เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ไข่กับความเชื่อที่ไร้การพิสูจน์

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

ความเชื่อเรื่องไข่ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังศรัทธา

“ไข่กับไก่ อะไรเกิดก่อน” กลายเป็นอดีตคำถามโลกแตกหลังวิทยาศาสตร์สามารถไขปริศนาให้เราเลิกถกเถียงกันได้ว่า ไก่ เกิดก่อนไข่แน่ๆ เพราะไก่สามารถสร้างโปรตีนผลิตเปลือกไข่ที่ชื่อว่า “ovocledidin-17” (OC-17) ห่อหุ้มไข่แดงไข่ขาวไว้ โปรตีนที่ว่านี้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการตกผลึกของแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดเป็นเปลือกไข่แข็งๆ และยังเป็นโปรตีนที่ถูกผลิตขึ้นเฉพาะในไก่เพียงเท่านั้น เลยยืนยันได้ว่าต้องมีไก่ก่อน ถึงจะสร้างเปลือกไข่ขึ้นมาได้ คำถามต่อมา แล้วไก่ตัวแรกไม่ได้ออกมาจากไข่หรอกหรือ? ข้อนี้นักวิทยาศาตร์บอกว่า ไก่ก็เหมือนกับสัตว์หลายชนิดบนโลกที่วิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์ ถึงระยะหนึ่งที่วิวัฒน์จนสามารถสร้างโปรตีน OC-17 และออกไข่ได้ในที่สุด

 

ไก่เกิดก่อนจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ลบล้างความเชื่อว่าไข่เกิดก่อนได้ แต่อีกหลายความเชื่อที่ตั้งต้นด้วย ‘ไข่’ ก็ยากจะหาทฤษฎีมาลบล้าง และเป็นความเชื่อที่ไม่ต้องการการพิสูจน์ แต่อาศัยพลังศรัทธาหล่อเลี้ยงความเชื่อให้ดำเนินต่อไป หลายประเทศเองก็มีความเชื่อเกี่ยวกับไข่ที่ยึดถือปฏิบัติต่อๆ กันมา จริง ไม่จริง จึงไม่ใช่เรื่องที่เราอยากชวนพิสูจน์ แต่ชวนมาดูกันค่ะว่าทำไมไข่ ถึงเข้าไปอยู่ในความเชื่อเหล่านั้น

 

 

แก้บนด้วยไข่ต้ม  

 

สายมูคงรู้ และสายไม่มูอีกหลายคนก็คงรู้ เพราะอาจเคยได้รับไข่ต้มจากพี่ ป้า น้าอา คนข้างบ้านที่ไปบนบานแล้วสมหวัง จนต้องหิ้วไข่นับร้อยนับพันกลับมาแจกจ่าย กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่รู้กันว่า ถ้าไปวัดนี้ บนกับหลวงพ่อองค์นี้ ต้องบนด้วยไข่ต้มนะ พิธีกรรมแก้บนด้วยไข่ต้มนี่เฟื่องฟูถึงกับมีบริการรับต้มไข่แก้บนกันเลย จะกี่พัน หมื่น แสนฟองก็ต้มให้ได้ แสนฟองนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และไม่ล้อเล่นนะคะ มีชาวจีนที่สมหวังจากการขอพรกับหลวงพ่อโสธร แล้วกลับมาทำตามสัญญาที่ขอไว้ อันนี้เล่าให้ฟัง ไม่ได้ชี้ช่องทางบนบานแต่อย่างใด (ฮา) หลังจากลาไข่จากการไหว้ ก็มักแจกจ่ายให้คนดูแลวัด ญาติ เพื่อนสนิทมิตรสหาย

 

