพมหาเทวีทุกพระองค์ สำหรับอินเดียแล้วดอกไม้ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของเพศหญิง กุหลาบจามุนจึงเป็นขนมที่ใช้ในการบูชาเทพที่เป็นหญิงเสียส่วนใหญ่ ขนมมีรสสัมผัสคล้ายกับทองหยอด รสหวานไม่ต่างกันมาก แต่รสชาติจะคล้ายนมข้น มีกลิ่นหอมของนม อร่อย หอมกระวาน

 

 

 

 

 

 

 

คลิกดูสูตรกุหลาบจามุน

 

 

 

 

การกล่าวถวายของบูชา ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องมีบทสวดมากมาย แค่ถวายด้วยหัวใจแห่งความปรารถนาที่บริสุทธิ์ และไม่จำเป็นจะต้องเป็นขนมของอินเดียเพียงอย่างเดียว เลือกใช้ขนมอะไรก็ได้ แต่ให้อิงตามหลัก ขนมธาตุบริสุทธิ์ ก็เพียงพอแล้วครับ

 

 

 

 

“ท้ายที่สุดแล้ว การขอพร การบูชา ล้วนแต่เป็นปลายทางในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะบูชาด้วยอะไร สุดท้ายแล้วสิ่งที่ควรพึ่งมากที่สุดคือตัวเราเอง”

 

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

ขนมหวาน, ขนมอินเดีย, อาหารอินเดีย

Recommended Articles

CookingMartabak Manis แพนเค้กอินโดนีเซียเนื้อนุ่มไส้ตู้มที่สายหวานต้องเลิฟ
Martabak Manis แพนเค้กอินโดนีเซียเนื้อนุ่มไส้ตู้มที่สายหวานต้องเลิฟ

มะตะบะมานิส ขนมเนื้อนุ่มแต่ฟูเด้ง ทำเองแบบนี้ จะใส่ไส้เท่าไหร่ก็ได้!

 

Recommended Videos