เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

เศรษฐกิจการเมืองเรื่องเนื้อวัว ตอน 1

Story by ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์

ตอน 1 จากวัวป่าถึงวัวบ้าน วัวศักดิ์สิทธิ์ถึงวัวมาธาดอร์

สมัยผมยังเด็ก อยู่กับครอบครัวในพระนคร กับข้าวประจำวันที่ปรุงจากเนื้อสัตว์มักเป็นหมู รองมาคือ ปลา ไก่และเป็ด ส่วนใหญ่มักได้กินหน้าเทศกาล นานทีปีละไม่กี่หนจึงจะมีผัดเนื้อหรือต้มเนื้อ (วัว) มาสักครั้ง อาหารนอกบ้านที่เป็นเนื้อวัว เห็นมีเพียงอย่างสองอย่าง อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ แกงเนื้อ รวมทั้งเนื้อเค็มตามร้านข้าวแกง

 

กล่าวง่ายๆ เมื่อก่อนคนไทยกินเนื้อวัวน้อยมาก หากเดี๋ยวนี้หันมากินเนื้อวัวมากขึ้น ปี พ.ศ.2529 คนไทยกินเนื้อวัวเฉลี่ยเพียงคนละ 2.2 กิโลกรัมต่อปี แล้วเพิ่มเป็น 4.3 กิโลกรัม ในปี 2550 ใกล้เคียงคนฟิลิปปินส์ (4.2 กิโลกรัม) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วง 15 ปีหลัง เกษตรกรไทยสามารถผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพดีออกจำหน่ายแพร่หลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่ผ่านร้านอาหารโคขุน ร้านสเต๊กห้องแถว สเต๊กเฮาส์ และร้านอาหารฝรั่งต่างๆ 

 

 

แนวโน้มปัจจุบันที่น่าสนใจคือ ขณะที่บางประเทศในเอเชียที่เริ่มกินเนื้อวัวไม่นาน บริโภคเนื้อวัวเพิ่มมากขึ้น แต่ฝรั่งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นนักกินเนื้อตัวยงมาก่อนและมีธุรกิจผลิตและค้าเนื้อวัวมูลค่าสูง กลับกินเนื้อน้อยลง ตัวอย่างชัดๆ ก็เช่น จากปี ค.ศ.1995 ถึง 2007 ชาวอเมริกันกินเนื้อวัวลดลง จาก 44.6 เป็น 42.1 กิโลกรัม/คน/ปี และ 36.0 ในปี 2016 ในปี ค.ศ. 2007 และ 2016  ออสเตรเลียกินเนื้อวัวน้อยลง จาก 43.5 เป็น 29.5 กิโลกรัม/คน/ปี และแคนาดา จาก 32.8 เป็น 26.4 กิโลกรัม/คน/ปี จะอย่างไรก็ตาม อาจกล่าวโดยทั่วไปได้ว่า ชาวตะวันตกและผู้คนในทวีปอเมริกากินเนื้อวัวในปริมาณสูงกว่าชาติอื่นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเอเชียกินเนื้อวัวน้อย แม้ในห้วงหลังจากเศรษฐกิจดีขึ้น จะหันมากินเนื้อวัวอย่างชาวตะวันตกบ้างก็ตาม

 

แบบแผนการบริโภคเนื้อวัวของชนชาติต่างๆ ทั่วโลก เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ความเชื่อและโลกทัศน์ที่มีต่อ ‘วัว’ และผลประโยชน์ของนายทุนอุตสาหกรรมเนื้อวัว ตลอดจนเศรษฐกิจการเมืองของระบบทุนนิยมโลก อย่างแยกกันไม่ออก     

 

 

จากวัวป่า ถึงวัวบ้าน

 

วัวในที่นี้หมายถึงวัวทั่วไปสกุล Bos ชนิดโทรีน ซึ่งแยกเป็นวัวเมืองหนาว (Bos Taurus) และวัวเมืองร้อน (Bos indicus) เท่านั้น ไม่นับรวมแย็ก (yak) และควายป่าไบซัน (bison) ซึ่งเป็นวัวสกุล Bos ชนิดหนึ่งเหมือนกันแต่มีจำกัดเฉพาะที่ วัวโทรีนนี้เป็นวัวเลี้ยงซึ่งมีเชื้อสายจาก วัวป่าออร็อก (aurochs) ที่ดุดัน ตัวใหญ่เขาแหลมโค้ง อันแรกมีอยู่ในอินเดียราว 2 ล้านปีก่อน แล้วกระจายสู่ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ยุโรป และแอฟริกาตอนเหนือ เมื่อราว 250,000 ปีที่แล้ว แต่สูญพันธุ์ไปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17

