เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ฟักเชื่อมสูตรยายแป๊ว

Story by ทีมบรรณาธิการ

เรื่องราวของยาย รอยสัก และฟักเชื่อม ที่บันทึกอยู่ในหัวใจของหลานสาวเสมอมาและตลอดไป

ไม่ถึง 3 เดือนที่ยายจากไป ฉันเริ่มคิดถึงยายน้อยลงแล้วแหละ น้อยลงกว่าวันแรกๆ แหละนะ ที่สำคัญคือไม่ฝันถึงยายอีกเลย ฉันไม่เคยคิดเลยว่าความสูญเสียจะสาหัสขนาดนี้ ตลกตัวเองอยู่เหมือนกันที่ในตอนที่ยายอยู่กลับไม่ค่อยได้คิดถึง เป็นยายที่โทรมาหาฉันบ่อยๆ มากกว่าฉันโทรไปเสียอีกที บางทีโทรไปหาเพราะนึกขึ้นได้ว่าไม่ได้โทรมานานแล้ว หรือโทรไปทุกวันที่ 30 ที่เงินเดือนออกว่าเงินโอนไปให้ที่บัญชีพี่ชายแล้ว เรียกได้ว่าทำเพราะความเคยชินมากกว่าจะเป็นความคิดถึง

 

 

 

 

จริงๆ ก็คิดถึงบ้างเวลาที่ดูหนังหรืออ่านหนังสือแล้วมีเรื่องยาย นึกถึงบ้างเวลาได้กินอาหารเมนูที่ไม่เคยกินมาก่อน แล้วโทรไปถามยายว่าเคยกินมั้ย เพราะสำหรับฉันยายเป็น expert ด้านอาหารที่สุด ยังเสียดายที่ว่าไม่เคยซื้อเกี่ยมบ๊วยหมูสับให้ยายชิมเลยแฮะ เดาว่ายายต้องชอบรสชาติเปรี้ยวเค็มของบ๊วยแน่นอน เพราะลิ้นเราน่าจะเทสต์แบบเดียวกัน (แน่นอนสิ เพราะเติบโตมาด้วยอาหารยาย)

 

 

 

 

ไม่ว่าคนอื่นจะว่าว่าฉันเลือกกินขนาดไหน ยายเป็น 1 ในไม่กี่คนที่บอกว่าฉันกินง่าย มีอะไรก็กิน เผ็ดก็กิน มีแค่น้ำพริกกับผักก็กิน ฉันกินได้หมด ขอแค่อร่อยก็พอ ซึ่งยายฉันทำอาหารอร่อยทุกเมนู ไม่ว่าจะเป็นผัดไทย หมูอบ ปลาร้าผัด ก๋วยเตี๋ยวทุกชนิด ไปจนถึงขนมหวาน อย่างข้าวต้มมัด บัวลอย ฟักทองแกงบวช กล้วยบวชชี ถ้าใครได้ทานฝีมือยายแบบฉัน ก็จะมีมาตรฐานความอร่อยสูงจนกินร้านไหนก็ยังรู้สึกขาด เมื่อตอนเด็กที่ยังอยู่ต่างจังหวัด ฉันก็มีบ้านยายไว้เป็นที่พักผ่อน นอนดูทีวีคุยกับยาย กินอาหารอร่อยๆ ที่ยายทำ รวมถึงซื้ออาหารอร่อยๆ มาแบ่งกันกินกับยาย

 

 

 

 

 

 

 

