เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

7 (รส) ชาติ วัฒนธรรมการกินที่ต้องร้องว้าว

Story by ทีมบรรณาธิการ

ชวนมาดูเรื่องราวการกินสุดแปลกของบ้านเขา ที่ทำเอาเราตกตะลึง!

โบราณว่า “ร้องเพลงในครัว ระวังจะได้ผัวแก่” เป็นความเชื่อไม่ลับฉบับชาวไทย ที่ไปเยือนบ้านไหนคนเฒ่าคนแก่ก็พูดเตือนกัน คนเกาหลีได้ยินแบบนี้เข้าคงงงเป็นไก่ตาแตก จนต้องร้อง What? เพราะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากครัวบ้านเขาไปมาก แต่ถามว่าชาติอื่นๆ มีความเชื่อหรือวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารแบบแปลกๆ ไหม คำตอบคือการพยักหน้ารัวๆ มีแน่นอน ฉะนั้นก่อนจะไปเที่ยวก็ลองมาศึกษาคู่มือวัฒนธรรมการกินอาหารของชาติอื่นๆ เตรียมไว้กันก่อนดีกว่า จะได้ไม่ทำผิดกฎกติกาของบ้านเขา โควิดหาย จะได้บินไปลันลาได้แบบทฤษฎีแน่นปึ้ก

 

 

อิตาลีดื่มกาแฟเหมือนกินยา

 

นอกจากสปาเกตตีและพิซซ่าแล้ว อาหารที่ฮอตฮิตนักท่องเที่ยวต่างพูดถึงเมื่อเดินทางมาเยือนเมืองแห่งศาสตร์และศิลป์แห่งนี้ ก็คือกาแฟ ในหลายๆ ประเทศ วัฒนธรรมการดื่มกาแฟไม่มีนัยยะสำคัญอะไร ดื่มเพื่อสร้างรสชาติให้กับชีวิต หรือแก้อาการง่วงเหงาหาวซึมเพียงเท่านั้น แต่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวอิตาลีขอบอกว่าแปลกแหวกแนวกว่าชาวบ้านไปมาก หากเทียบกับชาติเราที่มีร้านกาแฟหรือคาเฟ่เล็กๆ อยู่แทบทุกพื้นที่เน้นให้นั่งดื่มกันชิลล์ๆ ใครอยากหามุมแชะภาพสวยๆ ก็ทำได้ตามอัธยาศัย บ้านเขาต่างออกไปลิบลับ

 

ชาวอิตาลีเซย์โนวัฒนธรรมการดื่มแบบนั่งชิลล์ กลับกัน พวกเขาจะไม่ค่อยๆ ละเลียดชิมกาแฟแล้วหันไปถ่ายรูปเล่นแบบที่เราคุ้นเคย เพราะมีความเชื่อว่า กาแฟก็เหมือนยา เมื่อเรากินยาเราจะไม่ละเลียดกิน ชาวอิตาลีจึงนิยมดื่มกาแฟรวดเดียวหมด และไม่สั่ง ‘ดับเบิลช็อต’ (เหมือนที่คนอเมริกันสั่ง) ดังนั้นเมื่อไปเยือนเมืองอิตาลี เราจึงมักจะไม่ค่อยเห็นชาวอิตาลีนั่งดื่มกาแฟในร้านเป็นเวลานานนั่นเอง

 

 

อินเดียกินอาหารด้วยมือ ไม่ใช้ช้อนส้อม

 

การกินอาหารด้วยมือไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องใหม่ หลายๆ ภูมิภาคในบ้านเราก็ทำกันเป็นปกติ แต่บ้านเราเมื่อกวาดสายตาไปเจอกับถ้วยแกง หรือต้มยำต่างๆ แล้ว ก็จะต้องพึ่งพาช้อนอยู่ดี  ไม่มีใครดึงดันใช้มือหยิบตักอาหารประเภทน้ำให้ช้ำใจเล่นๆ เพราะจะหยิบขึ้นมาได้แต่เนื้อ

 

ผิดกับประเทศอินเดีย ที่มีวัฒนธรรมการกินแสนชิลล์ อุปกรณ์ช่วยในการกินอย่างช้อน หรือส้อม กวาดทิ้งไปได้เลย เพราะชาวอินเดียเชื่อว่าสองมือนี่แหละคือตัวช่วยประสานความกลมกล่อมของอาหารได้อย่างลงตัว ต่อให้ในมื้อนั้นจะมีซุปหรือแกงมาวางตรงหน้า พวกเขาก็มีจุดยืนที่มั่นคงไม่พึ่งพาช้อน แต่จะใช้แป้งโรตีทำเป็นกรวยตักกินแทน อีกทั้งในอดีตชาวอินเดียดั้งเดิมใช้ใบตองเป็นภาชนะแทนจาน เมื่อกินเสร็จก็ทิ้งให้มันย่อยสลายไปตามธรรมชาติ หมดกังวลเรื่องการล้างจาน แถมได้ลดปริมาณขยะพลาสติกด้วย การกินอาหารด้วยมือเลยเป็นวัฒนธรรมที่ชาวอินเดียปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

สเปนกินมื้อเย็นตอน 3 ทุ่ม!

