ตระเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนกระแทกเสียง ป๊อกๆ เนรมิตส้มตำเเซ่บซี้ด
ก่อนจะได้ส้มตำจานแซ่บซี้ด เราก็ต้องสับ หั่น ตำ คลุก ฉะนั้น อุปกรณ์ในการเนรมิตส้มตำจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครกกับสากที่ถือเป็นอุปกรณ์หลัก และถ้าสังเกตกันดีๆ ใช่ว่าเอาครกอะไรมาตำส้มตำก็ได้นะ ต้องเลือกครกไม้หรือครกดินเผาเท่านั้น โดยครกไม้จะมีรูปทรงสูงกว่าครกตำน้ำพริกทั่วไป ขอบปากกว้างและบาง ช่วงระหว่างปากครกถึงก้นครกเรียวสอบ ฐานป้านออกเล็กน้อยเพื่อช่วยรับน้ำหนักได้ดีขึ้น ข้อเด่นคือเบ้ากลมภายในครกลึกและกว้าง ทำให้ตำส้มตำได้คราวละมากๆ ส่วนครกดินเผา เป็นครกดั้งเดิมของคนไทย ทำจากดินเหนียวปั้นเป็นทรงครกที่คล้ายกับครกไม้แล้วนำไปเผา แต่ทรงจะเรียวกว่า เหมาะสำหรับทำส้มตำหรือน้ำพริกง่ายๆ มักใช้ตำอาหารเพื่อไม่ให้แหลกนัก ครกทั้งสองชนิดใช้คู่กับสากทำจากไม้ นอกจากการล้างทำความสะอาด ก็ต้องมีวิธีดูแลรักษาด้วย บางคนอาจยังไม่รู้ว่าเวลาซื้อครกใหม่มา ต้องมีวิธีทำความสะอาดเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนใช้งาน หรือใช้ไปเรื่อยๆ วันดีคืนดีเกิดเจอราขึ้นในครกควรทำอย่างไร?
ล้อมวงเข้ามาค่ะ เรามีทริกเล็กๆ น้อยๆ สำหรับดูแลรักษาอุปกรณ์การทำส้มตำมาฝาก และนำไปใช้กับอุปกรณ์ครัวอื่นๆ ได้ด้วยนะ
ซื้อครกใหม่ควรทำอย่างไรก่อนใช้งาน
อันดับแรก ต้องล้างทำความสะอาดด้วยการนำครกไปล้างน้ำและแช่น้ำไว้อย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง เทน้ำออก ขัดถูด้วยแปรงทำความสะอาด ล้างด้วยน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ นำไปผึ่งให้แห้งสนิท
ถ้าเป็นครกไม้ก็ใช้งานได้เลย แต่ถ้าเป็นครกดินเผาต้องมีกรรมวิธีเพิ่มเติม คือให้นำข้าวสารดิบ 1-2 กำมือ ใส่ลงในครก ใช้สากตำข้าวสารดิบให้ทั่วครก เพื่อเป็นการขูดคราบหินปูนหรือเศษฝุ่นและเศษหินที่ไม่พึงประสงค์ออก ตำจนเมล็ดข้าวสารดิบเปลี่ยนเป็นสีดำ เทข้าวสีดำออกแล้วใส่ข้าวสารดิบใหม่ลงไป ตำจนกว่าข้าวสารจะเป็นผงสีขาว ไม่มีคราบสีดำติด แล้วนำครกไปล้างน้ำทำความสะอาดอีกครั้ง ผึ่งให้แห้งสัก 1 คืน
การดูแลรักษาครกและสาก
ทั้งครกไม้และครกดินเผามีวิธีการเก็บรักษาแบบเดียวกัน นั่นคือต้องเก็บในที่แห้งสนิท และหลังใช้งานแล้วควรล้างให้สะอาด เพราะถ้ามีเศษวัตถุดิบตกค้างอยู่ที่ครก อาจเป็นสาเหตุให้ครกไม้ของคุณขึ้นราและมีกลิ่นเหม็น
แต่ถ้าวันดีคืนดีเจอราขึ้นครกก็ไม่ถึงกับต้องโยนทิ้งแล้วซื้อครกใหม่ แค่ใช้แปรงจุ่มน้ำมะนาวหรือเบกกิ้งโซดาขัดถูบริเวณที่เป็นรา จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง ส่วนในกรณีครกดินเผา ราไม่ขึ้นก็จริง แต่ถ้าครกชื้นก็จะทำให้เกิดกลิ่นอับ ทำให้ส้มตำมีกลิ่นตุๆ ไม่พึงประสงค์ปนมาด้วย สากก็เช่นกัน ต้องทำความสะอาด ผึ่งให้แห้ง เก็บในที่แห้งสนิท เพื่อที่ราและกลิ่นเหม็นจะได้ไม่สามารถทำอะไรครกและสากของคุณได้
การดูแลรักษามีดและเขียง
มีดและเขียงเป็นอุปกรณ์หลักไม่น้อยหน้าครกกับสาก เพราะต้องใช้หั่นวัตถุดิบต่างๆ ทั้งสับเส้นมะละกอ หั่นมะเขือเทศสีดา ถั่วฝักยาว กระทั่งหั่นเนื้อสัตว์ที่จะใส่ลงในส้มตำ การลับมีดให้คมและพร้อมใช้งานอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะถ้ามีดไม่คมจะทำให้ผักหรือเนื้อสัตว์ที่เราหั่นนั้นช้ำ ส่งผลต่อเนื้อสัมผัสและความอร่อยของส้มตำในครกได้ และไม่แนะนำให้ลับมีดที่ขอบครกบ่อยๆ เพราะเศษครกจะตกลงไปในส้มตำที่กำลังตำอยู่ ทางที่ดีควรลับกับที่ลับมีด และอย่าแช่มีดไว้ในอ่างน้ำนานๆ จะทำให้ด้ามเสียเร็ว อีกทั้งเมื่อใช้แล้วต้องล้างทันที ล้างแล้วควรเช็ดให้แห้ง เก็บไว้ในที่เสียบข้างฝา เพื่อไม่ให้คมกระทบกัน และเพื่อตากให้ด้ามแห้ง ตัวด้ามไม้จะไม่ยุ่ยและไม่ขึ้นรา
ส่วนเขียงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเขียงไม้หรือเขียงพลาสติก ถ้าผ่านการใช้งานก็ควรล้างทำความสะอาด ขัดถูด้วยน้ำยาทำความสะอาด และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง เช็ดให้แห้ง นำไปผึ่งลมหรือตากแดดสักหน่อย เพือไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อราต่างๆ แต่ถ้าราขึ้นมาแล้ว ให้ใช้แปรงจุ่มน้ำมะนาวหรือเบกกิ้งโซดาขัดถูบริเวณที่เป็นรา จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
แค่นี้อุปกรณ์สำหรับทำส้มตำก็พร้อมใช้ อยากกินเมื่อไรก็คว้าเขียง มีด ครก สาก ออกมาบรรเลงได้เลย
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos