เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

บำบัดจิตใจในครัวผ่านการปรุงอาหาร

Story by อรุณวตรี รัตนธารี

ในช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เชื่อว่าเราต่างต้องการการเยียวยาด้วยกันทั้งนั้น

สำหรับฉัน สถานที่ที่ช่วยเยียวยาทั้งใจและกายได้ดีที่สุดคือ ‘ห้องครัว’ ค่ะ ยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยทำงานซึ่งบางครั้งต้องเผชิญกับปัญหาแก้ยาก หลายคราวที่ฉันเลือกจะจับกระทะคว้าตะหลิวแล้วเดินตัวปลิวเข้าครัวไปพักใหญ่ ก่อนจะกลับออกมาพร้อมสมาธิและจิตใจที่ปลอดโปร่งกว่าเดิม

 

ด้วยการทำอาหารนั้น ไม่ใช่เพียงกิจกรรมประจำวันหรือหน้าที่ของแม่บ้านแม่เรือนเพียงอย่างเดียว ทว่าในอีกมุม ‘กระบวนการ’ ในการทำอาหารยังมอบคุณค่าบางอย่างแก่ชีวิตเรา ซึ่งในทางจิตวิทยาแล้วเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าการบำบัด (Therapy)​ ที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นทุกวัน

 

 

โดยเฉพาะในสังคมตะวันตก การทำอาหารกำลังถูกนำมาใช้เป็นวิธีการบำบัดจิตใจอย่างจริงจัง ทั้งบำบัดความเครียดเรื่อยไปถึงบำบัดโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ซึ่งมีผลการทดลองยืนยันว่า การเข้าครัวปรุงอาหารเพียงวันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงนั้น สามารถเยียวยาให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้จริงๆ

 

ทว่าการเข้าครัวที่ว่าอาจมีข้อแตกต่างจากการเข้าครัวธรรมดาอยู่เล็กน้อยนะคะ ในเรื่องนี้ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตชาวอเมริกัน ลิซ่า บาฮาร์ (Lisa Bahar) ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ตรง ‘ความตั้งใจ’ ในกระบวนการปรุง ไม่ติดว่าต้องเป็นเมนูอะไร เพียงขอให้ตั้งใจเท่านั้นเป็นพอ

 

 

โดยเธอยกตัวอย่างกระบวนการบำบัดจิตใจด้วยการทำอาหาร (Cooking Therapy) อย่างง่ายๆ ด้วยการใช้มีดเล็กๆ ปอกเปลือกผลไม้อย่างพิถีพิถัน เช่น ค่อยๆ ปอกเปลือกแอปเปิลให้ผิวเกลี้ยงสวย ซึ่งอาจใช้สมาธิเข้มข้นกว่าการปอกเปลือกแอปเปิลปกติสักหน่อย แต่รับรองว่าวินาทีที่จิตใจของเราได้จดจ่ออยู่กับคมมีดและผิวแอปเปิลนั้น สุขภาพจิตของเราก็ดีขึ้นแล้วละค่ะ โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมักมีอาการขาดสมาธิ ขาดแรงจูงใจ รวมถึงสิ้นไร้พลังงานในการทำกิจกรรมใดๆ เพราะระหว่างกำลังจดจ่ออยู่กับการรับรสนั้นเอง คือช่วงเวลาที่คุณจะได้กลับมาอยู่กับวินาทีปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีต ไม่พะวงกับอนาคต ซึ่งอาจเปรียบได้กับการฝึกกรรมฐานทีเดียว

 

นอกจากนั้นการทำอาหารยังเป็นการสร้างเป้าหมายให้กับตัวเอง ทั้งยังเป็นเป้าหมายที่สัมผัสได้ ลิ้มรสได้ ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองได้ในอีกทาง ดังที่นักจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก นอร์แมน ซัสแมน (Norman Sussman) กล่าวว่า “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกาย ได้ใช้แรงให้เหงื่อออก การทำอาหารก็กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเดียวกัน แต่เหนือกว่าตรงการทำอาหารให้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ทันที และส่งต่อความอร่อยให้คนอื่นได้ด้วย นั่นช่วยสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในจิตใจ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาว แม้ว่าผู้ป่วยจะหายจากโรคซึมเศร้าแล้วก็ตาม”

 

ไอเดียดี มีในครัว

 

