เคล็ดไม่ลับทำฟักทองสังขยาให้อร่อย เสิร์ฟสวยๆ ในฟักทองแกะสลัก
ขนมไทยเป็นขนมที่มีความสวยงามวิจิตร หากต้องการทำให้ขนมออกมาได้รูปลักษณ์ที่งดงาม ทั้งรสชาติและกลิ่นหอมนั้น ผู้ทำต้องมีใจรัก เพราะต้องอาศัยเวลาในการทำ อีกทั้งยังต้องฝึกฝนให้มีความชำนาญ เพราะขนมไทยต้องใช้ความพิถีพิถัน ความประณีตในการทำเป็นอย่างมาก
ขนมไทยดั้งเดิมใช้แป้ง น้ำตาล และมะพร้าว เป็นองค์ประกอบหลัก และเริ่มมีการใช้ไข่เป็นส่วนประกอบช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งโปรตุเกส และบุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านขนมในสมัยนั้นก็คือ ท้าวทองกีบม้า หรือ นางมารี กีมาร์ เดอ ปิน่า ภรรยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน จดหมายเหตุฝรั่งเศสฉบับหนึ่งบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“ท้าวทองกีบม้า ได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกงและสังขยา”
ขนมเหล่านี้แม้จะได้แบบอย่างมาจากฝรั่งเศส แต่ก็พัฒนาให้สอดคล้องกับวัตถุดิบและรสนิยมของคนไทยได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ด้วยความสามารถของแม่ครัวไทยในช่วงยุคสมัยนั้นด้วย ที่ช่างคิดช่างทำจึงได้กลายเป็นขนมไทยขึ้นมา
ในสมัยอยุธยาเป็นยุคเฟื่องฟูของขนมไทย โดยเฉพาะในสมัยการปกครองของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่มีการค้าขายกับชาวต่างชาติ เราจึงได้รับอิทธิพลทางด้านขนมหวานมากมายจากคู่ค้าหลายประเทศ หนึงในนั้นก็คือ สังขยา เป็นขนมประเภทนึ่งที่ดัดแปลงมาจาก คัสตาร์ด ทำจากไข่ น้ำตาล กะทิ นำมาผสมให้เข้ากัน มีรสชาติหอม หวาน สังขยาสามารถใช้ได้ทั้งไข่ไก่และไข่เป็ด หรือใช้ไข่ทั้งสองอย่างผสมกันก็ได้ ไข่เป็ดจะมีความคาวมากกว่าไข่ไก่ ส่วนใหญ่ในเมนูขนมไทยจึงใช้ไข่แดงของไข่เป็ดมาทำขนมตระกูลทองเพราะให้สีที่สวยกว่า
ส่วนการเลือกใช้น้ำตาลควรใช้น้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลโตนดใหม่แท้ จะมีกลิ่นหอมละลายง่าย ใบเตยควรใช้ใบเตยหอมเพราะเราจะใช้ใบเตยในการกลบกลิ่นคาวของไข่ ที่สำคัญไข่ที่ใช้ทำสังขยาควรเป็นไข่ที่สดใหม่ หากใช้หัวกะทิที่เข้มข้นก็จะยิ่งหวานมันเนื้อสังขยาจะไม่แข็งกระด้าง
ซึ่งเดิมทีแล้วสังขยาในสมัยก่อนจะเป็นเนื้อที่มีรูอากาศหรือบางคนเรียกว่าเนื้อทราย แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปขนมหวานไทยก็ได้มีการปรับตัวตามไปเช่นกัน ในยุคปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจกับเนื้อสังขยาที่เนียนคล้ายไข่ตุ๋น นิยมนำมากินคู่กับข้าวเหนียว จะยิ่งเพิ่มรสชาติความหอมหวาน มัน และอร่อยยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้สังขยายังสามารถทำได้อีกหลายแบบ เช่น สังขยาฟักทอง สังขยาเผือก สังขยาใบเตย เป็นต้น
สังขยายังเป็นขนมไทยที่ยังพอหาซื้อได้ทั่วไป มีทั้งแบบนึ่งในถาดที่กินคู่ข้าวเหนียวมูนและนึ่งไปพร้อมกับฟักทองที่ติดเปลือก แต่ในวันนี้เราอยากนำเสนอสังขยาฟักทองที่แสดงถึงความเป็นไทย เพื่อยังคงอนุรักษ์งานศิลปะดั้งเดิมของไทย เพราะการแกะสลักก็นับเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ถือเป็นมรดกมีค่าสืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งในปัจจุบันก็ค่อนข้างที่จะหาคนที่แกะสลักได้น้อยมาก เนื่องจากเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความถนัด สมาธิ ความสามารถเฉพาะตัว และความละเอียดอ่อน
ในการทำสังขยาฟักทอง หากต้องการแกะสลักด้วยนั้น จะต้องใช้ฟักทองที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก มีน้ำหนักเยอะ จะได้เนื้อที่หนาและแน่น และเวลานึ่งนั้นจะต้องใช้ไฟอ่อน เปิดฝาบ่อยๆ เพื่อไล่ความร้อน หากความร้อนในซึ้งมากไป อาจทำให้เนื้อฟักทองแตกได้ และหากอยากได้สังขยาที่มีเนื้อเนียนๆ ให้กรองด้วยผ้าขาวบางพับสองชั้นกรองในกระชอนตาถี่ถึง 3 รอบด้วยกัน ที่สำคัญ ลายในการแกะสลักทรงผอบจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง หากมีดจิ้มเข้าไปถึงในเนื้อด้านในจะทำให้ฟักทองรั่วเอาได้ และต้องนำฟักทองที่แกะสลักลงจุ่มน้ำบ่อยๆ ไม่เช่นนั้นเนื้อฟักทองจะแห้ง
คลิกดูสูตรและวิธีทำสังขยาฟักทอง
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos