เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

‘ขนมสี่ถ้วย’ คำอวยพรหวานล้ำปราศจากคำพูด

Story by ทีมบรรณาธิการ

ไข่กบ นกปล่อย บัวลอย อ้ายตื้อ ขนมนามปริศนา แต่เชื่อไหมว่าเราคุ้นเคยแม้ไม่ได้เกิดร่วมสมัย

“ไปกินสี่ถ้วยกัน” คำเอ่ยปากชักชวนของผู้ใหญ่ใจดีที่คนสมัยนี้มักไม่ได้ยินกันแล้ว หรือหากได้ยินก็น้อยคนที่จะเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของคำชวน จนอาจเผลอปฏิเสธความใจดีไปอย่างน่าเสียดาย คำว่ากินสี่ถ้วย เป็นคำเรียกชื่อขนมสี่อย่าง ที่นิยมทำเลี้ยงแขกในงานแต่งของชาวพระร่วงเมื่อครั้งอดีต จนกลายมาเป็นคำเรียกประเพณีการต้อนรับแขกเมื่อมาอวยพรให้บ่าวสาวครองคู่กันตราบนิจนิรันดร์เรื่อยมา หากใครสนทนากันมีใจความว่าไปกินสี่ถ้วยบ้านเหนือบ้านใต้ เป็นอันเข้าใจว่ามีพิธีมงคลสมรสเกิดขึ้นแล้ว จะต้องเร่งฝีเท้าไปช่วยงานครัวบ้านเจ้าสาวให้ได้ แต่ในปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็นกันเท่าไรนักเพราะนิยมขนมมงคลจำพวกไข่เสียมากกว่า

 

กาลเวลาเลยพาให้ขนมสี่ถ้วยค่อยๆ จางและหายไปจากความทรงจำ แต่หากเผลอพูดให้ปู่ย่าตายายได้ยินเข้าละก็ คงต้องจับเข่าคุยกันอยู่นาน เพราะท่านจะเล่าว่า หลานเอ๋ย… ขนมนี้เป็นขนมชนิดแรกของไทยที่มีหลักฐานว่าถูกจารึกไว้ตั้งแต่ครั้งโบราณ สันนิษฐานว่าเป็นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แผ่นดินอันเป็นยุคทองของขนมไทย (พ.ศ. 2215 – 2220) ศิลานั้นมีลักษณะเป็นลายแทงที่ถูกจารึกไว้ด้วยอักษรโบราณ ถอดความมาได้ว่า มีพระราชโองการให้ขุดสระ เมื่อขุดเสร็จให้ทำขนมสี่อย่างแจกจ่ายคนงานเพื่อสร้างพลังกาย ในสำรับหนึ่งๆ จะประกอบด้วยขนม 4 ชนิดที่มีนามปริศนาชวนให้ตั้งคำถามว่ามันมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร นามทั้งสี่นี้ ได้แก่ ไข่กบ นกปล่อย นางลอย อ้ายตื้อ และถึงแม้ว่าหลักฐานที่ขุดพบในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะไม่ได้กล่าวผูกโยงงานมงคลสมรสกับขนมสี่อย่างนี้ แต่ก็มีประเพณีการสืบทอดงานมงคลสมรสแบบกินสี่ถ้วยให้เห็นอยู่ในแถบจังหวัดเพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์

 

 

