ทำอาหารพังแค่ไหนก็เยียวยาได้ ด้วยเทคนิคพลิกโฉมอาหารพังให้ปัง (ผ่านเลนส์)
วัฒนธรรม ‘camera eats first’ ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว แถมยังไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เล่นๆ ด้วย เพราะ #foodstagram #instafood #foodie #foodporn และอีกสารพัดฟู้ด กลายเป็นหนึ่งใน 10 แฮชแท็กยอดนิยมตลอดกาลของแอปพลิเคชันแชร์รูปภาพอย่าง Instagram แถมรูปอาหารยังเป็นรูปที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดเมื่อเทียบกับรูปอื่นๆ เช่น รูปพระอาทิตย์ตก รูปวิว และรูปเซลฟี่
การแชร์ภาพอาหารกลายเป็นวัฒนธรรมที่เติบโตบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษาจาก Yale University บอกว่าอาจเป็นเพราะว่ามนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะถ่ายภาพความทรงจำดีๆ เก็บไว้ ซึ่งแน่นอนว่าอาหารก็เป็นความทรงจำดีๆ เป็นคอนเทนต์ที่ผลิตง่าย แถมยังเชื่อมโยงกับคนได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกภาษา จึงไม่แปลกที่ภาพอาหารจะเป็นภาพที่อัปโหลดลงไปทีไรก็ได้รับผลตอบรับจากเพื่อนๆ บนโลกโซเชียลมีเดียในเชิงบวกทุกครั้ง
การถ่ายรูปอาหารนอกจากจะมีผลดีกับจิตใจแล้ว การวิจัยหลายแห่งยังพบว่า การโพสต์ภาพอาหารคือการบันทึก food diary ที่เหมาะสำหรับบำบัดผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกิน อย่างเช่นผู้ป่วยโรคอะนอเร็กเซียหรือโรคคลั่งผอม เพราะการแชร์ภาพอาหารและคอมเมนต์ในเชิงบวกจากแอกเคานต์อื่นๆ ส่งผลเชิงบวกให้กับร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์
ในบรรดาภาพอาหารที่อยู่บนโลก instagram กว่า 300 ล้านรูปในปัจจุบัน มีภาพมากกว่า 22% ที่เป็นภาพอาหาร self-cooked หรืออาหารทำเอง แน่นอนว่านอกจากจะเป็นไปเพื่ออวดภาพอาหารสวยๆ แล้ว ยังมีจุดประสงค์แอบแฝงเพื่อบอกว่า ‘ฉันทำอาหารเก่งนะจ๊ะ ดูสิ’ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่สร้าง self-esteem หรือความภูมิใจในตัวเองได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นเหล่าบรรดาแม่ครัวพ่อครัวมือใหม่ก็ย่อมจะอยากอวดภาพอาหารจานสวย พร้อมติดแฮชแท็ก #instafood ส่งจานเด็ดของเราเข้าสู่โลก instagram ด้วยอีกคนแน่นอน จริงไหมคะ?
แต่บางทีอาหารของมือใหม่มันก็ไม่ค่อยจะร่วมมือด้วยเท่าไร รสชาติอิหลักอิเหลื่อยังพอกล้อมแกล้มกันไปได้ แต่เมื่อใดที่ตั้งใจทำสุดฝีมือแล้วดันออกมาไม่สวย กลายเป็นเมนูหน้าตาพังๆ นี่ มันอดเจ็บใจไม่ได้จริงๆ!
เช่นเดียวกับกฎ 10,000 ชั่วโมง ที่ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ ‘สัมฤทธิ์พิศวง’ ว่าพรสวรรค์นั้นไม่สำคัญเท่าพรแสวง กว่าจะทำอาหารจนเซียนได้ มือใหม่ทุกคนก็คงต้องสะสมประสบการณ์ให้ได้ครบ 10,000 ชั่วโมงเหมือนกัน แต่โลกออนไลน์รวดเร็วและใจร้อนกว่านั้น เพื่อเป็นการให้กำลังใจมือใหม่ เราจึงมาแจกทริกง่ายๆ ที่จะย่นย่อ 10,000 ชั่วโมงแห่งการเป็นพ่อครัวแม่ครัวมือฉมังนั้นเหลือเพียงไม่กี่ขั้นตอน (ในวงเล็บไว้ว่า กรณีนี้เราก็จะฉมังเฉพาะในโลกออนไลน์ไปก่อน เพื่อเรียกขวัญกำลังใจ -ฮ่าๆๆๆ)
หา 3 สิ่งนี้ให้เจอก่อนลงมือถ่ายภาพอาหาร
การถ่ายภาพอาหารแบบมืออาชีพมีรายละเอียดยิบย่อยไม่แพ้การทำอาหารอย่างเซียน แต่สำหรับมือใหม่หัดถ่ายและหัดทำ เราขอแนะนำให้มองหา 3 สิ่งนี้ก่อนจะยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมา นั่นก็คือ
1) หาแสงที่เหมาะกับการถ่ายอาหาร
แสงที่ง่ายและเวิร์กที่สุดสำหรับการถ่ายภาพอาหารด้วยอุปกรณ์น้อยชิ้น ก็คือแสงธรรมชาตินั่นเอง โดยเฉพาะในเวลาที่แสงไม่ได้ส่องลงมาเป็นแนวเฉียง ที่จะทำให้เกิดแสงเงานุ่มนวลกว่า ลองยกจานอาหารไปไว้ใกล้หน้าต่างในช่วงสายๆ หรือช่วงบ่ายแก่ดู แล้วจะพบว่าการถ่ายภาพอาหารก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดนี่นา
2) หาภาชนะสวยๆ ถ้ามีพร็อพด้วยก็จะเป็นคะแนนพิเศษ
ภาชนะที่ดึงดูดความสนใจและเหมาะสมกับจานอาหารก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน ร้านอาหารหรูหรามักให้ความสำคัญกับขนาด สี และรูปทรงของภาชนะเป็นอันดับต้นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เหมือนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่จะชูโรงให้หน้าตาอาหารของเราดูดีขึ้นได้มาก ภาชนะสีพื้น อย่างเช่นสีขาว สีเทา สีดำ คือตัวเลือกเซฟๆ สำหรับมือใหม่ เมื่อทำความรู้จักกันมากขึ้นแล้วก็อาจเพิ่มลวดลายลีลาได้ตามความเชี่ยวชาญ แต่อย่าลืมนะว่าการสะสมภาชนะสวยๆ เหล่านี้ก็มีต้นทุนไม่น้อยเหมือนกัน
นอกจากภาชนะแล้ว พร็อพอื่นๆ ก็เป็นคะแนนพิเศษที่มองข้ามไม่ได้เลย ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน ช้อนส้อม มีด ตะเกียบ ไปจนกระทั่งขวดพริกไทย แจกันดอกไม้ ดอกไม้สดสักสองสามดอกก็ช่วยให้ภาพอาหารของเราเหนือชั้นขึ้นไปอีก ลองสังเกตภาพอาหารจากหนังสือสูตรอาหารทั่วไป จดจำรายละเอียดแล้วจัดโต๊ะเทียบเคียงกันดู อาหารของเราก็จะมีสไตล์ได้แบบนั้นเหมือนกัน
3) หา ‘หน้า’ อาหาร
หน้าอาหารคืออะไร และทำไมต้องหาหน้าอาหาร? พูดให้เข้าใจง่ายที่สุด หน้าอาหารก็คือส่วนของอาหารที่จะปรากฏอยู่ในเฟรมถ่ายภาพของเรา ที่เราต้องหาหน้าอาหารให้เจอก็เพราะว่าหน้าอาหารคือมุมเดียวที่เราต้องจัดการ เพื่อให้อาหารอยู่ในรูปแล้วสวยงามที่สุด
