เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

เศรษฐกิจการเมืองเรื่องเนื้อวัว ตอน 3

Story by ทีมบรรณาธิการ

ตอน 3 เนื้อวัวกับการค้าโลก

คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความตอน 1

 

คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความตอน 2

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกขึ้นเป็นมหาอำนาจ เป็นจ้าวโลก วัฒนธรรมกินเนื้อวัวอย่างตะวันตกได้แพร่ออกไปสู่ดินแดนที่ไม่มีวัฒนธรรมกินเนื้อมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระยะแรกโดยผ่านร้านฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลที่ขยายไปเปิดสาขาในต่างประเทศ และค่านิยมกินสเต๊กเนื้อ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดได้แก่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีข้อห้ามกินเนื้อสัตว์มากว่า 1,200 ปี กระทั่งสมัยเมจิ จึงเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการกินเนื้อเพื่อให้ทันสมัยเยี่ยงชาวตะวันตก อาหารหม้อไฟอย่างสุกิยากิ ซึ่งใช้เนื้อเป็นหลัก ก็พัฒนาขึ้นครั้งแรกที่โยโกฮามาในสมัยนี้ กระนั้นความนิยมกินเนื้อในหมู่ชาวญี่ปุ่นก็เติบโตอย่างเชื่องช้า ตราบจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันญี่ปุ่นแพ้สงครามและอยู่ภายใต้การยึดครองของอเมริกา (1945-1952) ความนิยมกินเนื้อวัวจึงทวีขึ้นมาก พร้อมไปกับการอุบัติขึ้นของร้านฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัล สเต๊กเฮ้าส์ และร้านอาหารตะวันตก ขณะเดียวกันอาหารญี่ปุ่นที่ใช้เนื้อวัวเป็นเครื่องประกอบหลักอย่าง shabu-shabu ก็เกิดขึ้นในโอซาก้าช่วงนี้ และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

 

 

คนญี่ปุ่นกินเนื้อมากขึ้นเพราะอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา ใช่เพียงเท่านั้น วัฒนธรรมคาวบอยอย่างที่เห็นในหนังคาวบอยฮอลลีวู้ด ยังได้รับความนิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่นบางกลุ่ม มีร้านคาเฟ่ที่ตกแต่งร้านแบบเคาบอย เล่นดนตรีและเพลงคันทรี่ (เช่นเพลงของแฮงค์ วิลเลี่ยม) และแน่นอนว่าอาหารที่บริการเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากสเต๊ก มีจัดงานคาวบอยไนท์ที่ผู้ร่วมงานจัดเต็มกับเครื่องแต่งกายชุดคาวบอย ร่วมกิจกรรมขี่ม้าต้อนวัว ใช้บ่วงบาศจับม้า เล่นเพลงคันทรี่ อิ่มอร่อยกับเสต๊กและจานเนื้อวัวอื่นๆ

 

ในไทยเรา วัฒนธรรมเนื้อวัวเริ่มแพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน หากดูเหมือนจะเริ่มกันที่ฟาร์มโคนมก่อน ตั้งแต่เขตอำเภอมวกเหล็ก สระบุรี ไปชนปากช่องและเขาใหญ่ โคราช แม้จะเริ่มด้วยฟาร์มโคนม แต่วัฒนธรรมคาวบอยก็วิวัฒน์ขึ้นที่นี่ ดังจะเห็นได้จากบรรยากาศและกิจกรรมสไตล์คาวบอยที่ฟาร์มโชคชัย เขาใหญ่ และทองสมบูรณ์คลับ ปากช่อง งานคาวบอยไนท์ประจำปีมีที่มวกเหล็ก สระบุรี และเสต๊กเฮาส์ก็เริ่มต้นจากอาณาบริเวณมวกเหล็ก-ปากช่อง-เขาใหญ่นี้ ก่อนจะแพร่ไปที่อื่น

 

ย้อนกลับมาดูประเทศนักกินเนื้อบ้าง ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเนื้อวัวขนาดใหญ่ มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ และได้รับเงินสนับสนุน (subsidy) หรือการคุ้มครองด้วยมาตรการโควตาและกำแพงภาษีจากรัฐบาล เพราะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของชาติ รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ประชาชนกินเนื้อวัวอย่างเต็มที่ ตัวอย่างคลาสสิก คือ สหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเนื้อวัวรายใหญ่ที่สุดของโลก ปี 2017 ผลิตได้เกือบ 20 ล้านเมตริกตัน อุตสาหกรรมโคขุนและการแปรรูปเนื้อวัวขนาดมหึมา ส่งผลให้เนื้อวัวราคาถูก ปริมาณการบริโภคเนื้อวัวต่อหัวแซงเนื้อหมูขึ้นเป็นอันดับ 1 ของประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 1950s และครองแชมป์ต่อเนื่องนานกว่า 30 ปี ก่อนเสียตำแหน่งให้เนื้อไก่ ที่ระดับการบริโภค 44.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในทศวรรษ 1980s ปัจจุบันเนื้อวัวที่ชาวอเมริกันซื้อหามากินกันราคาต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ ราคาจริงคิดเป็นเพียง 50% ของราคาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หลังทศวรรษ 1980s  