งานมงคลสมรสแบบกินสี่ถ้วยสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีความเชื่อกันว่าการแต่งงานจะต้องให้ความสำคัญกับผีบรรพบุรุษของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวด้วย ความรักของทั้งคู่จึงจะยั่งยืนเสมือนต้นไม้หยั่งรากลึก ไม่โอนอ่อนต่อลมพายุ ทั้งผีบ้านและผีเรือนจะได้ช่วยคุ้มครองดูแลไม่ให้ตกอยู่ในภยันตราย จึงต้องเซ่นไหว้เพื่อบอกให้รับรู้ว่าหนุ่มสาวจะดองเป็นทองแผ่นเดียวกันในไม่ช้า โดยในงานมงคลสมรสแบบกินสี่ถ้วยนี้ หากสตรีผู้ใดแต่งงานแล้วและสามียังคงมีชีวิตอยู่ จะได้ทำหน้าที่เป็นผู้อัญเชิญเตียบทั้ง 4 เรียกว่าเป็นเมียเทวดา เมียเทวดาสื่อถึงการสอนให้ลูกหลานรักนวลสงวนตัวและแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี นอกจากนี้ก็จะจัดให้เลี้ยงแขกที่เดินทางมาช่วยงานด้วยขนมมงคล 4 ถ้วยที่ได้กล่าวไปเบื้องต้น เพื่อแสดงน้ำใจและคำขอบคุณต่อผู้ที่มาร่วมงาน

 

ไข่กบ นกปล่อย นางลอย อ้ายตื้อ ความหวานปริศนานี้มีที่มา

 

นอกจากความพิเศษของความหมายที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ ขนมสี่ถ้วยยังมีวิธีการกินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างไปจากการกินขนมไทยมงคลชนิดอื่นๆ ที่เราเห็นกันตามงานบวช งานแต่งด้วย เป็นต้นว่า ทองหยิบ ทองหยอด หรือขนมชั้น ที่ไม่จำเป็นจะต้องกินร่วมกันในชามเดียว แต่ขนมสี่ถ้วยมีวิธีการกินคล้ายกับเวลาที่พระฉันอาหาร โดยจะตักกับข้าวแต่ละอย่างมาคลุกรวมกันในบาตรอย่างที่ใครๆ หลายคนต้องร้องอี๋เพราะความไม่เข้ากันของรสชาติ เช่นเดียวกับขนมสี่ถ้วย จะตักขนมทั้งสี่ถ้วยที่ถูกจัดวางไว้ในเตียบ มาไว้ในถ้วยใบเดียวกัน เรื่องความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวต้องยกให้ สลัดภาพกับข้าวในบาตรพระไปได้ เพราะตบท้ายด้วยการราดน้ำกระสายเชื่อม เพื่อสร้างอรรถรสในการกิน เป็นการใช้ความหวานคลุกเคล้าให้ขนมทั้งสี่อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน น้ำกระสายที่ว่านี้ คือน้ำกะทิผสมกับน้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลปี๊บ เคี่ยวจนหอมกรุ่นเตะจมูก เมื่อราดลงไปผสมกับขนมทั้งสี่แล้วก็จะช่วยชูรสของขนมได้อย่างดีเยี่ยม และมีนัยอวยพรบ่าวสาวให้รักกันหวานชื่นเหมือนน้ำกระสายเชื่อมใจของทั้งสอง

 

 

ไข่กบ เมื่อเราลองสังเกตลักษณะทางประชากรศาสตร์ของกบ จะพบว่ากบเป็นสัตว์ที่ออกลูกคราวละมากๆ ในช่วงฤดูฝน ก่อนจะได้เติบโตเป็นหนุ่มสาวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ กบจะซ่อนตัวอยู่ในรูปของไข่ที่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ หุ้มด้วยเมือกสีใสจนเห็นภายในที่เป็นแต้มตำหนิสีดำ จับตัวกันเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นแพ เฉกเช่นเดียวกันกับเม็ดแมงลัก พืชตระกูลสมุนไพรที่ใครๆ ต่างก็รัก นำเมล็ดและใบมาประกอบอาหารทั้งคาวหวานเพราะสรรพคุณเหลือล้นจนต้องยกนิ้ว

 

