Home Cooking การรับส่งวัฒนธรรมภายในห้องครัวเล็กๆ ทั้งเคล็ดลับ เมนูประจำ ไปจนถึงสูตรเฉพาะของบ้าน
เป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่าการทำอาหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ถ้าจะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปที่การทำอาหารกินเองภายในครัวเรือน หรือ Home Cooking มักนำมาซึ่งกลิ่นอายที่อบอุ่นและเสน่ห์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
“แต่ทุกวันนี้ใครจะเสียเวลาทำอาหารกินเองล่ะ ในเมื่อกดมือถือสั่งก็มีมอเตอร์ไซค์มาส่งให้ถึงที่แล้ว”
หลายคนเลือกทำชีวิตให้ง่ายด้วยทางลัดเหล่านี้ เพราะคิดแค่ว่าอาหารอะไรก็กินแล้วอิ่มเหมือนกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น ‘อาหารทำเอง’ ต่างจาก ‘อาหารซื้อ’ หรือ ‘อาหารสำเร็จรูป’ โดยสิ้นเชิง
อาหารตามร้านมักถูกปรุงให้รสจัด ใช้เกลือ น้ำตาล ไขมันปริมาณมาก เพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้เราอยากกินอาหารเพิ่มมากขึ้น และโอกาสเจ็บป่วยก็มากตามไปด้วย ตั้งแต่โรคอ้วน เบาหวาน มะเร็ง ความดันโลหิตสูง สุขภาพที่ดีจึงเริ่มจากการเลือกอาหารเข้าปาก ส่วนบรรดาอาหารสำเร็จรูป ดูง่ายๆ จากฉลากบนผลิตภัณฑ์ เราจะเห็นส่วนประกอบเป็นสารเคมีชื่อแปลกๆ ยาวเป็นหางว่าว ไม่ว่าจะอิมัลซิไฟเออร์ ช่วยป้องกันการแยกชั้น โซเดียมเบนโซเอต ช่วยทำให้อาหารเก็บได้นานขึ้น หรือไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป ที่ให้ความหวานกว่าน้ำตาลหลายเท่า (เพื่อลดต้นทุน)
แต่รู้ไหม คุณเป็นสิ่งมีชีวิตที่หลีกหนีการทำอาหารกินเองไม่ได้หรอก
เคยฉุกคิดกันไหมว่า ขณะที่ชาวเมืองอย่างเราๆ เอาตัวออกห่างจากห้องครัว แต่กลับยิ่งพาตัวเข้าไปชิดใกล้กับภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เว็บไซต์ ที่มีภาพอาหารน่ากินมากขึ้นแทน ดังจะเห็นได้จากความบูมของวิดีโอหรือสื่อต่างๆ เกี่ยวกับอาหารในทุกวันนี้ นั่นก็เพราะ ‘อาหาร’ คือสัญชาตญาณหรือ basic skill ที่ฝังลึกอยู่ในตัวมนุษย์ การปรุงอาหารเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะเผ่าพันธุ์มนุษย์-สัตว์โลกเผ่าพันธุ์เดียวที่ทำอาหารให้สุกก่อนกิน
ย้อนกลับไปไกลถึงสมัยที่มนุษย์เริ่มรู้จัก ‘ไฟ’ นั่นเลยทีเดียว เริ่มจากก่อไฟทำอาหาร พัฒนาไปสู่การประดิษฐ์เครื่องครัว จากไฟกลายเป็นแก๊ส จากแก๊สกลายเป็นเตาไฟฟ้า การปรุงอาหารกินเริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยสัมพันธ์กับธรรมชาติ ความแตกต่างด้านสภาพภูมิศาสตร์ยังทำให้อาหารมีความหลากหลาย เช่น บ้านทางภาคเหนืออุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผักเพราะอยู่บนภูเขา จึงมี ‘น้ำพริกอ่อง’ หรือแกงใส่ผักเยอะๆ อย่าง ‘จอผักกาด’ บ้านทางภาคใต้อยู่ติดทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา ไม่ใช่วัตถุดิบหายาก เมนูอย่าง ‘แกงไตปลา’ ‘น้ำยาปู’ จึงเกิดขึ้น
Home Cooking เป็นเรื่องของการรับส่งวัฒนธรรมภายในห้องครัวเล็กๆ ทั้งเคล็ดลับ เมนูประจำ ไปจนถึงสูตรเฉพาะของบ้าน ทุกคนคงมีอาหารจานโปรดที่ไปกินที่ไหนก็ไม่เหมือนที่บ้าน ส่วนในเชิงโภชนาการ การเข้าครัวทำอาหารกินเอง เราควบคุมทั้งรสชาติ ส่วนประกอบ ความสดใหม่ ได้ทั้งหมด อยากกินเมนูไหน วัตถุดิบที่ใช้มีอะไรบ้าง เครื่องปรุงมากน้อยเท่าไร อยู่ในสองมือของเราเอง แล้วยังส่งผลดีทางด้านจิตใจ เพราะการทำอาหารช่วยให้เรามีสมาธิ จดจ่อ เหมือนได้บำบัดและฟื้นฟูจิตใจไปในตัว อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคนในบ้าน ตั้งแต่ขั้นตอนการแชร์ไอเดีย ความทรงจำวัยเด็กที่ไปตลาดเพื่อซื้อของเข้าครัวพร้อมแม่ ตื่นเต้นเมื่อได้ตอกไข่ หรือตกใจตอนน้ำมันกระเด็นใส่แขน ไปจนถึงบทสนทนาปนเสียงหัวเราะเวลากินข้าวด้วยกัน ความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันว่าชีวิตเราผูกติดไว้กับห้องครัว
คุณอาจมีเหตุผลมากมายที่หยิบมาใช้เมื่อ ‘ขี้เกียจ’ ทำอาหาร เช่น ทำแล้วไม่อร่อย เปลืองเงิน หรือไม่มีเวลา แต่ถ้าคุณยังคงนั่งดูรายการทำอาหาร และดื่มด่ำไปกับมันนั่นอาจแปลว่าสัญชาตญาณลึกๆ กำลังเรียกร้องให้คุณลุกขึ้นเดินเข้าครัวเองบ้างแล้ว ลองกลับมาหยิบตะหลิว ทำเมนูโปรดที่อยากกินดูสักที แล้วจะเข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องกลับมาทำอาหารกินเองอีกครั้ง
“เราออกห่างจากการทำอาหาร จนมองว่าเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต แต่นี่ต่างหากคือชีวิต” – Michael Pollan
เรื่องโดย: ปาจรีย์ ปิ่นวัฒนชัย
Contributor
Tags:
Recommended Articles