เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ไก่จำบัง กำบังความเป็นไทยภายใต้การปรุงอย่างฝรั่ง

Story by อรุณวตรี รัตนธารี

เรื่องเล่าจากตำราอาหารโภชนาการอายุกว่าค่อนทศวรรษ พร้อมถอดสูตรจากเมนูแนะนำสำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์

หนังสือ: ตำราอาหารโภชนาการสำหรับครอบครัว

 

ผู้แต่ง: สมฤทธิ์ สุวรรณบล

 

เมนู: ไก่จำบัง

 

สมัยนี้ คงน้อยเต็มทีที่จะมีตำราอาหารเล่มไหนแนะนำเราอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ‘วันไหนควรกินอะไร’ คงเพราะการจะเลือกกินหรือไม่กินนั้นเป็นเสรีภาพที่เราเข้าใจตรงกันดี มากกว่านั้นสูตรอาหารมากมายบนหน้าฟีดส์ก็เป็นทางเลือกที่หลากหลายมากพอและมากกว่าจะต้องเดินตามตารางเมนูของใคร

 

ทว่า ไม่ใช่กับเมืองไทยสมัยเมื่อค่อนศตวรรษก่อน

 

ด้วยสมัยคุณย่าคุณยายของเรายังเด็กนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สาวๆ ยุคนั้นต้องพากันเปลี่ยนจากนุ่งโจงกระเบนมาสวมกระโปรง และเป็นเวลาเดียวกับที่ผัดไทยและก๋วยเตี๋ยวถูกยกให้กลายเป็นอาหารไทยแม้จะมีกลิ่นอายจีน

 

เพราะในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาของการสร้างชาติอย่างแข็งขันผ่าน ‘นโยบายสร้างชาติ’ ที่กำกับการใช้โดยรัฐบาลนายทหารใหญ่อย่างจอมพลป.พิบูลสงคราม ด้วยเป้าหมายสร้างสำนึกความเป็นไทยหลอมรวมคนทุกกลุ่มทุกเชื้อชาติบนผืนแผ่นดินนี้ให้กลายเป็นไทยเดียว

 

แต่การสร้างชาติแบบไทยๆ ก็มีอะไรแตกต่างอยู่พอสมควร นอกจากการสร้างความเป็นไทยจากวัตถุดิบทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม ส่วนสำคัญอีกประการคือการหยิบเอาความเป็นสากลมาใส่ในทุกอณูชีวิตของประชาชนชาวไทย

 

ใครแซ่จีน ก็เปลี่ยนให้เป็นสกุลไทย ใครกินหมาก ก็ขอให้เลิกเสีย หรือในครัวไทยเอง ระเบียบวิธีการอย่างตะวันตกก็เข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลงรสชาติไม่น้อย โดยเฉพาะการใช้อัตราส่วนชั่ง ตวง วัด อย่างมาตรฐานสากล ที่แม้ตำราอาหารเล่มแรกอันโด่งดังอย่างแม่ครัวหัวป่าก์จะยกมาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทว่ายังไม่แพร่หลาย กระทั่งถึงยุคการสร้างสำนึกความเป็นไทยในสมัยท่านจอมพล

 

มากกว่านั้น ตำราอาหารส่วนใหญ่ที่ถูกตีพิมพ์ขึ้นระหว่างปลายทศวรรษ 2490 จนถึงต้นทศวรรษ 2500 ยังปรากฏระเบียบวิธีการกินอยู่ ‘ที่ถูกต้องและมีมารยาท’ เพื่อเปลี่ยนคนไทยให้มีกิริยาอย่างอารยชนคนตะวันตก

 

 

หนึ่งในนั้นคือตำราอาหาร ‘ตำราอาหารโภชนาการสำหรับครอบครัว’ โดยสมฤทธิ์ สุวรรณบล ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2501 อันเป็นเล่มที่รวบรวมไว้ซึ่งความน่าตื่นตาตื่นใจหลายประการ หนึ่งนั้นคือการระบุรายการอาหาร ‘ประจำวัน’ ชนิดว่าวันจันทร์ตอนเช้าควรกินอะไร วันศุกร์ตอนเย็นควรมีสำรับอลังการแค่ไหน หรือเมนูวันหยุดสุดสัปดาห์ควรมีเมนูหลากหลายรสชาติเพื่อต้อนรับสมาชิกในครอบครัวที่จะกลับมาพบกันพร้อมหน้า

 