 

ในบรรดาชาติฝรั่งด้วยกัน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นแหล่งผลิตเนื้อวัวมาตั้งแต่สมัยแรกๆ ปี 2017 ออสเตรเลียผลิตเนื้อวัวมากอันดับ 7 ของโลก (3.35 ล้านเมตริกตัน) บริโภคเฉลี่ยต่อคนปีละ 29.5 กิโลกรัม เป็นอันดับ 7 ของโลกเหมือนกัน

 

บราซิล อุรุกวัย อาร์เจนตินา เป็น 3 ประเทศอเมริกาใต้ที่ขึ้นชื่อกินเนื้อวัวสูงโดด แทบจะเรียกได้ว่าเนื้อวัวเป็นอาหารแห่งชาติ เหมือนกับอเมริกา เหตุสำคัญเพราะที่นี่เป็นแหล่งเลี้ยงวัวมาก่อนแต่ครั้งเป็นเมืองขึ้นของสเปน ผู้เป็นเจ้าพ่อวัฒนธรรมคาวบอยมาเก่าก่อน ปี 2017 บราซิลผลิตเนื้อวัวได้กว่า 15 ล้านเมตริกตัน ตั้งแต่ทศวรรษ 1990s บราซิลเร่งผลิตเนื้อวัวเพื่อส่งออก โดยขยายการเลี้ยงวัวเข้าไปในเขตป่าอเมซอน ประชากรวัวเพิ่มจาก 147 เป็น  200 ล้านตัว โดยกว่า 83 % ของวัวที่เพิ่มขึ้น มาจากการบุกเบิกป่าอะเมซอน เฉลี่ยต่อปีชาวบราซิลกินเนื้อวัวเพียง 35 กิโลกรัม จึงเป็นประเทศส่งออกเนื้อวัวรายสำคัญของโลก ตรงข้ามกับอาร์เจนตินาที่แม้จะผลิตเนื้อวัวได้ปริมาณไม่น้อย (4.5 ล้านเมตริกตัน) หากบริโภคภายในประเทศสูงถึง 54 กิโลกรัมต่อคน อุรุกวัย ประเทศเล็กๆ ระหว่างบราซิลกับอาร์เจนตินา มีจำนวนวัวมากกว่าประชากร 4 เท่า มีชื่อเสียงทางเนื้อวัว grass-fed คุณภาพพรีเมียม ปริมาณการบริโภคเนื้อวัวต่อปีต่อคนเพิ่มจาก 47 เป็น 56 กิโลกรัม เป็นแชมเปี้ยนกินเนื้อวัวมากอันดับ 1 ของโลก แต่ยังมีเนื้อวัวคุณภาพเยี่ยมส่งขายต่างประเทศ

 

 

รวมทั้งหมด ปี 2016 ทั้งโลกกินเนื้อวัวมากถึง 59 พันล้านกิโลกรัม แหล่งบริโภคสำคัญ ยังเป็นแหล่งวัฒนธรรมกินเนื้อวัวดั้งเดิม ได้แก่ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และยุโรปตะวันตก อย่างไรก็ตาม OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) กับองค์การอาหารโลก (FAO) คาดว่าในทศวรรษหน้า (2017- 2027) การบริโภคเนื้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเพิ่มขึ้นเพียง 8% แต่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะทวีสูงขึ้นมากถึง 21% เฉพาะในเอเชีย จะเพิ่มสูงถึง 24%  เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูอย่างจีน เวียดนาม และอีกหลายประเทศในภูมิภาค นำไปสู่การเพิ่มความต้องการกินเนื้อวัว ตัวอย่างกรณีประเทศจีนซึ่งครั้งหนึ่งเนื้อวัวเป็น “เนื้อของเศรษฐี” มาบัดนี้คนจีนมีเงินจับจ่ายมากขึ้น ใครก็กินเนื้อวัวได้ ตั้งแต่ปี 1990 ปริมาณการบริโภคเนื้อวัวต่อปีต่อคนจึงเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัว 

 

ความต้องการบริโภคเนื้อวัวในประเทศเศรษฐกิจดีเหล่านี้ จักตอบสนองได้ก็ด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ นั่นย่อมหมายถึงบทบาทและความสำคัญของการค้าเนื้อวัวโลก

