เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

งานสะดุด ชีวิตวุ่น ใจขุ่นมัว เข้าครัวกันเถิดจะเกิดผล!

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

6 เหตุผลว่าทำไมการเข้าครัวทำอาหารกินเองจึงช่วยให้หัวใจเราแช่มชื่น

การใช้ชีวิตที่รีบร้อนและเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ไม่แปลกที่เราแทบจะสลบทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน โดยมองข้ามความสำคัญของมื้ออาหารและการได้ใช้เวลาในครัว ยิ่งกับคนในเมืองใหญ่ที่พึ่งพาแกงถุงเป็นสรณะ แม้จะรู้กันว่าแกงถุงไม่ใช่รสชาติที่ถูกปากและไม่ใช่อาหารที่สะอาดที่สุดก็ตาม

 

รู้ทั้งรู้ว่าการทำอาหารกินเองย่อมจะได้อาหารที่ปลอดภัย ถูกปาก และมีประโยชน์มากกว่า แต่ครั้นจะลุกขึ้นมาทำอาหารกินเองก็แทบจะไม่มีแรงเหลือ ไม่ใช่แค่แรงกายแต่เป็นแรงใจต่างหาก ยิ่งกับมือใหม่ที่ไม่ค่อยจับกระทะจับตะหลิว ก็อยากจะลองกินฝีมือตัวเองอยู่หรอก แต่การจะเริ่มต้นนับหนึ่งกับงานครัวช่างดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเหลือเกิน

 

แต่ช้าก่อน… จริงๆ แล้วการทำอาหารนี่แหละที่จะช่วยกอบกู้หัวใจของเราจากวันพังๆ ส่งท้ายให้ทุกวันจบลงอย่างสวยงาม เพราะผลวิจัยหลายแห่งต่างบอกตรงกันว่าการได้หยิบจับและปรุงอาหารด้วยตัวเองส่งผลดีต่อสุขภาพจิตหลายประการอย่างที่คุณอาจจะนึกไม่ถึง

 

การทำอาหารช่วยให้คุณได้อยู่กับปัจจุบัน

 

 

รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสของวัตถุดิบในการทำอาหาร บังคับให้เราใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในเวลาเดียวกัน เวลาของการทำครัวจึงเป็นเวลาที่หู ตา จมูก ปาก ลิ้น และมือของเราหมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับเมนูตรงหน้ามากกว่าเรื่องงาน เรื่องปัญหาชีวิต หรือเรื่องอื่นๆ เรียกว่าหากเราละเมียดละไมกับงานครัวมากขึ้น มันอาจเป็นชั่วโมงต้องมนตร์ที่ช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด ซึ่งภาวะแบบนี้คือพื้นฐานซึ่งเอื้อให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีได้แน่นอน

 

การทำอาหารคือการอนุญาตให้คุณอยู่นอกกรอบ

 

 

ไม่มีอะไรตายตัวในอาหาร แม้จะเป็นสูตรที่สืบทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่นก็ตาม สุดท้ายแล้วอาหารคือพื้นที่ที่ทำให้คุณได้ลองแหกกฎเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างปลอดภัย การเพิ่มกลิ่น สี รส ปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาจากสูตรเดิมให้กระเถิบเข้าใกล้รสนิยมส่วนตัวสักนิด เปรียบเหมือนการได้ปล่อยให้จิตใต้สำนึกลึกๆ ที่อยากจะใช้พลังควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง และเมื่อคุณเห็นผลลัพธ์ในการแหกกฎเล็กๆ น้อยๆ ของคุณในตอนท้าย ความรู้สึกแบบ ‘เห็นไหมล่ะ บอกแล้วว่ามันจะต้องออกมาดีเยี่ยม’ นี่แหละที่ชุบชูหัวใจสุดๆ

 

ความเหนื่อยในครัวได้รางวัลตอบแทนในทันที

 

 

แม้ชีวิตประจำวันของคุณจะไม่มีคำชมให้คุณเลย ทำดีไปไม่มีใครเห็นค่า ความเหนื่อยที่ไม่ได้รับการเยียวยาเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้คุณลดคุณค่าของตัวเองลงเรื่อยๆ แต่เมื่อคุณลงมือลงแรงปรุงอาหาร ไม่ช้าก็เร็วคุณจะได้อาหาร 1 จานเป็นรางวัลที่จับต้องได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ การทำอาหารจึงเป็นเหมือนการกระตุ้นเชิงพฤติกรรม (Behavioural Activation) อย่างหนึ่ง จิตแพทย์หลายคนแนะนำให้การทำอาหารเป็นส่วนหนึ่งของจิตบำบัดเชิงความคิดและพฤติกรรม (CBT, Cognitive Behavioural Therapy) สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะมันให้ผลตอบแทนทางใจในทันทีอย่างเป็นรูปธรรม

 

การทำอาหารคือการแสดงความรักต่อตัวคุณเอง

 

 

