ความสำคัญของไก่ดำในความเชื่อแบบชาติพันธุ์
ความเชื่อเรื่องวิญญาณของบรรพบุรุษมีอยู่ในทุกชาติชน เพราะในอดีตที่ศาสนายังไม่ใช่ความเชื่อหลักของคนทั่วโลก ผีและวิญญาณคือสิ่งยึดเหนี่ยวที่อยู่ใกล้ชิดกับคนมากที่สุด
ในวันคืนที่ความหมายของคำว่า ‘ผี’’ ยังไม่ถูกครอบด้วยความน่ากลัว ผีไม่ใช่ดวงวิญญาณที่คอยอาฆาตหลอกหลอน แต่เป็นการปกครองในรูปแบบหนึ่ง ผีเป็นสิ่งที่ให้ทั้งคุณและโทษได้ คนในครอบครัว ในชุมชน จึงต้องดูแลพฤติกรรมของกันและกันให้อยู่ในร่องในรอยเสมอ เพื่อที่ว่าผีจะได้พึงพอใจและบันดาลความสุข สุขภาพ และความสมบูรณ์ของเทือกสวนไร่นาให้ ส่วนเมื่อมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือ ‘ผิดผี’ เกิดขึ้นที่ใด คนในครอบครัวหรือชุมชนก็จะต้องเซ่นไหว้เพื่อขอขมาผีที่ปกปักรักษาอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น
อย่างที่บอกว่าผีเป็นผู้บันดาลให้ทั้งคุณและโทษ เมื่อจะสื่อสาร ขอพร หรือแจ้งข่าวกับผีแต่ละครั้ง คนจึงต้องเลือกสรรของไหว้ที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และบริสุทธิ์ที่สุดมาใช้ในพิธีกรรม ซึ่งเมื่อเราลองสำรวจวิธีการสื่อสารกับบรรพบุรุษในแต่ละวัฒนธรรม เราก็จะมองเห็นภูมิหลังบางประการที่ซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน
สำหรับชาติพันธุ์อาข่าและลาหู่ อาหารชั้นเลิศที่เหมาะจะนำมาไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีที่ปกปักรักษาป่าเขา และผีต่างๆ ในความเชื่อ ก็คือ ‘ไก่ดำ’ ซึ่งจะต้องมีสีดำปลอดสมบูรณ์ทั้งตัวเท่านั้น
คำว่ามีสีดำปลอดทั้งตัวในที่นี่ไม่ได้หมายถึงต้องมีขนสีดำ แต่หมายถึงไก่ที่มีเนื้อ หนัง ปาก ลิ้น หน้า หงอน เล็บ แข้ง ขา และกระดูกเป็นสีดำ ซึ่งเป็นไก่สายพันธุ์เฉพาะที่คาดว่าน่าจะมีต้นกำเนิดจากจีนหรือมองโกเลีย นอกจากนี้แล้วยังต้องมีลักษณะเฉพาะที่ถือกันว่าเป็นลักษณะของไก่ดำที่ดี นั่นก็คือมีรูปทรงดี ตาไม่บอด ไม่มีขนตามหน้าแข้ง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นไก่ดำที่เหมาะจะไหว้ผีบรรพบุรุษ
สำหรับชาวอาข่าและชาวลาหู่ พิธีกรรมเซ่นไหว้ บวงสรวง หรือสะเดาะเคราะห์ ล้วนมีไก่ดำเป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอ เพราะวิถีเดิมของสองชาติพันธุ์นี้คือการเข้าป่าล่าสัตว์และการเกษตรกรรมแบบย้ายถิ่น จึงทำให้คนอยู่ใกล้ชิดกับป่าและสัตว์ป่า โดยเฉพาะไก่ป่า เพราะเป็นสัตว์ที่เห็นได้บ่อยและล่าได้ง่ายกว่าสัตว์ป่าขนาดกลางหรือขนาดใหญ่อื่นๆ เมื่อคนเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตมาลงหลักปักฐาน จากการใช้ไก่ป่าก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ไก่บ้านจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าชาวอาข่าและลาหู่ส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนไปเป็นคริสต์ศาสนิกชนแล้วก็ตาม แต่ความเชื่อเรื่องการไหว้บรรพบุรุษยังคงมีอยู่ในทุกชุมชน จะเข้มข้นมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าชุมชนนั้นๆ มีผู้นำพิธีกรรม และมีความพร้อมที่จะจัดพิธีกรรมตามประเพณีได้บ่อยครั้งแค่ไหน บางชุมชนมีพิธีกรรมเกือบ 30 พิธีตลอดปี แต่บางชุมชนก็ปรับตัวให้สอดคล้องกับความเชื่อใหม่จนปรับเหลือเพียงไม่กี่พิธีเท่านั้น หากแต่ว่าไก่ดำก็ยังเป็นของไหว้ที่ศักดิ์สิทธิ์และเหนียวแน่นอยู่เช่นเดิม