แล้วทำไมต้องไข่ต้ม? สันนิษฐานว่าหลวงพ่อโสธรชอบกินไข่ต้มจึงนิยมนำมาถวาย และแต่เดิมพื้นที่ฉะเชิงเทราซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดโสธรนั้น เป็นแหล่งเลี้ยงไก่ไข่จำนวนมากจึงหาไข่ได้ง่าย สะดวกต่อการนำมาบนบาน นอกจากหลวงพ่อโสธรที่คนนิยมนำไข่มาไหว้ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกหลายแห่งผู้คนก็นิยมใช้ไข่ในการแก้บนเช่นกัน เพราะไข่เป็นตัวแทนของการกำเนิดชีวิต ตำนานหนึ่งของจีนนั้นเล่าว่า 1,600-1,000 ปีก่อนคริสตกาล ผู้หญิงคนหนึ่งเก็บไข่นกนางแอ่นได้จึงนำมากิน แล้วเกิดตั้งครรภ์ได้ลูกชาย ภายหลังลูกชายกลายเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรซาง  ไข่ จึงเป็นสัญลักษณ์ถึงการเกิดที่เป็นสิริมงคลนับแต่นั้น

 

 

ไข่ทาเปลือกสีแดง  

 

ความเชื่อเรื่องไข่ย้อมสีแดงเป็นวัฒนธรรมที่กว้างมากตั้งแต่เอเชียไปจนถึงซีกโลกตะวันตกกันเลยทีเดียว ชาวจีนเชื่อว่าไข่ ก่อกำเนิดการมีชีวิต และสีแดงเป็นสีมงคลแสดงถึงการเฉลิมฉลอง จึงมีธรรมเนียมว่าบ้านไหนที่มีเด็กเกิด  ก็จะจัดงานเลี้ยงไข่ต้มทาเปลือกสีแดงกินกันในครอบครัว เป็นการเฉลิมฉลอง และแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านเป็นการบอกกล่าวว่าบ้านนี้มีเด็กเกิดแล้วนะ ในตอนกลางของประเทศจีนก็จะมีดีเทลเรื่องจำนวนเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นลูกชาย หลานชายจะต้มไข่เป็นเลขคู่ เช่น 6 ฟอง 8 ฟอง และแต้มจุดสีดำไว้บนไข่ ส่วนลูกสาว หลานสาว จะต้มไข่เป็นเลขคี่ เช่น 5 ฟอง 7 ฟอง ไม่มีจุดแต้ม ไข่ต้มสีแดงในวัฒนธรรมจีนยังมอบให้กันในวันสำคัญๆ เพื่อแสดงการอวยพรอย่างวันแต่งงาน วันเกิด วันปีใหม่ เป็นต้น ในบ้านเราบางพื้นที่ก็ใช้ไข่ไก่ทาสีแดงเพื่อการบนบาน ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระร่วงโรจนฤทธิ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครปฐม ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าหากจะขอพรต้องนำไข่ไก่ย้อมสีแดงมาไหว้

 

ฝั่งตะวันตก ก็มีความเชื่อเรื่องไข่คือจุดกำเนิด ก่อเกิดของสรรพสิ่ง ในเทศกาลอีสเตอร์ ไข่จึงเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดใหม่ของพระเยซู เหมือนไก่ เป็ด นก ที่กำเนิดขึ้นจากไข่ ในอดีตทั้งไข่ไก่ ไข่เป็ด หรือไข่นกกะทาจะถูกแต้มสีแดงอันหมายถึงเลือดเนื้อของพระเยซูเจ้า ก่อนที่ภายหลังพิธีเฉลิมฉลองในเทศกาลอีสเตอร์จะปรับเปลี่ยนมาทาเปลือกไข่ให้มีสีสันหลากหลาย ลวดลายสวยงามในปัจจุบัน ถึงอย่างนั้นบางประเทศในทวีปยุโรปก็ยังคงทาเปลือกไข่เป็นสีแดงเพียงสีเดียวอยู่

 

 

ไข่เสี่ยงทาย ตายหรือรอด

 

ความเชื่อที่ว่าไข่เป็นสัญลักษณ์การก่อกำเนิดชีวิตใหม่ ไข่จึงเปรียบเสมือนชีวิต และถูกนำมาทำนายความเป็นความตายด้วยเหมือนกัน หมอกลางบ้าน (หมอชนบท รักษาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน) ชาวอินเดียตะวันตกจะมีพิธีทำนายความเป็นความตายของคนไข้ เรียกว่า dieng shat pylleng หรือกระดานทุบไข่เสี่ยงทาย โดยจะใช้กระดานแผ่นเล็กๆ ยาว 6 นิ้ว กว้าง 4 นิ้ว วางกระดานไว้ในกระจาด แล้วยืนถือไข่ให้ตรงกับกระดาน ปล่อยให้ไข่ตกกระทบกระดานแล้วทำนายตามลักษณะที่ไข่ตก เช่น เอียงไปทางซ้าย ค่อนไปทางขวาหรือตรงกลาง ยิ่งถ้าหากไข่แดงแตกเป็นรูปสี่เหลี่ยม หมายความว่าคนไข้มีโอกาสตายมากกว่ารอด

