เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

cooking post

เรื่อง (ไม่) ลับฉบับชาเขียว

Story by ณัฐณิชา ทวีมาก

เข้าใจชาเขียวให้ถึงรสแท้ในใบชาแต่ละประเภท

ชาเขียวเป็นเหมือนจิตวิญญาณและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ถึงขั้นที่ในบางธรรมเนียมหรือบางพิธีกรรมก็มักจะนำเอาพิธีชงชาเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในพิธี เมื่อชาเขียวมีความสำคัญขนาดนี้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวชาก็ย่อมจะต้องพิถีพิถันใส่ใจรายละเอียด มีการเตรียมการเก็บเกี่ยวเป็นอย่างดีเพื่อให้ได้ใบชาที่มีคุณภาพและมีรสชาติดีที่สุด โดยสิ่งที่ทำให้ชาเขียวต่างกับชาชนิดอื่นๆ คือการนึ่งใบชาเพื่อไล่กลิ่นเหม็นเขียว และเป็นการหยุดกระบวนการออกซิเดชั่น ช่วยรักษาสีเขียวของใบชาไว้นั่นเอง

 

หลายคนเข้าใจว่าชาเขียวมีแค่ชนิดเดียว แต่แท้จริงแล้วชาเขียวถูกแบ่งออกเป็นหลากประเภท หลายระดับ อีกทั้งมีรสชาติ กลิ่น และสีที่แตกต่างกันออกไปด้วย เราเลยชวนทุกคนมาทำความรู้จักชาเขียว ในแบบฉบับที่คนรักการดื่มชาเขียวห้ามพลาด!

 

 

ประเภทของชาเขียว

 

เกียวคุโระ (KYOKURO 玉露)

 

ยอดใบชาชั้นดีคุณภาพสูง ชาขนิดนี้ถูกดูแลเป็นอย่างดีผ่านการเลี้ยงในร่ม ก่อนการเก็บใบชาประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ต้นชาได้รับแสงมากเกินไป เป็นการช่วยรักษาสารอาหารเอาไว้ โดยจะเก็บเป็นชาแรกของปีและเอาแต่ยอดอ่อนของใบชาเท่านั้นจึงเก็บเกี่ยวได้น้อย ทำให้เป็นชาที่มีราคาแพงกว่าชาชนิดอื่นๆ น้ำชามีสีเขียวเข้มรสชาติหวานหอมกลมกล่อม มีความฝาดน้อยมาก คนญี่ปุ่นนิยมดื่มชาชนิดนี้ในงานพิธีการสำคัญต่างๆ

 

เซนฉะ (SENCHA 煎茶)

 

ชาเขียวที่เก็บเกี่ยวในเดือนแรกของปีเท่านั้นจึงเป็น ‘ชาใหม่’ ผลิตเยอะสุดในประเทศญี่ปุ่น และเป็นชาเขียวที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มกันโดยทั่วไป รสชาติค่อนข้างหวาน สีน้ำชาจะเข้มมากกว่าชาเขียวจีน กลิ่นหอม ราคาถูกเข้าถึงง่าย

 

บันฉะ ( BANCHA 番茶)

 

เกิดจากการเก็บชานอกฤดูกาล เป็นใบชาที่เก็บก่อนต้นชาจะแตกยอดใหม่ หรือเป็นใบชาที่มีขนาดไม่ได้มาตรฐานนำมารวมกัน ผ่านกระบวนการต่างๆ จนกลายมาเป็นชาบันฉะ สีน้ำชามีสีเขียวอมเหลืองอ่อนๆ มีความฝาด รสชาติอ่อน กลิ่นไม่ค่อยหอมเท่าชาเขียวชนิดอื่น ราคาถูก

 

 

เกนไมฉะ (GENMAICHA 玄米茶)

 

เป็นการนำชาบันฉะไปคั่วกับข้าวกล้องจนเม็ดข้าวพองโต ทำให้มีชามีกลิ่นข้าวหอมเป็นเอกลักษณ์ เป็นชาที่นิยมของคนทั่วไปเพราะดื่มง่ายและยังช่วยปรับสภาพกระเพาะอาหารอีกด้วย ชาชนิดนี้มีรสชาติคล้ายถั่ว ตัวใบชาจะให้กลิ่นที่คล้ายใบหญ้า สีน้ำชามีสีเขียวอ่อน กลิ่นหอม คาเฟอีนน้อย เมื่อดื่มชาชนิดนี้แล้วจะทำให้รู้สึกสดชื่นและผ่อนคลาย

 

มัทฉะ (MATCHA 抹茶 )

 

มัทฉะคือผงชาเขียวบดละเอียดทำจากชาเทนฉะ (碾茶) ที่ถูกเลี้ยงในที่ร่มเหมือนชาเกียวคุโระ แต่จะใช้ระยะเวลานานกว่า ก่อนจะนำไปบดเป็นผงด้วยกระบวนการที่ทำให้เกิดความร้อนต่ำเพื่อคงสีเขียวและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของผงชาเอาไว้มากที่สุด มักใช้ดื่มในพิธีชงชามัทฉะ แบ่งเป็นหลายเกรด โดยสังเกตจากสีของผงมัทฉะยิ่งมัทฉะสีเข้มเท่าไหร่คุณภาพก็ยิ่งดีเท่านั้น