อาหารบางจานควรถ่ายจากด้านบน (มุม top) ถือเป็นมุมปลอดภัยที่ถ่ายง่าย โพสต์ง่าย เพราะเห็นอาหารเต็มๆ ตา อาหารบางจานควรถ่ายจากด้านข้าง (90 องศา) เช่นอาหารมองจากด้านข้างแล้วสวย อย่างเบอร์เกอร์ บิงซู แซนด์วิช หรืออาหารบางจานควรถ่ายด้วยมุม 45 องศา เทคนิคคือต้องมองจานอาหารของเราให้รอบแล้วหามุมที่ภาพออกมาดูดีที่สุด เพื่อที่จะได้ตกแต่งมุมนั้นเพียงมุมเดียว – ส่วนที่พังเกินแก้กรุณาเก็บไว้นอกเฟรม
เมื่อหาหน้าอาหารเจอแล้ว จะแก้ปัญหาอาหารพังยังไงดี? จะขอยกตัวอย่างเป็นสเต็ป ตามนี้
1) อย่าปล่อยให้มีรอยไหม้ดำปี๋
ทางเดียวที่จะจัดการกับอาหารไหม้ได้คือกำจัดมันออกให้หมด หากเป็นขนมปังหรือหนังสัตว์กรอบๆ อาจแก้ได้ด้วยการใช้มีดค่อยๆ ขูดส่วนที่ไหม้ออก หากเป็นเค้กต้องยอมเฉือนเนื้อเค้กส่วนที่สีเข้ม แห้ง และแข็งออกไปเสีย เมนูเส้นๆ ผัดๆ ที่แห้งดำจนติดกระทะขอให้หยิบออกอย่าเสียดาย (หรือถ้าเสียดาย อย่างน้อยที่สุดถ่ายรูปเสร็จแล้วค่อยเอากลับมาใส่จานก็ได้) เขี่ยเศษกระเทียมไหม้ๆ ออกจากหน้าอาหารไปด้วย เพราะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้แหละที่ถ้าละเลยไปแม้แต่นิดเดียวก็ฟ้องความพังแก่สายตาชาวโลกได้ทันที
2) อย่าให้ภาพมีสีเดียว
สีสันคือสิ่งที่ทำให้อาหารน่ากิน (แม้มันจะยังไม่ค่อยอร่อยก็ตาม) มองหาสีอย่างน้อย 3 สีในจานอาหารของเรา หากสียังไม่ครบก็จงหามาเติมให้ครบ จานสลัดจืดๆ จะดูดีขึ้นเมื่อมีสีขาวจากขนมปังกรอบหรือไก่ฉีก สีแดงจากแรดิชสไลซ์ และสีเหลืองจากข้าวโพดชีสเค้กหรือแพนเค้กจะสวยขึ้นเมื่อมีเบอร์รีสักสองสีร่วมเฟรมด้วย ผัดบะหมี่กึ่งฯ บ้านๆ จะดูสวยขึ้นเมื่อมียอดโหระพาวางประดับสักช่อ ไข่ดาวหรือไข่ต้มยางมะตูมเยิ้มๆ สวยๆ สักใบคือแต้มบวกเพราะมีถึงสองสี ถ้วยน้ำพริกหรือหลนที่ห้อมล้อมด้วยผักสดผักลวกหลากสีจะไม่น่ากินได้อย่างไร พริกหยวกหลากสี มะเขือเทศ และช่อสมุนไพรสดสีเขียวสดสักช่อคือไม้ตายง่ายๆ ของร้านอาหาร แน่นอนว่ามันได้ผลทุกครั้ง มีติดครัวไว้บ้างก็ดีนะ
3) เลือกส่วนที่ดีที่สุดมาไว้ตรงหน้าอาหาร
ลองวางเฟรมไว้คร่าวๆ ว่าอาหารส่วนใดบ้างจะอยู่ในภาพของเรา แล้วเลือกกุ้งตัวที่สมบูรณ์แบบที่สุด ผักที่สีเขียวสด อาหารประเภทเส้นให้เลือกคีบส่วนที่ดูดีไม่มีรอยไหม้แยกออกมาต่างหาก จัดระเบียบด้วยการเขย่าตะเกียบสองสามทีแล้ววางพาดหรือม้วนแบบไม่ค่อยตั้งใจ (แต่จริงๆ แล้วตั้งใจมาก) ส่วนสลัดที่คลุกเคล้าจนเข้ากันนั้นอร่อยแน่ แต่ถ่ายรูปไม่สวยเลยเพราะผักจะดูเละเทะไปหมด ทางที่ดีคลุกแค่รอบสองรอบให้พอเข้ากัน จัดจานโดยหยิบชิ้นที่ดูสวยที่สุดมาไว้บนหน้าอาหาร เล็งให้อยู่ ‘เกือบ’ กลางเฟรม ก่อนจะกดถ่ายรูปเช็กให้ชัวร์ว่าโฟกัสเราอยู่ตรงอาหารชิ้นที่ดีที่สุด พรีเซนต์ความน่ากินของวัตถุดิบแบบเผลอ (ย้ำอีกทีว่าแต่จริงๆ แล้วตั้งใจมาก!)