แต่ในส่วนของประเพณีกินสี่ถ้วย เราจะใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเมล็ดเท่านั้น อนึ่งว่าเมล็ดของต้นแมงลักนี้ เมื่อแช่ในของเหลวจะดูดซับน้ำและพองตัวกลายเป็นเจลาตินสีขุ่นที่ให้พลังงานเป็นอย่างดี คนสมัยก่อนจึงดึงเอาลักษณะพิเศษของธรรมชาติมาตั้งเป็นชื่อขนมแฝงนัย หนึ่งในสี่ถ้วยที่ถูกจัดวางในเตียบก่อนเสิร์ฟให้แขกที่มาร่วมอวยพรให้คู่บ่าวสาวได้ลิ้มรส คล้ายว่าของหวานถ้วยนี้เป็นตัวแทนของคำอวยพร ที่ปราศจากซึ่งคำพูดจากญาติผู้ใหญ่ให้บ่าวสาวรักกันอย่างเหนียวแน่น เสมือนไข่กบที่จับตัวเป็นแพ และให้มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มทั่วเมือง เสมือนกบที่ออกไข่คราวละมากๆ

 

นกปล่อย หากไม่เห็นภาพเราคงจะเดากันไปต่างๆ นาๆ ว่าเป็นขนมไทยตำรับชาววัง ที่มีรูปลักษณ์งดงามวิจิตรชวนให้ลิ้มลอง ชาวบ้านนอกรั้วกำแพงสูงตระหง่านไม่มีโอกาสได้ลิ้มชิมรสหรือแม้แต่ยลโฉมเป็นแน่ แต่แท้จริงแล้วนกปล่อยไม่ใช่ขนมไทยไกลตัวจากเรามากนัก ไม่จำเป็นจะต้องเดินลากชายสไบอยู่ในห้องเครื่องก็กินได้ เพราะตามท้องตลาดในปัจจุบัน ยังคงมีให้เห็นกันอยู่เกลื่อนตา เพียงแต่ชื่อเรียกชวนสงสัยนี้กลับกลายมาเป็น ‘ลอดช่อง’ ขนมเส้นสีมรกตราดน้ำกะทิหวานฉ่ำชื่นใจที่เราคุ้นเคยกันดี เพราะพ่อค้าแม่ขายตระเวนพามาให้ชิมกันถึงหน้าบ้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่าใครๆ ก็ต้องเคยได้เห็นหรือได้กินสักคำสองคำพอหวานปาก

 

ความเป็นมาของการตั้งชื่อขนมนี้บ้างก็ว่ามาจากกรรมวิธีการทำที่จะต้องกดแป้งให้ผ่านตะแกรง แป้งที่ลอดผ่านไปได้จะคล้ายกับนกที่โบยบินไปสู่น่านฟ้า บ้างก็ว่าต่างไปว่า แป้งที่ลอดออกไปมีลักษณะคล้ายกับมูลของนก จึงไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดถึงความเป็นมาของชื่อ แต่ถึงอย่างนั้นแล้วความหมายอันเป็นสิริมงคลก็ไม่ได้ผิดแผกไปจากกัน เพราะหมายถึงการอวยพรให้บ่าวสาวกระทำสิ่งใดก็ไหลลื่นไม่ติดขัด  ไม่มีอุปสรรคมาขวางกั้นความเจริญของทั้งคู่ นกปล่อยจึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในตำนานขนมหวานชื่นเลี้ยงแขกในงานมงคล

 

 

นางลอย หรือมะลิลอย ขนมถ้วยที่สาม ความหมายตรึงจิต ขนมที่ทำจากวัตถุดิบของคนในชาติ เนื่องเพราะไทยเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมการเกษตรอันเลื่องชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดินแดนขวานทองอุดมไปด้วยความสมบูรณ์พูนสุข หว่านพืช ผลก็งอกสมใจปรารถนาหน้าชื่นกันทั่วทั้งบาง จึงทำให้ข้าวกลายมาเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตประจำชาติ และถูกแปรรูปให้กลายเป็นอาหารคาวหวานได้อีกหลายเมนู เช่น ข้าวตัง ข้าวก้นหม้อที่ถูกทำให้เป็นแผ่นบางๆ ผึ่งแดดทอดจนฟู แล้วปรุงด้วยน้ำปรุงหวานนำ เค็มตามเพิ่มรสชาติ

 