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การค้าเนื้อวัวในโลกเติบโตมากอย่างต่อเนื่อง แม้ในทศวรรษ 2000s  จะเผชิญกับวิกฤตโรควัวบ้าและโรคมือเท้าเปื่อย อันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของเนื้อวัว แต่หลังจากออกมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยของโคขุนและการแปรรูปเนื้อวัวแล้ว ก็ค่อยผ่านวิกฤตไปได้ ที่หนักหนาและเกิดผลกระทบยาวนานกว่า คือ กระแสกล่าวโทษเนื้อวัวเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ อันสร้างผลสะเทือนอย่างมากในตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา แต่โดยอาศัยการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ไม่ยอมกล่าวโทษเนื้อวัวโดยตรง จึงลดแรงกระแทก ช่วยอุตสาหกรรมเนื้อวัวให้ประคองตัวไปได้ แม้ปริมาณการกินของคนในประเทศจะลดลง หากยังชดเชยได้ด้วยการส่งออกไปขายต่างประเทศ และสุดท้าย แม้จะเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าการผลิตและค้าเนื้อวัวเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโรคร้อน อีกเป็นการใช้ทรัพยากรอาหารอย่างไม่คุ้มค่า ซ้ำเป็นการทารุณกรรมสัตว์ อุตสาหกรรมเนื้อวัวก็มิได้หวั่นไหว ยังคงเดินหน้าผลิตและค้าเนื้อวัวต่อไป

 

 

ปริมาณเนื้อวัวที่ซื้อขายกันระหว่างประเทศทั้งหมด แม้จะเป็นเพียง 9.7% ของผลผลิตทั้งหมดในโลก หากมูลค่ามหาศาลนัก ปี 2017 ปริมาณการส่งออกเนื้อวัวทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 44.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (USD)  มากกว่าปีก่อน 7.7%  โดย 31.5% มาจากยุโรป 21.8% จากอมริกาใต้และแคริบเบียน 20.2% จากอเมริกาเหนือ 17.6% จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และ 8.8% จากเอเชียและแอฟริกา เห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นภูมิภาคตะวันตกและลาตินอเมริกา หากแตกแยกย่อยเป็น 10 อันดับประเทศที่มูลค่าส่งออกเนื้อวัวสูงสุดก็จะยิ่งเห็นได้ชัด สหรัฐอเมริกามาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาติดๆ ด้วยออสเตรเลียและบราซิล ลำพัง 3 ประเทศนี้รวมกันก็มีมูลค่าส่งออกกว่า 1 ใน 3 แล้ว หากรวมทั้ง 10 ประเทศ มูลค่าจะสูงถึง 72%

 

ใน 10 ประเทศส่งออกเนื้อวัวสูงสุดของโลก มีอินเดียติดมาด้วยเป็นอันดับ 5 ด้วยมูลค่า 3 พันล้าน USD หลายท่านอาจนึกแปลกใจ ก็วัวอินเดียเขาถือว่าศักดิ์สิทธิ์นี่นา! ไม่ต้องแปลกใจครับ เพราะอินเดียเขาเลี้ยง water buffalo เยอะ หากเป็นควายพันธ์เลี้ยงเอาเนื้อและนม มิใช่ควายใช้งานแบบบ้านเรา อินเดียขายเนื้อ water buffalo เป็นเนื้อวัวส่งออก เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “carabeef” (USDA ถือว่าเป็นเนื้อวัวชนิดหนึ่ง) เป็นที่นิยมมากในเวียดนาม จีน  มาเลย์เชีย อียิปต์ และซาอุดิอาราเบีย เพราะราคาถูก หากวัดกันที่ปริมาณส่งออกแล้ว อินเดียส่งออกเนื้อวัวเป็นอันดับ 1 ของโลกทีเดียว ที่ 1.85  ล้านเมตริกตัน    

 