นอกจากการปรุงอาหารอย่างใส่ใจ จะสร้างสมาธิและทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไกลกว่านั้น การเข้าครัวทำอาหารกินเองยังช่วยกระตุ้นสมองซีกขวาให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ จากการหยิบโน่นผสมนี่ หรือการแก้สมการว่าต้องจับวัตถุดิบไหนมาผสมกับอะไร จึงจะได้รสอร่อยสมใจอยาก

 

 

หรืออย่างที่ฉันลองใช้กับตัวเองเป็นประจำก็คือ การเปิดตู้เย็นหยิบวัตถุดิบคงค้างออกมาวาง แล้วจินตนาการว่าวัตถุดิบเหล่านี้จะกลายเป็นอาหารแสนอร่อยอะไรได้บ้าง เป็นกิจกรรมที่ทั้งสนุกและช่วยจัดการอาหารเหลือในตู้เย็นไม่ให้ต้องถูกทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์อีกด้วย

 

ข้อสำคัญคือคุณต้อง ‘ทิ้งความเพอร์เฟ็ค’ และหยิบฉวยความกล้ามาเป็นอาวุธสำคัญ ไม่ต้องกลัวว่าอาหารจะออกมาไม่อร่อย เพราะอย่างน้อยๆ เราก็ได้เรียนรู้แล้วว่าส่วนผสมอะไรเข้าหรือไม่เข้ากัน อะไรเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ อาทิ ครั้งหนึ่งในตู้เย็นของฉันเคยเหลือไข่ไก่อยู่ไม่กี่ฟอง นมสดอีกเล็กน้อย บวกกับครัวซองต์เย็นๆ เหลือค้างจากมื้อเช้า เบสิกที่สุดฉันคงต้องทำไข่คนนุ่มๆ กินคู่กับครัวซองต์อุ่นร้อน ทว่าเมื่อให้สมองซีกขวาได้ลองทำงานมากกว่านั้น ฉันก็พบว่าเมื่อนำครัวซองต์มาหั่นเป็นชิ้นสั้นๆ วางลงในถ้วย จากนั้นตีไข่กับนมบวกน้ำตาลเล็กน้อย (หรือถ้าใครมีวานิลลา ก็ใส่ด้วยได้) ราดลงบนครัวซองต์และนำไปอบเพียง 10 นาที นำออกมาโรยซินนาม่อนสักหน่อย ก็จะได้ครัวซองต์พุดดิ้งรสชาติอร่อยละมุนลิ้นไม่แพ้พุดดิ้งขนมปัง (Bread Pudding) ทีเดียวเชียวละค่ะ

 

 

สานสัมพันธ์กันในครัว

 

นอกจากดีต่อใจและต่อสุขภาพร่างกายแล้ว การเข้าครัวทำอาหารยังช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในชีวิตของเราได้อีกด้วยนะคะ เพราะระหว่างการช่วยกันทำอาหารนั้นนอกจากทำให้เราได้คุยกันท่ามกลางกลิ่นหอมอบอวลของอาหาร ยังทำให้เราได้เรียนรู้ความต้องการของอีกฝ่ายอย่างละเมียดละไม ได้รู้ว่าคนใกล้ตัวของเราชอบหรือไม่ชอบกินอะไร ถูกใจรสชาติแบบไหนเป็นพิเศษ และทำให้เราสามารถหา ‘รสชาติตรงกลาง’ ระหว่างกันได้ในที่สุด

 

 

โดยมีผลวิจัยระบุว่า คู่แต่งงานที่ใช้เวลาทำอาหารร่วมกันนั้น มีเปอร์เซ็นต์ในการหย่าร้างต่ำกว่าคู่ที่ใช้เวลาในร้านอาหารหรือใช้บริการอาหารจานด่วนอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากกระบวนการปรุงอาหารนั้นทำให้เรารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำนองว่าคราวนี้ทำของโปรดเธอ คราวหน้าทำของโปรดฉัน และนั่นเองที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันแข็งแรง

 

เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนคงนึกอยากเข้าครัวกันขึ้นมาบ้าง ขอกระซิบว่าอย่ารีรอค่ะ พกความกล้า แล้วเปิดตู้เย็นดูเลยว่ามีวัตถุดิบอะไรที่จะกลายเป็นของอร่อยที่ทั้งดีต่อใจและกายของเราบ้าง

Share this content

Contributor

Tags:

Cooking Therapy, มือใหม่ทำอาหาร

Recommended Articles

Food Storyอบขนมให้หายเศร้า
อบขนมให้หายเศร้า

ขนมปังนุ่มฟูอบใหม่ ช่วยบำบัดจิตใจให้สงบกว่าที่เคย