 

ในพิธี “บายศรีสู่ขวัญ” หรือ “บายศรี” ประเพณีสู่ขวัญสำคัญของชาวอีสานบ้านเรา ที่ทำขึ้นทั้งในโอกาสดีและไม่ดี เพื่อแสดงความชื่นชม ยินดี หรือใช้เรียกขวัญให้คนที่เพิ่งผ่านพ้นเรื่องไม่ดีมา หนึ่งในเครื่องประกอบพิธีที่ขาดไม่ได้คือ ‘ไข่ต้ม’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ขวัญ’ หมายถึงจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในคนและสัตว์ตั้งแต่เกิดมา เนื่องจากไข่กับขวัญมีความคล้ายคลึงกัน ขวัญถูกห่อหุ้มด้วยร่างกาย ส่วนไข่ห่อหุ้มไว้ด้วยเปลือก ไข่ในพิธีจึงแทนขวัญหรือจิตวิญญาณของมนุษย์ เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ไข่ต้ม ก็จะถูกนำมาเสี่ยงทายเจ้าของขวัญ หมอขวัญจะผ่าไข่ต้มออกเป็น 2 ซีก หากไข่ผิวเรียบเสมอ ไข่แดง ไข่ขาวเต็มฟอง ทำนายว่าจะสุขสบาย ไร้โรคภัย เจ้าของขวัญจะกินไข่ฟองนั้นเปรียบกับการนำขวัญเข้าสู่ร่างตามความเชื่อที่ว่า คนมีชีวิตอยู่ได้เมื่อมีขวัญ แต่ถ้าไข่ไม่สมบูรณ์ผลทำนายก็จะตรงกันข้าม เจ้าของขวัญก็จะไม่กินไข่นั้น ซึ่งหมอขวัญก็จะประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์อีกครั้ง เพื่อให้เจ้าของขวัญมีกำลังใจดีขึ้น

 

 

คนท้องห้ามตอกไข่ สร้างเวรสร้างกรรม   

 

ไม่เพียงอาหารการกิน และการเดินเหินที่คนตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษ ว่าที่คุณแม่มักจะได้รับคำเตือน หรือคำแนะนำยิบย่อยโดยเฉพาะข้อห้ามที่มาพร้อมความเชื่อเช่นคนตั้งครรภ์ห้ามตอกไข่ ได้ยินแล้วก็ชวนสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า จังหวะที่ไข่กระทบขอบชามมันกระเทือนลูกน้อยในครรภ์ตรงไหน ความเชื่อโบราณนี้มาจากภาคใต้ของประเทศไทยที่อธิบายว่า การตอกไข่นั้นส่งผลไม่ดีต่อลูกน้อยในครรภ์ในรูปบาปบุญคุณโทษ ด้วยเชื่อว่าการตอกไข่คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่คนท้องไม่ควรทำ เพราะเป็นช่วงชีวิตที่ควรประกอบแต่กรรมดี คิดดี พูดดี ทำดี ซึ่งการตอกไข่ตามความเชื่อคือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้หลักความจริงแล้วไข่ที่นำมาปรุงอาหารจะเป็นไข่ที่ไม่ได้ผสม คือไม่เกิดการฟักตัวแน่ๆ ก็ตาม

 

 

ห้ามต้มไข่ในหม้อหุงข้าว ความฉิบหายจะมาเยือน

 

