เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

สตรีตฟู้ดปลอดภัยไหมในวันที่ PM2.5 คลุมเมือง

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

เตรียมตัวรับมืออย่างไรดีเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋วสร้างความเดือนร้อนแบบไม่จิ๋ว โดยเฉพาะกับเรื่องอากาศหายใจและปากท้อง

เป็นปัญหาวนเวียนซ้ำไปมาแทบทุกปี สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน คือเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และเล็กจนสามารถหลุดลอดผ่านชั้นกรองอากาศตามธรรมชาติอย่างขนจมูกของเรา เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและทำให้เกิดอาการป่วยได้ แม้จะเป็นฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วแต่กลับส่งผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ อาการแสบตา เคืองตา โดยเฉพาะกับผู้ที่มีอาการแพ้ฝุ่นละอองและผู้มีโรคประจำตัว

 

 

ปี 2562 นี้ก็เป็นอีกปีที่ PM2.5 แผลงฤทธิ์รับต้นปี โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองจากการคมนาคมและการเผาไหม้ เมื่อรวมกับสภาพอากาศที่มีลมสงบ ความเร็วลมต่ำอย่างช่วงใกล้ผลัดฤดูอย่างนี้ ทำให้ฝุ่นขนาดจิ๋วล่องลอยอยู่รอบตัวไม่ไปไหน จนชาวกรุงต่างพากันสวมหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก กลายเป็นแฟชั่นใหม่ดูแปลกตา แต่สำหรับเสบียงของชาวกรุงฯ อย่าง ‘สตรีตฟู้ด’ ทั้งหลาย กลับไม่ใช่สิ่งที่ป้องกันได้ด้วยหน้ากากอนามัย ในขณะที่ผู้คนส่วนหนึ่งยังคงต้องพึ่งพาอาหารตามบาทวิถีเหล่านี้อยู่เป็นประจำ

 

เราลงพื้นที่ เดินสำรวจสตรีตฟู้ดในย่านอารีย์เพื่อหาคำตอบว่าความเป็นอยู่ของสตรีตฟู้ด – คนขาย – คนซื้อ ว่ามีการรับมือและจัดการกับอาหารริมทางเหล่านี้อย่างไรบ้าง ในวันที่ฝุ่นคลุ้งคลุมเมือง

 

คนขาย

 

บุญล้น แก้วกนก

 

พ่อค้าผลไม้สด อารีย์ ซอย 1

 

 

“ช่วงที่มีฝุ่นก็ขายอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงนี้ประจำ แถวนี้ฝุ่นเยอะเลย เพราะใกล้ถนนด้วย แต่ก็ยังต้องมาขายอยู่ ลูกค้าก็ยังมาซื้ออยู่เหมือนเดิม เพราะทุกคนก็ยังมาทำงาน แต่การเตรียมตัวไม่ได้พิเศษอะไร

 

เราเคยทำแบบนี้ก็ทำแบบนี้มาตลอด ไม่ได้เน้นอะไรพิเศษ ทำขายปกติเพราะเราใส่ตู้ไว้ทุกอย่าง จริงๆ แบบใส่ถุงมาเลยมันก็ง่ายกว่า แต่เราเคยทำของเราแบบนี้

 

 

ยุ่งยากกว่าหน่อยเพราะต้องล้าง ต้องมีน้ำแข็งสะอาด ถ้าใส่ถุงบางทีความเย็นไม่พอ ผลไม้จะมีกลิ่น ลูกค้าก็จะบ่น ใส่ตู้แบบนี้สดกว่า พวกน้ำตาล บ๊วย เก็บแบบนี้ก็ง่ายกว่า ไม่ใช่แค่เรื่องฝุ่นแต่เรื่องมดเรื่องแมลงด้วย เปิดเฉพาะตอนที่ลูกค้าซื้อ”

 

สำเนียง เพียงวิเศษ

 

พ่อค้าข้าวหลามชุมแพ ไม่มีพิกัดประจำ

 

 

“ปกติก็เดินขายไปทั่ว เราตั้งขายไม่ได้เพราะเขาไม่ให้ตั้ง แต่ช่วงที่มีฝุ่นเยอะๆ ลุงยังไม่ได้ลงมา ตอนนั้นต้องรอลูกชายทำแล้วส่งมาให้จากชุมแพ จากขอนแก่นเลย นี่เพิ่งจะมาได้สองวันเอง

 

 

 

อย่างของลุงนี่ ถ้าเราแกะแล้วเราจะต้องแพ็กไว้ แยกเป็นชิ้นๆ ขายแบบนี้ สะอาด ลูกค้าจะได้มองเห็นด้วย มีสองแบบ แบบที่เป็นข้าวธรรมดากับแบบที่เป็นข้าวเหนียวดำ เขาก็เลือกได้ ถ้าเขาจะซื้อเป็นกระบอกก็ได้เหมือนกัน แบบนี้สบายเลย หีบห่อจากธรรมชาติ ตรงจุกนี้ก็มีสองชั้น ข้างในเป็นใบเตย นี่เป็นมะพร้าว ไม่ห่วงเรื่องฝุ่น แบบนี้ปลอดภัย”

 

นุชจรี พิทักษณ์วงศาภรณ์

 

ร้านไส้กรอกอีสาน พหลโยธินซอย 7

 

 

“ร้านเราอยู่ติดถนนเลย รถเยอะ ก็จะต้องย่างแล้วรีบเก็บใส่ตู้ไว้ อันที่ยังไม่ได้ย่างก็จะเก็บไว้ในกล่อง มีฝาปิดตลอด ตู้ก็ต้องมีฝากระจกปิด พยายามไม่เปิดบ่อยๆ ถ้าช่วงรถน้อย ควันไม่มีถึงจะเปิดบ้าง เพื่อระบายอากาศ ไม่ให้ข้างในมันร้อนเกินไป ถ้าร้อนเกินไปข้างในตู้จะชื้น อาหารจะแฉะ ดูไม่น่ากิน

 

 

ช่วงนี้เขาประกาศว่ามีฝุ่นควัน ก็ต้องระวังมากขึ้นอีก อย่างบางทีเราก็ซื้ออาหารข้างทางกินเหมือนกัน สำหรับคนซื้อก็ต้องดูความสะอาดของร้าน อุปกรณ์ แล้วก็แม่ค้าด้วย ว่าแต่งตัวแบบไหน สะอาดไหม ดูฝุ่น ดูวิธีปรุงของเขาด้วย”

 

วิมลรัตน์ แก้วดวงพร

 

แม่ค้าขนมกุยช่าย ปากซอยพหลโยธินซอย 7

 

 

“ขายตรงนี้มานานแล้วค่ะ ทุกวันต้องรอขนมสุกก่อนแล้วค่อยมา ทำมาจากที่บ้าน ไม่มาทำที่นี่ เพราะตรงนี้สามล้อจอดเยอะ กับตัวเองก็โดนเรื่องฝุ่น ต้องใส่หน้ากากตลอด มาทำที่นี่ไม่ไหว

 

 

ที่ทำเป็นโดมแบบนี้เพราะเคยมีเจ้าหน้าที่เขามาตรวจ เขาบอกว่าต้องคลุม พอคลุมแล้วมันก็สะอาดดี น่าซื้อ แต่ถ้าใช้เป็นตู้ไปเลยมันลำบากเวลาเราเข็นมา แบบนี้สะดวกกว่า ขนมในกล่องนี่ก็ต้องปิด ใช้ถุงปิดไว้ เพราะต้องดูเรื่องแมลงด้วย ส่วนโดมก็ต้องล้างทุกวัน เพราะมันจะเป็นคราบน้ำมัน ถ้าแผ่นพลาสติกไม่ใสแล้วก็ต้องเปลี่ยน จริงๆ ใช้ได้ไม่นาน แต่เปลี่ยนมันก็ไม่กี่บาท ซื้อเฉพาะพลาสติก โครงใช้อันเดิม ถ้าพลาสติกที่คลุมอยู่มันหมองขนมเราก็จะดูไม่น่ากิน”

 

คนซื้อ

 

ภูมิรพี อินทร

 

นักศึกษา

 

 

“ซื้ออาหารข้างทางบ่อยไหม? ปกติก็ซื้อบ้าง แล้วแต่ว่าเป็นอาหารอะไรมากกว่า ช่วงไหนถ้ามีที่อยากกินก็ซื้อ แต่ช่วงที่มีเรื่องฝุ่นนี่ไม่ได้ซื้อเลย เพราะไม่รู้ว่าปลอดภัยแค่ไหน

 

ส่วนตัวแล้วถ้าจะซื้อก็จะเลี่ยงร้านที่ติดถนนมากๆ ในที่ที่มีฝุ่นเยอะ เช่น พวกงานก่อสร้าง แล้วก็จะดูน้ำมันก่อน เพราะคิดว่าถ้าอยู่ติดถนนมากเกินไปมันก็อาจจะมีฝุ่นควันจากรถครับ”

 

ประไพอร ไพฑูรวงค์

 

พนักงานเอกชน

 

 