4) ส่วนที่ฉ่ำควรจะดูฉ่ำส่วนที่แห้งก็ควรจะดูแห้ง
ไก่ย่างที่ผิวไม่ฉ่ำเลื่อมจะยั่วน้ำลายใครได้ ส่วนของทอดถ้าดูแฉะก็ไม่น่าอร่อยเช่นกัน อาหารจะดูอร่อยก็ต่อเมื่อมันดูเป็นธรรมชาติ แต่ในความเป็นธรรมชาติเหล่านั้น เบื้องหลังภาพถ่ายอาหารโดยฝีมือช่างภาพอาชีพ – อย่าลืมว่าไม่มีอะไรธรรมชาติเลย เนื้อสัตว์ในจานของเราไม่ควรดูแห้ง เช่นเดียวกับอาหารย่างและอาหารอบ การมีน้ำมันเคลือบสักเล็กน้อยให้เงาวับจะเติมชีวิตชีวาให้จานอาหาร อาหารส่วนที่โผล่พ้นน้ำแกงหรือน้ำซุปมา ถ้ามันดูแห้งเกินไปก็ใช้น้ำแกงหรือน้ำซุปเป็นตัวช่วย ส่วนขอบภาชนะควรจะดูแห้ง ระวังอย่าให้มีคราบเลอะเทอะมากไป ใช้มุมของกระดาษทิชชูซับออก หากต้องการความพิถีพิถันและสะอาดตามากขึ้น ใช้ทิชชูชุบน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาวช่วยก็จะกำจัดคราบได้หมดจดมากขึ้น
5) ใช้วิชามาร!
ข้อนี้เป็นข้อที่ยากที่สุด อาหารที่พังเกินแก้ แบบที่แค่มองก็เห็นว่าไม่อร่อย อาจจะต้องลงมือมากขึ้น อีกอย่างที่ใครเขามักบอกว่า #ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อย วิชามารอันดับสุดท้ายคือการพลิกแพลงอาหารจากความผิดพลาดนั้นให้ได้มากที่สุด แพนเค้กที่แบนแต๊ดแต๋แก้ได้ด้วยการซ้อนกันหลายๆ ชิ้น ข้าวผัดแฉะๆ อาจต้องได้ไข่ดาวสวยๆ โปะหน้าสักฟอง โรยด้วยต้นหอมสีเขียวสด ชิฟฟ่อนที่สีเข้มเกินไปแก้ได้ด้วยไอซิ่งและผลไม้สด หรือบางอย่างอาจต้องยอมสละเรือเพื่อรักษาหน้าตาเอาไว้ เค้กพังๆ สามารถเกิดใหม่เป็นช็อกบอลได้ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ไก่ย่างที่พอกินได้อยู่ซีกเดียวอาจต้องแปลงร่างเป็นสลัดไก่ฉีกคลีนๆ ซักจาน เรียกได้ว่าเสียอาหารไม่ว่า แต่เสียหน้า (อาหาร) ไม่ได้นะเธอ
เพียงเท่านี้อาหารของเราก็จะ ‘ดู’ ปังพร้อมอวดโฉมบนโลกโซเชียลได้แบบเก๋ๆ พิสูจน์ได้ด้วยยอดไลก์ ยอดเลิฟที่พุ่งทะยาน เป็นการเติมกำลังใจให้มือใหม่ทั้งหลายหัดทำอาหารต่อไปจนครบหมื่นชั่วโมง ก้าวสู่ความเป็นเซียนในโลกก้นครัว แล้วทำอาหารปังๆ ทั้งรสชาติและหน้าตาให้ได้ในสักวันหนึ่ง – สู้ต่อไปทาเคชิ!
ข้อมูลจาก
https://twolovesstudio.com/blog/colour-theory-food-photography/
https://www.socialmediatoday.com/social-networks/psychology-foodstagramming
https://thenextweb.com/opinion/2015/09/01/why-sharing-photos-of-food-is-about-more-than-whats-on-the-plate/
Contributor