 

โฮจิฉะ (HOJICHA ほうじ茶)

 

เกิดจากรวมกันของชาบันฉะและเซนฉะที่เก็บเกี่ยวในช่วงสุดท้าย จากนั้นนำไปคั่วเพื่อให้ได้กลิ่นหอม ลดความขมและฝาดลง ใบชามีสีน้ำตาลแดง สีน้ำชามีสีน้ำตาลอ่อนรสชาติอ่อน กลิ่นหอมหวาน มีคาเฟอีนต่ำกว่าชาเขียวชนิดอื่นๆ เหมาะสำหรับดื่มระหว่างมื้อหรือหลังอาหารเย็น

 

ประโยชน์ของการดื่มชาเขียว

 

นอกจากความละมุนและรสชาติฝาดปนหอมของชาเขียวอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ชาเขียวที่เราดื่มกันนั้นยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมาก

 

     

  • มีฤทธิ์กระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีมากขึ้น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมน้ำตาลให้ไม่สูงเกินไปในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  •  

  • ช่วยทำให้สุขภาพในช่องปากดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการเกิดฝันผุ เนื่องจากชาเขียวมีสารที่เรียกว่าโพลิฟีนอลและแคททีซินซึ่งจะช่วยในการกำจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดฝันผุได้ ช่วยลดกลิ่นปากและป้องกันการเกิดโรคเหงือก
  •  

  • ช่วยชะลอความแก่ เพราะสารโพลิฟีนอลและสาร OPC ในชาเขียวช่วยป้องกันผิวจากอนุมูลอิสระ ช่วยลดริ้วรอยก่อนวัยและจุดด่างดำต่างๆ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิตามินซีปกติ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  •  

  • อุดมด้วยธาตุฟลูออไรด์ซึ่งเป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ต่อต้านการอักเสบ ช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก
  •  

  • การดื่มชาเขียววันละหนึ่งถึงสองแก้วอาจช่วยลดการเกิดคราบพลัค (Plaque) ซึงมีความเชื่อมโยงกับโรคทางระบบประสาทอย่างโรคอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน
  •  

  • ชาเขียวมีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีอย่าง LDL (Low-density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่ดีที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจ และเพิ่ม HDL (High-density lipoprotein) ไขมันชนิดดีในร่างกาย อีกทั้งยังมีสารประกอบที่ช่วยป้องกันการดูดซึมของคอเลสเตอรอลในระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
  •  

 

 

 

การเก็บชาเขียว

 

ทั้งใบชาแห้งและผงมัทฉะเมื่อซื้อมาแล้วก็อยากเก็บให้นานๆ ใช่ไหมละ การเก็บรักษาและรู้จักเทคนิคที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อกลิ่น สี รสชาติ และคุณภาพของชาเขียว จะมีวิธีอะไรบ้างไปดูกันเลย…

 

     

  • เลี่ยงการวางกระปุกชาไว้ใกล้กับอาหารที่มีกลิ่น หรือใช้ภาชนะที่มีกลิ่นมาบรรจุชาเขียว เพราะทั้งใบชาแห้งและผงมัทฉะ มีคุณสมบัติในการดูดกลิ่นได้ดี ควรใช้ช้อนสะอาดที่แห้งสนิทในการตักจะดีที่สุด
  •  

  • หลีกเลี่ยงการเก็บในที่ชื้น เพราะความชื้นเป็นหนึ่งตัวการที่จะทำลายคุณภาพของชาเขียว ในกรณีที่ซื้อชาเขียวมาในปริมาณมากๆ ควรแบ่งใส่กระปุกหรือภาชนะเล็กๆ ให้เหมาะกับการใช้แต่ละครั้ง และมื่อเปิดถุงใช้แล้วควรรีดอากาศออกให้หมดก่อนปิด
  •  

  • เก็บให้พ้นจากแสงแดด โดยภาชนะที่ใส่ชาเขียวควรเป็นแบบทึบแสง หรือเก็บใส่ตู้ที่แสงลอดผ่านไม่ได้ เนื่องจากแสงเป็นตัวการที่ทำให้ชาเขียวเสื่อมคุณภาพเร็ว
  •  

  • เลี่ยงการเปิดชาเขียวให้สัมผัสกับอากาศโดยไม่จำเป็น เพราะออกซิเจนในอากาศมีผลต่อสารอนุมูลอิสระที่อยู่ในชาเขียว ซึ่งส่งผลต่อสีของชา รวมทั้งรสที่อาจเปลี่ยนไปจากเดิมได้
  •  

 

บทความเพิ่มเติม

 

Share this content

Contributor

Tags:

ชา, ชาเขียว, อาหารญี่ปุ่น, เครื่องดื่ม

Recommended Articles

Cookingดื่มด่ำท้ายปีกับ Arancello เหล้าส้มหวานหอมสดชื่นสำหรับสายแอลฯ
ดื่มด่ำท้ายปีกับ Arancello เหล้าส้มหวานหอมสดชื่นสำหรับสายแอลฯ

เหล้ากลิ่นเปลือกส้มหอมสดชื่น ทำง่าย ใช้เวลาแค่ 1 สัปดาห์

 

Recommended Videos