นางลอยก็เป็นหนึ่งในขนมที่ทำมาจากข้าวเช่นเดียวกัน เกิดจากการนำข้าวเปลือกมาคั่วไฟอ่อนๆ จนแตกพองเป็นดอกสีขาวฟูสวยหรือที่เราเรียกกันว่าข้าวตอก ด้วยลักษณะอันเป็นมงคลนี้เองทำให้ข้าวตอกได้มาอยู่ร่วมเตียบขนมอีกสามอย่าง ส่วนชื่อเรียกนางลอยหรือมะลิลอยนั้นเป็นเพราะ สีของข้าวตอกขาวเหลืองและฟูเหมือนดอกมะลิ เมื่อกินกับน้ำเชื่อมข้าวตอกจะลอยอยู่เหนือน้ำ คล้ายเวลาที่ลอยดอกมะลิไปบนน้ำเพิ่มความหอมสดชื่นเพื่อนำไปต้นรับผู้มาเยือนถิ่น

 

ไม่เพียงแต่ชื่อเท่านั้นที่ตั้งขึ้นจากความเป็นคนช่างสังเกต แต่ความหมายยังสอดรับกับกระบวนการทำข้าวตอกด้วย เป็นการเปรียบเทียบความรักของบ่าวสาวที่จะเบ่งบาน ส่งเสริมกันให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู และอยู่ในกรอบประเพณีอันดีงามเปรียบได้กับการคั่วข้าวที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้ข้าวกระเด็นออกจากกระทะนั่นเอง

 

อ้ายตื้อ กินแล้วอิ่มตื้อ ความอิ่มอันเป็นเอกลักษณ์ของ ‘ข้าวเหนียวดำ’ คาร์โบไฮเดรตที่ชาวอีสานหลงรักและยกให้เป็นอาหารที่กินเมื่อไรก็มีแรงกายทำงานได้ทั้งวัน คำว่า ‘ตื้อ’ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า แน่นอึดอัด เช่น อิ่มตื้อ ท้องตื้อ มาจากความช่างสังเกตของคนไทยอีกเช่นกัน เมื่อเวลากินข้าวเหนียวก็จะให้ความรู้สึกอิ่มท้องอยู่นานมากกว่าข้าวสวยร้อนๆ ในปริมาณที่เท่ากันจึงยกมาเป็นขนมเลี้ยงแขก

 

นับเป็นความชาญฉลาดแม้ไม่ได้เรียนรู้โภชนาการของอาหารมาก่อน เพราะศาสตร์ของโภชนาการยังไม่ถือกำเนิดเกิดขึ้นในไทย แต่ก็สามารถรังสรรค์วัตถุดิบพื้นบ้านให้กลายมาเป็นขนมงานมงคลสมรสที่มีความหมายลุ่มลึกได้ ทั้งยังให้พลังงานแก่แขกไปใครมาที่มาช่วยงานแต่งอีกด้วย

 

คนสมัยก่อนเมื่อเอาแรงเขาก็จะมีกับข้าวกับปลาเป็นของตอบแทนน้ำใจเสมอ ข้าวเหนียวดำนึ่งสุกโดยไม่ต้องมูนก็เปรียบเสมือนคำขอบคุณแขกผู้มีเกียรติที่เดินทางมาอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานให้กับคู่บ่าวสาว และเป็นคำอวยพรให้บ่าวสาวซื่อสัตย์ต่อคู่ รักกันเหนียวแน่น พ้องกับคำว่าข้าวเหนียวและการเกาะตัวกันเป็นก้อน ให้คุณประโยชน์แก่ร่างกายทั้งพลังงานและความหวานฉ่ำ

 

เรื่องโดย ปรางค์วลัย บุญเขียว

Share this content

Contributor

Tags:

ขนมไทย, ความเชื่อ, ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรมอาหาร

Recommended Articles

Food Storyขนมมันสำปะหลังวัตถุดิบน้อยอร่อยด้วยความเรียบง่าย
ขนมมันสำปะหลังวัตถุดิบน้อยอร่อยด้วยความเรียบง่าย

 

 

Recommended Videos