ฉันเชื่อมตัวเอง ยาย และความทรงจำด้วยอาหาร และบรรจุเอาไว้ในรูปแบบของรอยสัก ฉันเลือกสักเมนูที่ฉันชอบให้ยายทำให้กินที่สุดนั่นก็คือ ‘ฟักเชื่อม’ สีเขียวไว้ที่ข้อมือด้านซ้ายและเขียนคำว่า ‘ยายแป๊ว’ ไว้ข้างๆ ฟักเชื่อม ซึ่งก่อนหน้านี้มันเป็นรอยแผลเป็นเล็กๆ จากการทอดปลาแล้วโดนน้ำมันกระเด็นใส่ ฉันชอบพูดขำๆ ว่านี่มันบาดแผลลูกผู้หญิง นอกจากยายจะเป็นคนทำอาหารอร่อยแล้ว ยายยังเป็นผู้หญิงได้รับความเจ็บปวดจากสังคมปิตาธิปไตยคนแรกที่ฉันรู้จัก ยายเป็นคนที่ป้าและแม่ฉันไม่ค่อยรัก เนื่องจากเขาไม่ได้เลี้ยงลูกเพราะแยกทางกับตา แต่ก็พยายามชดเชยความผิดด้วยการเลี้ยงฉัน พี่ๆ และน้องๆ มา ฉันจึงรู้สึกเชื่อมโยงกับบาดแผลลูกผู้หญิงของฉัน เพราะฉะนั้นตำแหน่งที่น้ำมันกระเด็นจนเป็นแผลเป็นจึงเป็นที่ที่ถูกต้องในการวาง ‘ฟักเชื่อม’ ของยายเอาไว้

 

 

 

 

 เวลาใครถามถึงรอยสักว่าเป็นรูปอะไร แล้วฉันตอบว่าฟักเชื่อม ก็มักจะได้รับคำตอบที่ว่า “อะไรนะ ไม่รู้จัก หน้าตาเป็นยังไง” ซึ่งฉันก็เข้าใจได้ เพราะขนมชนิดนี้ไม่แมสจริงๆ หาซื้อตามตลาดก็ยาก ที่เจอส่วนมากคือฟักเชื่อมแห้ง ที่หวานเจี๊ยบเหมือนกินผลึกน้ำตาล แต่ที่ยายฉันทำจะเป็นฟักเชื่อมแบบที่มีน้ำเชื่อมด้วย หวาน แต่ไม่แสบคอเท่าแบบแห้งแน่นอน ที่สำคัญคือความหอมที่ต่างจากร้านอื่นที่เป็นกลิ่นหอมใบเตย เคล็ดลับของยายอยู่ที่ขั้นตอนการทำที่ไม่ต้องต้มน้ำใบเตยให้ยุ่งยากอีกด้วย

 

 

 

 

วิธีทำฟักเชื่อมฉบับยายแป๊วก็คือการเลือกฟัก ยายมักจะโทรบอกฉันทุกครั้งที่จะทำฟักเชื่อมให้ฉันกิน “ยายได้ฟักมาแล้ว แต่ยังไม่แก่เลย ต้องรออีกแป๊บหนึ่งเดียวยายทำให้” ฉันจึงจำได้แม่นว่าฟักที่ใช้นั้นต้องเป็นฟักแก่ หั่นเป็นชิ้นบางๆ ฉันมักจะกินชิ้นเล็กๆ บางๆ เป็นอันดับแรก เพราะยิ่งบางยิ่งเข้าเนื้อง่าย จะกรอบและหวานก่อนชิ้นอื่น เมื่อหั่นเสร็จก็ต้องล้างให้สะอาด แล้วนำไปแช่น้ำปูนใส ปูนสีแดงๆ แบบที่ยายใช้ทารอยยุงกัดให้ฉันตอนเด็กนั่นเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พอนำมาละลายน้ำแล้วจะกลายเป็นน้ำขุ่นๆ ที่ตกตะกอนแล้วเป็นน้ำปูนใส แช่ครบ 1 คืนก็นำมานึ่งให้สุกเล็กน้อย (อย่าให้สุกมากเกินไปเดี๋ยวจะเละ!) ระหว่างที่รอฟักนึ่งก็ให้ทำน้ำเชื่อมโดยนำน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัมมาเคี่ยวกับน้ำสะอาด เคล็ดลับที่ฉันบอกไปเบื้องต้นก็คือใส่น้ำเชื่อมเฮลบลูบอยสีเขียวเข้าไปเพียงเล็กน้อย จะได้น้ำเชื่อมที่หอมหวานและเป็นสีเขียวโดยไม่ต้องใส่สีผสมอาหาร เมื่อทุกอย่างเสร็จแล้วให้ปิดไฟและทิ้งไว้จนเย็น