ในสมัยก่อนนั้น หากลูกสาวหรือลูกสะใภ้บ้านไหนต้มไข่ในหม้อข้าว จะถูกเรียกมาตำหนิ ติเตียน ถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าเป็นการไม่เคารพพระแม่โพสพ ทำให้พระแม่โพสพหนีไปซึ่งจะนำความฉิบหายมาแก่ชีวิต แต่หากพิจารณาให้ดี นี่อาจเป็นกุศโลบายที่ชาญฉลาดของคนสมัยก่อน ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ประณีตในการปรุงอาหารนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสเน่ห์ปลายจวักที่ผู้หญิงควรมีติตตัว อีกทั้งการนำไข่ต้มลงไปพร้อมหุงข้าวยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งในอดีตการเลี้ยงไก่ไข่อาจไม่ถูกสุขลักษณะอย่างในปัจจุบัน ดีไม่ดี ความร้อนที่มากเกินไปอาจทำให้ไข่แตกคาหม้อได้

 

สำหรับคนที่เอาเร็วเข้าว่า จำเป็นต้องต้มไข่ในหม้อข้าวและไม่ได้ถือเรื่องข้อห้ามนี้นักก็ทำได้ เพียงแต่ต้องล้าง เช็ดทำความสะอาดเปลือกไข่ให้เรียบร้อยเพราะเจ้าเชื้อซัลโมเนลลาที่อาจติดมากับเปลือกไข้นั้น ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ และสามารถกำจัดด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 75°C เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อถูกทำลายแล้วเมื่อข้าวสุก จึงควรปล่อยไข่ไว้ในหม้อเพื่อให้โดนไอร้อนระอุต่ออีก 10 นาที

 

 

ไข่ ในพิธีแต่งงาน

 

ความหมายที่เป็นสิริมงคลทำให้ไข่ ถูกนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมงานมงคลเช่นงานแต่งในหลายประเทศ อย่างภาคอีสานของไทย ในพิธีบายศรีสู่ขวัญงานแต่ง ไข่ต้มบนยอดพานบายศรี เป็นสัญลักษณ์ในการเสี่ยงทายความรักว่าจะอยู่กันยืนยาวมั่นคงหรือไม่ โดยหมอขวัญจะนำไข่มาผ่าด้วยเส้นผมหรือด้ายออกเป็นสองซีก แล้วดูที่ไข่แดง ถ้าไข่แดงอยู่ตรงกลางแสดงว่าเป็นความรักที่มั่นคงยืนยาว หากไข่แดงเอนไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งแสดงว่าเป็นรักโลเล จากนั้นคู่บ่าว สาว ต้องกินไข่ที่ผ่าแล้วคนละครึ่งฟอง เจ้าบ่าวจะใช้มือซ้ายป้อนเจ้าสาว ส่วนเจ้าสาวจะใช้มือขวาป้อนเจ้าบ่าว เป็นการอวยพรซึ่งกันและก่อนจะทำพิธีผูกข้อไม้ข้อมือต่อไป ชาวยิว ชาวโมร็อกโก ก็ใช้ไข่ประกอบในพิธีแต่งงานโดยเจ้าบ่าวจะเอาไข่ปาไปที่เจ้าสาว เชื่อว่าจะทำให้เจ้าสาวซึ่งเป็นว่าที่คุณแม่ในอนาคตคลอดลูกง่าย ส่วนชาวยิวในรัสเซียนั้น นิยมนำไข่วางตรงหน้าเจ้าสาว เป็นความหมาย ขอให้ลูกดกคลอดง่าย เหมือนไก่ออกไข่

 

 อ้างอิง

 

– หนังสือ “กระยานิยาย” เขียนโดย ส.พลายน้อย

 

– หนังสือ ฟู้ดโฟกัส บรรณาธิการโดย อมรรัตน์ ขาวสะอาด

 

SilpaWattanatham

Share this content

Contributor

Tags:

ความเชื่อ, เมนูไข่

Recommended Articles

Food Storyยำจิ๊นไก่ เมนูอร่อย ผลพลอยจากพิธีกรรมสู่ขวัญของชาวล้านนา
ยำจิ๊นไก่ เมนูอร่อย ผลพลอยจากพิธีกรรมสู่ขวัญของชาวล้านนา

ยำไก่สูตรพื้นเมืองเหนือ ที่จะให้อร่อยต้องใช้ไก่สู่ขวัญ

 

Recommended Videos