“ซื้ออาหารริมทางประจำเลยค่ะ เพราะมันสะดวกดี อยู่ข้างทางเวลาเดินทางกลับบ้าน ยกเว้นช่วงนี้ที่มีปัญหาเรื่อง PM2.5 ถ้าเลือกได้ก็จะไม่กินเลย จะพยายามซื้อจากร้านไปกินที่บ้าน หรือนั่งกินในห้างมากกว่า

 

แต่ถ้าปกติก็จะซื้อตลอด แต่จะมีวิธีเลือกคือจะดูจำนวนคนที่ซื้อว่าเยอะไหม ถ้าคนซื้อไม่เยอะก็อาจเป็นไปได้ว่าวัตถุดิบจะเก่าหรือเปล่า แล้วก็ดูร้านว่าสะอาดไหม ปรุงแบบไหน บางทีก็ซื้อร้านที่คนอื่นๆ แนะนำมาว่าร้านนี้สะอาดนะ ร้านไหนที่ดูไม่สะอาดก็จะไม่ซื้อดีกว่า”

 

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจลืมไปว่า ‘ฝุ่น’ ทั้งจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การก่อสร้าง และกิจกรรมอื่นๆ ล้วนรายล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะในช่วงที่มีการประกาศเตือนเท่านั้น เพียงแต่อาจมีมากน้อยแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศและกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ แน่นอนว่าการตื่นตัวกับปัญหามลภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องพึงปฏิบัติ แต่ต้องไม่ใช่การปฏิบัติเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

 

 

เช่นเดียวกับที่สายด่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 1422 ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกซื้ออาหารสตรีตฟู้ดอย่างปลอดภัย ทั้งในภาวะปกติและในช่วงที่เต็มไปด้วยหมอกควันเช่นนี้ว่า การเลือกซื้ออาหารตามบาทวิถีหรืออาหารสตรีตฟู้ด สิ่งสำคัญอันดับแรกคือเลือกดูร้านที่ปิดอาหารไว้มิดชิด ไม่ว่าจะด้วยการปิดฝา แร็ปด้วยพลาสติกใส หรือการใส่ตู้และภาชนะอื่นๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากแหล่งต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะฝุ่นควันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงป้องกันแมลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแมลงวัน แมลงสาบซึ่งล้วนเป็นพาหะนำโรค อาจทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษ และอาจมีพยาธิจำนวนมากที่ติดมากับแมลงเหล่านี้ด้วย

 

ประการที่สองคือต้องใส่ใจเรื่องความสดใหม่ของอาหาร โดยเฉพาะกับอาหารปรุงสุกหลายอย่างที่เน่าเสียได้ง่ายเมื่ออากาศร้อน อย่างแกงกะทิหรือขนมหวานที่มีกะทิและมะพร้าวเป็นส่วนประกอบ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารมากกว่าฝุ่นควันอย่างที่หลายคนเข้าใจเสียอีก

 

และประการสุดท้ายคือการสังเกตความสะอาดของสถานที่และผู้ประกอบอาหาร รวมถึงภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่ร้านค้าใช้ ว่าถูกสุขอนามัยตามมาตรฐานหรือไม่ หากเลือกซื้ออาหารสตรีตฟู้ดโดยพิจารณาเอาความปลอดภัยต่างๆ เหล่านี้เป็นหลัก ก็จะสามารถเอร็ดอร่อยไปกับนานาอาหารราคาย่อมเยาได้อย่างสบายใจในระดับหนึ่ง

 

 

แม้จะพอสรุปได้ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้เป็นอันตรายต่อสตรีตฟู้ดและระบบทางเดินอาหารมากเท่ากับระบบทางเดินหายใจ แต่ผู้ค้าก็ควรต้องรักษาความสะอาด ปิดอาหารของตนให้มิดชิดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และผู้ซื้อเองก็ต้องใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกซื้ออาหารด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่า ความสกปรกหรือการปนเปื้อนแม้เพียงน้อยนิดก็สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ที่อาจลุกลามจนกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจได้อย่างคาดไม่ถึง

 

คงไม่มีใครอยากป่วยจนอดกินอาหารอร่อยๆ แน่ๆ ใช่ไหมคะ

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารกับวิทยาศาสตร์

Recommended Articles

Food Storyทรมานแค่ไหนก็เลิกกินเผ็ดไม่ได้ มันมีเหตุผล!
ทรมานแค่ไหนก็เลิกกินเผ็ดไม่ได้ มันมีเหตุผล!

กินเผ็ดแสนจะทรมาน แต่ทำไมเราถึงยังคงเลิฟของเผ็ดไม่เลิก