เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

บ้านไหนมีเด็กเกิดใหม่ ชาวสะกอมชวนฉลองด้วย ‘ขนมดาด้า’

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

แป้งจี่เรียบง่าย ล้อมวงกินด้วยกันตอนยังร้อนๆ หอมๆ อร่อยอย่าบอกใคร

ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีอาหารการกินที่หลากหลายและเฉพาะตัวด้วยพื้นที่ ทรัพยากร และความเป็นท่ารับวัฒนธรรมจากการเดินทางค้าขาย การเดินทาง อพยพ โอชะอย่างภาคใต้จึงมีเมนูท้องถิ่นซ่อนอยู่มากมาย บางเมนูเรียกได้ว่ารู้จักกันเฉพาะในอำเภอหรือตำบลเลยก็ว่าได้ อย่างเช่นเมนู ขนมดาด้า แป้งจี่หอมๆ จากตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เราอยากชวนมาทำความรู้จักกันในบทความนี้ค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

ขนมดาด้า เป็นขนมพื้นบ้านที่ชาวสะกอมทำกินกันมาหลายชั่วอายุคนค่ะ บรรดาก๊ะ (พี่สาว) ที่ลงมือทำขนมดาด้าให้เรากินในวันนี้บอกว่ามักทำกันในงานมงคล อย่างเช่น งานขึ้นบ้านใหม่ หรือทำเลี้ยงอุละมาอฺ โต๊ะครู ผู้รู้ทางศาสนาซึ่งมาประกอบพิธีการในโอกาสต่างๆ จึงได้ชื่อว่าเป็นที่ไม่มีซื้อไม่มีขาย จะหากินได้ก็ต่อเมื่อไปบ้านงานเท่านั้น

 

 

 

 

อีกกรณีหนึ่งที่เราจะได้เห็นชาวสะกอมหลายๆ บ้านทำขนมดาด้ากินกันก็คือช่วงรอมฎอนหรือช่วงถือศีลอดในเดือนเก้าของปฏิทินอิสลามค่ะ เพราะชาวสะกอมส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม การ ‘บวช’ หรือถือศีลอดมาตลอดทั้งวันทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย อาหารสำหรับละศีลอดหรือ ‘แก้บวช’ หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าจึงต้องกินง่าย ให้พลังงานสูง และกินด้วยกันได้มากคนในราคาที่สบายกระเป๋า อย่างเช่นขนมดาด้านี่เองค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากงานพิธีและแก้บวชแล้ว อีกโอกาสหนึ่งที่จะขาดขนมดาด้าไปไม่ได้ก็คือเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ขึ้นในชุมชนค่ะ ขนมดาด้าเป็นขนมผูกขาดในงานขึ้นเปลเด็ก งานโกนผมเด็ก ชนิดที่ว่าบ้านไหนมีเด็กเกิดใหม่บ้านนั้นเป็นต้องตั้งกระทะทำขนมดาด้าให้คล่อง อีกนัยหนึ่งขนมดาด้าจึงเป็นขนมของคนลูกดกด้วย จะว่าเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ก็คงส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือมันเป็นขนมที่ราคาถูก ง่าย ทำกินทีหนึ่งก็แบ่งให้ลูกๆ อิ่มท้องได้ครบทุกคนเสียมากกว่าค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

วิธีทำขนมดาด้า แบบฉบับชาวสะกอม เริ่มจากการผสมแป้งข้าวเจ้า 500 กรัม แป้งข้าวเหนียว 250 กรัม ไข่ไก่ 4 ฟอง และกะทิประมาณ 250 มิลลิลิตร (1 ขวดเล็ก) ให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว พักไว้ แป้งข้าวเจ้าจะให้ความฟู เบา ส่วนแป้งข้าวเหนียวจะให้ความนุ่มหนึบ รสสัมผัสของขนมดาด้าจึงเฉพาะตัว เมื่อรวมกับกลิ่นหอมๆ ของกะทิและไข่ก็ต้องบอกว่าเป็นรสชาติที่เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อจะจี่ขนมดาด้า ก็ให้ผสมน้ำมันเข้ากับไข่แดงไข่ไก่ 1-2 ฟอง ตีให้ไข่แดงกระจายเป็นเม็ดเล็กๆ แล้วจึงใช้น้ำมันทากระทะให้ทั่ว ก่อนจะเทแป้งลงไปแล้วยกกระทะขึ้นกลอกให้แป้งแผ่เป็นแผ่นบางเสมอกัน ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยทั้งความเร็วในการกลอกกระทะ และความแข็งแรงของข้อมือด้วย เมื่อแป้งสุกดีแล้วก็กลับแป้งด้านบนลงไปจี่ให้ทั่ว

