
น้ำจิ้มไก่ทำเองก็ได้ ทั้งง่าย ทั้งอร่อย
น้ำจิ้มไก่เป็นน้ำจิ้มมหัศจรรย์ที่จิ้มกับของทอดได้อร่อยทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอด เฟรนช์ฟรายส์ ลูกชิ้นทอด ไปจนถึงเปาะเปี๊ยะ เรียกได้ว่าเป็นน้ำจิ้มติดครัวครอบจักรวาลอีกอย่างหนึ่ง จึงทำให้ผู้ใหญ่ก็ชอบเด็กๆ ก็รัก เสียอย่างเดียวที่ว่า น้ำจิ้มไก่ขวดหนึ่งราคาหลายสิบบาท เมื่อพลิกอ่านฉลากข้างขวด ส่วนผสมส่วนใหญ่มักเป็นน้ำเปล่า น้ำตาล สารให้ความหวาน และสารปรุงแต่งอาหารสารพัด ชื่อที่อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างเสียเป็นส่วนใหญ่ สารปรุงแต่งอาหารเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักเป็นสารกันบูด ผงชูรส อิมัลซิไฟเยอร์ที่ทำให้น้ำจิ้มไก่ไม่แยกชั้น และจำพวกสารให้ความข้นเหนียวหรือแป้งดัดแปรชนิดต่างๆ ที่ใส่เข้าไปเพื่อให้น้ำจิ้มไก่ข้น จิ้มแล้วติดอาหารได้เยอะ
ว่าก็ว่าเถอะค่ะ คนอย่างเรามันก็เป็นประเภทหาทำ อะไรที่ดูจะทำเองได้ ก็อยากทำเองไปเสียหมด อย่างน้อยที่สุดก็จะได้กำหนดรสชาติที่เราชอบได้ ส่วนผลพลอยได้ที่เป็นการลดการบริโภคสารปรุงแต่งต่างๆ ลงนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่ค้นๆ ดูแล้วน้ำจิ้มไก่ก็ดูไม่ได้ทำยากเย็นอะไรมาก ดังนั้น มาลองทำน้ำจิ้มไก่ในอุดมคติของเรากันค่ะ

ทำน้ำจิ้มไก่เอง ดีอย่างไร?
น้ำจิ้มไก่สูตรนี้ทำตามโจทย์ที่ฉันอยากได้ คือ หอมกลิ่นพริก กระเทียม รสชาติ เผ็ด หวาน เปรี้ยว สมดุลกัน ไม่หวานเจี๊ยบเหมือนน้ำเชื่อม และที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องเหนียวหนืด ดังนั้นฉันจึงไม่ใส่แป้งหรือสารเพิ่มความข้นหนืดใดๆ อาศัยความเหนียวตามธรรมชาติจากการเคี่ยวน้ำตาลเท่านั้น
สูตรนี้เคี่ยวเสร็จแล้วได้น้ำจิ้มไก่ประมาณ 2 ถ้วย ซึ่งสำหรับคนไม่ค่อยกินของทอดอย่างฉันก็ต้องถือว่า อยู่ได้หลายเดือนค่ะ คำนวนดูแล้วประหยัดกว่าซื้อสำเร็จแบบขวดเล็กน้อย แต่ได้รสชาติแบบที่ชอบ
วิธีทำ น้ำจิ้มไก่โฮมเมด
เตรียมวัตถุดิบและส่วนผสมกันค่ะ
– พริกชี้ฟ้าแดง 100 กรัม
– พริกจินดาแดง 20 กรัม
– กระเทียมกลีบใหญ่แกะเปลือก 50 กรัม
– น้ำตาลทรายขาว 350 กรัม
– น้ำส้มสายชู 280 กรัม
– น้ำกระเทียมดอง 80 กรัม
– เกลือสมุทร 25 กรัม

เราจะเริ่มจากการเตรียมพริกและกระเทียม โดยการล้างให้สะอาด ผึ่งหรือซับน้ำให้แห้ง ก่อนจะหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ


แล้วนำไปปั่นในเครื่องปั่น โดยใส่พริกลงไปปั่นพอหยาบก่อน แล้วค่อยใส่กระเทียมตามลงไปปั่นรวมกันอีกแป๊บๆ พริกและกระเทียมจะได้ละเอียดเสมอกัน

ตักส่วนผสมที่ปั่นแล้วลงในหม้อ ใส่น้ำตาลทราย น้ำส้มสายชู กระเทียมดอง และเกลือ คนให้ละลายเข้ากันหมด แล้วยกขึ้นตั้งบนไฟกลาง



