เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ทำไมคนนี้บอกทุเรียนหอม คนนั้นบอกทุเรียนเหม็น!

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

ในขณะที่กลิ่นบางกลิ่นส่งผลต่อทุกผู้ทุกคนแบบเดียวกัน เช่น ของบูดเน่า ใครได้กลิ่นก็เบ้หน้าร้องยี้บอกว่าเหม็น กลิ่นดอกไม้อ่อนๆ ใครๆ ก็ยอมรับว่าหอม แต่กลับมีอีกบางกลิ่นที่ส่งผลต่อคนชนิดตรงข้ามสุดขั้ว บางคนบอกว่าหอมมาก บางคนบอกเหม็นจะตาย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกลิ่นทุเรียน พูดถึงปุ๊บจะมีการแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายชัดเจนคือฝ่ายที่ชอบ หอมฉุยออกขนาดนี้ กับฝ่ายที่เกลียดเพราะมันเหม็นสุดๆ

คนช่างสงสัยเลยพยายามหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมกลิ่นเดียวกันจึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาการรับรู้สองแบบที่สุดโต่งได้ขนาดนี้ โดยมีหลายทฤษฎีที่ยกมาใช้ไขข้อข้องใจ ตั้งแต่ทฤษฎีว่าด้วยวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ที่ระบุว่าความหอม-เหม็นของคนเรานั้นถูกหล่อหลอมพัฒนาจากสังคมและความเป็นอยู่ พูดง่ายๆ คนที่โตมาในสวนทุเรียน คุ้นเคยกับทุเรียนมาแต่อ้อนแต่ออกจะมีความคุ้นชินกับกลิ่นทุเรียน จนรู้สึกว่ามันหอมดี ในขณะที่ชาวตะวันตกซึ่งไม่เคยพบเจอทุเรียนมาก่อนในชีวิต วันหนึ่งเมื่อได้กลิ่นก็อาจจะเหม็นมากจนทนไม่ไหว (เนื่องจากทุเรียนมีกลิ่นที่รุนแรง) แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าคนที่อยู่กับทุเรียนมาทั้งชีวิตบางคนก็ยังคิดว่าทุเรียนเหม็นอยู่ดี

 

โยงไปยังอีกทฤษฎีย้อนไกลถึงสมัยอริสโตเติล โดยเขาระบุว่าในบรรดาความรู้สึก 5 อย่างของมนุษย์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั้น กลิ่นกับรส “บางครั้งจะถือเป็นความรู้สึก 1 อย่างแทนที่จะเป็นความรู้สึกแยกกัน 2 อย่าง” โดย 75% ของสิ่งที่เรากินและลิ้มรสเป็นผลสืบเนื่องกับความรู้สึกเรื่องกลิ่น ฉะนั้น มีแนวโน้มว่าคนที่คิดว่ากลิ่นทุเรียนหอม เป็นเพราะเคยกินทุเรียน รับรู้ว่าทุเรียนอร่อย เลยโยงรสชาติความอร่อยเข้ากับกลิ่น ในขณะที่คนที่คิดว่าทุเรียนเหม็นก็มักจะไม่กินทุเรียน ไม่เคยรับรู้รสชาติ ได้กลิ่นอย่างเดียวก็แย่แล้ว ซึ่งมีความเข้าเค้าอยู่ เพราะบางคนบอกว่าให้นั่งในห้องสองต่อสองดมกลิ่นทุเรียนเฉยๆ ก็ไม่ไหว แต่ถ้าอนุญาตให้กินทุเรียนได้ กลิ่นที่เคยคิดว่าไม่ไหวนั้นจะดีงามขึ้นมาทันที แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแบบนี้ทั้งหมด

 

 

เมื่อทฤษฎีสิ่งแวดล้อมและรสชาติไม่สามารถไขความกระจ่าง ทีนี้มาฟังทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์กันบ้าง  เมื่อมีคนไปถามคำถามเดียวกันนี้ว่า “ทำไมบางคนได้กลิ่นทุเรียนแล้วหอม บางคนเหม็น” กับ Darren Logan นักประสาทวิทยาและนักวิจัยเรื่องยีนสังกัดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แห่งเว็บวิทยาศาสตร์ Germaniumm12 เขาตอบว่าไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมกลิ่นทุเรียนจึงส่งผลต่อบุคคลแตกต่างกันขนาดนั้น แต่นอกจากทุเรียนแล้วก็ยังมีกลิ่นอื่นๆ ที่ส่งผลแบบเดียวกันนี้ และเขาคิดว่ามันน่าจะมาจากสาเหตุเดียวกัน

 

ดาร์เรนอ้างอิงถึงหน่อไม้ฝรั่ง โดยบอกว่าบางคนกินหน่อไม้ฝรั่งวันนี้ รุ่งขึ้นเมื่อปัสสาวะจะได้กลิ่นหน่อไม้ฝรั่งจากปัสสาวะชัดเจน ในขณะที่บางคนกินเหมือนกัน แต่ปัสสาวะก็กลิ่นปกติดีไม่เห็นได้กลิ่นหน่อไม้ฝรั่งปะปน เรื่องนี้จุดชนวนให้ดาร์เรนคิดว่ามันน่าจะเป็นเพราะคนเรามีเอนไซม์สำหรับสร้างกลิ่น (หรือไม่สร้างกลิ่น) เคมีในปัสสาวะที่แตกต่างกัน บางคนมี ก็จะได้กลิ่นหน่อไม้ฝรั่งในปัสสาวะ ส่วนคนที่ไม่มีก็จะไม่ได้กลิ่นใดๆ ซึ่งไม่เพียงแค่การสร้างหรือไม่สร้างกลิ่น มันยังเกี่ยวเนื่องกับ ‘การรับกลิ่น’ ที่แตกต่างกันด้วย จากการวิจัยของเขาเอง เมื่อไม่นานมานี้ดาร์เรนพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในดีเอ็นเอใกล้ๆ กับยีนรับกลิ่น ซึ่งเชื่อมโยงกับความสามารถในการได้กลิ่นหน่อไม้ฝรั่งในปัสสาวะ “เพราะว่าผมทำงานที่สถาบันวิจัยการเชื่อมโยงของยีน ผมเลยทดสอบการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยตัวเอง และรับรองได้ว่าผมได้กลิ่นหน่อไม้ฝรั่งในปัสสาวะจริงๆ”

 

ดาร์เรนได้ข้อสรุปว่าคนเรามียีนในการรับกลิ่นที่แตกต่างกัน และการที่แต่ละคนจะได้กลิ่นอะไรหรือไม่ได้กลิ่นอะไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามียีนแบบไหน แต่จะให้เจาะลึกลงไปถึงขั้นที่กลิ่นเดียวกันทำไมบางคนหอมบางคนเหม็น เขาบอกว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องค้นคว้าวิจัยกันอีกยาวไกลเพราะคนเรามียีนในการรับกลิ่นมากมายมหาศาล ที่แน่ๆ คือคนที่คิดว่าทุเรียนหอมจะต้องมียีนในการรับกลิ่นคนละแบบกับคนที่คิดว่าทุเรียนเหม็นแน่นอน

 

ระหว่างรอดาร์เรนทำการวิจัย กิตติศัพท์กลิ่นทุเรียนที่ทั้งหอมทั้งเหม็นก็ได้เลื่องลือระบือไกล จนทีมนักวิจัยจากประเทศเยอรมนีอดรนทนไม่ได้ ต้องอิมพอร์ตทุเรียนหมอนทองจากประเทศไทยไปยังห้องแล็ปที่เยอรมนี แล้วแกะเนื้อทุเรียนใส่เครื่องแยกกลิ่นเพื่อหาแหล่งต้นตอของกลิ่นในทุเรียน และค้นพบว่ากลิ่นทุเรียนเกิดจากส่วนผสมของกลิ่นกว่า 50 กลิ่น มีทั้งกลิ่นผลไม้สุก น้ำผึ้ง คาราเมล กลิ่นหัวหอม กลิ่นกำมะถัน กลิ่นแบบอาหารทะเล กลิ่นสกั๊งค์ กลิ่นกะหล่ำเน่า หัวหอมเน่า ไข่ต้ม ฯลฯ

 

จับสังเกตกันได้แล้วใช่ไหมว่ากลิ่นทุเรียนแบ่งเป็น 2 กลุ่มชัดเจน ได้แก่ กลุ่มกลิ่นเหม็น คือกลุ่มที่มีความเป็นกำมะถัน เช่น กลิ่นหัวหอม กลิ่นผักกะหล่ำ กลิ่นแอลกอฮอล์เอทานอล ที่มีลักษณะฟุ้งกระจายได้เร็ว ลอยไปในอากาศได้ไกล เหมือนก๊าซจำพวกโพรเพน ที่เราได้กลิ่นแล้วสมองจะสั่งงานให้ร่างกายรู้สึกระวังและกลัว เพราะเป็นกลิ่นฉุนที่มีอันตรายต่อร่างกาย กับกลุ่มกลิ่นหอม คือกลุ่มกลิ่นผลไม้สุก กลิ่นคาราเมล กลิ่นชินนามอน กลิ่นสับปะรด ซึ่งเป็นกลิ่นหอมหวานกระตุ้นให้อยากอาหาร

 

และก็ด้วยกลิ่นที่ปะปนกันนี้เองทำให้ทุเรียนมีทั้งกลิ่นหอมและเหม็น สำหรับคนที่ชอบกลิ่นหอมต่างๆ ในทุเรียนก็จะบอกว่าทุเรียนหอม ส่วนคนไม่ชอบกลิ่นบางอย่างที่เป็นกลิ่นเหม็นในทุเรียน อาทิ ไม่ชอบกลิ่นกำมะถัน ไม่ชอบกลิ่นอาหารทะเล ก็จะคิดว่าทุเรียนเหม็น

 

เอ๊า สรุปจบง่ายๆ ยังงี้เลยซะงั้น!

Share this content

Contributor

Tags:

ทุเรียน, ผลไม้ไทย, อาหารกับวิทยาศาสตร์

Recommended Articles

Food Storyทรมานแค่ไหนก็เลิกกินเผ็ดไม่ได้ มันมีเหตุผล!
ทรมานแค่ไหนก็เลิกกินเผ็ดไม่ได้ มันมีเหตุผล!

กินเผ็ดแสนจะทรมาน แต่ทำไมเราถึงยังคงเลิฟของเผ็ดไม่เลิก

 

Recommended Videos