 

เวลา 3 ทุ่ม หลายคนคงจะเตรียมตัวเข้านอน หรือบางคนก็ย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในห้องนอนพร้อมเฝ้าพระอินทร์เรียบร้อย แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า 3 ทุ่มที่สเปน ท้องถนนยังคงคึกคัก เต็มไปด้วยแสงสีเสียงและฝูงชน ช่วงเวลานี้เรียกว่า Cena (เซ-นา) เวลาแห่งการดื่มด่ำกับมื้อเย็นอันโอชะของชาวสเปน เรียกได้ว่าแหวกไปจากชาวบ้านชาวช่องเลยทีเดียว สาเหตุการกินมื้อเย็นในเวลาที่พระจันทร์ขึ้นแล้วนั้นเป็นเพราะว่า ประเทศสเปนอยู่ผิดเขตเวลานั่นเอง จากที่สเปนควรอยู่ในเขต Greenwich Mean Time (GMT) กลับไปอยู่ในเขต Central European Time (CET) ไทม์โซนเดียวกับสวีเดนซะงั้น (ทั้งที่ที่ตั้งประเทศอยู่ห่างกันมากกก)

 

จริงๆ แล้วสเปนเคยอยู่ในไทม์โซนที่ถูกต้อง แต่ปัญหามาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1940 จอมพลฟรานซิสโก ฟรังโก ผู้นำเผด็จการของประเทศสเปนต้องการจะเป็นหนึ่งเดียวกับนาซีเยอรมัน จึงเปลี่ยนไทม์โซนเอาอกเอาใจฮิตเลอร์ ประชาชนที่ไม่เห็นด้วย จึงทำได้เพียงแค่การใช้ชีวิตตามวิถีเดิม ไม่ได้เปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของฟรังโก และถึงแม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติลง ชาวสเปนก็ไม่ได้เปลี่ยนเวลากลับมาเป็นไทม์โซนเดิม การกินมื้อเย็นในเวลา 3 ทุ่ม (จากเดิม 2 ทุ่ม) จึงเป็นเรื่องปกติที่ทำกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

ตุรกีทดสอบเจ้าบ่าวด้วยกาแฟใส่เกลือ

 

ใครมีมะกรูดมาแลกมะนาว ใครมีลูกสาวให้ทดสอบลูกเขยด้วยกาแฟตะละลา (ฮา) ใครอยากเป็นลูกเขยตุรกีฟังให้ดี เพราะประเพณีการแต่งงานบ้านเขาไม่ธรรมดาเลย เอี่ยวเรื่องขมๆ อย่างกาแฟเต็มๆ แต่แหวกแนวกว่าชาติอื่นตรงที่ เจ้าสาวตุรกีจะเปลี่ยนความขมให้กลายเป็นความเค็มน่ะสิ ฉะนั้นนอกจากใจพร้อมจะแต่งงานกับเจ้าสาวแล้ว กายก็ต้องพร้อมรับรสชาติสุดพิศวงจากกาแฟที่เจ้าสาวจะชงให้ด้วย

 

การใส่เกลือลงไปในกาแฟแทนน้ำตาล จัดขึ้นเพื่อทดสอบว่าเจ้าบ่าวมีความอดทนและรักในตัวเจ้าสาวมากน้อยแค่ไหน หากเจ้าสาวคนไหนใจดี รสชาติกาแฟก็จะเค็มอ่อนๆ แต่ถ้าเผลอเจอเจ้าสาวขี้เล่นสักหน่อย กาแฟของคุณจะมีรสชาติคล้ายกับน้ำทะเลเลยก็ว่าได้ เพราะเขาเชื่อว่าถ้ามีใจรักชอบพอกันจริงๆ ต่อให้ขนเกลือมาใส่ในน้ำเปล่าให้ดื่มสักสิบแก้วก็ไม่ใช่อุปสรรคของความรัก ใครอยากเป็นลูกเขยตุรกีก็เตรียมใจไว้ให้ดีก่อนเข้าพิธีหมั้นนะคะ

 

 

ญี่ปุ่นไม่ส่งต่ออาหารด้วยตะเกียบ

 

หากมีโอกาสได้ไปเยือนแดนปลาดิบ ก็อยากให้รู้ไว้เลยว่า วัฒนธรรมการกินอาหารของคนชาตินี้เคร่งครัดเสียเหลือเกิน อะไรที่บ้านเราทำ บ้านเขาแทบจะไม่แตะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งต่ออาหารด้วยตะเกียบ ถ้าเผลอไปทำแบบนี้เข้า จะโดนตีมือเพี๊ยะๆ เพราะชาวปลาดิบถือว่าการกระทำเช่นนี้บนโต๊ะอาหาร เทียบได้กับหนึ่งในขั้นตอนหลังพิธีงานศพ ไม่เป็นสิริมงคลอย่างมาก

 

เนื่องจากหลังเสร็จสิ้นพิธีเผาศพเรียบร้อยแล้ว จะมีการส่งมอบอัฐิ โดยการส่งมอบนี้จะใช้ตะเกียบคีบอัฐิเพื่อส่งและรับต่อกัน ชาวญี่ปุ่นถือเรื่องโชคลางเป็นอย่างมาก การใช้วิธีเดียวกันบนโต๊ะอาหารจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม หากอยากส่งต่ออาหารของเราให้คนอื่น แนะนำว่าให้คีบและวางลงบนจานของอีกฝ่ายไปเลยจะดีที่สุด

 

 

จีนห้ามกินตะเกียบสั้นยาวไม่เท่ากัน

 

เวลาจะกินก๋วยเตี๋ยว แน่นอนว่าเราต้องเลือกตะเกียบที่มีขนาดยาวเท่ากัน รูปทรงเหมือนกัน หรือเป็นตะเกียบลวดลายเดียวกัน เหตุผลเพราะความสะดวกสบายในการคีบ ที่จะมีมากกว่าการเลือกตะเกียบต่างคู่ แต่การเลือกตะเกียบที่มีขนาดยาวไม่เท่ากันก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับคนไทย ต่างกันกับชาวมังกร เรื่องความไม่เท่ากันของตะเกียบถือว่ามีความละเอียดอ่อนมาก เพราะถือว่าไม่เป็นมงคล อาจทำให้ผู้ใช้หรือคนใกล้ชิดซี้แหงแก๋ได้

 

โดยปกติแล้วชาวจีนจะเรียกตะเกียบไม่เท่ากันว่า “ยาว 3 สั้น 2” (三長兩短) คล้ายคลึงกับเวลาที่นำคนตายวางลงในโลงโดยที่ยังไม่ปิดฝา ตัวโลงจะประกอบด้วยไม้ยาว 3 ด้าน และไม้สั้นปิดหัวท้าย ซึ่งตรงกับ “ยาว 3 สั้น 2” พอดี ทำให้การใช้ตะเกียบไม่เท่ากันกลายเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างเด็ดขาดบนโต๊ะอาหารของคนจีน

 

 

เกาหลีกินเต้าหู้เป็นมื้อแรกหลังออกจากคุก

 

อยากกินอะไรเป็นมื้อแรกหลังออกจากคุก? หลายๆ คนอาจจะมีคำตอบในใจ เป็นต้นว่า ไก่ทอด พิซซ่า หรืออาหารฝีมือแม่อะไรทำนองนั้น แต่สำหรับชาวเกาหลีแล้ว ไม่ว่าจะเพศหรือวัยใดก็ตาม หากได้รับคำถามนี้ก็จะตอบในทันทีว่า “เต้าหู้” เพราะถือเป็นอาหารต้อนรับการกลับบ้านหลังออกจากที่คุมขังของเกาหลีมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว

 

ทำไมต้องกินเต้าหู้เป็นมื้อแรกหลังออกจากคุก? สาเหตุเพราะในอดีตเกาหลีเคยตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ในสมัยนั้นคนเกาหลีต้องโทษจำคุกเยอะมาก ความแออัดของผู้คนในคุกทำให้สุขภาพของนักโทษย่ำแย่ลง หลายคนไม่มีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเพราะขาดสารอาหาร และเสียชีวิตอย่างเอน็จอนาถในคุก การกินเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนอย่างหมูหรือไก่ ความเป็นไปได้แทบจะเป็นศูนย์ เมื่อพ้นโทษออกมา คนในครอบครัวจึงอยากปลอบใจด้วยการให้กินของที่มีประโยชน์ แต่ในสมัยนั้นเนื้อสัตว์หากินยาก และมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้เต้าหู้ที่มีโปรตีนสูงและราคาถูกกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการต้อนรับกลับบ้านอย่างอบอุ่น เต้าหู้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากมลทินและเป็นนัยบอกถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่แปลกใจแล้วใช่ไหมว่าทำไมคนเกาหลีจึงเลือกที่จะกินเต้าหู้แทนไก่ทอดซอสเยิ้มๆ

 

เรื่อง: ปรางค์วลัย บุญเขียว

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

 

Share this content

Contributor

Tags:

ความเชื่อ, วัฒนธรรมอาหารรอบโลก

Recommended Articles

Food Storyเครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?
เครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?

ชวนทำความรู้จักกับเครื่องยาและสรรพคุณ จากบะกุดเต๋หม้อโปรด