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อน้ำเชื่อมและฟักเย็นสนิทดีก็จัดการเชื่อม โดยเทใส่ทัพเพอร์แวร์ที่มีฝาปิดสนิทและแช่ตู้เย็น ผ่านไปอีกคืนหนึ่งก็เริ่มมีเค้าโครงของความอร่อยแล้ว ฟักจะมีสีเขียวสวยและกรอบนอกนุ่มใน ยิ่งเก็บไว้นานจะยิ่งหวานกรอบ ความหวานค่อยๆ แทรกซึมเข้าข้างในเนื้อนิ่มๆ  จนชุ่มไปหมดทั้งชิ้น ยายทำให้ฉันครั้งละเยอะมากๆ สามารถเก็บตู้เย็นได้หลายสัปดาห์ 

 

 

 

 

 

 

 

 ไม่ใช่แค่ฟักเชื่อมที่เป็นเมนูโปรดที่ยายทำให้ ยังมีอีกหลายเมนูที่ฉันได้โทรถามสูตรและทำตาม (แต่ก็อร่อยไม่เท่ายายอยู่ดี) แต่ฟักเชื่อมได้เชื่อมโยงฉันกับยายเข้าไว้แล้ว ทุกครั้งที่ยายไปตลาดแล้วเห็นฟักแก่ ยายก็จะนึกฉันแน่นอน ทุกครั้งที่ฉันมองรอยสักรูปฟักเชื่อมก็จะคิดถึงยาย และไม่ใช่แค่สักเพื่อระลึกถึงเพื่อเชื่อมโยงกันไว้ แต่ฉันอยากให้ยายรู้ว่ามีคนที่รักจนสักชื่อเขาติดตัวเอาไว้ ซึ่งยายก็ดูดีใจเมื่อได้รู้ความหมาย ไม่ว่าฉันจะโดนคนอื่นในครอบครัวต่อว่าเรื่องการสักนอกร่มผ้าก็ตาม

 

 

 

 

 

 

 

ที่สำคัญในตอนนี้ที่ยายไม่อยู่แล้ว เวลามีใครถามเรื่องรอยสัก ก็ทำให้ได้พูดถึงความอร่อยและความ expert ด้านอาหารของยาย ที่ฉันพูดทีไรยายก็ยิ้มแก้มปริทุกที ทำให้ยายไม่ตายซ้ำไปอีกหนจากการถูกลืมเพราะฉันจะไม่มีทางลืม 

 

 

 

 

ที่เขียนถึงตรงนี้ก็อยากให้ทุกคนรู้จักกับผู้หญิงที่ชื่อ ‘แป๊ว’ ที่ไม่ได้โด่งดัง มีคนแถวบ้านกับคนที่ไปวัดบ่อยๆ เท่านั้นที่รู้จัก เป็นลูกแม่ค้า เติบโตกับการค้าขาย และได้ลงมือทำอาหารตั้งแต่วัยยังไม่ขึ้นเลขสองหลัก และที่สำคัญคือเป็นคนที่ฉันรัก 🙂

 

 

 

 

ผู้เขียน: ตุลยา อนันตทรัพย์
หญิงสาววัย 25 ที่ไม่ชอบการออกกำลังกาย แต่สามารถเดินวันละหมื่นก้าวเพื่อตามหาของอร่อย พยายามตื่นก่อน 7 โมงเพื่อทำอาหารตอนเช้าควบคู่ไปกับพยายามนอนดึกเพื่ออ่านหนังสือก่อนนอน

Share this content

Contributor

Tags:

ครัวชวนเขียน

Recommended Articles

Food Storyแกงส้มปลาอินทรีย์เค็มใบมะขามอ่อน ในความทรงจำถึงคุณยาย
แกงส้มปลาอินทรีย์เค็มใบมะขามอ่อน ในความทรงจำถึงคุณยาย

สูตรแกงส้มรสเด็ดจากคุณยาย ถ่ายทอดโดยความทรงจำของหลานที่ตามยายเข้าครัวมาตั้งแต่เล็กๆ