 

 

 

 

 

 

 

ไข่แดงที่ผสมลงไปในน้ำมันทำให้ขนมมีกลิ่นหอมและสีเหลืองสวย จี่เดี๋ยวเดียวก็ได้ขนมดาด้าแล้ว 4-5 แผ่น พับเสิร์ฟร้อนๆ คู่กับ ‘น้ำผึ้งเหลว’ หรือ ‘น้ำผึ้งโหนด’ (น้ำตาลโตนดเคี่ยว) รสหวานหอม เข้ากันดีมากๆ กับตัวแป้งขนมดาด้าซึ่งไม่ได้มีรสชาติอะไรซับซ้อนนอกจากรสเค็มอ่อนๆ จากกะทิ กินเพลินดีมากเลยค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ก๊ะบอกว่า ชื่อ ‘ดาด้า’ คือชื่อที่เรียกกันมาหลายรุ่นจนกลายเป็นชื่อเฉพาะแม้ไม่รู้ความหมาย และคิดว่าน่าจะเป็นภาษามลายู ส่วนมิตรสหายนักกินชาวสงขลาของฉันบอกว่า หลายประเทศในวัฒนธรรมมลายูก็มีขนมที่ใช้ชื่อ ‘ดาด้า’ อยู่เช่นกัน อย่างเช่น Dadar gulung ของอินโดนีเซีย (โดยเฉพาะในเกาะชวา) และ Kuih dadar ของมาเลเซีย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีลักษณะเป็นแป้งจี่แผ่นบางม้วนให้เป็นทรงกระบอก มีไส้เป็นมะพร้าวขูดคั่ว จึงสันนิษฐานต่อได้ว่า ‘ดาด้า’ คงจะหมายถึงแผ่นแป้งจี่นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

อย่างที่บอกว่าขนมดาด้าเป็นขนมธรรมดาๆ ต้นทุนไม่กี่บาทก็จริง แต่กลับเป็นขนมที่ไม่ค่อยมีซื้อมีขาย จะหากินได้ก็ต่อเมื่อเป็นโอกาสเฉพาะเท่านั้น วันนี้ฉันจึงจับว่าโชคดีมากที่ได้มาลิ้มรสอร่อยเรียบง่ายของขนมดาด้าถึงสะกอม แน่นอนว่าขนมดาด้าจะอร่อยที่สุดก็ต่อเมื่อได้ ‘ราไหม’ หรือได้ล้อมวงกินด้วยกันอย่างนี้ กลอกแป้งไป กินไป คุยกันไป เผลอแป๊บเดียวแป้งดิบที่เตรียมไว้ก็พร่องไปเกือบครึ่ง สมแล้วที่เป็นขนมบ้านงาน ขนมแก้บวช เพราะมันเหมาะกับการกินด้วยกันหลายๆ คนจริงๆ ค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

ขนมดาด้าเป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งที่บอกเล่าความสมบูรณ์ หลากหลาย แต่เรียบง่าย และเอื้ออารีของพี่น้องชาวสะกอมได้เป็นอย่างดี นอกจากช่วงบ้านงานที่สะกอมแล้ว วันไหนที่พี่น้องชาวจะนะขึ้นมาทำกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ม๊ะและก๊ะทีมแม่ครัวจากจะนะก็มักจะผสมแป้งทำดาด้ากันสดๆ ใหม่ๆ ในงานด้วยเสมอ ชาวกรุงเทพฯ ที่อยากลองกินขนมดาด้าแบบต้นตำรับลองแวะเวียนไปตามงานสิ่งแวดล้อมได้นะคะ มีชื่อจะนะที่ไหน มีของอร่อยที่นั่นแน่นอน คอนเฟิร์มโดยฉันผู้ตามติดไปกินฝีมือก๊ะและม๊ะตามงานโน้นงานนี้อยู่บ่อยๆ ค่ะ ; – )

Share this content

Contributor

Tags:

ขนมพื้นบ้าน, อาหารใต้

Recommended Articles

Food Storyเข้าสวนขุดมันมาทำ ‘เหนียวหัวมัน’ มื้อเช้าบ้านๆ ในวันฝนพรำของชาวสงขลา
เข้าสวนขุดมันมาทำ ‘เหนียวหัวมัน’ มื้อเช้าบ้านๆ ในวันฝนพรำของชาวสงขลา

ชวนเข้าสวนเก็บมันมาทำอาหารว่างท้องถิ่นในวันฝนโปรย

 

Recommended Videos