การค้าเนื้อวัวโลกอยู่ในมือของไม่กี่ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศฝรั่งตะวันตก หากแค่นั้นยังไม่พอ การค้าเนื้อวัวโลกยังอยู่ในมือบรรษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บรรษัท อย่างในสหรัฐอเมริกา การชำแหละแปรรูปและค้าเนื้อวัวอยู่ในมือของ 5 บรรษัท คือ JBS, Tyson, Cargill, National Beef และ Smithfield อุตสาหกรรมเนื้อวัวในออสเตรเลียก็ผูกขาดสูงทำนองเดียวกัน บรรษัท Big Beef เหล่านี้เดิมเจ้าของเป็นอเมริกัน แต่ปัจจุบัน JBS ถูกบราซิลซื้อไปแล้ว อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ National Beef บริษัทชำแหละและบรรจุเนื้อวัวรายใหญ่ก็ถูก Marfrig บรรษัทชาติบราซิลซื้อไปด้วย แม้แต่ Smithfield ก็ถูกประเทศจีนซื้อไปเหมือนกัน ในยุคโลกาภิวัตน์ บรรษัทข้ามชาติมีอำนาจผูกขาดการค้าโลกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การค้าเนื้อวัวโลกก็คลี่คลายมาในลักษณะเดียวกัน บรรษัทเหล่านี้ล็อบบี้รัฐบาลด้วยอุบายต่างๆ ให้ออกนโยบายเกื้อหนุนตนเอง และรัฐบาลก็มักสนองประโยชน์ตามนั้น ดังกรณีรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ยอมรับข้อตกลงปารีสว่าด้วยมาตรการลดภาวะโลกร้อน ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์อุตสาหกรรมอเมริกัน อันรวมถึงปศุสัตว์วัวและอุตสาหกรรมเนื้อวัว ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอเมริกาอย่างมาก

 

 

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม องค์การนานาชาติอย่าง GATT และ WTO ได้สนับสนุนการค้าเนื้อวัวภายใต้สโลแกน Free Trade ทำให้เนื้อวัวราคาถูก เจาะตลาดใหม่ในประเทศเอเชียและประเทศอื่นที่ไม่มีวัฒนธรรมกินเนื้อวัว ดังกรณีประเทศญี่ปุ่น การเจรจารอบอุรุกวัย ผลงานชิ้นเอกอุของ WTO ที่เริ่มบังคับใช้ในปี 1995 ทำให้ญี่ปุ่นต้องลดภาษีเนื้อวัวนำเข้า ราคาเนื้อวัวที่ถูกลงส่งผลให้ปริมาณการบริโภคเนื้อวัวต่อคนเพิ่มจาก 5.5 เป็น 7.6 กิโลกรัม ในปี 2000 และ 9.5 กิโลกรัมในปี 2016  กว่าครึ่งของปริมาณเนื้อวัวที่คนญี่ปุ่นกินเป็นเนื้อวัวนำเข้า (ข้อมูลปี 2009) ในเกาหลีใต้การเจรจารอบอุรุกวัยก็เกิดผลต่อการบริโภคเนื้อวัวทำนองเดียวกัน

 

เนื่องจากอุตสาหกรรมเนื้อวัวมีผลประโยชน์มหาศาล เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างซับซ้อน ทั้งในระบบชาติและระบบโลก การคัดค้านเนื้อวัวด้วยเหตุผลทางสุขภาพ ต่อต้านการเลี้ยงโคขุนด้วยเหตุผลทารุณสัตว์ ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือข้อหาเพิ่มก๊าซเรือนกระจก จึงเสมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา

 

ตราบที่อุตสาหกรรมผลิตเนื้อวัวยังมีผลประโยชน์มหาศาล เกี่ยวข้องกับเกษตรกรจำนวนมาก และนายทุนจำนวนน้อยผู้มีอำนาจสูง ตราบที่ผู้คนยังอร่อยปากกับการกินเนื้อวัว ตราบนั้น วัวจะยังถูกฆ่าเป็นอาหารคนไปเรื่อยๆ และคนก็จะตายเพราะกินเนื้อวัวมากเกินต่อไป 

 

สมัยเป็นวัวศักดิ์สิทธิ์ ความเดือดร้อนมีน้อย แต่เมื่อเป็นวัวมาทาดอร์ เป็นวัวเศรษฐกิจการเมืองแล้ว มนุษยชาติกลับทุกข์หนัก ทุกข์แบบยั่งยืนเสียด้วย    

 

 

ภาพจาก 

 

1. https://www.farmonline.com.au/story/4343598/teys-wagga-granted-eu-accreditation/

 

2. https://english.kyodonews.net/news/2018/09/b293aea12fe0-opinion-is-japan-a-leader-of-free-trade-negotiations-with-the-us-will-tell.html

 

3. https://www.stuartfamilyfarm.com/grass-fed-beef/

Share this content

Contributor

Tags:

เนื้อวัว

Recommended Articles

Food Storyขอเชิญลิ้มรส ‘เพลงเนื้อย่าง’ กับ โอมากาเสะเนื้อ 14 จาน!
ขอเชิญลิ้มรส ‘เพลงเนื้อย่าง’ กับ โอมากาเสะเนื้อ 14 จาน!

ตามบิ๊มกินแหลกล้างโลกไปกินโอมากาเสะเนื้อย่างกันถึงญี่ปุ่น ความอร่อยที่สายเนื้อต้องห้ามพลาด

 

Recommended Videos