การทำอาหารกินเอง แม้ว่าจะเป็นแค่เมนูง่ายๆ ธรรมดาสุดๆ ก็เป็นการแสดงความรักต่อร่างกายและจิตใจของตัวเราเองที่แสนลึกซึ้ง คุณคือคนที่รู้และมั่นใจว่าสิ่งที่คุณกำลังจะส่งเข้าไปในร่างกายคือสิ่งที่ดี มันจะอร่อย ปลอดภัย และมีประโยชน์กว่าอาหารที่ใครก็ไม่รู้เป็นคนปรุงให้ สำหรับมือใหม่ ลองเริ่มทำอาหารง่ายๆ ใช้วัตถุดิบน้อยๆ กินเองดูสักมื้อ เคล็ดลับคือ ชอบอะไรก็ให้ใส่มากหน่อย การมีอำนาจในการเลือกสรรอะไรดีๆ ให้ตัวเองก็เป็นการเติมพลังให้หัวใจเราด้วยเหมือนกัน ไม่เชื่อลองนึกถึงก๋วยเตี๋ยวที่มีลูกชิ้นมากเท่าที่อยากจะกินดูสิ อา…

 

การทำอาหารทำให้เราใกล้ชิดกันได้มากขึ้น

 

 

จะมีอะไรช่วยให้ใจเบิกบานได้มากกว่าเวลาที่อาหารฝีมือคุณหมดเกลี้ยง พร้อมกับได้รอยยิ้มของคนที่คุณรักเป็นรางวัลแถมด้วย ไม่ใช่แค่กับคนรักเท่านั้น แต่กับครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ตัว หรือแม้กระทั่งน้องหมาน้องแมว เมื่อเราได้แบ่งปันเวลาในครัวหรือบนโต๊ะอาหารร่วมกัน นั่นคือโมงยามของการสื่อสารที่อบอุ่นที่สุด เพราะจานอาหารจะช่วยลดกำแพงระหว่างเราให้เหลือน้อยลง กลิ่นอบอวลก็จะทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย และเมื่อมันเป็นอาหารจากความตั้งใจและฝีมือของเราเอง อะไรๆ ก็ย่อมจะดีขึ้นเป็นทวีคูณ ที่สำคัญคือ ความรู้สึกหลังจากได้ตั้งใจทำอะไรเพื่อคนอื่นนี่แหละที่ทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองได้อย่างชัดเจน

 

การทำอาหารกินเองทำให้เราควบคุมการเงินได้

 

 

สำหรับใครที่เคยอยู่ต่างประเทศคงเข้าใจข้อนี้ดี เพราะการกินอาหารนอกบ้านทุกมื้อหมายถึงการเดินเข้าหาหายนะทางการเงินอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะที่คนไทยผู้มีอาหารการกินถูกๆ อยู่รอบตัวมากมาย อาจไม่มีใครเห็นด้วยว่าการทำอาหารกินเองคือการประหยัดเงิน ไหนจะค่าอุปกรณ์ เครื่องปรุง รวมถึงวัตถุดิบมากมายที่ต้องซื้อมาตุนไว้

 

แต่หากมองในระยะยาว การทำอาหารกินเองอย่างสม่ำเสมอคือการได้กิน ‘อาหารที่ดี’ ในราคาถูกแสนถูก เพราะเมื่อเราสร้างพื้นที่ครัวให้มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ อุปกรณ์และเครื่องปรุงที่ถูกใช้บ่อยครั้งคือการเสียเงินจานละไม่กี่สตางค์ วัตถุดิบที่มีอยู่คือความท้าทายที่พ่อครัวแม่ครัวจะต้องบริหารให้อยู่มือและคุ้มค่ามากที่สุด เมื่อเราบริหารสภาพคล่องทางการครัวของตัวเองได้แล้ว สภาพคล่องทางการเงินก็จะตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย รวมถึงระบบระเบียบในชีวิตที่ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจก็จะดีขึ้นด้วย

 

 

ภาษิตจีนบทหนึ่งบอกไว้ว่า “หนทางไกลนับหมื่นลี้ ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรก” การทำอาหารก็เป็นเช่นเดียวกัน ก่อนจะเป็นพ่อครัว แม่ครัวในระดับชำนาญการ คนครัวผู้ยิ่งใหญ่ล้วนเติบโตจากการเป็นมือใหม่ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแล้ว ใครที่คิดจะฝึกทำอาหารตอนนี้ก็จงรู้ไว้ว่านี่ไม่ใช่การเริ่มต้นที่สายเกินไปแน่นอน

 

เพื่อสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี –เข้าครัวกันเถิดจะเกิดผล!

 

ข้อมูลจาก

 

https://www.elitedaily.com/p/the-mental-health-benefits-of-cooking-are-even-sweeter-than-the-treats-you-create-11971218

 

https://www.bustle.com/p/7-emotional-benefits-of-cooking-thatll-make-you-want-to-actually-use-your-kitchen-9957022

 

https://www.livekindly.co/7-surprising-ways-cooking-can-boost-your-mental-health/

Share this content

Contributor

Tags:

Cooking Therapy, มือใหม่ทำอาหาร

Recommended Articles

Food Storyอบขนมให้หายเศร้า
อบขนมให้หายเศร้า

ขนมปังนุ่มฟูอบใหม่ ช่วยบำบัดจิตใจให้สงบกว่าที่เคย