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยตำราอาหารอายุค่อนศตวรรษเล่มนี้ยังระบุความสำคัญของอาหาร 3 มื้อไว้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจด้วย หากใครเคยศึกษาประวัติศาสตร์การกินของคนไทยคงทราบดีว่า แต่ไหนแต่ไรคนแถบนี้แทบไม่มีเรื่องราวของการกินอาหาร3 มื้อแบบที่เราคุ้นชินกันในวันนี้

 

ด้วยสังคมเกษตรในอดีต การกินอาหารประจำวันนั้นไม่ได้มีแบบแผนชัดเจนตายตัวเหมือนทุกวันนี้ มื้อแรกอาจเริ่มตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง และอาหารมื้อเย็นอาจล้อมวงกันตั้งบ่ายเรื่อยไปจนถึงค่ำ ด้วยจังหวะเวลาชีวิตของสังคมเกษตรกรรมนั้นยืดหยุ่นและเหลือเฟือ กระทั่งสังคมหมุนเข้าสู่ระบบทุนนิยม แผนพัฒนาเศรษฐกิจจึงมีขึ้นเพื่อเป้าหมายทำกำไร ระเบียบในการกินอย่างตะวันตกจึงกลายมาเป็นวิถีตีกรอบมื้ออาหารของคนไทยนับแต่นั้นมา

 

ดังเช่นในตำราอาหารเล่มนี้กล่าวถึงอาหารมื้อเย็นเอาไว้ว่า “อาหารมื้อเย็นเวลา 17:00 น. อาหารมื้อนี้เป็นอาหารมื้อใหญ่ที่สุดในวันหนึ่งซึ่งควรจะมีข้าว 1 จาน จำนวนประมาณ 100 กรัม ปลาทูหรือเนื้อสัตว์อื่นใดที่ขนาดเท่าปลาทูตัวงามๆ สัก1 ตัว น้ำพริกกะปิที่ไม่เผ็ดพร้อมผักสด”

 

การวางแบบแผนการกินอาหาร 3 มื้อโดยลงรายละเอียดว่าควรมีโภชนาการอย่างไรรวมถึงมีมารยาทการกิน อาทิ การใช้ช้อนส้อมช้อนกลาง การพับผ้าเช็ดมืออย่างถูกวิธี ฯลฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติไทยสมัยหลังสงครามอันสะท้อนอิทธิพลของโลกตะวันตกที่มีเหนือไทยในตอนนั้น

 

 

และหนึ่งเมนูสะดุดตาที่เราอยากหยิบมาเผยสูตรให้ทราบก็คือ เมนูอาหารประจำวันเสาร์นาม ‘ไก่จำบัง’ ซึ่งผู้แต่งตำราระบุว่าเป็นอาหารที่มีความซับซ้อนพอสมควรจึงควรปรากฎบนโต๊ะอาหารในวันว่าง ทั้งยังเป็นอาหารที่เหมาะเป็นมื้อค่ำด้วยใช้ไก่สาวทั้งตัวมาปรุงคล้ายกับเมนูไก่อบของฝรั่ง เพียงแต่เลือกใช้วัตถุดิบจากครัวไทยทั้งกะทิและ ‘เครื่องน้ำพริก’ ที่ประกอบด้วยหอม กระเทียม ลูกกระวาน พริกไทย ทั้งยังใช้น้ำส้มมะขามเปียก น้ำส้มซ่า รวมถึงน้ำปลาดีชูรสให้เมนูไก่จานนี้มีรสชาติเข้มข้นกว่าไก่ทรงเครื่องสไตล์ตะวันตก

 

อนึ่ง คำว่า ‘จำบัง’ นั้นเป็นคำไทยซึ่งหมายความถึงการหลบซ่อนกำบัง เป็นศิลปะทางภาษาที่ใช้อธิบายกระบวนการปรุงที่นำเนื้อไก่มาห่อเนื้อหมูทรงเครื่องไว้จนแน่น แล้วจึงค่อยเคี่ยวกับเครื่องแกงจนเปื่อยนุ่ม เสิร์ฟคู่กับผักฝรั่งอย่างแครอทหรือหน่อไม้ฝรั่ง เคียงกับน้ำจิ้มหรือน้ำราดช่วยตัดรส

 