เมื่อจะมีการเปลี่ยนผ่าน การหยุด หรือการเริ่มใหม่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการตั้งหมู่บ้านใหม การเริ่มฤดูเพาะปลูก การเริ่มฤดูเก็บเกี่ยว สิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว การเกิด การตาย การออกเรือนแต่งงาน ไปจนถึงการเดินทางไกลหรือย้ายที่อยู่ ก็จะต้องมีการฆ่าไก่ดำเพื่อไหว้ผีบรรพบุรุษ เพื่อส่งข่าวว่าลูกหลานกำลังจะเริ่มต้นทำการอะไร และเพื่อเสี่ยงทายว่างานการนั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่นสมบูรณ์หรือไม่
การเซ่นไหว้ไก่เพื่อทำนายเป็นวัฒนธรรมร่วมในพื้นที่ล้านนา รวมไปถึงบางชาติพันธุ์ในลาว เวียดนาม และสิบสองปันนา ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์อาจทำนายด้วยอวัยวะของไก่ต่างกัน เช่น ชาวลาวมักทำนายจากกระดูกลิ้นและกระดูกคาง ชาวม้งทำนายจากหัวไก่และตีนไก่ ส่วนชาวอาข่าและลาหู่นั้นใช้วิธีเดียวกัน คือทำนายจากอาการของไก่ในขณะที่ถูกฆ่า และจากรูของกระดูกต้นขาไก่ ซึ่งการทำนายนี้จะต้องให้หมอพิธีเป็นคนทำเท่านั้น
การทำนายจากลักษณะที่ถูกฆ่า หรืออากัปกิริยาขณะสิ้นใจของไก่อย่างเช่น เมื่อถึงต้นฤดูเพาะปลูก ชาวลาหู่จะไหว้ผีที่ปกปักรักษาไร่นาด้วยการฆ่าไก่ โดยใช้วิธีผูกไก่ไว้กับเสาของศาลาพิธี เมื่อฆ่าแล้วก็จะทำนายจากท่าทางและทิศที่ไก่ตัวนั้นสงบนิ่งลง ส่วนชาวอาข่าก็มีวิธีทำนายจากการตายของไก่เช่นกัน เป็นต้นว่า เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ในครอบครัว ก็จะต้องมีการฆ่าไก่เพื่อทำพิธีรับทารกโดยการตีที่หัวไก่ และเชื่อกันว่าหากตีแล้วไก่มีเลือดไหลออกมาทางดวงตา หมายถึงเด็กคนนั้นอาจมีสายตาฟ่าฟาง หรือหากเชือดคอไก่สั้นเกินไป ก็จะทำให้เด็กคนนั้นมีคอสั้นทู่ ไม่สมส่วน เป็นต้น
ส่วนการทำนายจากรูกระดูกของไก่มักเป็นการถามก่อนจะลงมือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยต้องฆ่าไก่ก่อน ชาวอาข่าจะนำไก่ที่เชือดแล้วลงต้มกับข้าวในน้ำพิเศษที่ได้จากบ่อศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน หากเป็นพิธีที่จัดให้คนเป็น ส่วนสำคัญของไก่จะถูกฉีกแบ่งให้กับผู้อาวุโสได้รับประทานก่อนเป็นคนแรก เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือ
หรือหากเป็นการทำพิธีเพื่อทำนาย หมอพิธีก็จะมีการเราะเนื้อออกจากกระดูกต้นขาของไก่ทั้งสองข้าง แล้วจึงหารูที่ปรากฏอยู่บนกระดูกนั้น เมื่อเจอแล้วจึงนำไม้เล็กๆ อย่างไม้จิ้มฟันแทงเข้าไป โดยหมอพิธีจะอ่านคำทำนายจากลักษณะการเรียงตัวและจำนวนรูที่ปรากฏอยู่บนกระดูก การอ่านคำทำนายจากกระดูกต้นขาไก่นี้ ผู้ทำพิธีจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านอาจมีเพียง 1-2 คนเท่านั้น
ชาวอาข่าและชาวลาหู่ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย มีความเชื่อและประเพณีที่อ้างอิงกับความเชื่อบางแบบของชาวจีน และเมื่อนึกย้อนดูเราก็จะเห็นว่าชาวจีนโพ้นทะเลในบ้านเราก็นิยมไหว้เจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษด้วยไก่เช่นเดียวกัน โดยมีลักษณะการไหว้คล้ายกันคือต้องไหว้ด้วยไก่ทั้งตัว และมักนิยมใช้ไก่บ้านหรือไก่สายพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าไก่อุตสาหกรรมตัวอวบอ้วน