 

มนุษย์เริ่มรู้จักเลี้ยงวัวตั้งแต่ราว 8,000 ปีที่แล้ว ในอารยธรรมยุคแรก (Neolithic) แถบ เมโสโปเตเมีย (แถบประเทศอิรักในปัจจุบัน) อินเดีย และแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่ม เพาะปลูกข้าวกินแล้ว และภายหลังจากที่ได้เลี้ยงแกะและแพะมาก่อนตั้งแต่สมัยเริ่มทำ เกษตรกรรม

 

 

แต่อะไรคือแรงจูงใจให้คนเริ่มเลี้ยงวัวป่า ทำให้วัวป่าออร็อกค่อยกลายเป็นวัวบ้าน ยังหาข้อสรุปแน่ชัดไม่ได้ กระแสหนึ่งเดากันว่าคงเป็นเพราะวัวมีประโยชน์มาก ทั้งเป็นวัวงาน ให้น้ำนม เนื้อกินเป็นอาหาร หนังใช้ทำกระโจมและเครื่องใช้ต่างๆ ฯลฯ คนจึงพยายามนำมาใช้ แต่อีกกระแสหนึ่งซึ่งฟังน่าเชื่อถือและมีหลักฐานโบราณคดีช่วยสนับสนุนมากกว่าเห็นว่า คนเริ่มจับวัวป่ามาเป็นเครื่องบูชายัญพระเจ้าก่อน ต่อมาจึงค่อยเริ่มรู้จักใช้วัวไถนา เทียมเกวียน ทำงานสารพัด รวมทั้งให้น้ำนม เนื้อที่กินได้ และหนังที่มีประโยชน์ใช้สอยสูง อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้มาทีหลังฐานะความเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของวัว

 

 

ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัวที่ยาวนานกว่า 8,000 ปี การต่อสู้กัน ระหว่างคุณค่าทางใจกับคุณค่าทางเศรษฐกิจ คุณค่าทางธรรมกับคุณค่าทางโลก ชนะหรือแพ้แค่ไหนเมื่อไร นอกจากมีผลกำหนดระบบเศรษฐกิจและสังคมของโลกและประเทศต่างๆ แล้ว ยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมการกินเนื้อวัวเป็นอาหาร การทำปศุสัตว์โคเนื้อ และทารุณกรรมกับสัตว์ ตลอดจนผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน

 

วัวศักดิ์สิทธิ์แห่งเอเชีย

 

โดยเหตุที่วิวัฒนาการการเลี้ยงวัวเกิดขึ้นในเอเชีย ในแหล่งอารยธรรมโบราณเมโสโปเตเมีย อียิปต์ และลุ่มน้ำสินธุ (Indus Valley) ในภูมิภาคนี้จึงเกิดลัทธิความเชื่อบูชาวัวเป็นเทพเจ้าอยู่ทั่วไป โคเนื้อ คือสัญลักษณ์ของอำนาจ พละกำลัง และความสามารถในการแพร่เผ่าพันธุ์ โคนม คือแม่อารี ผู้ดูแลมนุษยชาติด้วยน้ำนม อันเป็นเสมือนน้ำอมฤตที่ประทานจากเทพธิดา ยิ่งกว่านั้น วัวยังเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับบูชายัญเทพเจ้า ซึ่งมนุษย์เชื่อมต่อด้วยการร่วมแบ่งปันเนื้อเป็นอาหาร และใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของวัวที่พลีชีพสักการะ ผู้คนกินเนื้อวัวเนื่องในพิธีบูชายัญ สังเวยโคในพิธีกรรมตามลัทธิ ความเชื่อ ดังนั้นปริมาณการกินเนื้อวัวจึงไม่มาก ในอาณาจักรซูเมเรียนสมัยราชวงศ์ Ur ที่สาม (2112-2004 ก่อน ค.ศ.) นักประวัติศาสตร์ประมาณการกินเนื้อวัวเพียง 10% ของเนื้อสัตว์ที่ชาวซูเมเรียนกินเป็นอาหาร

 

ณ อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุที่ต่อมาวิวัฒน์เป็นอินเดีย ฐานะความศักดิ์สิทธิ์ของโคขึ้นสูงสุด เพราะได้รับการอุ้มชูจากศาสนาฮินดู ทำให้ปัจจุบันอินเดียเป็นดินแดนแห่งเดียวในโลก ที่ยังถือมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของวัว วัวเป็นศูนย์กลางชีวิตของชาวฮินดู เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ควรแก่สักการะ ใครละเมิด ฆ่า หรือทำร้ายวัว เป็นบาปหนัก การกินเนื้อวัวเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด ฐานะอันสูงส่งของวัวในศาสนาฮินดูแสดงได้จากการที่วัวเป็นปางสุดท้าย ก่อนที่ปิศาจจะเกิดเป็นมนุษย์ หลังจากเวียนว่ายตายเกิดในปางที่สูงขึ้นเรื่อยๆ มาแล้ว 85 ปาง นอกจากนั้น พาหนะประจำตัวของพระศิวะยังเป็นพระนนทิ ซึ่งเป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู นอกจากเป็นพาหนะประจำพระองค์แล้ว ยังเป็นทวารบาลหน้าวิหารพระศิวะ อันชาวฮินดูจะบูชาก่อนเข้าสู่วิหาร วัดฮินดูบางแห่งถึงกับมีวิหารพระนนทิเป็นการเฉพาะ (เช่นที่กลุ่มวิหารปรัมมานัน ที่เมืองย็อกยา อินโดนีเซีย) นอกจากนั้น พระกฤษณะยังมีหน้าที่อันสุดศักดิ์สิทธิ์ คือ เลี้ยงวัว (วัวเป็นสัตว์ที่ต้องได้รับการดูแลและเอาใจ หาหญ้าหาน้ำมาให้กิน ดูแลความสะอาด พาเข้าคอกยามวิกาล เลี้ยงวัวในที่นี้จึงต่างกับพวกโคบาลในตะวันตกซึ่งทำการต้อนวัวเป็น มิใช่เลี้ยงวัว)

 

สำหรับชาวฮินดู ‘วัวคือศูนย์กลางของชีวิต’ โคนมคือแม่ผู้หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยนมและเนยใส ส่วนโคผู้ช่วยไถนา ให้อาหารเรากิน แม้แต่มูลวัวก็เป็นปุ๋ย ใช้เป็นเชื้อเพลิงและวัสดุสร้างบ้าน แม้แต่น้ำปัสสาวะของวัวก็มีสรรพคุณรักษาโรค

 

 

ในประเทศเกษตรกรรมอย่างอินเดีย ความศักดิ์สิทธิ์ของวัวสัมพันธ์กับบทบาทของวัวในการผลิตธัญญาหาร นม ปุ๋ย และเชื้อเพลิง เพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต อย่างยากที่จะแยกขาดออกจากกัน นึกถึงวัวแล้วคิดถึงเนื้ออันโอชะจึงมิใช่เป็นจินตนาการของคนอินเดีย แต่นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันอย่างนายมาร์วิน แฮร์ริส เห็นว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้มิได้มีสาเหตุหลักจากความเชื่อทางศาสนาดังที่คนทั่วไปคิดกัน เพราะเดิมทีชาวอารยันและคัมภีร์พระเวทก็มิได้มีบัญญัติห้ามกินเนื้อวัว ในห้วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล วัวยังถูกล้มเป็นสัตว์สังเวยและแบ่งเนื้อกันกินในพิธีกรรมและเฉลิมฉลองในวาระต่างๆ ที่มีพราหมณ์นั่นเองเป็นผู้รับผิดชอบประกอบพิธี อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาผ่านไป ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์เสื่อมทรามลง ประกอบกับประชากรเพิ่มทวีขึ้นมาก ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางวรรณะมีมากขึ้น ความต้องการที่ดินเพื่อผลิตธัญญาหารเกิดตามมา กดดันให้การเลี้ยงวัวเป็นสัตว์สังเวยและเลี้ยงฉลองในหมู่วรรณะสูง มีความชอบธรรมน้อยลง ศาสนาพราหมณ์จึงเริ่มเสื่อมถอย ปล่อยให้ศาสนาพุทธที่เน้นความประเสริฐและเท่าเทียมกันของคน สัตว์ และสิ่งมีชีวิต อีกทั้งบัญญัติห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ขึ้นมามีบทบาทหลักในอินเดียอยู่ราว 900 ปี ก่อนที่ศาสนาฮินดู ซึ่งก็คือศาสนาพราหมณ์ใหม่ จะรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งพร้อมกับข้อบัญญัติให้วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์

 