และเมื่อพิจารณาทั้งรสชาติ สีสัน และหน้าตา เราก็อนุมานได้อย่างชัดเจนว่า ไก่จำบังคือตัวแทนของรสชาติของช่วงเวลาแห่งการสร้างสำนึกความเป็นชาติไทย ด้วยรวมไว้ทั้งขนบการปรุงอย่างฝรั่ง รวมทั้งขั้นตอนการกินที่ต้องอาศัยทั้งช้อน ส้อม และมีด จนอาจเรียกว่าไก่จำบังนั้น ‘กำบัง’ ความเป็นไทยไว้ภายใต้ความฝรั่งได้อย่างอร่อยลงตัว

 

เครื่องปรุง

 

ไก่สาวอ้วนๆ 1 ตัว

 

มะพร้าวขูด ½  กิโล (คั้นกะทิประมาณ 3 ถ้วย)

 

เนื้อหมูมีมันนิดหน่อย ¼ กิโล

 

หน่อไม้หรือแครอทหั่นแล้ว หั่นเล็กๆ ยาวๆ พอควร

 

ไข่เป็ด 1 ฟอง

 

พริกไทย กระเทียม รากผักชี โขลกละเอียด 1 ช้อนชา

 

เมล็ดบัวนึ่งแล้ว ½ ถ้วย

 

หอมเผา ½ ถ้วย

 

กระเทียมเผา ½ ถ้วย

 

พริกแห้งเมล็ดใหญ่ 9 เมล็ด (ผ่าเอาเมล็ดออก แช่น้ำพอนุ่ม)

 

เครื่องเทศทุกอย่าง (คือ ลูกผักชี 1 ช้อนโต๊ะ ยี่หร่า 1 ช้อนชา ลูกจันทน์ 1/5 ผล กานพลู 3 ดอกกระวาน 10 เมล็ด (โขลกน้ำพริก 3 เมล็ด นอกนั้นลอยน้ำแกง อบเชยนิดหน่อย)

 

ส้มซ่า  1 ผล

 

มะขามเปียก 1 ปั้นเล็กๆ

 

น้ำตาล เกลือ น้ำปลา พอควร

 

น้ำมันสำหรับทอด ประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ  

 

 

วิธีทำ

 

1.ถอดไก่ออกจากกระดูก โดยวิธีผ่าหลัง แล้วเลาะเนื้อออกจากกระดูกให้ป็นแผ่นอย่าให้ขาด

 

2.เนื้อหมูบดให้ละเอียด ผสมเกลือ พริกไทย กระเทียม รากผักชีและผัก ใส่ไข่เป็ด เคล้าให้เข้ากัน

 

3.แผ่เนื้อไก่ออก เอาไส้ตามข้อ 2 แผ่บนเนื้อไก่ให้ทั่ว แล้วม้วนเป็นก้อนกลมยาว มัดเป็นเปลาะๆ ให้แน่น ทอดในน้ำมันร้อนให้เหลืองทั่ว แล้วเคี่ยวกับกะทิให้เปื่อยประมาณ 40 นาที

 

4.เครื่องน้ำพริก เอาเครื่องเทศทั้งหมดป่นให้ละเอียด แล้วเอาหอมเผาและกระเทียมเผาใส่ลงไปอย่างละครึ่ง ใส่เกลือ ½ ช้อนชา โขลกให้ละเอียด

 

5.ตักกะทิใส่กระทะพอสมควร ตั้งไฟให้กะทิแตกมันมากๆ เอาน้ำพริกผัดกับกะทิให้หอม ผสมกับกะทิที่เหลือ ปรุงรสด้วยน้ำส้มซ่า น้ำส้มมะขามเปียก น้ำตาล น้ำปลาดี ให้มีสามรสกลมกล่อม ใส่เมล็ดบัว หัวหอมเผา กระเทียมเผา ลูกกระวานและพริกแห้ง (ทั้งเมล็ด)

 

6.ไก่เปื่อยแล้วตักขึ้น แก้เชือกที่มัดออก หั่นด้วยมีดคมหนา ¾ นิ้ว จัดใส่จาน เอาเครื่องที่ผัดราดลงจานที่ใส่ไก่ จัดให้น่ารับประทาน

Share this content

Contributor

Tags:

ตำราอาหารโบราณ, อาหารโบราณ

Recommended Articles

Food Story‘ข้าวตอกตั้ง’ ขนมโบราณชูถิ่นกรุงเทพฯ ที่แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็ไม่รู้จัก
‘ข้าวตอกตั้ง’ ขนมโบราณชูถิ่นกรุงเทพฯ ที่แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็ไม่รู้จัก

ขนมไทยแต่หนหลัง หอม หวาน อร่อย หากินยาก

 

Recommended Videos