พอส่วนผสมในหม้อเดือดแล้ว เราจะลดไฟเป็นไฟอ่อนแล้วเคี่ยวต่อนาน 20 นาที น้ำจิ้มจะเริ่มงวดลง ปิดเตาแล้วพักไว้ให้น้ำจิ้มหายร้อน
เมื่อน้ำจิ้มหายร้อนแล้ว สังเกตว่าเนื้อน้ำจิ้มของเราจะข้นขึ้น ซึ่งเป็นการเซ็ตตัวตามธรรมชาติของน้ำตาลเคี่ยว สามารถปรับความข้นของน้ำจิ้มได้จากเวลาเคี่ยว ยิ่งเคี่ยวนาน ยิ่งข้นหนืด แต่อย่าลืมว่าความข้นของน้ำจิ้มขณะเคี่ยวร้อนๆ จะข้นขึ้นอีกเมื่อน้ำจิ้มเย็นลง ดังนั้นให้ต้องกะน้ำจิ้มในหม้อควรจะเหลวกว่าที่อยากได้นิดหน่อยนะคะ

ข้อสำคัญอีกอย่างของการปรับเวลาเคี่ยว คือรสเปรี้ยวของน้ำส้มสายชู ที่ยิ่งเคี่ยวนานก็จะยิ่งลดลง ถ้าใครแพลนว่าจะเคี่ยวน้ำจิ้มนานๆ ตั้งแต่แรก อาจต้องแบ่งน้ำส้มสายชูบางส่วนมาใส่หลังจากเคี่ยวไปแล้วสักพัก หรือเพิ่มปริมาณน้ำส้มสายชูจากสูตรขึ้นอีกหน่อย เพื่อให้น้ำจิ้มที่เคี่ยวเสร็จแล้วยังมีรสเปรี้ยวอยู่ แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของการใส่น้ำส้มสายชูเพิ่มทีหลังก็คือ น้ำจิ้มอาจยังมีกลิ่นน้ำส้มสายชูเหลืออยู่มากกว่าสูตรปกติ อันนี้เป็นวิชาเคมีภาคปฎิบัติที่แต่ละคนต้องไปหาสัดส่วนและเวลาเคี่ยวแบบที่ตัวเองชอบกันเอง – ความยุ่งยากยิบย่อยแบบนี่แหละค่ะ คือความสนุกของการทำอาหารกินเองที่แท้จริง
หลังจากนั้นก็กรอกน้ำจิ้มไก่ใส่ภาชนะที่มีฝาปิด แล้วใช้เสิร์ฟคู่กับอาหารทอดต่างๆ ได้ตามต้องการเลยค่ะ น้ำจิ้มไก่สูตรนี้เก็บในอุณหภูมิห้องได้นาน 1 เดือน หรือเก็บในตู้เย็นได้นาน 2-3 เดือน แต่เนื่องจากว่าเราไม่ได้ใส่สารกันเสียใดๆ ถ้าเปิดขวดใช้งานแล้ว ฉันแนะนำว่าควรเก็บไว้ในตู้เย็นตลอดเวลาจะดีที่สุด
ถ้าใครนานๆ จะเปิดมากินสักหนหนึ่ง (อย่างฉันเอง) ฉันขอแนะนำให้ทำฆ่าเชื้อภาชนะที่จะก่อนบรรจุให้ดีด้วยการลวกน้ำร้อน ใช้เฉพาะช้อนสะอาดๆ ตักเท่านั้น หรือจะเลือกภาชนะที่เป็นขวดปากแคบ เทได้สะดวก ก็จะช่วยลดโอกาสปนเปื้อนลงได้ แค่นี้น้ำจิ้มไก่สูตรโฮมเมดไร้สารกันบูดของเราก็จะมีอายุการเก็บรักษายาวนานหลายเดือนแล้วค่ะ
สูตรนี้กะให้รสชาติเป็นแบบกลางๆ ไม่โดดไปทางไหนทางหนึ่ง ถ้าอยากปรับสูตร จะเพิ่มเผ็ด หวาน เปรี้ยว เค็ม อย่างไรก็ปรับได้เต็มที่ ใครทำแล้วได้สูตรเด็ด สูตรอร่อย จะแพ็กใส่ขวดเป็นของขวัญของฝาก หรือเป็นของขายเพิ่มรายได้ก็ย่อมได้
ขอให้สนุกกับการมีสูตรน้ำจิ้มไก่เป็นของตัวเองค่ะ : – )
กราฟิกโดย: นภสร คำโคม
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos