เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ย้อนประวัติ ‘น้ำแช่ผักผลไม้’ (Infused Water) เครื่องดื่มดีต่อใจ

Story by อรุณวตรี รัตนธารี

ประวัติและที่มาของการแช่ผักผลไม้ในน้ำดื่ม เรื่องใกล้ตัวที่ชวนตั้งคำถามว่า 'ดีจริงไหม?'

นอกจากน้ำดื่มแช่มะนาว มะเขือเทศ แตงกวา หรือบรรดาเบอร์รี ไม่นานมานี้มีหนึ่ง ‘Infused Water’ ที่ทำเราตะลึงเมื่อได้พบ นั่นคือน้ำดื่มแช่หน่อไม้ฝรั่งทั้งต้น! ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตขายอาหารสุขภาพในอเมริกาอย่าง Whole Foods ผลิตออกมาขายคนรักสุขภาพ สนนราคาขวดละถึง 6 ดอลลาร์ หรือประมาณ 200 บาท ถ้าเทียบกับน้ำดื่มทั่วไปก็เรียกได้ว่าแพงระยับในระดับต้องกลับมาคิดแล้วคิดอีกก่อนตัดสินใจซื้อ

 

และชวนให้เราตั้งคำถามถึงคุณค่าและที่มาของ ‘น้ำแช่ผักผลไม้’ ว่าดีจริงไหม ใครเป็นคนเริ่ม?

 

 

เพราะหากย้อนทบทวนถึงต้นกำเนิด จะพบว่าแท้จริงการทำเครื่องดื่มรูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งยังเป็นเครื่องดื่มชนิดที่บรรพบุรุษของเราเมื่อหลายพันปีก่อนรู้และทำกินกันเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่อาจไม่เก๋ไก๋เหมือนกับน้ำขวดสวยแช่ด้วยหน่อไม้ฝรั่งอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของทางฝั่งตะวันตกเท่านั้น

 

แต่ก่อนจะย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์ เราคงต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่ากระบวนการ Infused นั้นหมายรวมถึงการ ‘แช่’ สิ่งใดก็ตามลงในของเหลว ไม่ว่าจะน้ำ น้ำมัน หรือแอลกอฮอล์ ด้วยเป้าหมายเพื่อสกัดกลิ่นรสหรือสารอาหารบางชนิดจากวัตถุดิบให้ละลายผสมเข้ากับของเหลวอย่างกลมกลืน แน่นอนว่าการปรุงดังกล่าวจึงไม่ได้ให้ผลลัพธ์แค่เพียงเครื่องดื่ม แต่ยังกลายเป็นอาหารและยาอีกหลายชนิดเช่นกัน

 

 

ถ้วยที่เราคุ้นเคยกันทุกชนชาติก็เช่น ‘น้ำชา’ อันเกิดจากการนำใบชาตากให้แห้ง แล้วแช่ในน้ำร้อนจัดเพื่อดึงเอากลิ่นรสของใบชาแต่ละชนิดออกมาอย่างละมุนละไม ทว่ายังมีการ ‘แช่’ อีกหลายรูปแบบที่ยึดหลักการเดียวกัน อาทิ การแช่ผงกาแฟละเอียดในน้ำร้อนจัด เพื่อสกัดเอาความหอมกรุ่นและคาเฟอีนออกมาให้มากที่สุด เหมือนอย่างการชงกาแฟแบบเฟรนช์เพลส (French Press) ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศฝรั่งเศสราวกลางศตวรรษที่ 18 เมื่อมีผู้คิดค้นเครื่องชงกาแฟทรงกระบอกโดยใช้หลักสุญญากาศในการชงขึ้นมา วิธีการก็เพียงบดเมล็ดกาแฟคั่วให้ละเอียดพอประมาณ จากนั้นเติมลงในเครื่องชงดังกล่าว แช่น้ำร้อนไว้ราว 3-4 นาที จากนั้นกดตัวกรองเพื่อแยกน้ำกับผงกาแฟออกจากกัน ก็จะได้น้ำกาแฟที่เต็มไปด้วยกลิ่นรสหอมกรุ่นเป็นพิเศษ

 

นอกจากผักผลไม้ ยังมี ‘น้ำกลิ่นดอกไม้’ เป็นขั้นกว่า

 

นอกจากเครื่องดื่มเบสิกอย่างชากาแฟ การ Infused ยังไปไกลกว่าแค่พืชผัก เพราะในอดีตรวมถึง ‘ดอกไม้’ เป็นหลักอีกด้วย! โดยเฉพาะในยุคกรีกซึ่งนิยมนำดอกไม้มากลั่นปรุงน้ำหอม กระทั่งเกิดเป็นผลผลิตข้างเคียง (by-product) อย่างน้ำเปล่าสีใสอวลกลิ่นดอกไม้ที่พ่อครัวแม่ครัวนิยมนำมาปรุงใส่ขนมหวานหรืออาหารในงานพิธีการ อาทิ ‘น้ำกลิ่นดอกส้ม’ (Orange flower water) ผลผลิตข้างเคียงจากการกลั่นน้ำหอมกลิ่นดอกส้ม ซึ่งชาวกรีกรวมถึงแถบเมดิเตอร์เรเนียนนิยมใช้แต่งกลิ่นเค้กสำหรับวันคริสมาสต์ กระทั่งได้รับความนิยมแพร่หลายไปไกลถึงตุรกีและทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในอัลจีเรียและโมร็อคโค ที่ที่นักปรุงนิยมใช้น้ำกลิ่นดอกส้มเติมใส่ขนมและกาแฟ จนกลายเป็นกลิ่นรสเอกลักษณ์ของอาหารแถบนี้ไปโดยปริยาย

 

 

ใกล้ตัวเข้ามาหน่อย น้ำลอยดอกมะลิของไทยเราก็เข้าข่ายกับเขาเหมือนกัน นอกจากจะทำให้น้ำฝนเย็นชื่นใจขึ้นหลายเท่า ดอกมะลิยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล และเป็นกุศโลบายช่วยให้การดื่มน้ำเป็นเรื่องแสนรื่นรมย์ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเมืองร้อนอย่างไทยเรา

 

และใครจะคิดว่านั่นเป็นกุศโลบายเดียวกับ Infused Water ที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ทุกวันนี้

 

เหมือนอย่างที่ Leslie Bonci ที่ปรึกษาด้านโภชนาการชาวอเมริกันเคยให้สัมภาษณ์กับ The guardian เอาไว้ว่า “ถ้าคุณอยากได้ประโยชน์จากหน่อไม้ฝรั่ง ด้วยการนำมันแช่ในน้ำแล้วดื่ม ก็คงยากหน่อย แต่ถ้าเป้าหมายคือคุณอยากดื่มน้ำมากขึ้นด้วยการใส่วัตถุดิบแปลกใหม่ลงในขวดน้ำ นั่นก็เป็นเรื่องน่าสนุก” ก่อนเขาจะเสริมด้วยว่าหากคุณต้องการได้รับประโยชน์จากหน่อไม้ฝรั่งแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย คุณจะต้องกินมันถึงครึ่งถ้วย นั่นรวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ อย่างส้ม มะนาว แตงกวา มะเขือเทศด้วยเช่นกัน ฉะนั้นผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดของการดื่ม Infused Water ก็คือการเติมน้ำให้กับร่างกาย อันเป็นกุศโลบายเรียบง่ายที่บรรพบุรุษของเราส่งต่อกันมา

 

 

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต เราจึงเห็นภาพใหญ่ของการเติมใส่วัตถุดิบลงในของเหลวว่าล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือการเพิ่มกลิ่นรสรวมถึงเพิ่มมูลค่าให้กับของอร่อยในจานอาหาร ไม่ว่าจะในรูปแบบน้ำกลิ่นดอกไม้ น้ำมันที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบให้เห็นกับตา (อาทิ น้ำมันมะกอกที่มีลูกมะกอกลอยสวยในขวด) หรือน้ำหมักผลไม้หลากรสที่มีชิ้นส่วนของวัตถุดิบให้เรารู้สึกว้าวเมื่อได้เห็น แต่แน่ละว่าถ้าอยากได้รับคุณค่าของมันอย่างเต็มผลเต็มเมล็ด เราคงไม่อาจลิ้มลองมันเพียงกลิ่นรสผ่านของเหลวสีใสอย่างที่กำลังกลายเป็นกระแส แต่ต้องกินมันอย่างตั้งใจ และรู้ที่มาของวัตถุดิบเหล่านั้นว่าเติบโตมาอย่างไรกัน

 

 

ภาพ https://www.cbsnews.com/news/whole-foods-removes-6-asparagus-water-from-store-shelves/

Share this content

Contributor

Recommended Articles

Food StoryI’M NOT A CAKE วุ้นกรอบที่อร่อยตั้งแต่รสสมุนไพรยันรสวอดก้า
I’M NOT A CAKE วุ้นกรอบที่อร่อยตั้งแต่รสสมุนไพรยันรสวอดก้า

ร้านขนมไทยประยุกต์ที่อยากให้ความอร่อยเข้าถึงคนทุกกลุ่ม

 

Recommended Videos