การตีความของนายแฮร์ริส นับว่าน่าฟัง แต่ก็อาจไม่ถูกเสียทีเดียว เป็นไปได้ว่าสามัญชนคนอินเดียบูชาวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และเห็นประโยชน์ของวัวมากกว่าแค่ล้มเอาเนื้อมากินอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาและประชากรจะยิ่งทำให้ปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำทางวรรณะ และความไม่ชอบธรรมของการฆ่าสังเวยวัวและเพื่อกินเนื้อ ของวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์เด่นชัดและรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ในสังคมข้าวและเมืองพุทธอย่างไทย พม่า ลาว กัมพูชา ศรีลังกา ทั้งศาสนาและเงื่อนไข ทางนิเวศวิทยาที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากกว่าการปศุสัตว์ เป็นปัจจัยหนุนเนื่องให้ชาวพุทธ เหล่านี้ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัวและควายซึ่งมีประโยชน์ในท้องนา และผู้คนมี จิตใจผูกพันด้วยราวกับเป็นเพื่อน แน่ละเมื่อศาสนาพุทธเสื่อมถอย ลัทธิวัตถุนิยม บริโภคนิยม และวัฒนธรรมการกินอย่างตะวันตกรุกครอบงำมากขึ้น การกินเนื้อวัวในเมืองพุทธอย่างไทย ลาว พม่าจึงเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณก็ยังน้อยมาก ดังที่กล่าวแล้ว 

 

สู่วัวมาทาดอร์

 

จากอียิปต์และเมโสโปเตเมีย ลัทธิบูชาวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์แพร่ไปทั่วเอเชียกลาง เข้าสู่เมดิเตอร์เรเนียน กรีก โรมัน สเปน และยุโรปตะวันตก แม้พวกฮีบรูว์ (Hebrews) หรือยิว ก็เคยบูชาวัวมาก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากศาสนาคริสต์สถาปนาขึ้นในอาณาจักรโรมันและได้รับการผลักดันสู่ตะวันออก ได้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากท้องถิ่นในรูปการก่อตัวของศาสนายิว (Judaism) และอิสลาม กลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนา ทว่า ศาสนาใหม่เหล่านี้ รวมทั้งศาสนาคริสต์ ต่างต่อต้านลัทธิบูชาวัว กล่าวหาเป็นพฤติการณ์นอกศาสนา

 

 

ขณะเดียวกัน ในภูมิภาคเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ต่อไปถึงเมดิเตอร์เรเนียน และอาณาจักรโรมัน ก็เกิดศึกสงครามอันเนื่องจากการไหลบ่าของเหล่าชนเผ่านักรบบนหลังม้าจากแดนทุ่งหญ้า ในยูเรเซียจากทางตะวันออกและทางใต้ บวกกับการรุกลงมาทางใต้ของชนเผ่านักรบเซลติกจากตอนเหนือของทวีป ทำให้สงครามแย่งชิงอำนาจ ผู้คน และทรัพย์สิ่งของระหว่างชนเผ่าและอาณาจักรต่างๆ เป็นกติกาทั่วไปของสังคม นี่ยังไม่นับรวมสงครามครูเสด และการอุบัติขึ้นของอาณาจักรอาหรับ มองโกล และออตโตมานในภายหลัง เหล่านี้เป็นเงื่อนไขให้ฐานะของวัวในความสัมพันธ์กับคน ถูกเปลี่ยนจากสัตว์สังเวย มาเป็นทรัพย์แสดงความมั่งคั่งและอำนาจของเจ้าของ

 

ดังมีตัวอย่างการสู้วัวของมาธาดอร์ในสเปน ซึ่งเดิมทีเป็นพิธีสู้และฆ่าวัวโดยขุนนางนักรบบนหลังม้า เพื่อแสดงความสามารถของนักรบที่เอาชนะได้แม้กับวัวที่แข็งแรงดุดัน แต่ต่อมาเลิกราไปจนชาวบ้านมารื้อฟื้นขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 17 แต่คราวนี้เป็นมาธาดอร์สามัญชนผู้หยัดยืนบนสองขา สู้กับวัวถึกอย่างกล้าหาญ สะท้อนโลกทัศน์ใหม่ว่า แม้วัวจะมีพละกำลังแข็งแกร่งเพียงไร ก็ยังถูกคนพิชิตลงได้ ในยุโรปสมัยกลาง การสู้วัวหาใช่มีจำเพาะในสเปนหากยังพบได้ในโปรตุเกส และฝรั่งเศสตอนใต้ และต่อมาแพร่เข้าไปในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และประเทศลาตินอเมริกาอื่นๆ

 

คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความตอน 2

 

ภาพจาก :  

 

Share this content

Contributor

Tags:

เนื้อวัว

Recommended Articles

Food Storyขอเชิญลิ้มรส ‘เพลงเนื้อย่าง’ กับ โอมากาเสะเนื้อ 14 จาน!
ขอเชิญลิ้มรส ‘เพลงเนื้อย่าง’ กับ โอมากาเสะเนื้อ 14 จาน!

ตามบิ๊มกินแหลกล้างโลกไปกินโอมากาเสะเนื้อย่างกันถึงญี่ปุ่น ความอร่อยที่สายเนื้อต้องห้ามพลาด

 

Recommended Videos