ส่วนชาวอาข่าและชาวลาหู่ รวมถึงชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่มในไทย ไม่เพียงแต่นิยมนำไก่ดำมาใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น สำหรับการบริโภค พวกเขาก็เลือกจะบริโภคไก่ดำเป็นหลักเช่นกัน นอกจากความเชื่อที่ว่าเนื้อสัตว์สีดำคือเนื้อสัตว์ที่สะอาดแล้ว ยังว่ากันว่าไก่ดำมีรสชาติเข้มข้นกว่า เนื้อแน่น ไม่เผละเหมือนไก่จากฟาร์มอุตสาหกรรม เรียกได้ว่าในพื้นที่บางพื้นที่ที่มีชาวอาข่าและชาวลาหู่เป็นประชากรหลัก อย่างเช่นอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านยังนิยมกินไก่ดำที่เป็นไก่บ้านมากกว่าไก่แช่แข็งที่ฟรีซใส่ถุงเรียงรายในตู้แช่แข็ง
ในแง่มุมหนึ่งที่นอกเหนือไปจากเรื่องความเชื่อและพิธีกรรม การที่คนในชุมชนหนึ่งๆ ยังให้คุณค่ากับไก่ดำ ไก่บ้าน หรือไก่สายพันธุ์ท้องถิ่นทั้งหลายอยู่ ก็อาจนับได้ว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ขึ้นโดยธรรมชาติและด้วยความเต็มใจแบบไม่ต้องง้อการรณรงค์จากหน่วยงานใดๆ เลยแม้แต่น้อย
ปัจจุบันไก่ดำเริ่มถูกผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจแล้วในบางพื้นที่ ด้วยขึ้นชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลังชั้นดีในตำรายาและอาหารจีนโบราณ โดยเชื่อว่ามีสรรพคุณในการบำรุงตับ ไต และช่วยให้เลือดไหลเวียนดี เหมาะกับการนำมาตุ๋นกับยาจีนเพื่อเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยพักฟื้นหรือคุณแม่หลังคลอด ที่ได้ยินกันบ่อยเห็นจะเป็น ‘ไก่ดำพูพาน’ จากฝั่งอีสาน ส่วนเมืองเหนืออย่างจังหวัดเชียงรายก็เริ่มมีการสนับสนุนให้นำไก่ดำมาปรุงอาหารและแปรรูป เพื่อวางจำหน่ายเป็นของดีประจำถิ่น อย่างเช่นที่ครัวตำหนัก ร้านอาหารในศูนย์ท่องเที่ยวและบริการพระตำหนักดอยตุง ที่เสิร์ฟเมนูประยุกต์อย่างบะหมี่ซุปไก่ดำให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มรสเข้มข้นของไก่ดำท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
นอกจากไก่ดำแล้ว อาหารที่อยู่ในความเชื่อ และความเชื่อที่อยู่ในอาหารของพี่น้องอาข่า ลาหู่ รวมถึงชาติพันธุ์อื่นๆ คือจักรวาลรสชาติขนาดใหญ่ที่มีเรื่องให้เรียนรู้และลิ้มรสอีกมากมาย KRUA.CO จึงร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำหนังสือที่จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับวัฒนธรรมอาหารแสนหลากหลายของผู้คนบนดอยตุง ในชื่อ ‘Taste of Doi Tung รสชาติแห่งดอยตุง’ ซึ่งอัดแน่นด้วยเรื่องราวสิ่งละอันพันละน้อยพร้อมกับสูตรอาหารอีกกว่า 20 สูตร
สนใจหนังสือ รสชาติแห่งดอยตุง สั่งซื้อได้ที่ www.naiin.com หรือร้านหนังสือนายอินทร์ทั่วประเทศ
ข้อมูลจาก
- เบญจมาพร สุริยาวงศ์. ทัศนะเรื่องธรรมชาติในเรื่องเล่ากลุ่มชาติพันธุ์อาข่าจังหวัดเชียงราย. วารสารปณิธาน. ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (2561)
- พลวัฒ ประพัฒน์ทอง. การทำนายชีวิตด้วยกระดูกไก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (2556)
- วิภา ตาละปุง และ สรพงศ์ พรจรัสโชติ เจ้าหน้าที่งานพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และชาวบ้านในโครการพื้นที่พัฒนาดอยตุงฯ
อ่านบทความเพิ่มเติม
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos