เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

อาหารชวนสับสน ชื่อไม่เห็นตรงปก!

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

แม้จะพอรู้มาบ้างว่าอาหารบางอย่างมีความวัตถุดิบไม่ตรงกับชื่อ แต่ก็มีอีกหลายชนิดทีเดียวที่ยังต้องอุทานว่า อ้าว ไม่ใช่เหรอ!

ถ้าคุณกินปูอัดโดยเข้าใจว่ามันคืออาหารที่ทำจากเนื้อปู กินไข่กุ้งโดยคิดว่ามันคือไข่ของกุ้งจริงๆ กินกระเพาะปลาแล้วเข้าใจว่ากำลังเคี้ยวส่วนกระเพาะของปลา เราคือเพื่อนกัน เพราะแม้จะพอรู้มาบ้างว่าอาหารบางอย่างมีความวัตถุดิบไม่ตรงกับชื่อ แต่ก็มีอีกหลายชนิดทีเดียวที่ยังต้องอุทานว่า อ้าว ไม่ใช่เหรอ! มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

 

 

ปูอัด

 

ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปูเลยสักนิด เพราะทำจากเนื้อปลาบดจำพวกปลาทรายแดง ปลาอลาสก้า พอลล็อก ปลาตาหวาน เนื้อปลานานาชนิดที่ถูกบดเป็นเนื้อเดียวกันนี้เรียกว่าซูริมิ (Surimi) จากนั้นจึงนำมาคลึงเป็นแผ่นบาง ม้วนอัดเป็นแท่ง และย้อมสีขาวแดง กลายเป็น ‘ปลาอัดแท่ง’ ที่ดันใช้ชื่อว่า ‘ปูอัด’ ซะงั้น ซึ่งก็เกิดจากความตั้งใจทำเลียนแบบเนื้อปู เราจึงได้กลิ่นปูเพราะในขั้นตอนการผลิตมีการปรุงแต่งกลิ่นให้เหมือนเนื้อปู และการแต่งสีแดง-ส้มก็เพื่อให้เหมือนกระดองปูที่ทำให้สุกแล้ว

 

 

ไข่กุ้ง

 

ท็อปปิ้งยอดนิยมบนซูชิที่มองๆ แล้วก็เหมือนไข่กุ้งเปี๊ยบ ทั้งขนาด ลักษณะ สีสัน ซึ่งก็อีกนั่นแหละที่มันไม่ใช่ไข่ของกุ้ง แต่เป็นไข่ของปลาโทบิอุโอะ (Tobiuo) หรือปลาบิน ซึ่งพบมากตามชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น บริเวณเกาะคิวชู โดยไข่กุ้งจริงๆ นั้นชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Ebiko มีราคาแพงและหารับประทานแบบเพียวๆ ได้ยาก การเรียกไข่ปลาโทบิอุโอะว่าไข่กุ้งว่ากันว่าเป็นเรื่องของการเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้ไข่ปลาชนิดนี้นั่นเอง

 

 

กระเพาะปลา

 

จริงๆ แล้วไม่ใช่กระเพาะ แต่คือถุงลมของปลา ถุงลมนี้ติดอยู่บริเวณด้านบนของกระเพาะอาหารปลา เมื่อนำมาขูดเอาเส้นเลือดและกล้ามเนื้อออกแล้วทอดกรอบหรือตากแห้ง จะกลายเป็นยาอายุวัฒนะตามความเชื่อของชาวจีน อีกทั้งยังเก็บรักษาได้นาน ปกติจะได้จากถุงลมของปลามังกร ปลาจวด ปลากะพง ปลาริวกิว โดยกระเพาะปลาที่ราคาแพงลิบคือกระเพาะปลามังกร ที่คนจีนถือว่าช่วยบำรุงกำลังวังชาได้ดี

 

 

เยื่อไผ่

 

หาใช่เยื่อบางๆ ในกระบอกไม้ไผ่อย่างที่คิด แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเห็ดชนิดหนึ่ง เหมือนเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้านี่แหละ ภาษาทางวิทยาศาสตร์เรียกเยื่อไผ่นี้ว่า ‘เห็ดเยื่อไผ่’ หรือ ‘เห็ดร่างแห’ เพราะมีลักษณะเป็นตาข่ายถักทอสวยงามตามธรรมชาติ ก้านเห็ดมีรูพรุนเหมือนฟองน้ำ เมื่อโตเต็มที่จะคล้ายกระโปรงของผู้หญิง ภาษาอังกฤษเลยเรียกอีกชื่อว่า Dancing mushroom ส่วนญี่ปุ่นเรียกว่าเห็ดราชา (King of mushroom)

 

 

ปลาดอรี่

 

ต้นกำเนิดชื่อจริงๆ คือสายพันธุ์จอห์น ดอรี่ (John Dory) อยู่ในทะเลน้ำลึกของมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ให้เนื้อสัมผัสแน่น ขาว น่ากิน แต่มีราคาแพง เกษตรกรชาวเวียดนามจึงนำปลาสวายพันธุ์หนึ่งที่พบในแม่น้ำโขงมาเลี้ยงขาย เพราะมีรสชาติใกล้เคียงกันและราคาถูกกว่า โดยเจ้าสวายนี้มีชื่อพันธุ์ว่าแพนกาเซียส ดอรี่ (Pangasius Dory) ไปพ้องกับดอรี่ของจอห์น ดอรี่ ก็เลยเรียกมันแบบเนียนๆ ว่าปลาดอรี่เสียเลย

 

 

ไข่ปลาคาเวียร์

 

ไม่ใช่ไข่ของปลาคาเวียร์เพราะปลาคาเวียร์ไม่มีอยู่ในโลก จริงๆ แล้วต้องเรียกว่าไข่คาร์เวียร์ เนื่องจาก ‘คาเวียร์’ มาจากภาษาเปอร์เซียว่า Khag-avar มีความหมายว่าไข่ปลาที่ปรุงรส ในแถบเปอร์เซียจะหมายถึงไข่ปลาสเตอร์เจียนเป็นหลัก แต่ในภูมิภาคอื่นๆ เป็นไข่จากปลาหลายประเภท อาทิ ไข่ปลา Capelin และไข่ปลาบิน (Flying fish) ถือเป็นหนึ่งในอาหารที่อร่อยและแพงที่สุดในโลก

 

 

ไข่จะละเม็ด

 

ร้อยทั้งร้อยคงคิดว่ามันคือไข่ของปลาจะละเม็ด แต่ที่จริงไข่จะละเม็ดหมายถึงไข่ของเต่าทะเลทุกชนิดต่างหาก ไข่เต่าทะเลมีลักษณะกลม เปลือกนุ่ม ไม่แข็งเหมือนไข่ไก่ ลูกเล็กกว่ามะนาวนิดหน่อย เอามาต้มน้ำเดือด พอฉีกเปลือกไข่ออกมาไข่ขาวจะเหลวข้น ไข่แดงจะแข็ง มันมาก นิยมซอยหอม กระเทียมพริกขี้หนู ทำน้ำยำ คลุกข้าวกิน แต่ปัจจุบันหากินยากแล้วเนื่องจากเต่าทะเลถูกขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์อนุรักษ์

 

 

หูฉลาม

 

ไม่ได้เป็นส่วนหูเหมือนชื่อ แต่คือส่วนครีบของปลาฉลาม เป็นกระดูกอ่อนที่เรียกว่าก้านครีบ มีลักษณะเป็นเส้นเดี่ยวๆ ไม่มีข้อปล้อง สีใสคล้ายวุ้นเส้นแต่มีความเหนียวมากกว่า เมื่อเคี้ยวจะให้รสสัมผัสกรุบๆ ตัวมันเองไม่ได้มีรสชาติอะไรเลย ความอร่อยมาจากเครื่องปรุงที่เสริมเข้าไป และมีการวิจัยพบว่าครีบปลาฉลามไม่ได้มีคุณค่าทางสารอาหารมากไปกว่าอาหารอื่นๆ อาจจะน้อยกว่าไข่เป็ด 1 ฟองเสียอีกด้วย

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารกับวิทยาศาสตร์

Recommended Articles

Food Storyทรมานแค่ไหนก็เลิกกินเผ็ดไม่ได้ มันมีเหตุผล!
ทรมานแค่ไหนก็เลิกกินเผ็ดไม่ได้ มันมีเหตุผล!

กินเผ็ดแสนจะทรมาน แต่ทำไมเราถึงยังคงเลิฟของเผ็ดไม่เลิก